เสวนาวัฒนธรรมกับสิทธิในไทย ‘ดาวดิน’ ชี้ทหาร-ราชการใหญ่โตหลังรัฐประหาร

26 มิ.ย. 2558 ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสาธารณะ “วัฒนธรรมกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย”

การเสวนาช่วงเช้า เริ่มต้นเวลาประมาณ 10.00 น. โดย เชลี มาเรีย บาร์รี่ ที่ปรึกษาโครงการวัฒนธรรมและสิทธิในประเทศไทย และประธานหลักสูตรปริญญาโทสิทธิมนุษยชน (นานาชาติ) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เริ่มต้นดำเนินการเสวนาช่วงเช้าในประเด็น “ย้อนมองสิทธิในวัฒนธรรม” มีวิทยากร 3 คนร่วมอภิปรายในประเด็นวัฒนธรรมและสิทธิจากมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และได้รับเอาคนที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากหลายถิ่นมาตลอดประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามความหลากหลายดังกล่าวนี้กลับไม่ได้รับการยอมรับและทำให้กลมกลืนไปกับวัฒนธรรมกระแสหลัก

สิริจิต สุนันต๊ะ อาจารย์และประธานหลักสูตรปริญญาเอกสาขาพหุวัฒนธรรมศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงคำว่า “สิทธิทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นคำที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย ในประเด็นที่มุ่งเน้นในการศึกษาความหลากหลายของกลุ่มวัฒนธรรมรองในรัฐ (ชนกลุ่มน้อย, ชนเผ่า ฯลฯ) และการมีสิทธิในการดำรงเอกลักษณ์ของกลุ่มตนเอง

สิริจิต กล่าวต่อว่า กลุ่มวัฒนธรรมรองนั้นเสียเปรียบในรัฐ โดยเฉพาะด้านภาษา พวกเขาจึงควรได้รับสิทธิในการปกป้องความเป็นธรรมและได้รับการการรองรับ ในปัจจุบันนั้นประเทศไทยได้เปิดพื้นที่ให้กับวัฒนธรรมรองมากขึ้นจากแต่เดิมที่ถูกมองอย่างตายตัวว่าเป็นประเด็นทางความมั่นคง แต่สิ่งที่น่าสนใจนั้นคือการเปิดพื้นที่นั้น เกิดจากความคิดทางสิทธิทางวัฒนธรรมจริงๆ หรือมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย และเราเปิดให้ใคร อย่างไร และยอมอะไรได้บ้าง ที่สำคัญคือในชุมชนวัฒนธรรมรองนั้น คิดอย่างไรกับสิทธิทางวัฒนธรรม สิ่งที่พวกเขาได้รับคือสิ่งที่พวกเขาต้องการจริงหรือเปล่า

สิริจิต ได้ศึกษากลุ่มชาวผู้ไทในจังหวัดมุกดาหาร ในตอนแรกคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มวัฒนธรรมรองแน่ๆ แต่เมื่อเข้าไปกลับไม่พบแนวคิดสิทธิวัฒนธรรมรองปรากฏในชุมชน และเมื่อถามชาวผู้ไทว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่พวกเขาไม่ได้ใช้ภาษาประจำชาติ เพราะเรียนรวมกับเด็กไทย จึงต้องใช้ภาษาไทย ชาวผู้ไทตอบว่าการสอนภาษาของตนไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ต้องการให้เด็กในชุมชนได้เรียนภาษาอังกฤษก่อนเพราะมีประโยชน์มากกว่า ทั้งๆ ที่ตัวภาษาเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเขาคือใคร

สิริจิต ได้อภิปรายต่อว่า จากการศึกษาพบว่าในพื้นที่นั้น วาทกรรมยุคสงครามเย็นยังมีผลอยู่มาก การพัฒนาโดยรัฐในช่วงนั้นได้ตอกย้ำความคิดแบบรัฐและการปกครองโดยลำดับขั้น และยังคงดำเนินมาจนทุกวันนี้ ชาวผู้ไทได้รับการสนับสนุนทรัพยากรมาทำกิจกรรมจากรัฐ ดังนั้นสิริจิตจึงมองว่า รัฐกำหนดอัตลักษณ์ที่ชาวบ้านมองตัวเขาเอง สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ชาวบ้านไม่ได้ต้องการรักษาอัตลักษณ์เป็นหลักแต่เป็นการเลื่อนขั้นทางฐานะซึ่งต้องใช้การศึกษาเป็นตัวช่วยเหลือเสียมากกว่า

ด้าน คริส เบเกอร์ นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นว่า นอกจากการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรองในประเทศแล้ว ไทยได้ถูกต่อรองทางเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจากนานาชาติด้วย ประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ เป็นพื้นที่ที่ทั้งเปิดกว้างและอ่อนไหว ทำให้เรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมนั้น ประเทศไทยจึงได้พยายามดำเนินตามกฎหมายระหว่างประเทศ  อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดประตูรับความใหม่อยู่เสมอดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องพูดคุยกัน เพื่อให้สามารถต่อรองอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเรา เพื่อให้ดำรงตนในโลกยุคใหม่ได้

ช่วงบ่าย เป็นเวทีเสวนาในประเด็น “วัฒนธรรมสิทธิในสังคมไทย” ซึ่งพูดคุยถึงประเด็นการต่อรองเชิงอำนาจและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเน้นในช่วงเวลาระยะหลังรัฐประหาร2557 มีวิทยากรร่วมอภิปรายทั้งหมด 4 คน

ภาวินี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะนักกฎหมายว่า หลังจากรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ได้พบการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในคดี 112 และเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามในฐานะนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนนั้น ตนเองยังต้องใช้กฎหมายระหว่างประเทศเพื่ออ้างอิง ต่อสู้ ปกป้อง คุ้มครองประชาชน แม้ว่ารัฐบาลทหารจะได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญเก่าลงไปแล้วก็ตาม เพราะหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

ภาวินี กล่าวว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเสมอ หลักสิทธิมนุษยชนเองก็เช่นกัน ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยนั้นมีการบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไว้หลักๆ ในเรื่องของการศึกษาและการดำรงชีวิตเพียงเท่านั้น แต่หลังจากนั้นก็มีการบัญญัติเพิ่มมากขึ้นในประเด็นอื่นๆ เช่น สิทธิฯในชุมชน, สิทธิในการต่อต้านการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน หลักสิทธิมนุษยชนก็ได้เปลี่ยนไปอีกครั้งหลังจากรัฐประหาร ปี 57  มีทั้งการห้ามงดใช้แสดงความคิดเห็น ทั้งรัฐบาลสั่งห้าม, หน่วยงานอื่นๆ หรือสถาบันการศึกษาสั่งห้าม เช่น การห้ามจัดเสวนา หรือกระทั่งการที่บุคคลเซ็นเซอร์ตนเอง

ขณะเดียวกัน ภาวินี มองว่าได้มีคนบางกลุ่ม สามารถที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่กว่าเดิม เช่น คณะรัฐบาลปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่ลักลั่นอย่างยิ่งสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเด็นวัฒนธรรมสิทธิในประเทศไทย

กรชนก แสนประเสริฐ สมาชิกจากกลุ่มดาวดิน ได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกับภาวินี ว่าวัฒนธรรมสิทธิในช่วงหลังรัฐประหารเปลี่ยนแปลงไป เขาทำงานเคลื่อนไหวทางทรัพยากรกับชุมชนรากหญ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และได้สังเกตว่าเจ้าหน้าที่ดูมีอำนาจมากขึ้น ในขณะที่เสียงของชาวบ้านเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น

กรชนก เล่าเพิ่มเติมว่า หลังรัฐประหาร ทหารได้เข้ามาแทรกแซง แสดงตัวเป็นผู้จัดการทรัพยากร จับตัวชาวบ้าน ไร่รื้อถอนบ้านชาวบ้านในป่า รวมถึงไล่รื้อถอนแปลงเกษตรของเกษตรกร อีกทั้งยังได้อ้างตัวเป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านและกลุ่มทุน เพื่อนำกลุ่มทุนมาลงทุนในพื้นที่ เช่น เหมืองแร่, ปิโตรเลียม โดยไม่ถามว่าชาวบ้านต้องการหรือไม่

“อีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารที่ชัดเจนคือ การให้อำนาจข้าราชการส่วนอื่นนอกจากทหาร เหมือนเป็นการสร้างวัฒนธรรมอำนาจนิยมขึ้นมา ทั้งผู้ว่าฯและหน่วยงานอื่นๆ คิดว่าตัวเองเป็นคณะรัฐประหารเอง เหมือนตัวเองมีอำนาจบาทใหญ่มาก เขารู้สึกว่าเขาเป็นพรรคพวกกับกองทัพ เขาสร้างวัฒนธรรมความเกรงกลัวให้กับชาวบ้าน” กรชนก กล่าว

ไทเรล ฮาเบอร์คอน อาจารย์ประจำภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม วิทยาลัยการศึกษานานาชาติ การเมือง และยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้กล่าวว่า ตนเองได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยมากว่า 10-15 ปี และรู้สึกว่า 6 เดือนที่ผ่านมานั้นมีความยากลำบากยิ่งขึ้น

ไทเรล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวิกฤตการณ์การเมืองและวัฒนธรรมสิทธิในประเทศไทย ในช่วง ค.ศ.1958-1988 ซึ่งรัฐไทยมีความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในเวทีสิทธิมนุษยชนโลกมาโดยตลอด กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิฯส่งไปยังสหประชาชาติทุกปี แต่ประเด็นที่ไม่ได้ใส่ถึงนั้นคือประเด็นการควบคุม กักขังตามอำเภอใจ ในรายงานสมัยรัฐบาลธานินทร์นั้น ไม่ได้ใส่เรื่องราวนี้ลงไปทั้งๆ ที่มันเกิดขึ้นจริงๆ ดังนั้นเราจะทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะมันน่าขันที่ว่าพวกเขาต้องการเป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในสายตาของต่างชาติจึงเข้าร่วมเวทีวิทธิมนุษยชนโลก ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาทำกลับกัน

อย่างไรก็ตาม ไทเรล ได้กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ว่ารัฐบาลทหารจะพยายามสร้างวัฒนธรรมสิทธิใหม่ แต่ก็ยังน่ายินดีที่ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มคนที่พยายามสร้างวัฒนธรรมสิทธิใหม่ เช่น ไอลอว์ ซึ่งรวบรวมเอกสาร เพื่อพยายามตีความคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ให้แตกต่างจากรัฐไทย รวมถึงการตั้งศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน และการออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารของกลุ่มนักศึกษา เขาได้มองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นความหวัง

“ตอนนี้ฉันเห็นว่ามันมีการฟ้องร้องคณะรัฐประหาร แม้ว่าศาลจะไม่รับฟ้อง แต่การฟ้องร้องนี้ก็ได้ใช้อำนาจในรัฐธรรมนูญนี้เองเป็นฐานในการฟ้องร้อง ฉันเห็นว่ามีความสำคัญ เป็นความพยายามจะสร้างความหมายใหม่ๆ ตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่” ไทเรล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท