กมธ.ปกครองส่วนท้องถิ่น สนช.เสนอยุบ อบต.เป็นเทศบาล

ที่ประชุม สนช.รับทราบผลการพิจารณาศึกษาระบบการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ที่กรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอยุบ อบต.เป็นเทศบาล พร้อมมีแนวคิดยุบ อบจ. โอนอำนาจให้ผู้ว่าฯ ดูแลโครงการใหญ่แทน
 
สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติ (สนช.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ได้พิจารณาผลการพิจารณาศึกษาระบบการบริหารงาน ระบบบริหารงบประมาณ ระบบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และระบบการจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สนช.
 
นายบัญญัติ จันทร์เสนะ ประธานกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น ชี้แจงผลการพิจารณาศึกษาว่า จากปัญหาที่พบ คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลตำบล มีจำนวนมากเกินไป  นอกจากนี้ อำนาจหน้าที่ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อบต. และเทศบาล มีความซ้ำซ้อนกัน  กรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลง อบต.ทุกแห่งให้เป็นเทศบาล พร้อมกำหนดสัดส่วนสมาชิกให้เหมาะสม และยุบรวมเทศบาลที่มีจำนวนประชากรไม่ถึง 2,000 คน เข้ากับเทศบาลที่มีพื้นที่ติดต่อกันในเขตอำเภอเดียวกัน
 
นายบัญญัติ  กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่อง อบจ. กรรมาธิการมี 2 แนวคิด ทั้งกรณียุบ อบจ. และไม่ยุบ อบจ. ซึ่งหากยุบ อบจ. ต้องกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ดำเนินโครงการที่มีขนาดใหญ่เกินศักยภาพของเทศบาล แต่หากไม่ยุบ อบจ. ก็ควรแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่าง อบจ.กับเทศบาลให้ชัดเจน โดยให้เทศบาลเป็นองค์กรใกล้ชิดประชาชน  แต่ อบจ. มีหน้าที่ทางวิชาการ สนับสนุนและจัดทำโครงการที่มีขนาดใหญ่เกินศักยภาพของเทศบาล
 
“ไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบ อบจ. ให้กำหนดให้มีสมาชิกที่เลือกจากผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ๆ  สัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด พร้อมแบ่งอำนาจหน้าที่ระหว่าง อบจ.กับเทศบาลให้ชัดเจนในกฎหมาย” นายบัญญัติ  กล่าว
 
นายบัญญัติ ยังชี้แจงถึงข้อเสนอการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบพิเศษ โดยเสนอให้กำหนดในกฎหมาย ให้มีระบบการทำงานร่วมกัน ระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ อปท.ในจังหวัดปริมณฑล ซึ่งอาจกำหนดให้รัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสั่งการสูงสุด นอกจากนี้ ควรจัดให้มีระบบการมอบอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ให้กับผู้อำนวยการเขต สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นให้กับประชาชน แก้กฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ กทม.สามารถออกประกาศกำหนดอำนาจหน้าที่ ที่จำเป็นเพิ่มเติมขึ้นมาได้ พร้อมกันนี้ ยังควรเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้เมืองพัทยา มีอำนาจในการบริหารจัดการได้มากขึ้น
 
นายบัญญัติ  กล่าวว่า  สำหรับประเด็นผู้บริหารท้องถิ่น ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน กรรมาธิการเห็นว่า ยังมีปัญหาในเรื่องขั้นตอนการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นมีความยุ่งยาก ทำให้ประชาชนไม่สามารถถอดถอนตามความต้องการได้ ดังนั้น เพื่อความเป็นเอกภาพ ควรรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 หน่วยงานให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของสำนักนายกรัฐมนตรี
 
นอกจากนี้ นายบัญญัติ  กล่าวว่า กรรมาธิการยังมีข้อเสนอเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ที่ต้องเป็นไปตามแผนพัฒนาท้องถิ่น และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ  พร้อมเพิ่มมาตรการการป้องกันการทุจริตให้เข้มข้น และเพิ่มบทลงโทษต่อผู้กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สนช.ได้รับทราบรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นการพิจารณาของประธาน สนช. ว่าจะส่งข้อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานใดต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท