‘อภิสิทธิ์’ แนะ คสช. แยกแยะให้ได้ นักศึกษาเคลื่อนโดยสุจริตกับมีผลประโยชน์แฝง

3 ก.ค.2558 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการฝากขัง 14 นักศึกษานักกิจกรรมขบวนการประชิปไตยใหม่ที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารว่า ตนเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลออกมาระบุว่า มีคนอยู่เบื้องการเคลื่อนไหวของนักศึกษากลุ่มนี้ โดยที่ยังไม่มีการนำหลักฐานที่ชัดเจนมาเปิดเผยต่อสาธารณชนอาจเป็นการผลักนักศึกษาที่บริสุทธิ์ไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลควรแยกแยะให้ดี เพราะต้องยอมรับว่าฝ่ายที่ต่อต้านโดยบริสุทธิ์ใจมีจริง เรื่องจะได้ไม่ลุกลามบานปลาย ตนไม่อยากให้คนเหล่านี้ถูกผลักไปอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม หรือไปฝักใฝ่การเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง

ต่อคำถามที่ว่ากระแสนี้จะจุดติดหรือไม่เพราะมีการเปรียบเทียบกับกรณี 14 ต.ค. อภิสิทธิ์กล่าวว่า มีขบวนการที่หากินกับประชาธิปไตย โดยมีผลประโยชน์การเมืองแอบแฝงอยู่ตนจึงอยากให้รัฐบาลและ คสช.แยกแยะให้ได้ ระหว่างคนที่เคลื่อนไหวโดยสุจริตกับคนที่มีผลประโยชน์แอบแฝงด้วยการวางกติกาที่ชัดเจนว่าถ้าเป็นการแสดงออกที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ สามารถทำได้โดยระบุให้ชัดว่าถ้ามีเบื้องหลังก็ให้มีความผิดซึ่งจะแยกแยะในหลักการได้มากกว่าส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรคิดว่าสังคมดูออกว่าอะไรที่จะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายและอะไรไม่ใช่

หวังนิรโทษกรรมย้อนดู ‘เหมาเข่ง’ เป็นบทเรียน

นอกจากนี้ อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงแนวทางในการนิรโทษกรรมของคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช.เป็นประธานว่า ตนเคยเสนอต่อไปแล้วว่าควรมีการนิรโทษกรรมคดีการชุมนุมที่เกี่ยวกับประชาชนที่ร่วมชุมนุมโดยสุจริตทั้งหมด ก็จะเป็นรูปธรรมของการปรองดองโดยไม่กระทบต่อหลักการของบ้านเมืองแต่คดีอาญา ใช้ความรุนแรง คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือหมิ่นสถาบัน และคดีทุจริตไม่ควรนิรโทษกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เดินต่อตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อค้นหาความจริงกับสังคมถ้ารัฐบาล หรือ คสช.จะเดินหน้าเรื่องนี้ก็ควรจำกัดขอบเขตเฉพาะผู้ชุมนุมโดยสุจริตเท่านั้น ที่สำคัญอย่าย้อนไปสู่การนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง

“ผมหวังว่าจะไม่มีการย้อนไปสู่แนวเดิมที่จะนิรโทษกรรมเหมาเข่งให้ทั้งคดีทุจริตหรือคดีอาญาที่รุนแรง หรือมาตรา 112 อีก ส่วนที่ 2 คือ บรรดาแกนนำควรต้องให้มีการแลกเปลี่ยนในสังคมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ว่าควรจะเป็นอย่างไร ส่วนข้อเสนอที่จะให้มีกระบวนการสำนึกผิดและในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะถูกตัดออก หรือจะไปเขียนในกฎหมายลูกอย่างไรนั้น ก็ควรต้องดำเนินการในส่วนของประชาชนที่ร่วมชุมนุมก่อนเพราะมีคนจับประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อหวังจะได้รับการนิรโทษกรรมไปพร้อมๆ กัน”  อภิสิทธิ์กล่าว

อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า การเสนอรูปแบบกระบวนการสำนึกผิดไม่ชัดเจนว่าจะมีกระบวนการอย่างไร ซึ่งหวังว่าจะมีการตัดอำนาจของคณะกรรมการปรองดองฯออกจากร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลมีท่าทีชัดเจนในเรื่องนี้ และคิดต่อไปว่าถ้าจะนิรโทษฯจนถึงปี 2557 ว่าจะทำอย่างไรกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีในปี 2557-2558 ด้วย ซึ่งหากจะทำไปในคราวเดียวกันก็มีปัญหาเกี่ยวกับคำสั่งที่ห้ามอยู่ว่าต้องปรับปรุงอย่างไร แต่ตนเห็นว่าเป็นโอกาสที่ต้องทบทวนอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตนขอฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ว่า อยากให้ตัดสินใจในเรื่องการออกกฎหมายให้กับประชาชนที่ชุมนุมโดยบริสุทธิ์ โดยปล่อยให้คดีอาญาที่รุนแรงเหนือคดีทุจริตเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

เชื่อ 59 ได้เลือกตั้ง

ต่อคำถามต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้จะสามารถเลือกตั้งได้ในช่วงปี 2559 หรือไม่ อภิสิทธิ์กล่าวว่า หากดูตามตารางของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ใช้อยู่ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังยกร่าง จะผ่านหรือไม่ผ่าน หรืออาจจะต้องเริ่มกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก 6 เดือน ตนเห็นว่าการเลือกตั้งก็ยังอยู่ในปี 2559

ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์ และมติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท