ทายาทคณะราษฎรร่วมงานปาฐกถาปรีดี - 'ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น' ชู 3 หญิงหลังม่านประชาธิปไตย

24 มิ.ย. 2558 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดปาฐกถาปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2558 โดย ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ปาฐกถาหัวข้อ ผู้หญิง ก่อน-หลัง การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

งานเริ่มเวลา 13.30 น.มีผู้ร่วมงานเต็มหอประชุมพูนศุข พนมยงค์ ทั้งบรรดาทายาทของคณะราษฎร นักเขียน นักวิชาการ ในช่วงต้นของงานมีการเปิดวีดีทัศน์ประวัติของปรีดรี พนมยงค์

ไทเรล ได้อธิบายศัพท์ที่จะใช้ในการปาฐกถาครั้งนี้ โดยคำแรก คือ คำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ไทเรลมองว่า แน่นอนว่าในแต่ละประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยจะมีความแตกต่างกันบ้าง แต่มีลักษณะบางอย่างที่เป็นหลักเพื่อความชัดเจน ประชาธิปไตยที่ไทเรลพูดถึงหมายถึงระบอบการปกครองที่ราษฎรแต่ละคนเท่ากัน ไม่มีคนใดๆ ที่เหนือกว่าหรือต่ำกว่าคนอื่น ราษฎรแต่ละคนมีสิทธิเท่ากัน ไม่มีคนใดๆ ที่มีสิทธิเศษ ส่วนคำที่สองคือคำว่า ‘เรา’ เราในความหมายนี้ คือ ผู้ที่ห่วงใยประชาธิปไตย ผู้ที่สนใจช่วยกันสร้าง ส่งเสริม และปกป้องประชาธิปไตย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นหลักของปาฐกถาวันนี้เป็นการมองเรื่องบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดยการปาฐกกถาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งเป็นการอธิบายปัญหาด้วยสายตานักเรียนประวัตศาสตร์ ส่วนที่สองเป็นการพยายามเริ่มแก้ปัญหาด้วยการเสนอกระแสประวัติศาสตร์ใหม่

สำหรับส่วนแรก การมองปัญหาด้วยสายตานักประวัติศาสตร์ ไทเรลมองว่า แม้ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันและเป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การที่ผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ถูกให้ความสนใจเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยซับซ้อน เพราะมันเกิดมาจากการดูถูกผู้หญิง ซึ่งเป็นเหมือนโรคที่ใครๆ ก็ติดเชื้อโรคที่ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งที่ไม่ติด แม้ในหมู่ผู้รักประชาธิปไตยด้วยกันเอง เพราะสาเหตุของการดูถูกผู้หญิงไม่ใช่เพราะผู้ชายเก่งกว่า แต่เป็นสิ่งที่มาจากการกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกและอุดมคติที่มาจากการกระทำอย่างนี้ ในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 ไทเรลมองว่าเป็นวันที่มีความเป็นไปได้ของประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหลักการ 6 ประการของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 นั้นเธอสนใจในข้อที่ 4 เป็นพิเศษที่บอกว่าจะให้ราษฎรมีสิทธิ เสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรที่เป็นอยู่ในเวลานี้)ในส่วนนี้คณะราษฎรไม่ได้พูดถึงความแตกต่างระหว่างหญิงกับชาย ด้วยสายตาของไทเรลที่มองผู้หญิงเป็นราษฎรเหมือนกัน

ไทเรลจึงเสนอให้แปลข้อนี้ให้มีความหมายเพิ่มขึ้นว่า “จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิ เสมอภาคกัน ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรที่เป็นอยู่ในเวลานี้ ไม่ใช่ผู้ชายมีสิทธิยิ่งกว่าผู้หญิงเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้”

“ดิฉันอยากเสนอว่าเราควรมองการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 นี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้การที่ผู้หญิงมีพื้นที่ในกระบวนการนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้เหมือนกัน”ไทเรลกล่าว

ในส่วนที่สอง ไทเรลเสนอวิถีแก้ปัญหาการที่ใส่ใจบทบาทของผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ด้วยการนำเสนอชีวิตของผู้หญิงสามคนที่สำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลังจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 โดยผู้หญิงทั้งสามคือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ กับสมัยกบฏสันติภาพ  อาจารย์องุ่น มาลิก กับช่วง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และอังคณา นีละไพจิตร กับช่วง 11 ปีที่ผ่านไปตั้งแต่คุณสมชาย นีละไพจิตรถูกบังคับอุ้มหาย

คนแรก ท่านผู้หญงพูนศุข พนมยงค์ ไทเรลมองว่าท่านผู้หญิงพูนศุขไม่ใช่แค่มีบทบาทภรรยาอย่างที่ท่านปรีดีเขียนไว้ แต่ชีวิตของท่านผู้หญิงสะท้อนว่าเป็นบทบาทที่ไม่ได้ห่างจากการเชื่อมโยงใกล้ชิดระหว่างโลกการเมืองและชีวิตส่วนตัว โดยชัดเจนมากในช่วงที่ท่านผู้หญิงถูกจับในข้อหากบฏสันติภาพในปี 2495

“ตอนที่ดิฉันนึกถึงชีวิตและบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ แน่นอนว่ามีความทรมานและการเสียสละที่มาจากการเป็นภรรยาและการเป็นแม่อย่างชัดเจน แต่การอ่านงานเขียนของท่านที่เขียนช่วงกบฏสันติภาพและการกักขังในครั้งนั้น ความกล้าหาญอีกชนิดหนึ่งก็ปรากฏออกมา”ไทเรลกล่าว

คนที่สองที่ไทเรลมองว่าควรได้รับการสนใจเพิ่มในประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือ องุ่น มาลิก ผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมที่เป็นธรรมตลอดชีวิตและได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสถาบันปรีดี พนมยงค์

ไทเรล อธิบายว่าภายหลักการสังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 อาจารย์องุ่นถูกจับและกักขังเกือบ 60 วัน โดยไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการเนื่องจากถูกสงสัยว่าเป็นผู้ที่รัฐเรียกตัวตอนนั้นว่า “เป็นภัยต่อสังคม” ตามคำสั่งที่ 22 ที่ออกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 

“ในสมัยประชาธิปไตยระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นการเคลื่อนไหวและการกระทำของผู้กำลังสร้างสังคมใหม่ แต่ในสมัยรัฐเผด็จการหลังการสังหารหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ความคิดเห็นที่ต่างกัน การมีจิตสำนึกในความไม่เป็นธรรม และการเรียกร้องความยุตธรรม กลายเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อสังคม และอันตรายในสายตารัฐ” ไทเรลกล่าว

คนสุดท้ายคือ อังคณา นีละไพจิตร ภายหลังจากสามีของคุณอังคณา คือ ทนายสมชาย ผู้ที่เป็นทนายและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและปกป้องสิทธิของผู้ที่มักถูกละเมิดสิทธิกลุ่มต่างๆ ในสังคมถูกอุ้มหายตัวไป ชีวิตของคุณอังคณาก็เปลี่ยนไปนอกจากจะทวงถามถึงความยุตธรรมให้คดีของสามีตัวเอง คุณอังคณาก็ก่อตั้งมูลนิธิแห่งหนึ่งขึ้นเพื่อทำงานเพื่อคนอื่นนอกจากชีวตครอบครัวตัวเอง คือ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ

ไทเรลสรุปว่า เมื่อมองถึงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบกระแสหลัก ซึ่งไม่ใช่กระแสหลักธรรมดา แต่เป็นกระแสหลักของผู้รักประชาธิปไตย มักเน้นแต่ผู้ชาย ปัญหาก็คือเราจะได้ภาพของการต่อสู้ที่ออกมาไม่สมบูรณ์ ซึ่งไทเรลตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาสากล สาเหตุง่ายๆ มาจากการดูถูกผู้หญิง แม้ว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะเป็นการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกัน แต่การดูถูกผู้หญิงก็ยังมีอยู่

นอกจากนี้ไทเรลสรุปว่านอกจากผู้หญิงสามคนข้างตนที่ไทเรลมองว่าป็นส่วนหนึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้วนั้นยังมี ระคน จุลลภมร, รัตนา สกุลไทย, วนิดา ตันติวทยาพิทักษ์, จินตนา แก้วขาว, จิตรา คชเดช, พะเยาว์ อัคฮาด, สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้หญิงที่สมควรถูกบันทึกไว้ถึงตำนานประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ในช่วงสุดท้ายของงานปาฐกถา สุดา พนมยงค์ บุตรสาวของปรีดี พนมยงค์ ได้มอบของที่ระลึกแก่ไทเรล และหลักจากนั้นทุกคนในห้องประชุมต่างร่วมร้องเพลง 24 มิถุนายน พร้อมกันพร้อมเก็บภาพเป็นที่ระลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท