Skip to main content
sharethis


ผศ.สมปอง ทองผ่อง ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี ยาวนานถึง 9 ปี รวม 3 วาระ นับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 และปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของวิทยาเขตแห่งนี้อีกในวาระที่ 4 แม้ถูกร้องขอให้อยู่ต่อก็ตาม เพื่อเปิดทางให้กับ รศ.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ มารับช่วงต่อ

อย่างไรก็ตาม ผศ.สมปอง ในวัย 65 ปี ก็ยังไม่ได้ตัดขาดจาก ม.อ.ปัตตานีไปเสียทีเดียว เพราะเขายังได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของคณะผู้บริหารวิทยาเขตปัตตานี

9 ปีที่เขาบริหาร ม.อ.ปัตตานีในภาวะที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง โดยเฉพาะผลกระทบและการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาสำคัญแห่งนี้และที่ทีมบริหารชุดใหม่ต้องสานต่อ


ผศ.สมปอง ทองผ่อง อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


ไฟใต้กระทบทั้ง นักศึกษา บุคลากร งานวิชาการและกิจกรรม

9 ปีที่ผมรับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาเขตปัตตานีเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ ม.อ.ปัตตานีดังนี้

1. บุคลากรและอาจารย์ขอลาออกและขอย้ายออกจำนวนมากขณะเดียวกันการรับสมัครอาจารย์ใหม่ก็ยากขึ้นด้วย เพราะทุกคนกลัวต่อสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่

2. จำนวนนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้ามาเรียนที่ ม.อ.ปัตตานีลดลงอย่างมาก จากเดิมก่อนเกิดเหตุไม่สงบมีนักศึกษานอกพื้นที่ประมาณ 70% จากนั้นลดลงเหลือเพียงแค่ 30% นักศึกษาส่วนที่เหลือเป็นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อมีนักศึกษาในพื้นที่เข้ามาจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้มาตรฐานการศึกษาของ ม.อ.ปัตตานีลดต่ำลง เพราะนักศึกษาเหล่านี้สอบเข้ามาได้ด้วยคะแนนที่ต่ำกว่าเดิม ดังนั้น ม.อ.ปัตตานีจึงต้องเปิดสอนพิเศษและจัดติววิชาต่างๆ แก่นักศึกษาเหล่านี้เยอะขึ้นเพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนได้และป้องกันการออกกลางคัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้ามามากขึ้น จำนวนนักศึกษาที่เป็นคนในพื้นที่ลดลงเหลือ 62%

การที่มีนักศึกษาจากนอกพื้นที่เข้ามาเพิ่มขึ้นอาจเป็นเพราะชินกับสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่แล้ว และที่สำคัญใน ม.อ.ปัตตานีหรือบริเวณรอบๆ ไม่เคยเกิดเหตุไม่สงบจึงทำให้คนนอกพื้นที่รู้สึกว่าความปลอดภัย

3. ไม่สามารถจัดประชุมสัมมนาระดับชาติที่ ม.อ.ปัตตานีได้ เพราะคนนอกพื้นที่ไม่อยากมา เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติและการแข่งขันโอลิมปิกคอมพิวเตอร์ระดับชาติ แต่จัดที่ ม.อ.ปัตตานีไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยากเข้าร่วม จึงต้องไปจัดที่วิทยาเขตอื่น

4. นักศึกษาไม่สามารถทำไปกิจกรรมในพื้นที่นอกมหาวิทยาลัยได้เหมือนเมื่อก่อน เช่น กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมไบค์ทัวร์ คือ ปั่นจักยานจาก ม.อ.ปัตตานีไปหาดตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อเกิดเหตุไม่สงบกิจกรรมนี้นี้ก็ทำไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนักศึกษาเข้ามาอยู่ที่ ม.อ.ปัตตานีแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกหวาดกลัว เพียงแต่เมื่อไปชวนคนนอกพื้นที่มาเรียนที่นี่หรือมาเที่ยวที่นี่คนนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่อยากมา เพราะกลัวสถานการณ์ไม่สงบ


สิ่งใหม่ที่ได้มา ทั้งคณะ สถาบันงานวิจัย กิจกรรมและบริการวิชาการ

ผศ.สมปอง กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านบวกว่า มีดังนี้

1. ม.อ.ปัตตานีสามารถผลิตบัณฑิตเพิ่มขึ้น จากปี 2549 ที่มีนักศึกษา 5,000 คน แต่ในปี 2557 มีนักศึกษาเพิ่มเป็น10,000 คน มาจากการเปิดรับมากขึ้น

2. มีนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น ตอนนี้มีประมาณ 100 คน จากประเทศจีน เนปาล กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเพราะทำให้นักศึกษาของเราได้เรียนรู้หรือแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาต่างชาติเหล่านี้

3. เปิดคณะใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 คณะ คือคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งตอนนี้รับนักศึกษามาแล้ว 2 ปี ตั้งแต่ปี2556 รุ่นนี้กำลังขึ้นปีที่ 3 เป็นช่วงที่จะต้องออกไปฝึกงานตามโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพต่างๆ ในพื้นที่

4. ก่อตั้งสถาบันทดสอบภาษาอาหรับสำหรับคนไทย โดยเฉพาะสำหรับคนในพื้นที่ เนื่องจากเราได้เดินทางไปดูงานประเทศอาหรับหรือตะวันออกกลาง เช่น ซูดาน โมร็อกโก เป็นต้น เราพบว่ามีนักศึกษาไทยไปศึกษาในประเทศเหล่านี้เยอะมาก แต่ปัญหาคือพวกเขาต้องเรียนภาษาอาหรับก่อน 1-2 ปี จึงจะเข้าเรียนตามคณะต่างๆ ได้ เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ยอมรับในเรื่องภาษาอาหรับของนักศึกษาไทยและไม่มีสถาบันวัดภาษาอาหรับสำหรับนักศึกษาไทยด้วย

การจัดตั้งสถาบันทดสอบภาษาอาหรับนี้ขึ้นมา เหมือนกับการทดสอบภาษาอังกฤษ TOEFL ให้นักศึกษาไทยที่จะไปเรียนในประเทศอาหรับ

ตอนนี้กำลังติดต่อกับประเทศจอร์แดน และซาอุดิอาระเบีย มาช่วยในเรื่องข้อสอบมาตรฐานเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศอาหรับ

5. การที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ต้องสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ ทำให้ทักษะวิชาการของนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร จะทำอย่างไรที่จะเข้มแข็ง สามารถสร้างนักเรียนเก่งและสามารถปฏิบัติตามหลักศาสนาได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนศาสนาตามชั้นต่างๆ เหมือนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ดังนั้นทางวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่บูรณาการระหว่างศาสนากับสามัญอย่างลงตัว เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ คาดว่าจะเปิดรับนักเรียนรุ่นแรงได้ในปีการศึกษา 2559 ตอนนี้กำลังเตรียมครู ซึ่งเป็นครูผู้สอนระบบใหม่จะสอนให้นักเรียนคิดเป็นทำเป็น


ตั้งสถาบันใหม่เพื่อ “ดับไฟใต้”

6. เนื่องจาก ม.อ.ปัตตานี มีสาขาวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นหลัก ทางรัฐบาลจึงมองว่า ม.อ.ปัตตานีต้องทำวิจัยเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ด้วย จึงก่อตั้งสถาบันที่ทำหน้าที่นี้ขึ้นมา เช่น สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ หรือ CSCD ที่มี ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นผู้อำนวยการ

นอกจากนี้ ยังก่อตั้งศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศวชต.ที่ได้รวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลแก่คนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ในช่วงปี 2550 ผศ.วรวิทย์ บารู เมื่อครั้งยังสอนที่ ม.อ.ปัตตานี ได้ทำวิจัยที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์มลายูในพื้นที่ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการทำวิจัยด้านการศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาโดยอาจารย์ นักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกของคณะศึกษาศาสตร์ด้วย

งานวิจัยเหล่านี้ได้เก็บรวบรวมไว้ในเว็บไซต์ของสำนักวิทยาบริการ ม.อ.ปัตตานี ผู้ที่สนใจสามารถเปิดอ่านดูได้

สำหรับงานวิจัยชิ้นสำคัญๆ ได้แก่งานวิจัยชื่อ การวิจัยปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไข ซึ่งได้นำเสนอต่อรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในงานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอในเรื่องการบริหารและการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

ปัญหาสำคัญของการตั้งสถาบันลักษณะนี้คือบุคลากร แม้การตั้งสถาบันจะสำคัญมากแค่ไหนก็ตาม แต่ปัญหาที่พบบ่อยก็คือ บุคลากรที่จะมีประจำสถาบันต้องเป็นคนที่มีใจรักในงานของสถาบันจริงๆ สถาบันนี้จึงจะอยู่ได้นานและสร้างประโยชน์ได้จริง

เพราะที่ผ่าน เมื่อเปิดสถาบันใหม่แล้วรับนักวิจัยเข้ามาอยู่ประจำ ทางสถาบันก็จะส่งไปเรียนต่อซึ่งจะต้องทำวิทยานิพนธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อเรียนจบกลับมาก็มักจะขอย้ายไปสังกัดคณะหรือลาออกไปสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งใครๆ ก็อยากรับยิ่งผ่านงานจากสถาบันที่มีชื่อเสียงมาแล้ว แล้วสถาบันที่ตั้งขึ้นมาจะได้อะไร เมื่อไหร่จะได้ใช้งาน ถ้าต้องสร้างคนใหม่มาแทนก็ไม่ได้มีงบประมาณมาก เมื่อเจอปัญหาแบบนี้บ่อยทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ค่อยอยากลงทุนตรงนี้มาก

7. ม.อ.ปัตตานี ยังมีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย จึงมีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ด้วยหลายชิ้น เช่นสาขาวิชาเทคโนโลยีการยางซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2520 เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีข้อตกลงการทำวิจัยเรื่องยางพารากับหลายหน่วยงาน อย่างล่าสุด มีงานวิจัยการนำน้ำยางพาราผสมกับยางมะตอยเพื่อสร้างถนนซึ่งพบว่าแม้จะมีราคาแพงกว่าถนนปกติประมาณ 10% แต่ก็มีความทนกว่าหลายเท่า หากนำไปทำถนนจริงจะช่วยให้ราคายางแพงขึ้น เป็นต้น

8. ม.อ.ปัตตานีมีงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารฮาลาลด้วย โดยมีสถาบันฮาลาลตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วยและเป็นที่ยอมรับมาก เพราะมีเครื่องมือต่างๆที่สามารถวิเคราะห์ วิจัยการทำอาหารฮาลาลอีกทั้งยังส่งเสริมการประกอบทำธุรกิจ SME (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) และให้ความรู้เรื่องอาหารฮาลาลแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย


ยกระดับครู/ชุมชนชายแดนใต้

9. ม.อ.ปัตตานีได้จัดอบรมครู ซึ่งมีทุกแบบ เช่น อบรมครูสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และครูสอนอิสลามศึกษา ครูโรงเรียนตาดีกา และอบรมผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งรวมถึงการจัดค่ายอบรมนักเรียนทั้งของวิทยาลัยอิสลามศึกษา หรือคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

เหตุที่ต้องจัดอบรมครู เนื่องจากหลายโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รับครูที่ไม่ตรงสาขาเข้ามาสอนจำนวนมาก จึงทำให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่เท่ากับครูที่ตรงสาขา ปัญหานี้ก็ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนด้วย และเมื่อ ม.อ.ปัตตานีก็ได้รับนักเรียนเหล่านี้มาก็จะมีปัญหานักศึกษาเรียนไม่จบ หรือมีผลการศึกษาต่ำ จึงต้องจัดอบรมครูเหล่านี้ให้มีคุณภาพ เพื่อกลับไปสอนนักเรียนอย่างมีคุณภาพต่อไป

10. การสร้างความเข้มแข็งต่อชุมชน เช่น โครงการประมงต้นแบบที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปทำ เช่น ที่หมู่บ้านปาตาบาระ ต.ปะเสยาวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี มีสร้างโรงงานข้าวเกรียบเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งที่บ้านบางปลาหมอ ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นต้น

นอกจากนี้ทาง ศวชต.โดย ดร.เมตตา กูนิง ได้ทำโครงการมอบเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในพื้นที่เป็นต้นทุนประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้ครอบครัวซึ่งหลายครอบครัวประสบความสำเร็จ

ในส่วนของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานีเองก็ได้จัดกิจกรรมลักษณะนี้ด้วย เช่น การออกค่ายพัฒนาชุมชนตามพื้นที่ต่างๆและการบริการงานวิจัยแก่ชุมชน รวมแล้วมีถึงปีละ 40 – 50 โครงการ


สิ่งที่ทีมบริหารชุดใหม่ต้องสานต่อ

“สิ่งที่คณะผู้บริหารชุดใหม่ ม.อ.ปัตตานีทำคือ ต้องอธิบายให้คนภายนอกได้เข้าใจว่าสามารถเข้ามาในพื้นที่ได้ และทำอย่างไรที่จะทำให้ ม.อ.ปัตตานี สามารถจัดงานวิชาการระดับชาติให้ได้ และสามารถสมัครอาจารย์ใหม่ๆ ได้”

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net