Skip to main content
sharethis
 
อุตฯเข้มสั่งปิดโรงงานปล่อยน้ำเสียแล้ว 151 ราย
 
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ม.ค. – มิ.ย. กรอ.ได้สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียไปแล้ว 151 โรงงาน เพื่อปรับปรุงระบบการบำบัดน้ำเสีย เนื่องจากปล่อยน้ำเสียเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานอาหาร สิ่งทอ และฟอกย้อม ซึ่งหากโรงงานใดทำผิดซ้ำซาก จะส่งดำเนินคดี หากศาลตัดสินว่า ผิดจริงจะมีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ  “ได้ตั้งเป้าส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานตรวจสอบ 9,768 โรงงาน โดยรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว 5,860 โรงงาน หรือคิดเป็นประมาณ 60% ของเป้าหมาย ซึ่งจำนวนนี้มีโรงงานที่มีความเสี่ยงที่จะปล่อยน้ำเสีย 1,417 โรงงาน และจากการตรวจตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงงานเหล่านี้ พบว่ามีค่าน้ำทิ้งเกินมาตรฐานที่กำหนด 151 โรงงาน จึงได้สั่งให้ปิดปรับปรุงโรงงานตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.กรมโรงงาน พ.ศ.2535 ไปแล้วทั้งหมด” สำหรับปีนี้ กรอ.จะดำเนินการเชิงรุก เพื่อลดปัญหาด้านน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีก โดยติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณตรวจจับน้ำเสีย สำหรับโรงงานที่มีน้ำทิ้งมากกว่า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยโรงงานเหล่านี้ต้องส่งรายงานการตรวจวัดให้ กรอ.รับทราบ โดยขณะนี้ได้รับรายงานแล้ว 274 โรงงาน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 113% และจะมีการกำหนดให้มีบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมประจำโรงงาน ในโรงงานที่มีปริมาณน้ำเสียตั้งแต่ 500 ลูกบาศ์เมตรต่อวัน โรงงานที่ใช้สารโลหะหนัก และโรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง เบื้องต้นมีโรงงานที่จัดผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษแล้ว 1,500 โรงงาน จากทั้งหมด 2,500 โรงงาน นอกจากนี้ กรอ.เตรียมของบประมาณปี 59 ในการศึกษากฎหมายและบูรณาการข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประกาศกระทรวง คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การรายงานมลพิษ , ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการนำน้ำทิ้งไปใช้ประโยชน์ในการเกษตร เนื่องจากที่ผ่านมาน้ำที่ปล่อยลงในภาคการเกษตรแม้จะมีเกณฑ์ควบคุม แต่ไม่มีการประกาศค่าบังคับที่ชัดเจน ดังนั้นจึงต้องศึกษาทั้งในด้านของวิชาการและกฎหมายว่ากฎเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะใช้ในประกาศควรเป็นอย่างไร และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การปรับปรุงค่ามาตรฐานน้ำทิ้ง ซึ่งจะต้องมีค่าสารอินทรีระเหยง่าย (วีโอซี) ที่เหมาะสม เนื่องจากหากมีสารดังกล่าวในปริมาณมากจะกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
 
(เดลินิวส์, 19/6/2558)
 
กลุ่มแรงงานแม่บ้านข้ามชาติ เรียกร้องรัฐบาลไทยคุ้มครองตามสิทธิแรงงาน
 
วันที่ 16 มิ.ย.ซึ่งตรงกับวันแม่บ้านสากล เครือข่ายแรงงานทำงานบ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ หรือมูลนิธิแมพ ได้เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิแรงงานที่ทำงานเป็นแม่บ้านให้เท่าเทียมกับแรงงานในสาขาอาชีพอื่นๆ
 
เครือข่ายแรงงานทำงานบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ข้อ คือ 1.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายคุ้มครองแรงงานทำงานในบ้านตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานโดยไม่มีข้อยกเว้น และให้ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ 2.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการที่เข้มงวด โดยให้นายจ้างทุกคนที่นำเข้าแรงงานข้ามชาติ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงเรื่องการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านอย่างจริงจัง 3.มีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อให้แรงงานทำงานบ้านสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ 4.รัฐบาลออกกฎกระทรวงให้แรงงานทำงานบ้านที่ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ 90 วันโดยไม่หักเงิน อีกทั้งกำหนดให้นายจ้างต้องจัดหางานที่เหมาะสมให้กับลูกจ้างที่ตั้งครรภ์ และ 5. เรียกร้องรัฐบาลเพิ่มอาชีพแม่บ้านเข้าในอนุสัญญา ILO
 
หนึ่งในตัวแทนของเครือข่ายแรงงานทำงานบ้านในจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า ที่ได้ออกมายื่นหนังสือต่อรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้แรงงานที่ทำอาชีพแม่บ้านได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคนทำงานอาชีพอื่นๆ ตามกฎหมาย และเรียกร้องให้นายจ้างกำหนดวันหยุดให้ 1 วันต่อสัปดาห์ และให้แม่บ้านหยุดในวันหยุดราชการได้โดยไม่หักเงิน โดยยังเรียกร้องกำหนดให้แม่บ้านทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเท่านั้น โดยหากเกินกว่านั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงเพิ่ม เป็นต้น
 
แม้แรงงานที่ทำงานบ้านเป็นแรงงานที่มีบทบาทในการสร้างรายได้และเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน และระบบเศรษฐกิจภาพรวม แต่ก็ยังพบว่า แรงงานกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควร เช่น มีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ไม่ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขาดอิสรภาพในการติดต่อกับสังคมภายนอก และถูกล่วงละเมิดทางร่างกายและจิตใจ ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนอาศัยอยู่หลายแสนคน ส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร ก่อสร้างและเป็นแรงงานทำงานบ้าน
 
(มูลนิธิแมพ/เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่, 18/6/2558)
 
เผยคนไทย 90% ไม่วางแผนเกษียณ
 
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กล่าวว่า อีก 7 ปีข้างหน้าไทยจะมีประชากรสูงวัยร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมด กล่าวคือสัดส่วนคนทำงานต่อผู้สูงวัย จาก 5 ต่อ 1 จะเปลี่ยนเป็น 2 ต่อ 1 ขณะที่เด็กเกิดใหม่ยังพบกรณีคนพร้อมมีลูกแต่ไม่มีลูก คนไม่พร้อมมัวแต่มีลูก โดยเฉพาะปัญหาแม่วัยรุ่น เหล่านี้เกิดคำถามมากมายกับคุณภาพประชากรไทยในอนาคต ใครจะมาจ่ายภาษี ระบบสวัสดิการจะเป็นอย่างไร
 
ขณะที่การแก้ไขสถานการณ์ด้วยการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทดแทนก็ไม่ได้ เพราะประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชาเองก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกันในระยะเวลาใกล้เคียงกับไทย ถึงเวลานั้นเขาก็แยกย้ายกลับ
 
"ถึงเวลานี้เราควรตั้งหลักก่อน เริ่มแรกคือทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสกลับมาทำงาน มีคุณค่าด้วยการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือกันเอง เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองให้ได้นานที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน แต่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเก็บออมตั้งแต่วันนี้" ดร.เจิมศักดิ์กล่าว
 
ขณะที่ รศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่อง "เศรษฐกิจกับผู้สูงวัย" ว่า ปัจจุบันรัฐสร้างหลักประกันทางรายได้ให้ผู้สูงอายุไว้มาก เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเราพบว่าหลักประกันเหล่านี้เดินไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่มียุทธศาสตร์ในภาพรวม ขาดการเชื่อมโยงระบบ ขาดการกำกับดูแล
 
ทั้งยังพบความเหลื่อมล้ำของการดูแลที่สุดท้ายก็เป็นภาระทางงบประมาณของรัฐบาล ฉะนั้นจึงเสนอคือ การจัดตั้งกลไกระดับชาติ เพื่อนำมาจัดระเบียบและเชื่อมโยงกันให้เป็นระบบการออมและสวัสดิการระดับชาติ รวมถึงขยายการเกษียณอายุ การส่งเสริมจ้างงานที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสภาพร่างกาย
 
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงเรื่อง "สภาพแวดล้อมของผู้สูงวัย" ว่า เราพบว่าผู้สูงวัยมักเกิดอุบัติเหตุในบ้าน เช่น หกล้ม บางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าตัว เนื่องจากไม่มีการปรับสภาพแวดล้อมให้รองรับ เช่น มีราวจับ ทางลาด แสงสว่างเพียงพอ ทางไม่ลื่น เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมในชุมชนและระบบขนส่งที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ อยากให้ลงทุนซ่อมสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้รองรับ แม้จะยังไม่เป็นผู้สูงวัยก็ตาม เพราะหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ความสูญเสียและค่ารักษาพยาบาลจะมากกว่าการซ่อมสร้าง
 
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รักษาการเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงเรื่อง "ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ" ว่า ข้อมูลปี 2556 ผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมในช่วงวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน ขณะเดียวกันพบว่าผู้สูงอายุไทยออกกำลังกายน้อย ทั้งที่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี
 
"การมีสุขภาพที่ดีจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ทั้งกับตัวผู้สูงอายุเองและงบประมาณประเทศซึ่งสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเองโดยเฉพาะการออกกำลังกายชุมชนช่วยเหลือดูแลกัน และบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมีแพทย์ที่จะมาดูแลผู้สูงวัยแบบองค์รวม ไม่ใช่แยกเป็นด้านๆ อย่างปัจจุบัน" พญ.ลัดดากล่าว
 
รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงเรื่อง "สภาพปัญหาสังคมของผู้สูงอายุ" ว่า อัตราการมีบุตรของคนไทยลดลงเฉลี่ย 2 คน ขณะเดียวกันพบแนวโน้มบุตรต้องย้ายไปทำงานที่ห่างไกลจากผู้สูงวัยมากขึ้น จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าในอนาคต
 
ผู้สูงอายุที่เป็นโสดหรือไม่มีบุตรใครจะดูแล หรือที่มีบุตรก็เช่นกัน ฉะนั้นต้องเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ลดการพึ่งพาบุตรให้น้อยลง ผู้สูงอายุอาจต้องช่วยเหลือกันเอง อาจรวมกันเป็นชมรมผู้สูงอายุในปัจจุบัน หรือการรับบริการจากภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสม
 
แต่ไม่ใช่ส่งเข้าสถานบริบาลผู้สูงวัยอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเพราะจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากไม่คุ้มทุน ฉะนั้น ผู้สูงอายุและว่าที่ผู้สูงอายุจะต้องเตรียมแล้วว่าจะทำอย่างไร ที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากและนานที่สุด
 
"การเตรียมพร้อมสังคมสูงวัย เริ่มได้ตั้งแต่การเกิดที่มีคุณภาพ มีการวางแผนชีวิต วางแผนครอบครัว ปรับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่แบ่งแยกคนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพ และส่งเสริมบทบาทชุมชนในการช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน อย่างไรก็ตาม สังคมสูงวัยเป็นเหมือนสงครามหรือวิกฤตที่คนไทยต้องประสบ ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน" รศ.วิพรรณกล่าว
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 19/6/2558)
 
เผย‘วิจัย-ทุนมนุษย์’ระดับต่ำ ฉุดแข่งขันคุณภาพสินค้าไทย
 
คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ออกรายงานนโยบายการเงินเดือนมิ.ย. 2558 โดยวิเคราะห์“ปัญหาเชิงโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทย” ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงในช่วง 3 ปี มีรายละเอียดดังนี้
 
การชะลอตัวของการส่งออกในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะได้รับผลจากแนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกแล้ว ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังประสบกับปัญหาเชิงโครงสร้างภายในหลายประการที่บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค 
 
อีกทั้งยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกลดลงตามลำดับ ซึ่งต่างจากประเทศจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีของมาเลเซียและอินโดนีเซียแม้ในระยะหลังมีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลง แต่เป็นผลจากสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักมีราคาปรับลดลงเป็นสำคัญ
 
ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดจากปัจจัยภายในประเทศสามารถจำแนกได้ ดังนี้
 
1. ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวในอัตราต่ำกว่าอดีต อันเกิดจากขาดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตใหม่มาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา การเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ (FDI)มีแนวโน้มชะลอลงในหลายอุตสาหกรรม สวนทางกับประเทศอื่นในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งอาศัยข้อได้เปรียบทั้งด้านค่าแรงที่ต่ำกว่าไทย ปริมาณแรงงานที่มีจำนวนมาก ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ และทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถดึงดูดการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง
 
ในขณะเดียวกัน กระแสการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเข้มข้น อาทิ ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ซึ่งเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศทำให้ไม่สามารถขยายการลงทุนขนาดใหญ่ได้เช่นในอดีต รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ได้ขยายกำลังการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนามและกัมพูชาที่มีค่าแรงถูกและมีข้อได้เปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากกว่าไทย อาทิ สิทธิ Generalized Scheme of Preferences (GSP) และ Free Trade Agreement (FTA) กับประเทศต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าดังกล่าวจากไทยมีแนวโน้มทรงตัวหรือลดลงเป็นลำดับ
 
2. คุณภาพสินค้าส่งออกของไทยพัฒนาค่อนข้างช้าเทียบกับภูมิภาค โดยดัชนีความซับซ้อนของสินค้าส่งออก (Export Sophistication Index) ของไทยที่ปรับลดลงในระยะหลัง ขณะที่ดัชนีฯของจีนและเวียดนามปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพที่ลดลงของไทย รวมทั้งชี้ให้เห็นว่าไทยพึ่งพาสินค้าส่งออกที่ไม่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าดังกล่าวมักเผชิญการแข่งขันด้านราคาสูง และปริมาณการส่งออกมักอ่อนไหวกับต้นทุนค่าแรง อัตราภาษี และอัตราแลกเปลี่ยน อาทิ สินค้าเกษตร และอาหารแปรรูป 
 
นอกจากนี้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกเป็นสินค้าที่ความต้องการของโลกมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ได้แก่ Hard Disk Drive รวมทั้งไทยมีแนวโน้มส่งออกรถยนต์ในกลุ่ม Eco-car เพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าประเภทนี้มีราคาต่อหน่วยไม่สูง ทำให้แม้ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกในภาพรวมอาจเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
 
ปัญหาด้านคุณภาพสินค้าส่งออกของไทยที่พัฒนาช้ามีสาเหตุสำคัญมาจาก
 
การพัฒนาศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาของไทยมีความก้าวหน้าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวคือไทยไม่ได้ให้ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนามาเป็นเวลานาน ขณะที่ประเทศอื่น
 
ในภูมิภาคล้วนให้ความสำคัญและเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยอย่างต่อเนื่องโดยมีภาครัฐเป็นตัวนำ 
 
รายงาน Global Competitiveness Report สำหรับปี 2557-2558 ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวอย่างชัดเจน คุณภาพของสถาบันและความพร้อมของบุคลากรในสาขาอาชีพวิจัยและพัฒนาของไทยกำลังตามหลังประเทศในภูมิภาค อีกทั้งไทยยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการวิจัย ทั้งกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดและนโยบายภาครัฐที่มีแนวทางการส่งเสริมนวัตกรรมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
 
คุณภาพทุนมนุษย์ของไทย ต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ดัชนีทางด้านทุนมนุษย์ในปี 2558 พบว่าไทยอยู่อันดับที่ 5 จาก 12 ประเทศทั่วโลก และมีคะแนนต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียอยู่มาก แม้ไทยจะมีคะแนนสูงกว่า เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย แต่ก็สูงกว่าไม่มากนัก
 
ขณะที่ประเทศเหล่านี้มีจำนวนประชากรมากกว่าไทยหลายเท่า สะท้อนให้เห็นคุณภาพการศึกษาและทักษะของแรงงานไทยที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งปัจจัยด้านคุณภาพของทุนมนุษย์นี้มีส่วนอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพสินค้าส่งออก (Export Sophistication) และมีผลต่อการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงอีกด้วย
 
กล่าวได้ว่าปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยนั้นได้เกิดขึ้นและสั่งสมมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เริ่มส่งผลให้เห็นชัดเจนในปัจจุบัน เมื่อผนวกกับปัญหาเชิงโครงสร้างของการค้าโลกที่ทำให้ปริมาณการค้าระหว่างประเทศมีความสัมพันธ์กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ส่งผลให้แนวโน้มอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยไม่สามารถกลับไปขยายตัวในอัตราสูงเช่นในอดีต 
 
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างของการค้าโลกนั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างภายในเป็นสิ่งที่ไทยสามารถดำเนินการแก้ไขได้แม้ต้องอาศัยเวลา ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือภายใต้แผนการปฏิรูปที่ชัดเจนและสอดรับกันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและวางแนวทางให้ชัดเจน การสนับสนุนของภาครัฐในการพัฒนาแรงงาน การกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและคุณภาพสินค้า พร้อมทั้งภาคเอกชนที่มีความตื่นตัวในการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและคุณภาพสินค้าของตนเพื่อก้าวข้ามการแข่งขันด้านราคาในระยะยาว 
 
หากปัญหาเชิงโครงสร้างในประเทศไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังแล้ว คงเป็นการยากที่ภาคการส่งออกของไทยจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้กับเศรษฐกิจไทยได้เช่นในอดีต ซึ่งจะลดศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 20/6/2558)
 
ก.แรงงาน รับฟังข้อหารือ คสรท.
 
นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวชี้แจงข้อหารือคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ว่า กรณีการร่างกฎหมายลำดับรอง (กฎหมายลูก) ซึ่งจะออกตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๘ จำนวน ๑๗ ฉบับ ผู้ใช้แรงงานมีความมั่นใจได้ เพราะการพิจารณากฎหมายของคณะกรรมการประกันสังคมมุ่งเน้นรักษาสิทธิของผู้ประกันตน และดูแลรักษากองทุนประกันสังคมให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
 
เรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำนั้น คณะกรรมการค่าจ้างยังไม่มีมติยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ ๓๐๐ บาท และยึดตามกฎหมาย ส่วนจะเป็นเท่าไรต้องมีข้อมูลมาศึกษา ถ้าต่ำเกินไปก็ไม่เป็นหลักประกันของลูกจ้าง สูงเกินไปก็มีผลต่อการจ้าง ส่วนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน หากมีหลักฐานชัดเจนสามารถส่งข้อมูลหลักฐานให้สวัสดิการแรงงานจังหวัดตรวจสอบได้ อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์) ได้สั่งการให้ส่วนกลางมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าไปสนับสนุนการทำงานของจังหวัดในการดำเนินการ
 
ทั้งนี้ นางวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และคณะ ได้เข้าพบและหารือประเด็น การละเมิดสิทธิแรงงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ การลงทุนธนบัตรรัฐบาล การติดตามดูงานการลงทุนที่ประเทศเยอรมนี และการตั้งอนุกรรมการกฎหมายลูกของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงต้องการให้มีการยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เนื่องจากการเสนอค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเข้ามาส่วนกลางก็ไม่เป็นไปตามที่เสนอ และให้กระทรวงแรงงานจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าช่วยเหลือแรงงาน พร้อมยื่นหนังสือผ่านถึงประธานคณะกรรมการค่าจ้างในการปรับค่าจ่างขั้นต่ำ
 
นายวิน พรหมแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การลงทุนธนบัตรรัฐบาลจะต้องเข้าไปประมูลผ่านทางธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ขณะนี้การดำเนินการขั้นตอนของการออกธนบัตรรัฐบาลกระทรวงการคลังยังไม่เสร็จจะต้องรอไปก่อน ซึ่งการลงทุนธนบัตรรัฐบาลจะมีความมั่นคง เนื่องจากรัฐบาลรับประกัน ๑๐๐% ส่วนการลงทุนในต่างประเทศจะมีการคัดเลือกบริษัทจัดการลงทุนที่จะมาบริหารให้จากผู้ทรงคุณวุฒิ
 
(กระทรวงแรงงาน, 19/6/2558)
 
ไฟเขียวสอนเกิน 4 ปีให้ “ตั๋วครู” อัตโนมัติ
 
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งปัจจุบันมีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่หลากหลาย ทั้งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน 2 ปี ใบอนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ระยะเวลา 90 วัน โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอนต้องไปฝึกอบรม ให้ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน ที่คุรุสภากำหนด หรือเรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูหรือ ป. บัณฑิตเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งบอร์ดคุรุสภาเห็นว่าควรปรับให้เหลือแค่ 2 ใบ คือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และให้ยกเลิกใบอนุญาตปฏิบัติการสอน 90 วันเป็น 2 ปี แทน พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ครูที่ปฏิบัติหน้าที่สอนมานานเกิน 4 ปี อาทิ ครูในโรงเรียนเอกชนควรได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลยเพราะถือว่ามีประสบการณ์ โดยมอบหมายให้นายกมล ศิริบรรณ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา ไปพิจารณารายละเอียดและหลักเกณฑ์เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป
 
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบกรณีที่นายเกษม กลั่นยิ่ง ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาขอลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และนายสุรินทร์ อินทรรักษา รองเลขาธิการคุรุสภา ที่ลาออกไปเข้ารับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนรองเลขาธิการที่เหลืออีก 3 คนนั้น ที่ประชุมมีมติให้สำนักงานคุรุสภาทำหนังสือแจ้งยุติการดำรงตำแหน่ง ตามคำสั่งเลิกจ้างนายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.นี้ รวมทั้งไม่รับอุทธรณ์การเลิกสัญญาจ้างนายอำนาจด้วย ส่วนกรณีการตรวจสอบปัญหาการทุจริตภายในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่นายเกษมเป็นประธานกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฌาปณกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) คงต้องรอผลการตรวจสอบก่อน หากหน่วยงานใดเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้องก็สามารถเรียกมาให้ข้อมูลได้
 
(ไทยรัฐ, 20/6/2558)
 
เด็กไทยแห่เรียนอาชีวะยอดสมัครพุ่ง 26% จากปีก่อน ศธ.-สอศ. เดินหน้ายุทธศาสตร์อาชีวะสร้างชาติ
 
พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีได้มีการพบปะภาคเอกชนในหลายสาขา และพบว่า ไทย ยังขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวะศึกษา และช่างฝีมือแรงงานจำนวนมาก จึง ได้มอบนโยบายในการพัฒนาคน และพัฒนาแรงงาน ให้เหมาะสมกับประเทศไทย
 
ดังนั้น ในรอบปีที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เดินหน้ายุทธศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการสร้างภาพลักษณ์อาชีวะสร้างชาติ ให้กับผู้เรียน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงประโยชน์ ที่ได้รับจากการเรียนสายอาชีพ ที่จบมาแล้วมีงานทำ รายได้ดี และความร่วมมือการจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการและภาคีเครือข่าย โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) เข้ามามีบทบาทจัดการอาชีวศึกษา
 
ล่าสุดได้รับทราบข้อมูลจาก สอศ. ว่า ทางสอศ. เปิดรับสมัครนักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ประจำปีการศึกษา 2558 พบว่า มีผู้สมัครถึง 202,410 คน จากที่คาดการณ์ไว้ว่า จะมีผู้สมัคร 178,538 คน ถือว่า ตัวเลขผู้สมัคร เพิ่มขึ้น 26.04% เมื่อเทียบกับปี 2557ที่มีผู้สมัครจำนวน 160,590 คน
 
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่นับรวม ปวช. ในระบบทวิศึกษา ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่มีสถานประกอบการเข้าร่วมในการให้การศึกษาแก่นักศึกษาโดยตรงเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะสามารถประกอบอาชีพได้ทันทีที่สำเร็จการศึกษา
 
สำหรับในระบบทวิศึกษา ปีนี้ที่มีผู้สมัครเรียนอีก 31,405 คน โดยในปี 2559 สอศ.ตั้งเป้าเพิ่มยอดผู้เรียนให้ได้สัดส่วนผู้เรียนในระบบปกติและระบบทวิศึกษาในสัดส่วน 50:50
 
นอกจากนี้ สอศ.ยังได้รายงานความคืบหน้า ของนโยบายผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง สอศ.ได้ดำเนินโครงการจัดฝึกอบรมหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ ให้แก่ประชาชนที่ว่างงาน ผู้ต้องการอาชีพเสริม ผู้ต้องการต่อยอดและพัฒนาอาชีพ รวมถึงผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพใหม่ เพื่อให้มีรายได้ที่สูงและมั่นคงขึ้น มีเป้าหมายจัดอบรมวิชาชีพระยะสั้น ให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2558 โดยจัดอบรมในวิทยาลัยสังกัด สอศ. 421 แห่งทั่วประเทศ ใน 5 ประเภทวิชา จำนวน 638 รายวิชา ผลปรากฏว่า มีประชาชนให้ความสนใจสมัครเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่ม โครงการในเดือน ตุลาคม 2557 ถึง เดือน พฤษภาคม 2558มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 926,064 คน และข้อมูล จากสถานศึกษาคาดว่า ภายใน ปีงบประมาณ 2558(ภายในเดือนกันยายน 2558)จะมีผู้เข้ารับการอบรมอีกประมาณ300,000 คน รวมมีผู้เข้ารับการอบรมไม่ต่ำกว่า1,226,000 คน
 
นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก และดีใจกับความสำเร็จก้าวแรก ของ สอศ. และหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ สอศ.จะเป็นแกนหลักในการผลิตแรงงานมีฝีมือ ป้อนให้กับภาคเอกชน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน
 
(สำนักโฆษก, 20/6/2558)
 
เครือข่ายแรงงานเตรียมร่วมตัวร้องรบ.ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาคสรท.ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและนายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อเรียกร้องให้บอร์ดค่าจ้างปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ในอัตรา 360 บาท เท่ากันทุกจังหวัดและขอให้สรุปผลการพิจารณาภายในเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากบอร์ดค่าจ้างเคยมีมติให้คงค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้ 3 ปีและจะพิจารณาปรับขึ้นในปี 2559  โดยมี น.ส.พรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงานรับหนังสือแทน
 
"ที่ผ่านมาข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ยังได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตราที่เท่ากันแรงงานจึงขอให้ปรับค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศอีกทั้งขอให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย เพราะค่าครองชีพปัจจุบันสูงขึ้นมาก อัตราที่เรียกร้องนั้นอ้างอิงจากผลสำรวจค่าครองชีพแรงงานเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าอาหาร พบว่าโดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายแต่ละวันของแรงงานหนึ่งคนอยู่ในอัตรานี้ ได้ยื่นข้อมูลผลสำรวจดังกล่าวไปถึงประธานบอร์ดค่าจ้างด้วย ส่วนจะปรับค่าจ้างได้ถึงวันละ 360 บาทหรือไม่นั้นขึ้นอยู่บอร์ดค่าจ้างทั้งฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้างจะร่วมกันพิจารณาหาตัวเลขที่เหมาะสม ทำให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่รอดได้"
 
ประธานคสรท. กล่าวว่า นอกจากนี้ขอคัดค้านกรณีบอร์ดค่าจ้างจะให้กลับไปใช้การพิจารณาค่าจ้างรูปแบบเดิมตามสภาพเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่เพราะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง77 จังหวัด จังหวัดละ 15 คนเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐ 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 5 คนและฝ่ายลูกจ้าง 5 คน  แต่ฝ่ายลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรอง ทำให้อำนาจพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ในมือของฝ่ายรัฐและนายจ้าง
 
ทั้งนี้ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ เวลา 9.30 น. จะร่วมกับเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศรวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า จากนั้นจะประกาศจุดยืนขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 360 บาท เท่ากันทุกจังหวัด และจะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป
 
(มติชนออนไลน์, 22/6/2558)
 
ศพหนุ่มแรงงานอุดรธานีจากอิสราเอลถึงบ้านแล้ว ญาติหวั่นชวดค่าชดเชย ซ้ำต้องจ่ายค่าย้ายศพกว่า 3 แสน
 
(22 มิ.ย.) เมื่อเวลา 00.30 น. ศพของนายสุรศักดิ์ โคดเมือง แรงงานไทยซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถขนส่งแรงงานถูกรถบรรทุกชน ที่เมืองแอชโดด ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 58 กลับมายังบ้านเกิดเลขที่ 18 หมู่ 11 ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี โดยญาติได้ทำพิธีบรรจุศพ จากนั้นในตอนเช้าได้เคลื่อนศพมาบำเพ็ญกุศลตามประเพณี ณ วัดสามัคคีบำเพ็ญผล หรือวัดสร้างแป้น ต.สร้างคอม ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของญาติ
       
นางเหวย และนายสุรสิทธิ์ โคดเมือง มารดา และน้องชาย เปิดเผยว่า วันนี้ (22 มิ.ย.) เวลา 19.00 น. จะทำพิธีสวดพระอภิธรรม โดยมีญาติและสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานีร่วมกันเป็นเจ้าภาพ และวันพรุ่งนี้ (23 มิ.ย.) เวลา 15.00 น. จะทำการฌาปนกิจศพ
       
นายสุรสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้ทางครอบครัวกำลังสับสนว่าสิทธิค่าทดแทนการเสียชีวิตของพี่ชายจะได้มาอย่างไร เนื่องจากได้รับแจ้งจากทางสถานทูตไทยที่อิสราเอลว่าจะมีเงินทดแทนการเสียชีวิตมาพร้อมกับศพ แต่เมื่อศพมาถึงก็ไม่เห็นมี ตนและแม่รู้สึกเคลือบแคลงใจ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจช่วยเหลือให้ความชัดเจนกรณีดังกล่าว
       
เนื่องจากได้รับแจ้งว่าจะต้องเสียเงินค่าดำเนินการเอกสาร และนำศพกลับมาประเทศไทยกว่า 3 แสนบาท เกรงว่าครอบครัวจะไม่ได้รับเงินทดแทนตามสิทธิของผู้ตาย
       
ด้านนายสุวรรณ ดวงตา จัดหางานจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า สิทธิประโยชน์ที่ญาติคนงานจะได้รับ คือ บุตรสาว 1 คนชื่อเด็กหญิงภัคนัน โคดเมือง อายุ 5 ปี ที่เกิดจากภรรยา ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่บิดารับรองบุตร มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนและทุนการศึกษาบุตรจนถึงอายุ 18 ปี สำหรับนายจันที โคดเมือง และนางเหวย โคดเมือง มีสิทธิ์ได้รับค่าทดแทนในฐานะบิดา และมารดาจากสำนักงานประกันสังคมแห่งชาติอิสราเอล
       
ซึ่งจำนวนเงินนี้สำนักงานประกันสังคมแห่งชาติอิสราเอลจะแจ้งสิทธิ์ที่จะได้รับให้ทราบต่อไป ส่วนกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางานจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิตให้แก่ญาติ 40,000 บาท 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/6/2558)
 
เรือประมง 3,000 ลำ หยุดงานประท้วงรัฐ
 
นายทวี บุญยิ่ง นายกสมาคมประมงจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ทางสมาคมประมงจังหวัดระนอง พร้อมที่จะร่วมปฏิบัติตามมติของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ที่กำหนดการประชุมในวันที่ 22 มิ.ย. เพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวในการประท้วงนโยบายของรัฐบาล เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฏหมายของรัฐบาล ที่ผู้ประกอบการประมงมองว่า ไม่เป็นธรรม และไม่เปิดให้กลุ่มผู้ประกอบการประมง แก้ไขปัญหาการทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย
 
ขณะนี้ทางเจ้าของเรือประมงทุกลำ ต่างพร้อมที่จะปฏิบัติตามแนวทางที่รัฐบาล หากกำหนดให้นำเรือที่ใช้เครื่องมือทำประมงผิดกฏหมายขึ้นทะเบียนและปรับแก้ให้ถูกต้อง แต่พบว่า รัฐบาลไม่เปิดช่องทางดังกล่าวให้ ซึ่งทางกลุ่มผู้ประกอบการประมงมองว่า การที่ พร้อมกลับตัว แต่ไม่มีช่องให้มีการให้โอกาส จึงมองว่าไม่เป็นธรรม รัฐบาลไม่คำนึงถึงเจ้าของเรือทั้งที่เรื่ิองนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งการหยุดออกเรือประท้วง จะไม่ทำเฉพาะกลุ่มเรือประมงที่มีกว่า 3,000 ลำ แต่กลุ่มโรงงานน้ำแข็ง โรงงานปลาป่น กิจการแพปลา ก็พร้อมจะเข้าร่วมด้วย
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 22/6/2558)
 
ขีดเส้นต่างด้าวรายงานตัวขอบัตรชมพูถึง 30 มิถุนายน 58 ก่อนเข้มมาตรการตรวจจับจริง
 
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ณ บริเวณโรงพยาบาลสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาครว่า จากการลงพื้นที่ตรวจศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสในวันนี้สิ่งแรกพึงพอใจคือ การทำงานของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ข้าราชการทำงานและสามารถมาให้บริการในที่เดียวกันเพื่อความสะดวกสบาย โดยมีข้าราชการพลเรือนทำงานร่วมกับทหารและกองทัพ ซึ่งข้าราชการทุกฝ่ายก็ทำงานเข้มแข็งเป็นอย่างดี สำหรับยอดผู้มาลงทะเบียนนั้นจากเดิมมีฐานข้อมูลอยู่ 9 หมื่นคนเศษ วันนี้มีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัว 5 หมื่นกว่าคนแล้ว เวลาที่เหลือ 7- 8 วันคาดว่าช่วงท้ายๆ คนจะมารายงานตัวกันมาก ซึ่งทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้น ส่วนตัวเลขของแรงงานต่างด้าวที่ไม่ตรงนั้นอย่างน้อยไม่มีความกังวล เนื่องจากพี่น้องแรงงานเพื่อนบ้านจะกลับบ้านในช่วงปีใหม่ และสงกรานต์เมื่อเขากลับบ้านก็ไม่ได้กลับมาบ้านเรา ส่วนที่สองนายจ้างมีแรงงานเพียงพออยู่แล้วซึ่งถ้าไม่มีนายจ้างเขาก็มาทำงานไม่ได้
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนมาตรการภายหลังสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2558 นั้น สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียนแล้ว เราก็จะตรวจสัญชาติเพื่อจะออกใบรับรองและออกใบอนุญาตทำงานต่อไป สำหรับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่เคารพกฎหมายของไทย เราก็จะมีมาตรการตรวจจับทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ผิดกฎหมายเช่นกัน ส่วนแรงงานประมงเราก็ผ่อนผันให้มาจดทะเบียน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 5 หมื่นกว่าคนถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะเดียวกันทางสมาคมประมงและผู้ประกอบการประมงได้ประสานกับกระทรวงแรงงานที่จะขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกัน การรวบรวมตัวเลขและประสานงานไปยังประเทศต้นทาง
 
สำหรับผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ รอบที่ 2 ณ ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ณ บริเวณโรงพยาบาลสมุทรสาคร อำเภอเมืองสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่1 เมษายน - 19 มิถุนายน 2558 พบว่า มีแรงงานต่างด้าวมารายงานตัวเพื่อต่อบัตรสีชมพูทั้งสิ้น 51,448 คน ผู้ติดตาม 1,459 คน นายจ้าง 7,471 ราย ส่วนกิจการประมงมีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียน 5,886 คน นายจ้าง 820 ราย
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 23/6/2558)
 
ลุยมอบทุนนักศึกษาวิชาทหาร -อ้าแขนรับเข้าทำงาน
 
นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมมือกับหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน หรือ นรด. จัดทำโครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมการศึกษาวิชาทหาร ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมให้นักศึกษาวิชาทหาร หรือ นศท. ที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและเข้ารับการฝึกวิชาทหารต่อในชั้นปีที่ 4 และปีที่ 5 เพื่อเป็นกำลังพลสำรองของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาวิชาทหารสายอาชีพ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการที่ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการเร่งสร้างกลุ่มแรงงานสายวิชาชีพที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงาน บีเจซี จึงสนับสนุนด้วยการเปิดโอกาสให้นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการฝึกวิชาทหารในระดับต่างๆ ได้รับทุนการศึกษา มีโอกาสเข้าทำงานและฝึกงานกับบริษัท
 
ทั้งนี้ รายละเอียดคือ การให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาวิชาทหารระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 1 จนจบชั้นปีที่ 2 นักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการศึกษา ปวส. บีเจซีจะรับเข้าทำงาน พร้อมให้ทุนการศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี สำหรับนักศึกษาวิชาทหารที่กำลังศึกษาอยู่ จะเปิดรับเข้าฝึกงานและระดับปริญญาตรีสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทฯ ได้เช่นกัน ซึ่งนักศึกษาวิชาทหารเป็นบุคคลที่ได้รับการฝึกให้มีระเบียบวินัย ความอดทน และความจงรักภักดี อันจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
 
นายอัศวิน กล่าวต่อว่า โครงการนี้นับเป็นความร่วมมือที่เป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับกำลังพลได้อย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง สำหรับพิธีมอบทุนการศึกษาโครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมการศึกษาวิชาทหาร ประจำปีการศึกษา 2558 แก่นักศึกษาวิชาทาหาร ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก พล.ท.ทลวงรณ วรชาติ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของบริษัทฯ ร่วมงาน โดยมีนักศึกษาวิชาทหารที่รับทุนการศึกษาทั้งสิ้น 23 คน แบ่งเป็น ผู้ที่ศึกษาอยู่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 ได้รับทุนเพื่อศึกษาจนจบระดับ ปวส. จำนวน 9 คน และทุนการศึกษาจนจบระดับปริญญาตรี
 
สำหรับนักศึกษาวิชาทหารที่สำเร็จการศึกษาระดับ ปวส. ที่ได้เข้าทำงานกับบริษัทฯ จำนวน 14 คน โดยในโอกาสนี้มีนักศึกษาวิชาทหารที่ศึกษาระดับ ปวส. และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วให้ความสนใจเข้าร่วมงานกับบริษัทฯ และฝึกงานในระหว่างศึกษาอีกจำนวน 30 คน รวมนักศึกษาวิชาทหารเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 53 คน
 
นายอัศวิน กล่าวอีกว่า บีเจซีต้องขอขอบคุณหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ที่เปิดโอกาสให้บริษัทฯ มีส่วนร่วมในการสนับสนุนโครงการดีๆ เพื่อสังคมและประเทศชาติเช่นนี้ บีเจซีเป็นองค์กรภาคเอกชน ที่ดำเนินธุรกิจอยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 133 ปี สิ่งที่ตระหนักและให้ความสำคัญมาโดยตลอดก็คือ การแสดงความรับผิดชอบและการตอบแทนกลับคืนสู่สังคม โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางการศึกษา การยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม
 
อย่างไรก็ตาม โครงการฯ นี้ บีเจซีมีความยินดีและภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและสร้างสรรค์การพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่อยู่ในภาคการศึกษา ให้เป็นผู้มีระเบียบ วินัย และความจงรักภักดี เพื่อเตรียมพร้อมเป็นกำลังสำรองที่จะสร้างฐานความมั่นคงให้แก่ประเทศในอนาคต สำหรับโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพแก่นักศึกษาวิชาทหารกับ บีเจซี นั้น เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักศึกษาวิชาทหารว่าเมื่อจบการศึกษาแล้วจะเป็นที่ยอมรับของตลาดและสังคมและมีอาชีพที่มั่นคงรองรับ รวมทั้งมีโอกาสร่วมงานกับบีเจซีอีกด้วย.
 
(ไทยรัฐ, 23/6/2558)
 
เอกชน-นักวิชาการ เปิดผลสำรวจ ขอรัฐชะลอขึ้นค่าแรงปี 59
 
นายกำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการที่มีต่อแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 59 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 51.04 % ระบุว่า ไม่ควรปรับอัตราจ้าง 26.48 % ควรปรับลอยตัว 14.81 % ควรปรับอัตราจ้างเพิ่มขึ้น 2.07% ควรปรับลดลง เนื่องจากผลสำรวจการเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน จากที่ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 80.74 % ระบุว่า ประสิทธิภาพของแรงงาน เท่าเดิม 14.81 % ระบุว่า เพิ่มขึ้น 4.45% ประสิทธิภาพลดลง รวมทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 66.69% มองว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น 30.16 % ระบุว่า เท่าเดิม และ3.1 % ระบุว่า ลดลง ส่วนการปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ 300 บาทต่อวันที่ผ่านมา เอกชน 61.32 %ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ซึ่งจำนวนนี้ 33.30% ระบุว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รองลงมา 16.96% ระบุว่า ส่งผลต่อการบริหารค่าจ้าง และส่งผลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในสัดส่วนที่เท่ากัน 12.17% ระบุว่า ต้องกำหนดราคาสินค้าสูงขึ้น 6.48% ระบุว่า ขาดสภาพคล่อง 1.46 % ระบุว่า ต้องย้ายฐานการผลิต เป็นต้น 
 
ทั้งนี้แนวทางการปรับขึ้นค่าแรงนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 36.99% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามคณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 87 รองลงมา 29.37% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 15.47 %ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม 9.59 % ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างลอยตัวตามอุปสงค์และอุปทาน และ 8.58% ระบุว่า ควรปรับค่าจ้างตามมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการเกี่ยวกับอัตราจ้างในภาคอุตฯ ผู้ประกอบการ 21.82 % ระบุว่า รัฐบาลไม่ควรปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ ควรชะลอไว้ก่อน เพราะถ้าปรับขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค – บริโภค โดยให้ความเห็นว่า รัฐบาลควรหันมาแก้ไขปัญหาค่าครองชีพแทน รองลงมา 18.18 % ระบุว่า ควรปรับค่าแรงตามทักษะฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ 15.45% ระบุว่า ควรกำหนดตามพื้นที่/เขต/จังหวัด/ภูมิภาค 13.64 % ระบุว่า รัฐบาลควรสำรวจความเห็นผู้ประกอบการก่อนปรับค่าแรง และควรคำนึงถึงเศรษฐกิจโดยรวม 
 
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ภาพรวมเอกชนต้องการให้รัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ในแต่ละจังหวัดแต่จะเริ่มต้นที่ขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งจะนำผลสำรวจของนิด้าโพล จะนำไปหารือในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในเดือนก.ค.นี้ ก่อนนำเสนอต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการค่าแรงงานในปี 59 ต่อไป
 
(เดลินิวส์, 23/6/2558)
 
ก.แรงงานนำคณะพบ ครม. ประชาสัมพันธ์งานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ
 
(23มิ.ย.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) เป็นการประชุม ครม. แทนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ติดภาระกิจข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิร วดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 6 หรือ ACMECS (แอคเม็ก) อยู่ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะผู้บริหารของกระทรวงแรงงาน เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 29 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2-4 ก.ค. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กทม เพื่อรณรงค์ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ นายจ้าง ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งคนทำงานจากทุกสายอาชีพเกิดจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนร่วมมือร่วมใจการดำเนินงานด้านความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการลดการประสบอุบัติเหตุในการทำงานให้ ลดลงมากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศในภาพรวมต่อไป
 
(TNN, 23/6/2558)
 
มข.เปลี่ยนสถานภาพหลังออกนอกระบบ อธิการบดีเร่งดำเนินการรักษาสิทธิบุคลากร
 
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงเรื่องการเปลี่ยนสถานภาพบุคลากรทั้งข้าราชการและลูกจ้างประเภทต่างๆ รวมไปถึง สิทธิเงินชดเชยสำหรับข้าราชการแต่ละกลุ่ม และสวัสดิการต่างๆ เบื้องต้น เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเรื่องอื่นๆ ว่า เมื่อข้าราชการเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อัตราเงินเดือนใหม่ที่จะได้รับ จะใช้อัตราเงินเดือนเดิมของข้าราชการผู้นั้นเป็นฐานในการคิดคำนวณ โดยจะเป็นกี่เท่าของฐานเงินเดือนเดิมนั้นยังไม่เป็นข้อสรุป กำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนและรัดกุม เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งเงินเดือนพื้นฐาน เงินประกันสังคม เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินตำแหน่งทางวิชาการ สวัสดิการต่างๆ และอื่นๆ รวมไปถึงการเป็นสมาชิก กบข. เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเปลี่ยนสถานภาพของข้าราชการ โดยสิ่งสำคัญจะต้องตระหนักและเข้าใจว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน แต่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นซึ่งมีข้อกำหนดว่าด้วยการจ้างงาน จะต้องมีเงินชดเชยซึ่งจะต้องจ่ายคืนให้แก่พนักงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม ทั้งพนักงานสายสนับสนุนและสายผู้สอน แต่จะได้รับในอัตราส่วนที่แตกต่างกันตามมติจากรัฐบาล โดยไม่ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในส่วนเงินชดเชยดังกล่าวจากรัฐบาล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อ "สำหรับข้าราชการที่มีอายุราชการมากกว่า 9 ปี 6 เดือนขึ้นไป เมื่อเปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ จะสามารถเป็นข้าราชการบำนาญซึ่งยังคงได้รับสิทธิตามเดิม และถ้าเป็นสมาชิก กบข.ด้วย แล้วเป็นสมาชิกต่อจนเกษียณอายุ จะได้ทั้งเงินบำนาญ สวัสดิการต่างๆ และสิทธิการรักษาพยาบาลที่ยังคงเหมือนเดิม แต่ถ้าไม่เป็นสมาชิก กบข. จะได้รับเงินบำนาญควบคู่ไปกับเงินเดือนใหม่จากการเปลี่ยนสถานภาพ โดยคำนวณเงินบำนาญจากเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการแล้วหารด้วยห้าสิบ ส่วนการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับข้าราชการที่เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ยังคงมีสิทธิได้ตามหลักเกณฑ์
 
(บ้านเมือง, 23/6/2558)
 
ชมรมมัคคุเทศก์ในจ.ภูเก็ต เรียกร้องหน่วยงานรัฐเร่งแก้ปัญหาไกด์เถื่อนแย่งงานคนไทย
 
(23 มิ.ย.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาเรื่องไกด์เถื่อนที่เข้ามาทำงานในจังหวัดภูเก็ตยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องเพราะทำให้ไกด์ชาวไทยที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ต้องถูกเลิกจ้างไม่มีงานทำเนื่องจากบริษัทนำเที่ยวจำนวนมากในจังหวัดภูเก็ต เป็นบริษัทของชาวต่างชาติแต่ใช้คนไทยเป็นนอมินีจดทะเบียนแทน ซึ่งบริษัทเหล่านี้มักเลือกใช้ไกด์ที่เป็นคนชาติเดียวกับนักท่องเที่ยวจึงทำให้มัคคุเทศน์ชาวไทยได้รับความเดือดร้อนอย่างมากในขณะนี้   
 
นายสันติ ป่าหวาย ผู้อำนวยการนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ภาคใต้เขต2 เปิดเผยว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมามีมัคคุเทศก์มาขึ้นทะเบียนกับสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ภาคใต้เขต2จำนวน 3,762คน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต แต่ก็ยังได้รับการร้องเรียนเรื่องไกด์เถื่อนอย่างต่อเนื่อง จึงทำข้อตกลงกับบริษัทนำเที่ยวทุกแห่งในจังหวัดภูเก็ตว่า หากนำไกด์เถื่อนเข้ามาทำงานจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
 
ด้านนายนนภูรี ภัทรคุณากรสกุล เลขานุการชมรมมัคคุเทศก์ภาษาจีน จังหวัดภูเก็ตให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว TNN 24 ว่า ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก แต่ไทยกลับได้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวน้อยมาก เพราะธุรกิจส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ทั้งที่พัก แพคเกจทัวร์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกซึ่งเป็นของชาวจีนทั้งหมด โดยมีคนไทยเป็นนอมินีทำให้เม็ดเงินไม่ได้ไหลเข้าประเทศอย่างแท้จริง จึงอยากเรียกร้องให้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง  
 
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาล มีแผนที่จะขึ้นทะเบียนไกด์เถื่อนนั้น ทางชมรมมัคคุเทศก์จากทั่วประเทศจะรวมตัวกันต่อต้านอย่างแน่นอนเพราะขัดกับบัญชีแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา การกำหนดอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ซึ่งงานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยวก็เป็นหนึ่งใน 39 งานที่กำหนดไว้ในข้อห้ามดังกล่าว
 
(TNN, 23/6/2558)
 
แรงงานกัมพูชาเศร้า โดนคนไทยหลอกมาทำงานก่อนลอยแพ
 
(23 มิ.ย.) ที่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรบ้านบึง จังหวัดชลบุรี พ.ต.อ.ดุษฎี กุญชร ณ อยุธยา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบ้านบึง ได้เข้าสอบสวนชาวกัมพูชา จำนวน 24 คน เป็นหญิง 9 คน เป็นชาย 15 คน ที่ลักลอบเข้ามาทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถไฟ ในเขตเทศบาลเมืองบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
       
หลังจากที่เดินเท้ามาตามท้องถนนบริเวณแยกเอ็ม 16 บ้านบึง เพื่อมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากถูกนายจ้างรับเหมาก่อสร้างหลอกรับตัวมาจากประเทศกัมพูชา โดยได้เสียค่าหัวในการเข้าทำงานกันคนละ 1,500 บาท ซึ่งจะได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท แต่พอมาทำงานได้ประมาณ 20 วัน กลับไม่ยอมจ่ายค่าแรง จึงตัดสินใจเดินออกมา และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม
       
ด้าน พ.ต.อ.ดุษฎี กุญชร ณ อยุธยา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบ้านบึง เปิดเผยว่า หลังจากรับแจ้งจากประชาชนว่า มีชาวต่างด้าวกว่า 20 คน เดินอยู่บนท้องถนน จึงร่วมกับทหารเข้าควบคุมตัวมาสอบสวน และทราบว่า ถูกหลอกมา จึงจะประสานกับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในการผลักดันออกนอกประเทศเพื่อส่งตัวไปภูมิลำเนาเดิม
       
พร้อมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเร่งติดตามจับกุมนายจ้างคนไทยที่หลอกเอาเงินจากแรงงานต่างด้าว และโกงค่าแรง เนื่องจากเข้าข่ายการค้ามนุษย์ เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23/6/2558)
 
เตือนตุ๋นไปทำงานมาเลย์ สุดท้ายถูกปล่อยลอยแพ
 
ปัญหาแรงงานไทยถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกหลวงให้เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย โดยอ้างว่ามีค่าตอบแทนสูงและสามารถออกวีซ่าทำงานให้ได้ จนส่งผลให้มีแรงงานไทยถูกจับกุมในคดีลักลอบเข้าเมืองและทำงานอย่างผิดกฎหมาย
 
นายบัวทอง รักษานนท์ อายุ 39 ปี ชาว จ.อุดรธานี ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวง กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนรวม 11 คน ถูกชักจูงให้ไปทำงานที่เมืองปาร์คเกอร์ รัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เป็นช่างประกอบท่อได้ค่าแรงวันละ 960 บาท โดยขอให้เข้าไปทำงานก่อนแล้วจะขอวีซ่าทำงานให้ภายหลัง โดยนายหน้าเรียกค่าเดินทาง 10,000 บาท แต่หลังจากเดินทางไปแล้วไม่มีการจ้างงานตามที่ตกลงกันไว้และต้องอยู่อย่างลำบากคอยหลบเจ้าหน้าที่ จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง
 
พ.ต.ท.พูลศักดิ์ แก้วสีขาว รองผู้กำกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า มีการชักชวนแรงงานไทยไปขุดทองที่มาเลเซียจำนวนมาก โดยหลอกลวงว่าสามารถขอวีซ่าทำงานได้ จึงขอเตือนว่ากรณีจะเข้าไปทำงานในต่างประเทศ จำเป็นต้องขอรับคำปรึกษาจากสำนักงานจัดหางาน เพื่อตรวจสอบว่านายหน้าที่ติดต่อให้ไปทำงานเป็นนายหน้าที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานหรือไม่ บริษัทหรือสถานประกอบการที่ระบุไว้ มีการเปิดรับสมัครจริงหรือไม่ จากนั้นจึงขอวีซ่าทำงานตามขั้นตอน
 
ด้านนายกษมา ชูสุข หัวหน้าด่านตรวจคนหางานสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าวว่า การขอวีซ่าเข้าไปทำงานในมาเลเซียมีขั้นตอนยุ่งยากพอสมควร แต่เมื่อได้วีซ่าทำงานแล้วก็คุ้มค่า เพราะจะได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามกฎหมายแรงงานมาเลเซีย อีกทั้งได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน และด้านสุขภาพอย่างครบถ้วน ในฐานะแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ซึ่งต่างจากแรงงานที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีสวัสดิการใดๆ คุ้มครอง ต้องคอยหลบซ่อนตัวจากเจ้าหน้าที่
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 24/6/2558)
 
ปลัดแรงงานยันค่าจ้างปี 59 ไม่ต่ำ 300 บาท เคาะภายใน ต.ค.
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง(บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บอร์ดค่าจ้างจัดสัมมนาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งทั้งฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้างเห็นตรงกันว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ควรเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคมและค่าครองชีพของแต่ละจังหวัด
 
บอร์ดค่าจ้างได้ให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ประชุมหารือโดยใช้เกณฑ์พิจารณา 3 ข้อ คือ 1.ความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง เช่น ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้าและบริการ 2.ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เช่น ต้นทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจ และ3.ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด สภาพเศรษฐกิจและสังคม และให้พิจารณาให้ได้ข้อยุติว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ หากจะปรับควรจะเป็นเท่าใด ภายในเดือนมิถุนายนนี้
 
“หากจังหวัดใดไม่มีการปรับขึ้น ค่าจ้างขั้นต่ำก็จะยังคงอยู่ที่วันละ 300 บาท ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดประกอบด้วย 3 ฝ่าย ทั้งรัฐ นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน มีการพิจารณาอย่างอิสระ ไม่สามารถแทรกแซงระหว่างกันได้ และขอยืนยันว่าไม่มีการลดค่าจ้างให้ต่ำกว่าวันละ 300 บาทอย่างแน่นอน บอร์ดค่าจ้างจะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด อาจภายในเดือนกันยายนนี้หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนตุลาคมนี้”
 
นายนคร กล่าวว่า มีนายจ้างบางกลุ่มขอให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไปอีก 1 ปี นักวิชาการบางส่วนเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า เพราะสภาพเศรษฐกิจของไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ขณะที่เครือข่ายแรงงานขอขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 360 บาท อัตราเดียวกันทุกจังหวัด ทั้งนี้ขอยืนยันบอร์ดค่าจ้างจะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 อย่างละเอียดและรอบคอบให้มากที่สุด
 
ด้านนายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกรุงเทพมหานคร ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมหารือถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกทม. ปี 2559 ซึ่งมีผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น เข้าร่วม
 
ซึ่งได้ให้แต่ละหน่วยงานนำเกณฑ์ดังกล่าวไปศึกษาและเปรียบเทียบกับข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน จากนั้นให้นำกลับมาเสนอที่ประชุมอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกันว่าควรจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหรือจะคงอัตรานี้ไว้เนื่องจากตามข้อมูลสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา
 
(มติชนออนไลน์, 24/6/2558)
 
เครือข่ายผู้ประกันตน-แรงงาน ดัน 'กองทุนประกันสังคม' เป็นอิสระ
 
นายมนัส โกศล ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนประกันสังคมให้เป็นอิสระของเครือข่ายแรงงานเกิดขึ้นมานานแล้ว และต้องขับเคลื่อนกันต่อไปแม้จะมี พ.ร.บ.ประกันสังคม 2558 แต่ไม่ได้พูดเรื่องขององค์กรยังคงอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน และกำหนดเพียงที่มาของคณะกรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ในมาตรา 8 วรรค 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมายลูกว่าด้วยหลักเกณฑ์การเลือกตั้งในลักษณะใด โดยข้อเสนอ คปค.ต้องการให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนโดยตรง ไม่ใช่ผ่านสหภาพ แรงงาน ให้เป็นเขตเลือกตั้งตรงจากบัญชีรายชื่อ และจะจัดหน่วยเลือกตั้งให้เป็นสำนักงานประกันสังคมเขต เพื่อให้องค์กรประกันสังคมเป็นอิสระทำให้เครือข่ายแรงงานยังต้องขับเคลื่อนต่อไป
 
ทั้งนี้ วันที่ 26 มิ.ย.นี้ จะมีการระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการแรงงานและภาครัฐ เพื่อผลักดันให้เกิดความเป็นอิสระกับกองทุนประกันสังคม ซึ่งอาจจะต้องเสนอให้มี พ.ร.บ.ตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรประกันสังคมในรูปแบบมหาชน ที่แยกการบริหารจัดการออกจากหน่วยงานราชการ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ข้อสรุปในเวทีประชุมจะนำเสนอต่อรัฐบาลและจะมีการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้องค์กรประกันสังคมมีความเป็นอิสระตามเป้าหมายที่ขับเคลื่อนกันตั้งแต่ต้น    
 
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ตัวแทนมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า มีความจำเป็นในหลายประเด็นที่สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นอิสระ เพราะประเด็นแรกกองทุนมีขนาดใหญ่ มีเงินกว่า 1.2 ล้านล้านบาท และเป็นเงินที่ไม่ใช่ภาษีอย่างเดียว แต่มีผู้ประกันตน 14 ล้านคน และนายจ้าง 4 แสนคนร่วมกันสมทบ นอกจากนี้ ร้อยละ 70-80 ยังเป็นเงินของกองทุนชราภาพที่ต้องจ่ายให้กับผู้ประกันตน กองทุนที่มีขนาดใหญ่จึงไม่ควรให้เพียงข้าราชการประจำของกระทรวงแรงงานมาบริหารจัดการเพียงฝ่ายเดียว ส่วนประเด็นที่สองภาระงานที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายในส่วนผู้ประกันตนออกไปให้ครอบคลุมประชาชนในกลุ่มต่างๆ มากขึ้น ในการขยายผู้ประกันตน ม.40 ซึ่งในอดีตมีปัญหาว่าเจ้าหน้าที่ไม่ทำงานเชิงรุกเข้าหาประชาชนทั่วไป ทำให้มีผู้สนใจเข้ารับสมัครไม่มาก การปรับองค์กรให้เป็นอิสระเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานเชิงรุกในส่วนงานที่ขยายออกไปมากขึ้น
 
สำหรับประเด็นที่สาม เป็นเรื่องของโครงสร้างการบริหารที่หน่วยงานราชการมีความยืดหยุ่นไม่เพียงพอทั้งในการจ้างมืออาชีพเข้ามาทำงานเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีคุณภาพมากขึ้น มีความจำเป็นต้องปรับองค์กรประกันสังคมให้เป็นอิสระมากขึ้น เพราะความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงของกองทุนในอนาคตด้วย
 
นายบัณทิตย์ กล่าวอีกว่า การบริหารงานแบบเดิมๆ ของประกันสังคมที่มีส่วนราชการเป็นคนบริหารจัดการนั้น มีปัญหาในเรื่องของการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบ รวมไปถึงความเป็นเจ้าของกองทุนอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาการบริหารโดยราชการอย่างเดียวถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองผ่านการใช้อำนาจรัฐมนตรี เลขาธิการและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ส่วน พ.ร.บ.ประกันสังคม 2558 นั้น ยังเป็นเนื้อหาที่ว่าด้วยการสรรหาตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างในการเข้าไปบริหารจัดการกองทุน แต่โดยภาพรวมแล้วยังไม่มีการระบุถึงการปรับโครงสร้างขององค์กรที่ให้เป็นอิสระมากขึ้น การสรรหาซึ่งอาจจะหมายถึงการเลือกตั้งตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างเข้าไปในบอร์ดประกันสังคมอาจจะช่วยในเรื่องของการตรวจสอบการบริหารงาน แต่ในส่วนของตัวแทนราชการยังคงเป็นการส่งตัวแทนจากกระทรวง ซึ่งมักจะส่งข้าราชการใกล้เกษียณอายุมาประจำทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ประกันสังคมต้องเป็นอิสระ ซึ่งน่าเสียดายที่กฎหมายประกันสังคมของคนงานที่เข้าชื่อกันหมื่นชื่อ แต่ไม่ได้ปรับไปใช้มากนัก ขณะนี้ จึงรอกฎหมายลูกที่ว่าด้วยการเลือกตั้งตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างเพื่อเข้าสู่บอร์ดบริหารประกันสังคม ประเด็นสำคัญที่การบริหารจัดการต้องเป็นอิสระ เพราะที่ผ่านมาการใช้งบประมาณของ สปส.ที่ค่อนข้างเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส การปรับให้องค์กรเป็นอิสระจึงน่าจะนำไปสู่การตรวจสอบและการบริหารงบประมาณที่เหมาะสมได้ โดยต้องเปลี่ยนโครงสร้าง สปส.ให้เป็นองค์การอิสระในรูปแบบองค์กรมหาชน
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 24/6/2558)
 
เร่งอบรม กม.แรงงาน ขจัด "นายจ้าง-ลูกจ้าง" ขัดแย้ง
 
(24 มิ.ย.) ที่โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จ.ชลบุรี พล.อ.กิตติ ปทุมมาศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังเปิดการอบรมหลักสูตร "กฎหมายแรงงานเชิงบูรณาการ" ซึ่งมีนายจ้าง ลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน เครือข่ายแรงงาน และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน เข้ารับการอบรม จำนวน 65 คน ว่า การอบรมหลักสูตรกฎหมายแรงงานเชิงบูรณาการ มีความสำคัญ เพราะเป็นการสร้างองค์ความรู้แก่นายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความเข้าใจตรงกันและนำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคมการทำงาน ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจและสังคมของชาติให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล มีความสัมพันธ์กันใน 3 เรื่อง ทั้งด้านการบริหาร คือ เรื่องการใช้อำนาจบังคับบัญชา ด้านเศรษฐกิจ คือ การให้ผลตอบแทนกันและกัน และด้านสังคม การแสดงออกต่อกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน ระหว่างการทำงาน และนอกเวลา ซึ่งถ้าบริหารจัดการความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ดี ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จะเกิดความขัดแย้งขึ้นได้
       
"รัฐบาลจึงต้องมีส่วนเข้าไปส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน และพยายามขจัดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นกับนายจ้าง ลูกจ้าง กฎหมายแรงงานจึงถือเป็นกฎหมายสำคัญกฎหมายหนึ่งของประเทศ หากทำกฎหมายแรงงานดีๆ ลูกจ้าง นายจ้างมีความเข้าใจ เคารพกฎหมายซึ่งกันและกัน เกิดเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง ก่อเป็นความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ การทำงานต้องเหมาะสมกับเพศและวัย ที่สำคัญสุดคือการรณรงค์ความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในการทำงานด้วย" ผู้ช่วย รมว.แรงงาน กล่าว
       
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า การนำกฎหมายแรงงานไปสู่การปฏิบัติ สิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจในข้อกฎหมายอย่างถูกต้องทุกประเด็น และร่วมมือกันปฏิบัติด้วยความเข้าใจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความรู้โดยการอบรมให้แก่ ลูกจ้าง นายจ้าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเครือข่ายแรงงาน และให้ปฏิบัติในจังหวัดนำร่องที่มีประชากรแรงงานจำนวนมาก เพื่อลดปัญหาด้านแรงงานที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเริ่มนำร่องอบรมครั้งแรกที่ จ.ชลบุรี
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 24/6/2558)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net