24 มิถุนา วรเจตน์ชี้อุดมการณ์สังคมไทยไม่เคยกลับไปก่อน 2490 ได้อีกเลย

<--break- />

 

24 มิ.ย.2558 ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดปาฐกถาปรีดีพนมยงค์ประจำปี 2558 ครบรอบ 83 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 โดยมีการเสวนในหัวข้อ ‘ปรีดี พนมยงค์ กับรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่ท่านเกี่ยวข้อง’  วิทยากรในงานเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชานวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (มธ.) รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มธ. อาจารย์เกื้อ เจริญราษฎร์ คณะนิติศาสตร์ มธ. และดำเนินรายการโดย เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี

ในช่วงต้นธเนศกล่าวว่า  เราต้องมามองว่ารัฐธรรมนูญมีบทบาทอะไรกับการเมืองสยามจึงต้องมามองรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับปรีดี ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก หรือชื่อเต็มๆ ก็คือ พระราชธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราว เป็นรัฐธรรมนูญที่สะท้อนแนวคิดอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดีได้ดีที่สุดในบรรดาสามฉบับ  และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่กะทัดรัดที่สุดในประเทศไทย มีประมาณ 4-5 บท และมีเพียง 39 มาตรา ประเด็นหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ ในมาตรา 1 ระบุไว้ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่เขียนไว้เช่นนี้ ในฉบับอื่นนั้นจะเปลี่ยน ‘อำนาจสูงสุด’ เป็น ‘อำนาจอธิปไตย’ และ ‘เป็นของประชาชน’ เปลี่ยนเป็น ‘มาจากประชาชน’ แทน

“รัฐธรรมนูญฉบับแรก หมวด1 มาตรา 1 บอกไว้ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ต้องจำไว้เลยเพราะคงไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนพูดแบบนี้อีกแล้ว" ธเนศกล่าว

ธเนศกล่าวต่อไปอีกว่า จุดสำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้จำกัดสิทธิในเพศภาพในการใช้สิทธิเลือกตั้ง ในทางตรงข้ามที่ยุโรปหรืออเมริกาใช้เวลานานกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดนี้

"รัฐธรรมนูญของสยามนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกที่ไม่จำกัดเพศภาพ คือเปิดให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกผู้ปกครองได้” ธเนศกล่าว

นอกจากนี้ธเนศมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกเป็นรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจของขุนนางต่างๆ แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่กำลังร่างอยู่ในตอนนี้กลับเป็นรัฐธรรมนูญที่จะจำกัดอำนาจของนักการเมืองและประชาชน ด้วยเหตุนี้ หากเราบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่ เราจะต้องปล่อยให้รัฐธรรมนูญเดินต่อไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของผู้คน เพื่อสร้างความยอมรับของคนในสังคม ไม่ใช่ล้มแล้วร่างกันใหม่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เกื้อ เจริญราษฎร์กล่าวถึงปรีดีว่า เขารู้จักปรีดีจากการจัดบอร์ดสมัยเรียนมัธยม แล้วจึงเริ่มศึกษาประวัติโดยส่วนตัวมองว่าปรีดีเป็นคนที่ค่อนข้างอนุรักษนิยมหากดูจากงานเขียนของเขา

“ผมเป็นคนเชื่อในเรื่องพุทธศาสนา ถ้าอาจารย์ปรีดียังมีชิวิตอยู่ ผมรู้สึกว่าประมาณ 60-80 เปอร์เซ็นของอาจารย์ปรีดีน่าจะเหมือนอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์” เกื้อกล่าว

เมื่อมองถึงบทบาทของปรีดีที่มีต่อรัฐธรรมนูญ  เกื้อกล่าวว่ามีด้วยกัน 3 ประเด็นคือ ประเด็นแรกข้อคิดเห็นของปรีดีเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะร่างอย่างไร ร่างแบบไหน ประเด็นที่สองคือมุมมองทางด้านเศรษฐกิจว่าปรีดีมองด้านเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนในประเด็นสุดท้ายคือระบบสองสภาในรัฐธรรมนูญปี 2489

เกื้อกล่าวว่า หากไปดูในรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ปรีดีได้เขียนไว้จะไม่มีบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพ สาเหตุเพราะประการแรก ตอนนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบ ประการที่สองคือจากการไปสำรวจแนวคิดการร่างรัฐธรรมนูญในอดีต ของอังกฤษก็ดี ของอเมริกาก็ดี จะไม่มีการบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญฉบับแรก เนื่องจากสิทธิเสรีภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เกิดขึ้นมาพร้อมกับตัวเรา ไม่ใช่รัฐเป็นคนมอบให้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมือง แบ่งแยกอำนาจได้ดี สิทธิเสรีภาพก็จะเกิดขึ้นเองอยู่แล้ว 

ในส่วนมุมมองเศรษฐกิจ อาจารย์เกื้อวิเคราะห์ว่าเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ปรีดีทำผิดพลาด

เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองและกำลังมีการรอมชอมกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายของคณะราษฎรอยู่นานพอสมควร พอปรีดีเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจนี้ขึ้นมาที่มีลักษณะเป็นการที่ไปเอาที่ดินของขุนนางของผู้ที่มีที่มีที่ดินมา ทำให้ไปกระทบกับอำนาจเก่า อย่างเช่นกรณีของกบฏบวรเดช ดังนั้นจึงเห็นว่าปรีดีผิดพลาดตรงที่เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจนี้เร็วเกินไป นอกจากนี้รัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับแรกยังไม่มีการบัญญัติเรื่องรูปแบบระบบเศรษฐกิจ อาจจะเข้าใจว่าปรีดีมีแนวคิดที่เป็นฝ้ายซ้ายไม่มากก็น้อย

ในประเด็นสุดท้ายเรื่องระบบสองสภาซึ่งมีขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2489 ปรีดีมีส่วนในการร่างอย่างไม่เป็นทางการ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ที่ให้ทหารเข้ามาทำนั้นไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

"ลองคิดดูนะครับถ้าอาจารย์ปรีดียังมีชีวิตอยู่ แล้วได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ อาจารย์ปรีดี จะมีความคิดเห็นยังไง ท่านอาจจะกำลังร้องไห้อยู่บนสวรรค์" เกื้อกล่าว

 

ขณะที่วรเจตน์มองว่ารัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับนี้กำหนดช่วงเวลาชีวิตการที่โลดแล่นอยู่ในวงการการเมืองของปรีดีหรือวรเจตน์เรียกว่า ‘ผู้ประศาสน์การ’ โดยเปิดฉากด้วยรัฐธรรมนูญฉบับแรก 2475 และปิดฉากลงด้วยรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญปี 2489 ก็เป็นการสิ้นสุดลงของอำนาจทางการเมืองของผู้ประศาสน์การด้วย

วรเจตน์มองว่ารัฐธรรมนูญที่ปรีดีได้ผลักดันทั้งความคิด ความเชื่อ ความฝันมากที่สุดคือรัฐธรรมนูญฉบับแรกซึ่งวรเจตน์เรียกว่า ‘ปฐมรัฐธรรมนูญ’ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บรรจุความคิดฝันของคนหนุ่มในวัย 32 ซึ่งวรเจตน์มองว่ามาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่บอกว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” เป็นประโยคที่ไพเราะที่สุด 

"ผมเข้าใจว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราวฉบับที่1 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ประศาสน์การทุ่มเทกำลังกายกำลังใจบรรจุความคิดฝันของท่านมากที่สุด" วรเจตน์กล่าว

นอกจากนี้วรเจตน์มองว่าปฐมรัฐธรรมนูญที่ขึ้นทูลเกล้าในตอนแรกนั้นไม่มีคำว่าชั่วคราว โครงของการร่างของปฐมรัฐธรรมนูญนี้ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่จะทำให้เป็นเรื่องชั่วคราว ถึงแม้ว่าจะมีบางข้อที่ไม่บริบูรณ์แต่ก็จะจัดการปกครองได้ตามสมควร แต่พอรัชการที่ 7 ทรงไม่เห็นด้วย จึงจัดให้มีการเติมคำว่าชั่วคราวลงไป

“ความทรงจำที่มีต่อปฐมรัฐธรรมนูญปี 2475 มีน้อยมาก ลูกศิษย์ที่เรียนกับผมเขาคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกคือรัฐธรรมนูญวันที่ 10 ธันวาคม แล้วก็ไม่มีความทรงจำหรือความรับรู้ต่อพระราชบัญญัติปกครองชั่วคราวเลย” วรเจตน์กล่าว

วรเจตน์กล่าวต่อไปอีกว่า ถ้ามองที่โครงร่างของรัฐธรรมนูญ ท่านผู้ประศาสน์การได้วางโครงรัฐธรรมนูญรูปแบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่เราคุ้นเคยกันซึ่งมีการถ่วงดุลอำนาจ แต่จะเน้นไปที่อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้กำหนดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดเอาไว้ ไม่ได้กำหนดบทบัญญัติการแก้เอาไว้  ซึ่งวรเจตน์มองว่าถ้าไม่บรรจุการแก้ ก็สามารถแก้ได้

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการเรียกระบอบการปกครองภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งผู้ประศาสตร์การมีความไม่ชัดเจนในการใช้ถ้อยคำเรียกรูปแบบการปกครอง ภายหลังการปกครองผู้ประศาสน์การเรียกระบอบการปกครองว่า ‘ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ’ จะไม่ได้เรียกว่าประชาธิปไตย เหตุผลสำหรับคำว่าประชาธิปไตยในความเข้าใจของผู้ประศาสน์การหมายถึงสาธารณรัฐ หรือ Republic ซึ่งสามารถดูได้จากงานเขียนของผู้ประศาสน์การ แต่ทั้งนี้แนวคิดของผู้ประศาสน์การคือผู้ทรงอำนาจสูงสุดในรัฐคือราษฎร ตามปฐมรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร

ปัญหาคือว่าทำไมใช้คำว่าราษฎร วรเจตน์ได้เชื่อมโยงความหมายของคำว่าราษฎรกับรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำในปัจจุบันซึ่งมีแนวโน้มว่าการพยายามที่จะสลายหรือทำให้คำว่าราษฎรไม่มีอยู่จริง แล้วเปลี่ยนไปใช้คำว่าพลเมือง และสร้างความเข้าใจว่าราษฎรคือผู้ที่ตกอยู่ใต้การปกครอง แต่วรเจตน์ไม่ได้คิดแบบนั้น เขาระบุว่าแม้ว่าในทางความหมายจะเป็นเช่นนั้น แต่ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย คำว่าราษฎรได้ถูกให้ความหมายใหม่ ราษฎรในความหมายนั้นหมายถึงเจ้าของอำนาจ ซึ่งสาเหตุของการพยายามลบล้างคำว่าราษฎรก็เพราะเป็นความต้องการลบภาพความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรด้วยเช่นกัน

วรเจตน์กล่าวต่อว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญถาวรฉบับ 2475 มีโครงสร้างที่มีความสมบูรณ์มากกว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองสยามชั่วคราว และเป็นการประนีประนอม จะเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ก็พอได้ จนกระทั่งผลักดันให้มีการแก้ไขครั้งที่ 2 ถ้าเทียบในแนวคิดโดยเทียบกับรัฐธรรมนูญปี 2489 นั้นจะพบว่าฉบับ 2489 มีความสมบูรณ์และมีความก้าวหน้ามากกว่าบรรดารัฐธรรมนูญถาวรทั้งหมด วรเจตน์ระบุว่าชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สุดเพราะมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด  ด้วยเหตุผลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการยอมให้ตั้งพรรคการเมืองได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน ให้มีสภาสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา และสภาผู้แทนปี 2489 ก็ไม่เรียกว่าสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป แต่เรียกว่าสภาผู้แทนเฉยๆ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดตำแหน่งตุลาการ

วรเจตน์กล่าวเสริม สาเหตุที่เราพูดถึงรัฐธรรมนูญสามฉบับ เพราะถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ปี 2490 ถือว่าเป็นจุดตัดสำคัญที่เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์การเมืองไทย จากรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับที่ผู้ประศาสน์การมีส่วนในการทำจะมากจะน้อยลดหลั่นกันไป ถ้าพูดถึงขนาดทั้งสามฉบับไม่มีความยาวเกินร้อยหน้า แต่รัฐธรรมนูญที่มีความยาวเกินขนาดเกิดหลังรัฐประหารของพลโท ผิน ชุณหะวัน ปี 2490 พูดง่ายๆ คือหลังปี 2490 แล้วเราไม่เคยย้อนอุดมการณ์ความคิดของเรากลับไปก่อนปี 2490 ได้อีกเลย สิ่งนี้จึงเป็นเรื่องสวนทางกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสามฉบับแรกและตอนนั้นผู้ประศาสน์การได้หมดบทบาทลงแล้ว  และนำมาซึ่งการโค่นล้มอำนาจของคระราษฎรในเดือนพฤศจิกายนในปี 2490 นั้นเอง

“การสิ้นสุดอำนาจลงของผู้ประศาสน์การ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสำคัญกับการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญปี 2489 และการสิ้นสุดลงของรัฐธรรมนูญปี 2489 ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสด็จสวรรคตต่อในหลวงรัชกาลที่ 8” วรเจตน์กล่าว

ในช่วงท้ายผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามว่า  “ด้วยสถานการณ์เหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ เหตุผลเช่นใด เราจึงต้องอดทนต่อประชาธิปไตย”

เกื้อกล่าวว่า “ในมโนสำนึกของมนุษย์มีเรื่องสิทธิเสรีภาพอยู่ ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วระบอบการปกครองที่จะนำไปสู่สิทธิเสรีภาพ ก็คือระบอบประชาธิปไตย เพราะมันเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด ดังนั้นผมอยากให้ทุกคนเชื่อว่าระบอบการปกครองประชาธิปไตยนี้จะนำเราไปสู่สิทธิเสรีภาพ”

ธเนศกล่าวว่า “ผมชอบฝัน ผมชอบจินตนาการ ผมอยากให้ทุกคนมีความฝัน มีจิตนาการ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนมีจิตนาการที่ไม่ปิดกั้น”

วรเจตน์มองว่า “มักมีคำกล่าวอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่าม แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก 100 ปีก็จะเป็นการชิงสุกก่อนห่ามเหมือนเดิมสำหรับคนที่เป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไทยมักมองว่าประชาชนไม่มีความรู้พอสำหรับระบอบนี้ ผมอยากจะเสริมว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องมีความรู้หรือไม่มี แต่มันเป็นเรื่องของเจ้าของอำนาจว่าเขาจะจัดอำนาจของเขาอย่างไร”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท