เอกสิทธิ์ หนุนภักดี: อิงอาทิตย์ดูดาว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ชะตากรรมดาวคนละดวง

ขณะที่รัฐบาลทหารจับกุม “ดาวดิน” 14 หนุ่มสาวนักศึกษาผู้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ด้อยอำนาจและโอกาสด้วยข้อหาชูป้ายต้านรัฐประหารเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน ในเวลาเดียวกันนั้น ณ บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา ประเทศญี่ปุ่น หนุ่มสาวนักศึกษาชาวญี่ปุ่นจำนวนหลายพันคนรวมตัวกันชูป้ายประท้วงรัฐบาลอาเบะที่เสนอร่างกฎหมายความมั่นคงที่จะอนุญาตให้ญี่ปุ่นใช้สิทธิปฏิบัติการป้องกันตนเองร่วมกับสหรัฐฯ ซึ่งอาจหมายถึงการนำประเทศเข้าสู่สงคราม

ขณะที่ดาวดินถูกส่งไปเรือนจำ หนุ่มสาวนักศึกษาชาวญี่ปุ่นยังสามารถดำเนินกิจกรรมแสดงออกทางความคิดต่อไปโดยขยายการชุมนุมไปยังชิบุยะอันเป็นย่านการค้ากลางกรุงโตเกียวเมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา


ภาพการชุมนุมของนักศึกษาที่ชิบุยะ

ที่มาภาพ: www.asahi.com/articles/photo/AS20150627003020.html

ขณะที่การเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวนักศึกษาชาวไทยถูกตัวแทนเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลผู้เป็นคู่กรณีโดยตรงให้ความเห็นว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ที่ญี่ปุ่นไม่มีใครป้ายสีหนุ่มสาวนักศึกษาชาวญี่ปุ่นเหล่านั้น

สิ่งที่น่าจะเป็นจุดร่วมของหนุ่มสาวชาวไทยและชาวญี่ปุ่นคือ พวกเขาต่อสู้กับรัฐบาลที่ “ปิดปากฝ่ายที่เห็นต่างกับรัฐบาลและไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน” (คำพูดของนายโนบุคาสุ ฮอมมะ อายุ 20 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยทสึคุบะ; http://www.asahi.com/articles/ASH6W65XSH6WUTIL01K.html)

ดาวดินกับดาวครอบมงกุฎ

เมื่อดาวดินออกมาทำกิจกรรมทางการเมือง สิ่งที่พวกเขาได้คือ การถูกจับกุม คุมขัง สถานภาพของพวกเขาภายหลังการเคลื่อนไหวยังคงเป็นนักศึกษา ไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้อำนาจ

เมื่อทหารทำรัฐประหาร สิ่งที่พวกเขาได้คือ ลาภ ยศ อำนาจ ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เงินเดือน 125,590 บาท/เดือน และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใน คสช. ได้เงินเดือน 119,920 บาท/เดือน ยศตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ และยังถืออำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44

อาทิตย์ใต้ดวงดาว

ถ้าการพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นจุดตกต่ำที่สุดของญี่ปุ่น ก็อาจจะกล่าวได้ว่าความตกต่ำนั้นเกิดขึ้นภายใต้การกุมอำนาจบริหารประเทศของนายทหาร

แล้วทหารขึ้นมาเรืองอำนาจได้อย่างไร?

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ลัทธิทหารนิยมในคริสต์ทศวรรษที่ 1930 สภาวะสังคมและเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่นมีลักษณะสำคัญคือ มีการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาและสิ่งพิมพ์เผยแพร่กว้างขวาง ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองนำไปสู่ข้อเรียกร้องทางการเมืองสำคัญคือการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองเติบโตโดยอิงกับอำนาจเก่าไม่มีฐานมวลชน (ใช้ฐานเสียงท้องถิ่นต่อรองอำนาจและตำแหน่งกับชนชั้นนำผู้กุมอำนาจ) มีความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน เช่น ข้อพิพาทระหว่างกรรมกร-นายทุน ผู้เช่าที่ดิน-เจ้าที่ดิน มีการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ ๆ (ดู เคนเนธ บี. ไพล์, สร้างคนสร้างชาติสไตล์ญี่ปุ่น, แปลโดย ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์, 2528, หน้า 184-236)

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่า สังคมญี่ปุ่นอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีผลสะเทือนต่อการกระจุกตัวของอำนาจการเมือง นำไปสู่การต่อสู้ทางการเมืองเรียกร้องสิทธิจนเกิดการกระจายอำนาจการเมืองบางส่วนจากชนชั้นนำไปสู่ชนชั้นนำชายขอบที่ทำหน้าที่เป็นนายหน้าแทนมวลชน แต่ถึงกระนั้น การกระจายอำนาจดังกล่าวก็ยังไม่มากพอและรวดเร็วพอที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งมีผู้เสนอทางออกของสังคมญี่ปุ่นไว้ 2 ทางคือ หนึ่ง รัฐปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของสถาบันสังคมและการเมืองซึ่งจะต้องออมชอมกับพลังใหม่ ๆ หรือสอง เพิ่มอำนาจให้แข็งกร้าวมากขึ้นเพื่อควบคุมพฤติกรรมและความคิดทางการเมือง (เคนเนธ บี. ไพล์, น. 197)

ซึ่งญี่ปุ่นเลือกที่จะเลือกการควบคุมและปราบปรามมากกว่ารอมชอมเปิดพื้นที่ให้พลังการเมืองใหม่มีที่ยืนในสังคม กองทัพจึงมีบทบาทมากและแข็งกร้าวขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ การปราบปรามผู้เห็นต่างไม่ว่าจะเป็น การยุบพรรคกสิกรกรรมาชีพ ยุบสหพันธ์เยาวชนกรรมาชนญี่ปุ่น ยุบสภาแรงงานญี่ปุ่น การจับกุมฝ่ายซ้ายครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1928 ปลุกกระแสลัทธิชาตินิยม โจมตีอุดมการณ์ที่แตกต่างว่าเป็นอุดมการณ์นำเข้าจากต่างประเทศไม่ใช่ของที่เหมาะสมกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีการจับกุมคุมขังและลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวนมาก ในจำนวนนี้ มีบุคคลสำคัญระดับนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 2 คนถูกลอบสังหาร คือ นรม. ฮามากุจิ โอซาจิ ในปี ค.ศ. 1930 และ นรม. อินุไค ทสึโยชิ ในปี ค.ศ. 1932

การที่กองทัพมีอำนาจเหนือพลเรือนทำให้งบประมาณกองทัพเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บางปีงบประมาณกองทัพสูงถึงร้อยละ 75 ของงบประมาณประเทศ กองทัพเป็นผู้นำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามหลายครั้ง ทั้งการเข้ายึดครองแมนจูเรียและตั้งรัฐทดลองแมนจูกัวในปี ค.ศ. 1932 การยิงต่อสู้กับทหารจีนที่สะพานมาร์โคโปโลในปี ค.ศ. 1937 ไปจนถึงการนำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 การปกครองโดยทหารปิดฉากลงโดยญี่ปุ่นแพ้สงครามและตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐฯ

อาทิตย์เลือกดาว

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ปลอดทหารแม้ว่าจะประสบปัญหาการคอร์รัปชั่นจากภาคการเมืองมาโดยตลอดแต่ก็สามารถฟื้นฟูประเทศจากประเทศผู้แพ้สงครามมาเป็นประเทศพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกภายในเวลาเพียง 3 ทศวรรษนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง

แม้ว่ารัฐธรรมนูญสันติภาพที่ประกาศสละสิทธิในการใช้สงครามเป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจะถูกเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยึดครองแต่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเองก็แสดงออกอย่างแข็งขันตลอดมาว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่พวกเขาเลือกเช่นเดียวกันกับหนุ่มสาวนักศึกษาที่แสดงพลังคัดค้านร่างกฎหมายที่อาจจะนำญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามในครั้งนี้

ญี่ปุ่นเลือกฝากอนาคตของประเทศไว้กับหนุ่มสาวดาวบนดินมากกว่านายพลดาวครอบมงกุฏ อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อมองย้อนไปดูประวัติศาสตร์แล้วหนุ่มสาวเช่นดาวดินต่างหากที่เป็นผู้พาประเทศไปสู่อนาคตมิใช่นายพลชราทั้งหลาย 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท