หน่วยงานความมั่นคงแถลงงานช่วงรอมฎอนสันติสุข–ด้านมูลนิธิผสานฯขอให้ย้าย 5 ผู้ต้องขังกลับถิ่น

ศอ.บต., กอ.รมน.ภาค 4 สน., ศชต.แถลงผลการปฏิบัติงานสำคัญในห้วงรอมฎอน ศอ.บต.เปิดช่องคนกลับบ้าน – ช่วยคนจนมัสยิดละ 10 ครัวเรือน เผยช่วยดูแลทรัพย์สินที่เจ้าของไม่กล้าอยู่ 107 ราย ให้ท้องถิ่นทำสัญญาคุณธรรมแนบท้ายสัญญาจ้าง ทหารช่างสร้างถนนแล้ว 20 สาย 6 โรงเรียนที่ถูกเผา อนุญาต 30 วิทยุชมชนออกอากาศมูลนิธิผสานฯขอให้ย้าย 5 ผู้ต้องขังกลับภูมิลำเนาช่วงถือศีลอด


3 ฝ่ายแถลงผลปฏิบัติงานสำคัญในห้วงเดือนรอมฎอน

25 มิ.ย. 2558 เมื่อเวลา 9.00 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค4 สน.) ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค4 สน. พ.ต.อ.ณฐกรณ์ กาญจนาภรณ์ ผู้กำกับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายรอมฎอน หะยีอาแว โฆษกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกันแถลงข่าว 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ และปกครอง) สรุปผลการปฏิบัติงานการแก้ไขและพัฒนาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงวันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2558 ดังนี้

ศอ.บต.เปิดช่องคนกลับบ้าน – ช่วยคนจนมัสยิดละ 10 ครัวเรือน
นายรอมฎอน หะยีอาแว  โฆษก ศอ.บต. แถลงว่า ศอ.บต.เปิดช่องทางให้กลุ่มคนที่เห็นต่างติดต่อเพื่อกลับบ้าน ตามจดหมายที่ เลขาธิการ ศอ.บต.ส่งถึงกลุ่มคนดังกล่าว ผลการดำเนินการได้รับตอบรับบางส่วนแล้ว ซึ่งจะได้ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดต่อไป ศอ.บต.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสร้างสันติสุขให้พื้นที่โดยเร็ว

นายรอมฎอน แถลงต่อไปว่า ส่วนของการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมแห่งการให้ โดยการดูแลและสนับสนุนข้าวสารและน้ำตาลแก่ครอบครัวยากจน 10 ครัวเรือนภายใต้เขตมัสยิดในแต่ละพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 22,500 ครัวเรือน โดยมีเป้าหมายว่า ความสุขจากการให้ คือ รอยยิ้มของครอบครัวยากจน เพื่อความสุขร่วมกันในวันอิดิลฟิตรี ฮ.ศ.1436 มีการลงนาม MOU ซึ่งดำเนินการแล้ว ร้อยละ 82 ที่เหลือจะเร่งดำเนินการภายในเดือนนี้

เผยช่วยดูแลทรัพย์สินที่เจ้าของไม่กล้าอยู่ 107 ราย
นายรอมฎอน แถลงต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านศูนย์ช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพ โดยบูรณาการกับศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) ในการเข้าไปดูแลพื้นที่รกร้าง และดำเนินการตามแนวทางที่กำหนด ขณะนี้ได้ขอความช่วยเหลือมาแล้ว 107 ราย อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ลงพื้นที่ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ให้ท้องถิ่นทำสัญญาคุณธรรมแนบท้ายสัญญาจ้าง
“ทั้งนี้ ศอ.บต.ยังส่งเสริมให้องค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำสัญญาคุณธรรม เพื่อใช้แนบท้ายสัญญาจ้างโครงการที่ ศอ.บต.สนับสนุนเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆให้มีความโปร่งใสและปลอดการทุจริตด้วย”นายรอมฎอน กล่าว

ทหารช่างสร้างถนนแล้ว 20 สาย 6 โรงเรียนที่ถูกเผา
ด้าน พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แถลงผลการปฏิบัติงานของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างถนน 37 สายทางใน 37 อำเภอ ระยะทาง 164.8 กิโลเมตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ดำเนินการโดยหน่วยทหารช่าง ภายใต้หลักคิด “สร้างถนนในใจพี่น้องประชาชน” ดำเนินการแล้วเสร็จ 20 เส้นทาง คิดเป็นร้อยละ 80.29 สำหรับการก่อสร้างโรงเรียนที่ถูกลอบวางเพลิง 6 แห่ง ใน อ.ทุ่งยางแดงและมายอ จ.ปัตตานี คิดเป็นร้อยละ 98.14

อนุญาต 30 วิทยุชมชนออกอากาศ
พ.อ.ปราโมทย์ แถลงต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังคงมุ่งเน้นดูแลความปลอดภัยควบคู่กับการอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการประกอบศาสนกิจของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังได้อนุญาตให้สถานีวิทยุชุมชนและสถานีวิทยุสาธารณะ 30 สถานีที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตออกอากาศในห้วงเดือนรอมฎอนได้ในห้วงตั้งแต่ 17 มิถุนายน – 16 กรกฎาคม 2558 เพื่อช่วยในการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง

มูลนิธิผสานฯขอให้ย้าย 5 ผู้ต้องขังกลับภูมิลำเนาช่วงถือศีลอด
ก่อนหน้านี้ วันที่ 23 มิถุนายน 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ส่งหนังสือขอให้ย้ายผู้ต้องขังกลับภูมิลำเนาเดิม ถึงผู้อำนวยการ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ โดยระบุโดยสรุปว่า ทางมูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มด้วยใจว่า มีญาติผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำกลางสงขลาร้องเรียนว่า มีการย้ายผู้ต้องหาไปเรือนจำกลางคลองไผ่ จ.นครราชสีมา จำนวน 5 คน โดยเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสงขลาให้เหตุผลว่ามีความประพฤติไม่ให้ความร่วมมือในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เหตุเกิดเมื่อวันที่  9 มีนาคม  2558  ที่แดน 2

“การย้ายเรือนจำไปยังเรือนจำที่ห่างไกลคนละภูมิภาค มีความแตกต่างทางภาษา ศาสนา นอกจากนี้ครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงล้วนเป็นผู้ที่มีฐานะยากจนจึงสร้างความทุกข์ใจ และยากลำบากให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น โดยขณะนี้เป็นช่วงเวลาในการถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อมิให้ครอบครัวผู้ต้องหามีความยากลำบากในการเยี่ยมและดูแล และเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางสงขลา ผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และครอบครัว ขอให้ย้ายผู้ต้องหากลับเรือนจำกลางสงขลาหรือเรือนจำภูมิลำเนา”

ทั้งนี้หากทางราชทัณฑ์และหน่วยงานด้านความมั่นคงประสงค์จะจัดกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่เรือนจำและผู้ต้องขังโดยเฉพาะคดีความมั่นคงซึ่งเป็นนักโทษทางความคิด เช่น การสานเสวนา หรือ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นถึงสภาพปัญหาของแต่ละฝ่าย โดยคนกลางที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่าย ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยินดีที่จะร่วมมือและสร้างให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท