Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมอันโหดร้ายทารุณต่อนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ฮันน่า วิทเทอริจ และเดวิด มิลเลอ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วการเข้ามาอยู่อาศัยและใช้ชีวิตประจำวันของแรงงานข้ามชาติบนเกาะเต่าหาได้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและกล่าวถึงของสาธารณชนไม่ แต่สถานการณ์กลับพลิกผันอย่างรวดเร็ว  เมื่อพนักงานสอบสวนระบุว่า แรงงานข้ามชาติเป็นผู้ต้องสงสัยหลักในคดีฆาตกรรมเรื่องนี้
 
สำหรับเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network/MWRN) นั้น  การให้ความสนใจของสาธารณชนที่มีต่อแรงงานข้ามชาตินี้ ย่อมสร้างโอกาสในการทำความเข้าใจที่ดีขึ้นแก่องค์กรต่อสถานการณ์ของคนกลุ่มนี้ และถือเป็นความท้าทายที่สำคัญที่แรงงานเหล่านี้ต้องเผชิญบนเกาะเต่าและเกาะข้างเคียง เช่น เกาะพะงันและเกาะสมุย  การสำรวจสภาพชีวิตที่เป็นจริงต่อผลที่เกิดขึ้นจากการเผชิญต่อความท้าทายของคนเหล่านี้  จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจสำหรับการเตรียมคดีของทีมทนายความจำเลย ซอ ลิน และวิน ซอ ตัน (เว พิว) แรงงานชาวพม่าอายุ 21 ปี  ซึ่งปัจจุบันทั้งสองคนถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดเกาะสมุยในคดีฆาตกรรมเรื่องนี้  และถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำเกาะสมุยอยู่ด้วยกัน  เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวจากศาล
 
แนวทางในการต่อสู้คดีของ ซอ ลิน กับ เวพิว ทางหนึ่ง คือ การพิจารณาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความเป็นมาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการเลือกปฏิบัติการเอารัดเอาเปรียบต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย  โดยผู้มีอิทธิพลในพื้นที่  ซึ่งเชื่อได้ว่า จะมีผลต่อการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวทั้งสองคนนี้  จนทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อบุคคลทั้งสองผู้อยู่ในฐานะที่ถูกละเมิดสิทธิในเวลาต่อมา  ข้อพิจารณาต่างๆ เหล่านี้ล้วนช่วยทำให้เกิดความตระหนักที่จะทำให้เห็นความสำคัญของการดำเนินคดีอย่างถูกต้องและเป็นธรรม  ทั้งแก่ผู้เสียชีวิต จำเลย และครอบครัวของทั้งสองฝ่าย รวมทั้ง  ทำให้มีผลต่อชุมชนหรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่สนใจติดตามคดีนี้ อย่างใกล้ชิด 
 
ด้วยใบหน้าที่อ่อนเยาว์และเต็มไปด้วยรอยยิ้มของ ซอ ลิน และเว พิว ในระหว่างการเข้าเยี่ยมที่เรือนจำเกาะสมุยของเพื่อนๆ และนักสิทธิมนุษยชนอีกทั้งในระหว่างการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดเกาะสมุย  ย่อมสร้างความลำบากใจแก่ผู้พบเห็นในการที่จะยอมรับว่า การฆาตกรรมอันเหี้ยมโหดที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้  จะเป็นการกระทำของจำเลยทั้งสองที่เป็นเด็กหนุ่มตัวเล็ก  ดูเป็นมิตรและไร้เดียงสา เช่นนี้
 
ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานะที่ต่ำต้อยและไร้ซึ่งอำนาจ  รวมทั้ง ความเปราะบางของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย  เมื่อรวมกับคำวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิ หรือทักท้วงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับข้อสงสัยในการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมนี้และประเด็นผู้มีอิทธิพล  ได้สร้างความไม่ไว้วางใจหรือความคลางแคลงใจอย่างต่อเนื่องว่า ฆาตกรที่แท้จริงที่ต้องรับผิดชอบต่อการฆาตกรรม  น่าจะยังมิได้ถูกจับกุม
 
เป็นเวลากว่าสิบปีที่แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการท่องเที่ยว การก่อสร้างและงานภาคบริการต่างๆ บนเกาะเต่า เกาะพะงัน และเกาะสมุย โดยได้รับค่าตอบแทน  ในลักษณะของการจัดหาที่อยู่อาศัยและอาหารให้ รวมทั้ง ค่าทิปและค่าบริการต่างๆ ซึ่งจะทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเก็บเงินจากการทำงานบนเกาะเหล่านี้ได้
 
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิในที่ทำงาน รวมทั้ง การจ่ายค่าจ้างที่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย วันละ 300 บาท และค่าทำงานล่วงเวลาชั่วโมงละ 56 บาท ต้องทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์โดยไม่มีวันหยุด ไม่จ่ายค่าแรงในวันลาและไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์  รวมทั้งการที่นายจ้างมักจะละเลยต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม  ในขณะเดียวกัน การจ้างงานเด็กและเยาวชนก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่
 
แรงงานข้ามชาติมักไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์  ใบอนุญาตให้ทำงานขายสินค้าหรืองานบริการต่างๆ  การทุจริตคอรัปชั่นจึงกลายเป็นสิ่งสามัญที่เห็นได้จากแรงงานข้ามชาติที่มักจะถูกขูดรีดอยู่เป็นประจำ  อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติสามารถซื้อบัตรคุ้มครองจากผู้มีอิทธิพล  ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นเพื่อให้สามารถอาศัยอยู่บนเกาะได้โดยไม่ถูกรบกวนจากการบังคับใช้กฎหมาย
 
แรงงานข้ามชาติต้องปฏิบัติตามกฎที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร  ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของเกาะอันห่างไกล  ควบคู่ไปกับการที่เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามระบบการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติของประเทศไทยที่มีอยู่  โดยทางการแล้วนายจ้างต้องพาลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติทุกคนไปขึ้นทะเบียน  และแรงงานข้ามชาติเหล่านี้จะต้องมีเอกสารการจ้างงานและการเดินทางเข้าเมืองตามกฎหมาบ  แต่ในความเป็นจริงแล้ว  แรงงานข้ามชาติต้องจ่ายค่าคุ้มครองต่อเดือนตามที่ถูกเรียกเก็บ 
 
ระบบการจ้างงานและการเก็บค่าคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ไม่ถูกกฎหมาย  และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปบนเกาะเหล่านี้  ไม่ได้ถูกรบกวนเลย  แม้ว่า หลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557  รัฐบาลทหารจะพยายามเร่งรัดผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติทั่วประเทศไทย  ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเนื่องมาจากผลกระทบที่น่าเชื่อว่า เกิดขึ้นจากปัญหาทางการค้าในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติจำนวนมากบนเกาะเต่า  และเกาะข้างเคียง  ยังคงเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน  โดยยังคงมีการใช้บัตรคุ้มครองต่อไป
 
ในวันแรกๆ ของการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับการฆาตกรรมฮันน่าและเดวิด และตามมาด้วยการจับกุมแรงงานข้ามชาติ “ผิดกฎหมาย” ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรม  รัฐบาลเแถลงอย่างรวดเร็วในการรับรู้ถึงความเสี่ยงของการเข้าเมือง “ผิดกฎหมาย” ต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจนทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อชื่อเสียงของประเทศ  จากการที่สื่อมวลชนที่ติดตามคดีนี้ได้เปิดเผยว่า มีแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นจำนวนมากทำงานบนเกาะเต่า  
 
ในที่สุดการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่แท้จริง  ก็ถูกจัดขึ้นบนเกาะเต่าและเกาะข้างเคียงในเดือนตุลาคม 2557  โดยมีกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนที่เข้มงวดมากขึ้นและเพิ่มเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมากขึ้น  บัตรค่าคุ้มครองได้หายไป  แต่ระบบจ่ายเงินอย่างไม่เป็นทางการและการขูดรีดยังคงมีอยู่  ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวก่อให้เกิดผลในเชิงบวก  แต่แรงงงานข้ามชาติที่เคารพกฎหมายและทำงานหนักกลับอยู่ด้วยความกลัวภายใต้การควบคุมดูแลที่เพิ่มมากขึ้น  
 
สองสัปดาห์ในการสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรม  เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ตั้งข้อหาแก่ผู้ใด  ท่ามกลางคำแถลงชี้แจงที่ขัดแย้งเกี่ยวกับหลักฐานและผู้ต้องสงสัย  การสืบสวนสอบสวนเป็นไปอย่างยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบเพิ่มมากขึ้น  พนักงานสอบสวนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความผิดพลาดในการเก็บพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ทำร้ายผู้ต้องสงสัยและการขมขู่พยาน  สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของการท่องเที่ยวเท่านั้น  แต่ยังส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของระบบงานยุติธรรมในประเทศไทยที่ล่าช้าในการหาตัวผู้รับผิดในคดีฆาตกรรมที่โด่งดัง เช่นนี้
 
ภายใต้ความกดดันในการจับกุม  เจ้าหน้าที่มักเสนอว่า ผู้ที่ก่อคดีฆาตกรรม คือ แรงงานข้ามชาติ  จึงเกิดการตรวจดีเอ็นเอของกลุ่มแรงงานข้ามชาติขึ้นในเวลาต่อมา  ซึ่งนำไปสู่ความกลัวที่ว่า แรงงานข้ามชาติจะกลายเป็น “แพะรับบาป”  และก็มิได้ให้สิทธิแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่จะมีอำนาจในการตอบโต้  ความกังวลอีกประการหนึ่ง คือ มีกลุ่มแรงงานข้ามชาติบนเกาะเต่าเปิดเผยว่า  มีการทรมานในระหว่างทำการสอบสวนของเจ้าหน้าที่  
 
ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2557  เจ้าหน้าที่ทำการจับกุม ซอ ลิน กับ เว พิว ในฐานะผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมบนเกาะเต่า ทั้งสองคนทำงานอยู่ในเกาะเต่าเพื่อเก็บเงินส่งให้ครอบครัวที่ยากจนในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า พนักงานสอบสวนอ้างว่า ทั้งสองให้การรับสารภาพในระหว่างทำการสอบสวนและยืนยันว่า หลักฐานความผิดของทั้งสองคนเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ ”แน่นหนา” ซึ่งเชื่อมโยงทั้งสองคนกับสถานที่เกิดเหตุและสภาพศพของฮันน่า
 
เป็นเวลาหลายวันหลังจากถูกจับกุม ซอ ลิน และ เว พิว แจ้งต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เรือนจำเกาะสมุยว่า พวกเขาถูกทรมานร่างกายหลังจากการจับกุม  ก่อนที่จะถูกส่งตัวให้พนักงานสอบสวน สัปดาห์ต่อมา ทั้งสองคนได้แจ้งต่อทนายความสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดตามที่รับสารภาพ  เพราะทั้งสองคนถูกเอาถุงคลุมหัวเพื่อให้หายใจไม่ออกในระหว่างที่ถูกข่มขู่ ว่า จะช็อตไฟฟ้า เผานั่งยาง และทำให้เสียชีวิต  เพื่อให้ยอมรับสารภาพ  อีกทั้ง ล่ามที่ช่วยแปลภาษาให้กับพนักงานสอบสวนก็ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดต่อหน้าที่และน่าจะมีส่วนร่วมในการบังคับให้บุคคลทั้งสองรับสารภาพ อีกด้วย
 
ข้อเรียกร้องประการหนึ่งของครอบครัวผู้เสียชีวิต คือ การหยุดเสนอรายงานที่ไม่ถูกต้อง  และลดความครึกโครมของคดีฆาตกรรม ที่สะท้อนข้อกังวลของการพิจารณาคดี  จากความคิดเห็นของสาธารณชนต่อผู้ต้องหาและทีมพนักงานสอบสวนคดีฆาตกรรมบนเกาะเต่า  บนพื้นฐานข้อมูลจากสื่อต่างๆ เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ซอ ลิน และ เว พิว ถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  และมีการยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย  โดยศาลกำหนดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นเวลา18 วัน  ซึ่งการพิจารณาคดีนัดแรกจะเป็นการสืบพยานโจทก์  โดยจะเริ่มต้นในวันที่ 8 เดือนกรกฎาคม  2558
 
ความเป็นธรรมที่แท้จริงในคดีนี้สามารถเกิดขึ้นได้  หากมีการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและโปร่งใส ในบริบทของความท้าทายของกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย  ในการสร้างความเป็นธรรมให้เกิดมากขึ้น  ความภาคภูมิใจและชื่อเสียงของประเทศไทยถูกเดิมพันด้วยการติดตามการพิจารณาคดีนี้อย่างใกล้ชิด  และประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการไร้ซึ่งสิทธิมนุษยชนจากการเลือกปฏิบัติ และการถูกเอารัดเอาเปรียบที่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยต้องเผชิญ  อย่างไรก็ตาม  การพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและโปร่งใสอาจไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก
 
สิ่งหนึ่งที่จะรับรองความเป็นธรรมอย่างแท้จริงในคดีนี้ คือ ความเท่าเทียมของทรัพยากรที่นำมาใช้  ทั้งในการดำเนินคดี  และสำหรับทีมทนายความจำเลย  โดยทีมทนายความจำเลยทุกคนทำหน้าที่ในนามของสภาทนายความที่ไม่รับค่าตอบแทนจากตัวความ และต้องเผชิญกับความท้าทายต่อภาระในการตรวจสอบพยานบุคคลมากกว่าร้อยปาก  และพยานเอกสารอีกกว่าพันหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ต้องทำการตรวจพิสูจน์ และประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ และการพิเคราะห์สถานที่เกิดเหตุโดยละเอียด  ซึ่งถือว่า เป็นความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
 
ยิ่งไปกว่านั้น ความยากลำบากยังเพิ่มมากขึ้น  เมื่อการพิจารณาคดีกระทำขึ้นบนเกาะสมุย  ซึ่งเป็นเกาะที่มีค่าครองชีพสูง และเดินทางไปยากลำบากจากกรุงเทพมหานคร  เพราะต้องใช้ทนายความจากส่วนกลาง  อีกทั้ง ยังต้องมีการใช้ล่ามถึงสามภาษาจึงจะเข้าถึงข้อเท็จจริงได้  ข้อจำกัดทางการเงินในการทำงานและการติดตามพยานรวมทั้ง ต้องมีการคุ้มครองพยานด้วย ซึ่งขณะนี้พยานที่สำคัญส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกประเทศไทย 
 
ท้ายที่สุด  หากทีมทนายความจำเลยไม่มีทรัพยากรเพื่อเตรียมคดีได้อย่างเพียงพอ  หรือหากต้องถูกขัดขวางในการทำงานอย่างไม่ยุติธรรม  ย่อมจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ร้ายแรงต่อผู้บริสุทธิ์ที่อาจถูกตัดสินประหารชีวิต  ในขณะที่ฆาตกรตัวจริงยังลอยนวลอยู่  ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จริง  คงไม่มีความเป็นธรรมให้แก่ฮันน่าและเดวิด  และผู้ที่รักพวกเขา รวมทั้ง เหยื่ออีกสองคนที่อาจเป็นแพะรับบาปในคดีที่สำคัญนี้ได้
 
เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดความไม่เป็นธรรมดังกล่าวข้างต้น MWRN ได้เข้ามาดำเนินการระดมทุนสำหรับทีมทนายความที่เข้าแก้ต่างให้ ซอ ลิน และเว พิว ในทางคดี  โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายที่เพียงพอ  กองทุนนี้จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แก่ทนายความ  การเสาะหาพยาน  เช่น การเดินทางและที่พักสำหรับการแสวงหาข้อเท็จจริง การเตรียมการในการเตรียมคดี  และในการพิจารณาคดีในศาลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
 
MWRN มีจุดประสงค์ที่จะทำให้เกิดความแน่ใจว่า แรงงานข้ามชาติซึ่งทำงานหนักและมีส่วนในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่เกาะเต่า เกาะข้างเคียง  และประเทศไทย  เกิดรู้สึกว่า ได้รับความเป็นธรรมจากการพิจารณาคดีที่เกิดในเกาะเต่า ที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าครอบครัวและเพื่อนของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  กลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยซึ่งมักเป็นชนชั้นล่างที่ทำงานหนักและไม่มีสิทธิมีเสียง  และต่างได้รับผลกระทบอย่างลึกซึ้งจากการเสียชีวิตอันน่าสลดของฮันน่าและเดวิด  และจากการดำเนินคดีของ ซอ ลิน และ เว พิว เพื่อนร่วมชาติของพวกเขา
 
หมายเหตุเกี่ยวกับผู้เขียน: อานดี้ ฮอล เป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Worker Rights Network/ MWRN) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)สามารถติดต่อได้ที่ andyjhall1979@gmail.com twitter @atomicalandy facebook https://www.facebook.com/andy.hall.3110 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net