Skip to main content
sharethis

ปฏิรูปการเมืองพม่ายังอีกยาวไกล เมื่อรัฐสภาพม่าเสนอแก้ รธน. 6 ข้อ ซึ่งจะทำให้การแก้ รธน. ในครั้งต่อไปง่ายขึ้น - ตัดที่มา "ประธานาธิบดีคนนอก" - เปิดทาง "ออง ซาน ซูจี" ชิงประธานาธิบดี ฯลฯ แต่ผลลงมติได้เสียงเกินครึ่ง แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ "เสียงข้างมาก 75%" ทำให้ญัตติตกไป ส่วนญัตติที่ผ่านมีเพียงข้อเดียวคือคุณสมบัติประธานาธิบดี เดิมต้องรอบรู้กิจการ "กองทัพ" แก้ไขเป็นรอบรู้กิจการ "กลาโหม"

การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรพม่า และการลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ในภาพออง ซาน ซูจี เข้าแถวรอลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการลงมติแบบลับ (ที่มา: เฟซบุ๊คเพจ ออง ซาน ซูจี)

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมา ฉบับวันที่ 26 มิ.ย. 2558 ลงข่าวการประชุมของรัฐสภาพม่าเพื่อลงมติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตีพิมพ์ข่าวอยู่หน้าแรก

 

27 มิ.ย. 2558 - เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่รัฐสภาพม่าในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า มีการประชุมของรัฐสภาพม่า หรือการประชุมร่วมกันของสองสภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาพม่า เพื่อลงมติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 โดยหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาของทางการพม่า ฉบับวันที่ 26 มิ.ย. 58 ระบุว่า การประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว มุ่งหวังที่จะลดอิทธิพลของกองทัพ โดยเฉพาะอำนาจในการวีโต้การลงมติ และแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

 

ส.ส.พม่า เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 เรื่อง ผ่าน 1 เรื่อง ไม่ผ่าน 5 เรื่อง

ทั้งนี้มีการลงมติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 (อ่านรัฐธรรมนูญปี 2008) ทั้งสิ้น 6 ประเด็น โดยตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2008 ญัตติที่จะผ่านต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 75% ขึ้นไป ขณะที่ในรัฐสภาทุกระดับมีโควตาของกองทัพอยู่แล้ว 25%

โดยข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นแรก มาตรา 59 (d) ในเงื่อนไขคุณสมบัติของประธานาธิบดี ที่เดิมกำหนดว่า "ประธานาธิบดีต้องมีความรอบรู้ทั้งด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และกิจการกองทัพ ของสหภาพ" โดยขอเปลี่ยนจากคำว่า "กองทัพ" เป็น "กลาโหม" โดยมาตรานี้ ส.ส. ลงมติเห็นชอบ 95.37% ไม่เห็นชอบ 4.63%

ขณะที่อีก 5 ประเด็นที่เหลือ แม้คะแนนลงมติจะได้เสียงข้างมาก แต่ก็ไม่ได้เสียงข้างมาก 75% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของเสียงเห็นชอบเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 ทำให้ญัตติเหล่านั้นตกไป

โดยประเด็นที่สอง และประเด็นที่สาม มาตรา 436 (a) และ มาตรา 436 (b) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 436 (a) ได้กำหนดให้มาตราที่มีความสำคัญในรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการลงประชามติได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียก่อน จึงจะนำมาขอความเห็นชอบในรัฐสภาได้ โดยต้องได้รับเสียงเห็นชอบ 75% ขึ้นไป จึงจะถือว่ามติแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน

โดยในญัตติที่เสนอแก้ไข มีการขอลดเงื่อนไขลง จากเดิม 75% ของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 สภาที่มาลงมติ แก้ไขเป็น 70% ของสมาชิกรัฐสภาทั้ง 2 สภาที่มาลงมติ อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติ มาตรา 436 (a) เห็นชอบ 66.55% ไม่เห็นชอบ 33.45% เช่นเดียวกับ มาตรา 436 (b) เห็นชอบ 66.55% ไม่เห็นชอบ 33.45% ซึ่งทั้งสองประเด็นดังกล่าว ได้รับเสียงเห็นชอบไม่ถึงเกณฑ์ 75% ทำให้ญัตติตกไป

ประเด็นที่สี่ ในมาตรา 60 (c) เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณสมบัติของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี โดยญัตติขอแก้ไขคุณสมบัติกำหนดให้ต้องเลือกมาจาก "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น" โดยเป็นการตัดข้อความเดิมที่ว่า "เลือกมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" ซึ่งข้อความเดิมนี้ทำให้ประธานาธิบดีพม่าสามารถมาจาก "ประธานาธิบดีคนนอก" ที่อาจจะมาจากนายทหารในกองทัพ หรือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสัดส่วนโควต้า 25% ที่เป็นนายทหารในกองทัพพม่า

อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติมาตรา 60 (c) เห็นชอบ 66.21% ไม่เห็นชอบ 33.79%  ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ 75% ทำให้ญัตติตกไป

ประเด็นที่ห้า มาตรา 59 (f) เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี เนื้อหาในรัฐธรรมนูญระบุว่า ตัวประธานาธิบดี รองประธาธิบดีนั้น ทั้งตัวเขา หรือพ่อหรือแม่ของเขา หรือคู่สมรส หรือหนึ่งในบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสของบุตร จะต้องไม่เป็นผู้สวามิภักดิ์ต่ออำนาจของต่างชาติ หรือเป็นคนในบังคับหรือพลเมืองของต่างชาติ

ซึ่งมาตรานี้มีผลกีดกัน ออง ซาน ซูจี ทำให้ขาดคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากสมรสกับคนต่างชาติ และบุตรชายทั้งสองของออง ซาน ซูจี เป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักร

โดยการขอแก้ไขมาตรา 59 (f) ซึ่งยื่นญัตติโดยพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้เสนอให้ตัดข้อความที่ว่า "หนึ่งในบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสของบุตร" อย่างไรก็ตาม ผลการลงมติมาตรา 59 (f) เห็นชอบ 55.06% ไม่เห็นชอบ 44.94% ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ 75% ทำให้ญัตติตกไป

และ ประเด็นที่หก การขอแก้ไขมาตรา 418 (b) เกี่ยวข้องกับเรื่องการถ่ายโอนอำนาจการบริหารไปยังผู้บัญชาการกองทัพพม่า เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 418 (b) กำหนดให้เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วให้หน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น ได้แก่ ภาคการปกครองตนเอง และเขตการปกครองตนเอง สิ้นสุดลง ซึ่งญัตตินี้เกี่ยวข้องกับอำนาจของเขตปกครองตนเองกลุ่มชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตามผลการลงมติขอแก้ไขมาตรา  418 (b) เห็นชอบ 66.21% ไม่เห็นชอบ 33.79% ทำให้ญัตติตกไป

 

เผย ส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านหนุนแก้ไข รธน. แม้รายละเอียดเห็นต่างกัน ด้าน ส.ส.โควตากองทัพไม่เห็นด้วย

โดยนิวไลท์ของเมียนมา หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่า ฉบับวันที่ 26 มิ.ย. 58 ระบุว่า ในการประชุมของสมาชิกรัฐสภาพม่าทั้งสองสภารวมกันมีสมาชิกทั้งหมด 633 คน มาประชุมเพื่อลงมติ 583 คน ขาดประชุม 50 คน ในจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาประชุม มาจากระบบเลือกตั้ง 475 คน หรือคิดเป็น 73.78% ขณะที่อีก 166 คน หรือ 26.22% มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ

หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่า รายงานด้วยว่าก่อนการลงมติ มีการอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเสนอญัตติแก้ไข โดย เต็งซอ ส.ส.พรรค USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอภิปรายว่าพรรคได้ยื่นญัตติต่อสภาในเวลาและในโอกาสที่เหมาะสม และเรียกร้องให้สมาชิกสภาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ขณะที่ พ.อ.ตันไถ่ ส.ส.โควตากองทัพพม่า ได้อภิปรายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ วินมิ้นท์ ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเรียกร้องก่อนทีจะมีการลงมติว่า ให้รัฐสภาจดบันทึกด้วยว่าจุดยืนของพรรครัฐบาล USDP ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามพรรคตนไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมดในรายละเอียดที่พรรค USPD เสนอให้ปฏิรูป ด้านสุระ ฉ่วยมาน ซึ่งทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าจะให้รัฐสภาบันทึกเอาไว้

 

ออง ซาน ซูจี - พรรค NLD แถลงหลังลงมติระบุว่าประชาชนรู้แล้วว่าจะลงคะแนนให้พรรคไหนเพื่อหนุนปฏิรูป

ทั้งนี้ภายหลังการลงมติ พรรคฝ่ายค้าน NLD ได้มีการแถลงข่าว ตามรายงานของ อิระวดี ระบุว่า ออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรค NLD ระบุว่าผลการลงมติดังกล่าวแม้ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญจะตกไปทั้งหมด แต่ถือเป็นผลดีกับพรรค "ตอนนี้ประชาชนรู้แน่ชัดแล้วว่าใครที่พวกเขาต้องสนับสนุน" ออง ซาน ซูจีกล่าว ขณะที่ วินมิ้นท์ ส.ส.พรรค NLD แถลงว่า "พวกเขารู้แล้วว่าพรรคไหนที่เขาควรลงคะแนน เพื่อให้เกิดประชาธิปไตยและการปฏิรูป"

 

เส้นทางปฏิรูปการเมืองพม่า และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2008 อันยาวไกล

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD เคยบอยคอตไม่ลงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2553 และต่อมาลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อมเมื่อเดือนเมษายนปี 2555 โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเข้ามาปฏิรูปเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผลการเลือกตั้ง พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งถล่มทลายโดยได้ที่นั่ง 43 ที่นั่ง ประกอบด้วย ส.ส. 37 ที่นั่ง ส.ว. 4 ที่นั่ง จากทั้งหมดที่มีการแข่งขัน 44 ที่นั่ง ทำให้พรรคเอ็นแอลดีกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงมากที่สุดในสภา

ทั้งนี้พรรคได้รณรงค์มาหลายปีเพื่อขอความสนับสนุนจากสาธารณชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008 เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญกำหนดเรื่องการแก้ไขเอาไว้ว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มีความสำคัญ เมื่อผ่านขั้นตอนการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงมากกว่า 3 ใน 4 แล้ว จะต้องนำมาลงประชามติเห็นชอบด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ทั้งนี้ในการแถลงทางวิทยุเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557 ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เคยกล่าวสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เป็นการกีดกันบุคคลใดก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) นอกจากนี้รัฐสภาพม่ายังมีการตั้ง คณะกรรมการเพื่อดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตั้งขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2557 (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ขณะเดียวกันเมื่อ 10 เมษายนปี 2557 ที่ทำเนียบประธานาธิบดีพม่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง, ผู้นำฝ่ายค้าน ออง ซาน ซูจี, ผู้บัญชาการกองทัพพม่า พล.อ.มิน อ่อง หล่าย และ ประธานสภาสูงของพม่าและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ เอ หม่อง ได้หารือกันในประเด็นเรื่องกฎหมายการเลือกตั้งและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในครั้งนั้น ออง ซาน ซูจี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าหวังว่าการหารือลักษณะเช่นนี้จะดำเนินต่อไป และจะช่วยทำให้มีข้อตกลงที่ช่วยให้การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมราบรื่น และนับรวมทุกฝ่ายเข้ามา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้คาดหมายกันว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า เกิดขึ้นในปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net