Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

จำได้ว่าวันที่ 29 มิถุนา เป็นวันแรกที่สามารถเข้าเยี่ยม 14 สมาชิกกลุ่ม “ประชาธิปไตยใหม่” หลังจากถูกจับกุมตั้งแต่เย็นวันศุกร์ที่ 26 มิถุนาและถูกศาลทหารฝากขังกลางดึกยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สำหรับผู้ชาย และทัณฑสถานหญิงกลางสำหรับผู้หญิง

เช้าวันนั้นฉันตั้งใจไปเยี่ยม “ลูกเกด” หญิงสาวร่างเล็กผอมแกร็น วงหน้าแป้นแล้นรับกับน้ำเสียงแหลมสดใสของเธอ  ทว่าด้วยกฎเกณฑ์กระบวนการต่างๆอันเข้มงวดซับซ้อน จึงไม่ได้พบลูกเกด แต่นั่นก็เป็นครั้งแรกที่ได้เจอแม่ของเธอ ระหว่างฆ่าเวลาอันยาวนานตั้งแต่เช้ายันบ่ายแก่ เฝ้ารอโอกาสเพียง 20 นาที ที่แม่จะได้พบลูกสาวผ่านกรงขังและเสียงโทรศัพท์ คุณแม่ลูกเกดชวนฉันคุยเรื่องราวต่างๆนานา ตั้งแต่เมื่อแรกรู้ว่าลูกสาวของเธอถูกจับกุมด้วยความรุนแรงหน้าหอศิลป์กรุงเทพ, การปรับตัวเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง, ไปจนถึงแรงกดดันและกำลังใจที่แวดล้อมตัวเธอ ถ้าอยู่ในสภาวะปรกติคุณแม่ต้องเป็นคนคุยสนุกแน่ๆ

ขณะที่ฟังคุณแม่เล่าด้วยน้ำเสียงกังวลใจระคนเจ็บปวดแต่แววตาโชนด้วยความหวัง ฉันประหวัดคิดถึงแม่ตัวเองว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ้าง แม่ฉันจะรับมือได้อย่างกล้าหาญ จะมีสติอดทนอดกลั้นเช่นแม่ผู้ที่อยู่เบื้องหน้าไหม ? แม่กับพ่อฉันจะเข้าใจไหมว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ ? แล้วสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว หาใช่เกิดจากฉันก้าวออกมาเรียกหาเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย แต่เกิดจากการใช้อำนาจอันป่าเถื่อนของเผด็จการต่างหาก

เพราะ “ความเป็นแม่” เป็นทั้งมายาคติและสายสัมพันธ์ที่กล่อมเกลาผูกพันชีวิตเรามายาวนาน ทั้งคนที่มีประสบการณ์เป็นแม่คนและไม่เคยมี ผูกโยงไปกับการอุทิศตนเพื่อครอบครัว ความรักความห่วงหาที่ตัดไม่ขาด  การอบรมเลี้ยงดูและการเชื่อฟัง ด้วยเหตุนี้ในสายตาพ่อแม่มักมองลูกเป็นเด็กเสมอ แม้จะถึงวัยใช้สิทธิเลือกตั้งในฐานะพลเมืองได้แล้ว หรือจนอายุเท่าตนเองเมื่อครั้งแต่งงานมีลูกมีเต้า ลูกในสายตาแม่ก็ยังเสมือนเมื่อแรกที่เกิดมา

“นี่เป็นมื้อแรกในสี่วันที่แม่กินอิ่ม” คุณแม่ของ “บาส” รำพึงหลังรวบช้อน ของมื้อเที่ยงวันอังคารที่ 30 มิถุนา คำพูดนี้เตือนใจให้ตระหนักว่า ฉันยังห่างไกลจากความรู้สึกหัวอกคนเป็นแม่มากนัก ต่อให้มีโอกาสพูดคุยพบเจอมากแค่ไหนก็ตาม ยิ่งเมื่อรู้ว่าลูกตัวเองถูกคุมขังในที่ๆ ไม่มีทางรู้เลยว่าชีวิตลูกของตนอีกฟากหนึ่งของลูกกรงจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ต่อให้ได้เยี่ยมลูกทุกวันมันก็ไม่ชิน

ด้วยเหตุนี้พ่อแม่หลายคนถึงทั้งหวงทั้งห่วงไม่ให้ลูกที่ตนเองเฝ้าฟูมฟักหลายขวบปี ต้องโดนคุกคามถูกใส่ร้ายด่าทอ ฉุดกระชากจับเข้าคุกตาราง ห้ามปรามไม่ให้ลูกออกไปร่วมชุมนุม ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเผด็จการ ออกไปเสี่ยงอันตรายที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ว่าวันร้ายคืนร้าย เบื้องบนจะลงมาเล่นงานตามอำเภอใจเมื่อไร จนเคยเผลอคิดว่าทำไมไม่เป็นหน้าที่ของลูกคนอื่น ?

