Skip to main content
sharethis
อนุกรรมการเนื้อหา กสท. ถอนวาระพิจารณาไทยพีบีเอสเสนอสกู๊ป 14 น.ศ. มีเนื้อหาไม่เหมาะสมหรือไม่ เพื่อสอบประเด็นเพิ่มเติม ณาตยาแจงเป็นหน้าที่สื่อสาธารณะ ชี้รายงานข่าวด้วยความรอบคอบ เผยมีการตรวจสอบกันเองตลอดการทำงาน สุภิญญา กสทช.ชี้ส่วนตัวไม่เห็นว่าขัดมาตรา 37  


คลิกเพื่อชม ที่นี่ไทยพีบีเอส วันที่ 25 มิ.ย. 2558  
 

กรณีการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) วันนี้ มีวาระพิจารณาเรื่องร้องเรียนของคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก กรณีการออกอากาศรายการ ที่นี่ Thai PBS เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58 ช่วงสกู๊ปข่าวนักศึกษาที่ถูกออกหมายจับ มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

6 ก.ค. 2558  ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่และไม่มีใบสั่งจากใครแน่นอน ก่อนที่ต่อมา จะทวีตแจ้งว่า พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการขอถอนเรื่่องจากวาระที่ประชุม กสท. เพื่อมาสอบประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้ความเป็นธรรมกับไทยพีบีเอสอย่างเต็มที่

ด้านเว็บไซต์ข่าวไทยพีบีเอส เสนอข่าวดังกล่าว พร้อมระบุว่า มีการเรียกผู้บริหารสอบเพิ่ม 15 ก.ค. นี้

 
ณาตยา แจงไทยพีบีเอสเสนอข่าว น.ศ. ตามหน้าที่สื่อสาธารณะ

ก่อนหน้านั้น เมื่อช่วงเช้า ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ ThaiPBS โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงกรณีการทำสกู๊ปดังกล่าว ยืนยันว่า กองบรรณาธิการ และไทยพีบีเอส เห็นร่วมกันว่างานที่ทำเป็นหน้าที่ที่สื่อสาธารณะต้องทำ จึงพร้อมที่จะร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมกันพิจารณาจุดบกพร่องด้วยกันอย่างจริงจัง พร้อมเผยมีการตรวจสอบกันเองตลอดขั้นตอนผลิตรายการ

รายละเอียดมีดังนี้

ในฐานะบรรณาธิการที่รับผิดชอบการทำสกู๊ปข่าวการเคลื่อนไหวของนศ.ชิ้นที่กำลังจะถูกตัดสินในบอร์ดกสท.ตามคำร้องของคสช. ในวันนี้ ดิฉันสมควรต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยค่ะ

สกู๊ปข่าวที่ไม่ได้ลงชื่อของนักข่าวหรือทีมข่าวที่ทำ ทำให้ถูกถามว่ากลัวอะไร เป็นเสียงทักจากสื่อมวลชนอาวุโสที่ดิฉันนับถือเป็นอาจารย์และเป็นต้นแบบในการทำงานข่าวโทรทัศน์ท่านหนึ่ง เป็นเสียงทักที่ต้องการส่งเสริมมากกว่าตำหนิแม้ว่าท่านจะเป็นนักสื่อมวลชนที่ปรากฏตัวอยู่บนเวทีการชุมนุมที่ถูกตัดสินว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่ตรงข้ามกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษา และด้วยอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือการที่สกู๊ปข่าวชิ้นนี้กำลังกระทบต่อกองบรรณาธิการข่าวและไทยพีบีเอสทั้งองค์กร ซึ่งดิฉันอยากจะยืนยันในเบื้องต้นว่า กองบรรณาธิการ และไทยพีบีเอส เห็นร่วมกันว่างานที่ทำเป็นหน้าที่ที่สื่อสาธารณะต้องทำ จึงพร้อมที่จะร่วมกันรับผิดชอบ และร่วมกันพิจารณาจุดบกพร่องด้วยกันอย่างจริงจัง (ไม่มีการพูดเรื่องหักเงินเดือนนักข่าวอย่างที่มีข่าวด้วยค่ะ)

โดยส่วนตัวดิฉันมีเรื่องอยากพูดถึง อย่างนี้ค่ะ
ข้อแรก ดิฉันมิได้กลัวที่จะเปิดเผยว่าเป็นคนที่รับผิดชอบการทำข่าวชิ้นนี้

ข้อที่สอง ดิฉันมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะหัวหน้าของทีมข่าว โดยทำหน้าที่ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกประเด็น การมองคุณค่าข่าว การส่งนักข่าวไปทำข่าวภาคสนาม การตรวจและแก้ไขบทข่าว รวมถึงการเสนอประเด็นต่อบรรณาธิการข่าวที่รับผิดชอบข่าวในแต่ละช่วงเวลา (กรณีนี้คือช่วงรายการที่นี่ไทยพีบีเอส) ซึ่งสกู๊ปข่าวชิ้นนั้นมีเนื้อหาการนำเสนอตามนี้ https://www.youtube.com/watch?v=j0kLK2vhC3M

และสกู๊ปข่าวบางชิ้น ดิฉันเป็นผู้เขียนเรียบเรียงด้วยตัวเอง ดังเช่น สกู๊ปข่าวในวันที่ 2 ที่นศ.ถูกจับ และสังคมกำลังสงสัยว่าพวกเขาเป็นใคร มีที่มาอย่างไร ซึ่งออกอากาศในข่าวภาคค่ำ https://www.youtube.com/watch…

ข้อที่สาม ในภาพรวมของข่าวไทยพีบีเอสเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีการนำเสนอความเคลื่อนไหวจากฝ่ายอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐบาลและคสช. บางวันมีข่าวเรื่องนี้ถึง 4 ชิ้น เพื่อความรอบด้าน ในกองบรรณาธิการมีการพูดคุยกันหนักมากเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องมีเนื้อหาข่าวจากฝ่ายตรงข้าม บ่อยครั้งที่เราถกกันว่าแท้ที่จริงแล้วใครคือฝ่ายตรงข้ามกันแน่ ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวหรือ ซึ่งดิฉันคิดว่าไม่ใช่และไม่สมควรที่ข่าวของเราจะจับคู่ให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะสังคมไทยได้บทเรียนจากสภาพเช่นนั้นมามากแล้ว และดิฉันเชื่อว่าประชาชนทุกคนมีจุดร่วมของเป้าหมายที่ต้องการอนาคตที่ดีของประเทศ แม้ว่ามีวิธีการที่ต่างกัน ซึ่งทีมงานของเราได้พยายามเสนอแง่มุมของจุดร่วมนี้ในรายการทั้งเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย และรายการเวทีสาธารณะ

ข้อที่สี่ กระบวนการทำงานในกองบรรณาธิการข่าวมีการถ่วงดุลกันอยู่เองอย่างเต็มที่ ข่าวบางชิ้นที่ทีมของเราทำมาต้องถูกตรวจสอบจากบรรณาธิการที่รับผิดชอบช่วงข่าวอีกขั้นหนึ่ง บางสถานการณ์ไม่ได้รายงานสดตามข้อเสนอของทีมข่าวภาคสนามเพื่อความรอบคอบ สมดุล หลายข่าวต้องออกล่าช้าอีกนิดเพื่อให้มีมุมมองของผู้ถูกพาดพิงอธิบายเพื่อความรอบด้าน

ข้อห้า การทำข่าวนี้ในสถานการณ์อย่างนี้ไม่ง่ายเลย ทีมข่าวของเราต้องถกกันเยอะ ดิฉันมีโอกาสถกเถียงกับเพื่อนบรรณาธิการคนอื่นๆ เยอะด้วย ซึ่งดิฉันชอบมากเพราะได้ทบทวนความรู้ทางนิเทศศาสตร์วารศาสตร์ที่ได้เรียนมาจนได้ความรู้เพิ่มเติมจากโจทย์จริงด้วย โดยเฉพาะเรื่อง เสรีภาพสื่อ อำนาจ หน้าที่ และการเซ็นเซอร์ตัวเอง ของสื่อ

ข้อหก จากข้อห้าจะเห็นได้ว่าภายในกองบรรณาธิการมีกระบวนการตรวจสอบควบคุมกันเองอยู่แล้วชั้นหนึ่ง และมากกว่านั้นประเทศไทยยังมีองค์กรวิชาชีพ และสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชน ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันการใช้อำนาจแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน จนอาจถูกครหาให้เสียหายเปลืองตัวได้

ดิฉันเห็นว่าเป็นโอกาสดีค่ะ ที่แวดวงนิเทศศาสตร์วารสารศาสตร์ และวิชาชีพสื่อสารมวลชน ของไทยจะถกกันถึงปัญหานี้ก่อนที่จะถึงวันที่สถานการณ์สุกงอมกว่านี้แล้วทำอะไรไม่ได้เลย จะรอติดตามผลการพิจารณาของบอร์ด กสท. ในวันนี้ค่ะ

ยินดีรับคำวิจารณ์ และคำแนะนำนะคะ
 

สุภิญญา กสทช.ชี้ส่วนตัวไม่เห็นว่าขัดมาตรา 37  
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. สุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 6 ก.ค. นี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 22/2558 มีวาระการประชุมสำคัญน่าจับตา ได้แก่ เรื่องร้องเรียนจากหนังสือของคณะทำงานติดตามสื่อในกองทัพบก กรณีการออกอากาศรายการ ที่นี่ Thai PBS มีเนื้อหาไม่เหมาะสม วันที่ 25 มิ.ย. 58 ช่วงสกู๊ปข่าวนักศึกษา กลุ่มดาวดินถูกออกหมายเรียกและทำกิจกรรมบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม และนักศึกษาอีกหลายมหาวิทยาลัยที่ถูกออกหมายเรียกจากการทำกิจกรรมวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารจนมีการรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ โดยนักวิชาการที่ติดตามเรื่องวิเคราะห์ว่าสะท้อนความหมายที่มีนัยสำคัญหลากหลายมิติ

ต่อมา วันที่ 29 มิ.ย. 58 สำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้บริหารช่องไทยพีบีเอสมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้มีการพิจารณาและมีมติเสนอ กสท.ว่า การออกอากาศสกู๊ปข่าวดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความแตกแยก อันเป็นการต้องห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/57 ลงวันที่ 18 ก.ค. 57 และฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 57 ทั้งนี้ประกาศทั้ง 2 ฉบับมีสถานะเป็นกฎหมายโดยมีเจตนารมณ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย จึงมีผลต่อการออกอากาศที่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รวมทั้งต้องห้ามมิให้ออกอากาศตามมาตรา 37 แห่ง พรบ.ประกอบกิจการฯ 2551 จึงเห็นสมควรกำหนดโทษปรับทางปกครองขั้นต่ำ

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า มติจากอนุกรรมการก็ไม่เอกฉันท์ 4:3:1 ซึ่งไม่ทราบว่ากรณีนี้จะนับการงดออกเสียงรวมเป็นเสียงไม่เห็นด้วยหรือไม่ ตนเห็นว่าเรื่องแบบนี้ในสถานการณ์ปกติตามหลักการคือสื่อควรต้องกำกับดูแลกันเองก่อนเช่นในกรณีนี้ ควรส่งให้กรรมการนโยบายของไทยพีบีเอสที่เขามีหน้าที่ตามกฎหมายได้พิจารณาก่อน เป็นต้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่าไม่ปกติ คือ กสทช.ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายเชิญให้ผู้รับใบอนุญาตเข้าชี้แจงหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนฝ่ายผู้มีอำนาจหรือความมั่นคงโดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องการเมือง ในขณะที่เมื่อเทียบกับเรื่องร้องเรียนอื่นๆ อย่างเช่นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค การละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการก็จะยังเป็นไปตามแบบเดิม เรื่องที่ควรเร่งด่วนในการลงโทษเช่นการโฆษณาผิดกฎหมายอาหารและยากลับไม่เร่งด่วนบ้าง และโทษก็ไม่แรงเหมือนเรื่องเสรีภาพในการเสนอข่าวการเมือง

ที่ผ่านมามีรายการหมายข่าว ช่อง New TV ถูกร้องเรียนมาเช่นกัน แต่อนุกรรมการและ กสท. ก็ตัดสินว่าไม่ผิด มาตรา 37 ส่วนช่อง Voice TV ไม่มีการตัดสินว่าผิดกฎหมาย แต่ช่องวอยซ์ทีวีก็ถอดรายการไปเอง จากนี้ก็มีอีกหลายช่องที่อยู่ในคิวถูกเรียกมาชี้แจง เช่น PPTV ส่งผลให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว ความเกร็งในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

“ตอนนี้สื่อการเมืองก็ถูกปิดไปแล้ว บางส่วนก็ลดโทนลง สื่อสีก็เบาบางลงแล้ว หากผู้มีอำนาจรัฐจะยกระดับควบคุมเข้มในสื่อฟรีทีวีมากขึ้นซึ่งปกติเขาก็ระวังตัวมากอยู่แล้วก็จะยิ่งทำให้เกร็งซ้ำซ้อน ทำงานกันไปด้วยความกลัว ส่งผลกระทบต่อ พัฒนาดิจิตอลทีวีให้เฉาลงไปอีก  ผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการเกิดดิจิตอลทีวีก็จะน้อยลง เพราะจะไม่กล้าเสนอมุมมองที่แตกต่างจากรัฐ

"ทั้งนี้ กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลที่อยู่ตรงกลางระหว่างภาครัฐ กับ ผู้รับใบอนุญาตของเรา หากเราไปเห็นชอบไปกับผู้มีอำนาจทางการเมืองทุกเรื่องก็เท่ากับว่าสื่อมวลชนหรือผู้รับใบอนุญาตจะไม่มีที่พึ่ง เพราะ กสทช. มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ในการดูแลสิทธิเสรีภาพของผู้รับใบอนุญาต และสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายด้วยเช่นกัน ส่วนตัวดิฉันพิจารณาแล้วเห็นว่าข่าวนี้ไม่เข้าข่ายขัดความผิดตามมาตรา 37 แต่อย่างใด แต่คงต้องลุ้นผลการลงมติของบอร์ด กสท.” สุภิญญา กล่าว

 

 

หมายเหตุ มีการเพิ่มเติมเนื้อหาข่าว ล่าสุด เมื่อ 1.00 น. 7 ก.ค. 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net