Skip to main content
sharethis

เลขานุการทีมพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ออกคำชี้แจงกรณีความคาดเคลื่อนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เผยการพูดคุยไม่ได้หยุดชะงักแต่ยังเปิดต่อสาธารณะไม่ได้เพราะอยู่ในช่วงสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ยืนยันทั้งสองฝ่ายจะใช้กระบวนการพูดคุยเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งและจะคุยกันอย่างต่อเนื่อง แจงเหตุผลรัฐไม่ยอมรับ MARA Pataniแต่พร้อมร่วมใจให้ประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัยในช่วงรอมฎอน

 
27 มิ.ย. 2558 ต่อไปนี้เป็นคำชี้แจงของเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณี ความคาดเคลื่อนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งชี้แจงโดย พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข รวมชี้แจงด้วย โดยมีเนื้อหาและรายละเอียดดังนี้ 
 
สำนักงานเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.(สล.คณะพูดคุยฯ) ฉบับที่ 1/2558 วันที่ 26 มิถุนายน 2558
 
คำชี้แจงของเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.
กรณี ความคาดเคลื่อนในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.
 
สืบเนื่องจากมีความคาดเคลื่อนในการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายประเด็น อาทิเช่น พูดถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขว่าล่าช้า หยุดชะงัก และคุยกับบุคคลที่ไม่ใช่ตัวจริง หรือไม่มีตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลเข้าร่วมครบทุกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นผลให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดความไม่เข้าใจนั้น คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอชี้แจงเพื่อให้สื่อมวลชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้
 
1. กระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกระบวนการสันติวิธีตามหลักสากล ที่มุ่งเน้นการพูดคุยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันบนแนวทางสันติวิธี กระบวนการนี้ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียในฐานผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ ได้ประสานงานเชิญตัวแทนกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐในพื้นที่ จชต. เข้าร่วมกระบวนการได้ครบทุกกลุ่มตามที่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขได้ให้กรอบนโยบายการดำเนินการพูดคุยแก่คณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่มี พลเอกอักษรา เกิดผล ประธานที่ปรึกษากองทัพบก เป็นประธาน โดยดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. 3 ระยะที่รัฐบาลอนุมัติไว้
 
2. ตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐ ประกอบไปด้วยตัวแทนชื่อกลุ่มที่ใช้เรียก คือ กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยขององค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) ทั้ง 3 กลุ่มย่อย สมัครใจเข้ามาร่วมพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยและผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวก 2 ครั้ง แต่ไม่มีการแถลงข่าวหรือเปิดเผยรายละเอียดการพูดคุย เนื่องจากอยู่ในขั้นกระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นการที่สื่อมวลชนบางสำนัก รายงานว่า กระบวนการพูดคุยฯ มีความล่าช้า ไม่มีความคืบหน้า จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกระบวนการพูดคุยเกิดขึ้นแล้ว และมีตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐเข้าร่วมพูดคุยทุกกลุ่ม
 
3. กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความก้าวหน้า มีตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ สมัครใจเข้าร่วมพูดคุยทุกกลุ่ม และมีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเพิ่มมากเรื่อยๆ ทำให้คณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุข เชื่อมั่นว่าหลังจากมีความเห็นชอบร่วมกันว่าจะให้การพูดคุยเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติสุขร่วมกันในพื้นที่ โดยทั้งสองฝ่ายจะมีการนำปัญหาต่างๆ มาแก้ไขร่วมกันในระยะต่อไป คือระยะที่ 2 ของการพูดคุย คือการลงสัตยาบันที่เป็นลักษณะของข้อตกลงร่วมกันว่า อะไรที่เป็นสาเหตุหรือปัญหาของความขัดแย้งและจะร่วมกันแก้ไขได้อย่างไรตามแนวทางสันติวิธี จึงนำไปสู่การกำหนดแผนการดำเนินการหรือโรดแมปในแต่ละเรื่อง โดยคาดว่า จะเข้าสู่ขั้นที่ 2 ของกระบวนการพูดคุยช่วงต้นปี 2559
 
4. ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจึงเป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนของรัฐบาลไทยกับตัวแทนกลุ่มที่มีความคิดความเห็นแตกต่างจากรัฐ ซึ่งไม่ได้อยู่ในสถานะชนกลุ่มน้อยของประเทศแต่อย่างใดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงมีความเห็นว่า ไม่เหมาะสมที่จะเรียกตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ ว่า MARA Pataniซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้เห็นต่างจากรัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการพูดคุย แต่มิได้หมายความว่า ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่าง แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมานั้น ทั้ง 2 ฝ่ายมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมาขึ้นเรื่อย เห็นได้จากการที่มีการพูดคุยร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ และผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกมาแล้ว 2 ครั้ง และก็ได้มีการตกลงร่วมกันว่าจะพูดคุยต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ต่อไป
 
5. อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการ เป็นการพูดคุยโดยใช้ปีกการเมืองเป็นหลัก และอาจยังมีบางกลุ่ม บางฝ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ยังไม่เห็นชอบหรือยังลังเลที่จะเข้าร่วม ดังนั้น สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จึงยังไม่ยุติได้อย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ระหว่างที่กระบวนการพูดคุยดำเนินอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก้ยังคงต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย
 
6. ในช่วงรอมฎอนหรือเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งพี่น้องมุสลิมร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจอย่างพร้อมเพรียง กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้พี่น้องมุสลิมเดินทางไปประกอบศาสนกิจอย่างดีที่สุด ขณะเดียวกันคณะพูดคุยสันติสุขก็ได้พูดคุยกับตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐในประเด็นดังกล่าวนี้ ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่า ต้องการให้ประชาชนในพื้นที่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ และประชาชนในทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการดูแลพื้นที่เพื่อให้ห้วงเวลาดังกล่าว เป็นห้วงเวลาที่มีแต่ความสงบสันติปลอดจากเหตุรุนแรง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องมุสลิม มิใช่ข้อตกลงหยุดยิงอย่างที่สื่อมวลชนบางแห่งรายงานแต่อย่างใด
 
อนึ่ง กระบวนการพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐเพื่อสร้างสันติสุขในพื้นที่ จชต. ภายใต้นโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำกับนโยบาย และมีคณะพูดคุย ทำหน้าที่พูดคุยกับคณะตัวแทนผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐ และมีคณะทำงานระดับพื้นที่ ซึ่งมีพลโทปราการ ชลยุทธ ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธาน ทำหน้าที่พูดคุยประสานกับกลุ่มภาคประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่ จชต. เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ให้เกื้อกูลต่อกระบวนการพูดคุย ดังนั้น การกล่าวอ้าง หรือการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง และที่อาจสร้างความเสียหายกับการแก้ไขปัญหา จชต. รวมทั้งกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่กำลังดำเนินการอยู่จากบุคคลอื่นใดที่อ้างเป็นตัวแทนรัฐบาลก็ตาม ขอให้สื่อมวลชนเข้าใจว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้นกับกระบวนการพูดคุยฯเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ทั้งนี้คณะพูดคุยฯ จะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net