และด้วยความรักความห่วงใยนี่เอง กลุ่มเผด็จการและผู้ที่ฝักใฝ่ระบอบนี้ จึงคว้ามาเล่นกับความรู้สึก “หัวอกคนเป็นพ่อแม่” ในฐานะยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะบ่อนเซาะขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในระดับปัจเจก  สำหรับระบอบเผด็จการ ความรักความห่วงหาอาทรจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมนุษย์ หากแต่เป็นจุดอ่อนและช่องทางจะใช้ลอบทำลายมนุษย์ด้วยกันเมื่อสบโอกาส ไม่เพียงคุกคามให้สมาชิกในครอบครัวตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว จับความรัก ความรู้สึก ความปลอดภัยของพ่อแม่ หรืออนาคตของลูกหลานของพวกเขาและเธอเป็นตัวประกัน ให้ยอมจำนนอยู่ใต้อุ้งระบอบเผด็จการต่อไป

นอกเหนือจากมองว่าประชาชนพลเมืองที่ยังเรียนหนังสืออยู่เป็นเพียงเด็กเชื่องๆที่ยังไม่โต เป็นบุคคลต้องมีผู้อนุบาล เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิดเองไม่เป็น ต้องรอคำป้อนจากผู้มีอำนาจอิทธิพล

แม้เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า “ความเป็นแม่” ไม่ใช่สิ่ง “สากล”, “ธรรมชาติ” หรือติดตัวผู้หญิงมาแต่กำเนิด เพราะแม้เพศหญิงจะสามารถให้กำเนิดได้ แต่ไม่ใช่ “เพศแม่” มิเช่นนั้นจะเท่ากับว่าเพศหญิงจะไร้ความหมายใดๆทั้งสิ้นถ้าไม่คลอดลูก เหมือนครั้งหนึ่งที่เคยมัด “ความเป็นหญิง” ไว้กับ “ความเป็นแม่” จนนำไปสู่ทั้งข้อจำกัดในการแบ่งงานกันทำ และข้ออ้างให้ผู้หญิงถูกผูกติดอยู่กับบ้าน พวกเธอจึงต้องพึ่งพารายได้จากสามี ซึ่งเป็นค่าจ้างที่ไม่แน่นอนของการทำหน้าที่ผลิตรับเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวและกิจวัตรภายในบ้าน อนาคตและความก้าวหน้าของพวกเธอไม่ได้มีเป็นของตัวเอง แต่ต้องอ้างอิงกับตำแหน่งแห่งที่ของสามีและอนาคตของลูก จนเป็นที่เข้าใจกันว่าการที่ผู้หญิงตกอยู่ในสถานะด้อยกว่าผู้ชาย ก็เพราะ “ความเป็นแม่” เป็นปัจจัยหนึ่ง แต่แม่หลายยคนก็พร้อมจะทุ่มเทให้กับหน้าที่นั้นเพื่อลูก

และแม้จะเลี้ยงลูกได้แต่ตัว มองโลกต่างมุมหรือเชื่อต่างกัน แต่แม่หลายคนก็พร้อมสละตนเองเพื่อลูกได้เช่นเดียวกับที่ลูกสละอิสรภาพ สุ่มเสี่ยงชีวิตตนเองเพื่อความเสมอภาพและศักดิ์ศรีความเป็นคน เหมือนความรักความเป็นห่วงของแม่ใน “Mother” ของ Maxim Gorky (ประพันธ์ในครึ่งหลัง ค.ศ. 1906 - ต้น ค.ศ.1907  ที่ต่อมาแปลเป็นภาษาไทย ชื่อว่า “แม่” โดยนามปากกา “ศรีบูรพา” ในภาคแรก พ.ศ. 2501 และภาคสุดท้าย พ.ศ. 2518 โดยนามปากกา “วิริยาภา” ก่อนที่จะถูกแปลจบสมบูรณ์ทั้ง 2 ภาคโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ในพ.ศ. 2521) ที่ปลดแอกจากการกดขี่ทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และเดินเคียงข้างลูกของเธอ ต่อสู้ต่ออำนาจปกครองอัตตาธิปไตยอันไร้ทั้งความชอบธรรมและยุติธรรม

เพราะความรักและสายใยของ “ความเป็นแม่” ยิ่งใหญ่และมีค่ามาก มากเกินจะปล่อยให้ใครที่ไหนที่กำลังขโมยสิทธิความเป็นคนอยู่ จะฉวยเอามาเป็นเครื่องมือหลอกให้เราหลงขายเสรีภาพ เพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูก

ไม่ว่าคนเป็นพ่อเเม่จะยังมองลูกตัวเองเป็นเด็กน้อยเหมือนเมื่อเเรกเกิด แต่ในอีกโลกนึงเขาและเธอคือวีรชน ผู้เสียสละ ผู้กล้า ผู้ไม่ปล่อยให้ความอยุติธรรมผ่านเลยไป แม้ต้องแลกกับเสรีภาพบางประการก็สละได้ แม่อาจจะเจ็บปวด โศกเศร้า ตัดพ้อโลกว่าทำไมต้องเกิดกับลูกตนเอง แต่เชื่อเถอะสักว่าแม่จะภูมิใจ

เดี๋ยวเราก็ชนะแล้ว อดทนหน่อยนะ... แม่จ๋า

 




[1] นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net