การปฏิรูปศาสนาในประเทศไทย(2): เรียนรู้จากประว้ติศาสตร์ศาสนาคริสต์และพุทธ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ที่มาภาพ: https://www.pinterest.com/pin/408138784953588772/

 

เกริ่นนำ   

บทความชุด “การปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย” แบ่งออกเป็น 5 ตอน คือ ตอนที่ 1 ว่าด้วยภูมิหลังทางความคิดในการปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทย กล่าวถึงจินตภาพหรือจินตนาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่มีอิทธิพลต่อสำนึกเรื่องการปฏิรูปพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ไทยหรือรัฐไทย ตอนที่ 2 ว่าด้วยความหมายของการปฏิรูปศาสนา โดยพิจารณาหาความหมายและนัยสำคัญจากตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ศาสนาคือ สังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 (ค.ศ.1962-1965)   และย้อนไปดูสังคายนครั้งที่ 3 ของพุทธศาสนาเถรวาทในอินเดีย (ประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ) ทั้งสองตอนนี้จะเป็นบทตั้งต้นเพื่อนำไปสู่ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิรูปศาสนาในประเทศไทยที่จะกล่าวถึงในตอนที่ 3-4

 

การปฏิรูปศาสนาคืออะไร

จากสายตาคนนอก ปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) แบ่งพุทธศาสนาไทยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ตามลักษณะชนชั้นในสังคมไทยคือ รูปแบบที่หนึ่ง  ได้แก่ “พุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง” ซึ่งสนับสนุนโดยชนชั้นปกครองและชนชั้นสูง รูปแบบที่สอง ได้แก่ “พุทธศาสนาฝ่ายปฏิรูป” ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นกลาง รูปแบบที่สาม ได้แก่ “พุทธศาสนาแบบไสยศาสตร์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนสามัญในทุกชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นล่างอันรวมถึงชาวนาและกรรมกรในเมือง [1] ตามความคิดนี้ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองมีลักษณะสำคัญคือเป็นพุทธศาสนาที่ได้รับการตีความให้สนับสนุนการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เน้นการตีความเชิงอภิปรัชญา โดยเฉพาะคำสอนเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ที่โยงกรรมในอดีตชาติให้สัมพันธ์กับความทุกข์ยากของผู้คนในปัจจุบัน บุคคลที่มีสถานภาพสูงสุดในทางสังคมคือผู้ที่สั่งสมบุญกุศลในอดีตชาติมาดีจึงควรจะได้เป็นผู้ปกครองประเทศ ซึ่งตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาแต่โบราณ พระมหากษัตริย์เป็นบุคคลที่มีบุญบารมีมากที่สุดจึงอยู่ในสถานะที่สูงสุดของสังคม  เชื่อกันว่าแนวคิดนี้เป็นอิทธิพลของศาสนพราหมณ์จากอาณาจักรขอมที่มีต่อราชสำนักไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา และถือสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ตามรูปแบบที่แจคสันแบ่งไว้ พุทธศาสนาของชนชั้นปกครองและพุทธศาสนาแบบไสยศาสตร์เป็นพุทธศาสนาที่ยังไม่ได้ปฏิรูป   

ถ้าใช้เกณฑ์ช่วงเวลามาพิจารณา พุทธศาสนาซึ่งยังไม่ได้เข้าสู่การปฏิรูปนั้นได้แก่พุทธศาสนาที่นับถือกันมาก่อนช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ส่วนพุทธศาสนาแนวปฏิรูปที่กล่าวถึงในที่นี้หมายถึงพุทธศาสนาที่ได้รับการตีความใหม่ในช่วงเวลาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 หรือสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา หมายความว่า นับแต่ช่วงเวลานับแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา พุทธศาสนาไทยได้รับการปฏิรูปให้มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม ถ้าเช่นนั้นความหมายของการปฏิรูปที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คืออะไร ?

โดนาลด์ สเวเรอร์ (Donald K. Swearer) ได้ให้คำจำกัดความ “การปฏิรูปศาสนา” ไว้ว่า

“การปฏิรูปจะพิจารณาถึงความรู้สมัยใหม่อย่างจริงจังแต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธศาสนา โดยพื้นฐานแล้วการปฏิรูปเป็นการตีความระบบศาสนาเสียใหม่ โดยคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งระดับสังคมและระดับบุคคล  เมื่อมองจากทรรศนะของแนวคิดแบบเหตุผลนิยมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าการปฏิรูปเป็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญบางอย่างซึ่งหล่อหลอมสถาบันและวัฒนธรรมของศาสนาหนึ่งเพื่อว่าความจริงที่เป็นแก่นแท้ (และเป็นสากลด้วย) ของศาสนานั้นจะได้รับการตีความใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ที่เป็นอยู่จริง” [2]

ตามคำนิยามนี้ “การปฏิรูปศาสนา” จะเกิดขึ้นเมื่อได้เผชิญหน้ากับความรู้สมัยใหม่ที่อาจทำให้ตั้งข้อสงสัยต่อระบบความรู้หรือแนวปฏิบัติเดิมของศาสนาว่า ยังเป็นระบบที่ใช้การได้หรือไม่ การปฏิรูปศาสนาจึงเกี่ยวข้องกับ “ความรู้ชนิดใหม่” ที่ปรากฏขึ้นในสถานการณ์นั้น ณ เวลานั้น ถ้าถือตามคำนิยามข้างบนไม่เพียงแต่ความรู้นั้นจะเป็นความรู้ใหม่ แต่ต้องเป็นความรู้ “สมัยใหม่” อีกด้วย ความรู้ที่มาใหม่ (และเป็นสมัยใหม่) เป็นความรู้ที่ทำให้รู้สึกไม่แน่นอนใจใน “ความรู้” ที่เคยยึดถือกันมาจนทำให้ศาสนิกชนต้องหันไปทบทวน “ความรู้เดิม” ของตนอย่างจริงจัง โดยการตั้งคำถามต่อข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาในยุคสมัย แล้วจินตนาการถึง “สภาพการณ์ใหม่” ที่เป็นความหวังของอนาคต  เมื่อพบว่าหลักการบางอย่างที่หล่อหลอมสถาบันและวัฒนธรรมศาสนา เป็นปัญหาหรืออุปสรคต่อการทำความเข้าใจ “ความจริง” ทางศาสนา ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง “หลักการ” ดังกล่าวนั้นเพื่อให้ “ความจริงที่เป็นแก่นแท้” (และเป็นสากล) ของศาสนานั้นได้รับการตีความใหม่ให้สอดคล้องกับ “สถานการณ์ใหม่” ที่เป็นอยู่จริง

สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ของศาสนจักรโรมันคาทอลิก

ตัวอย่างที่จะสะท้อนคำนิยาม “การปฏิรูปศาสนา” ที่ว่านี้ได้ดีที่สุด น่าจะได้แก่ การปฏิรูปของศาสนจักรโรมันคาทอลิกซึ่งเกิดขึ้นจากสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ.1962-1965)  ดังที่เสรี พงศ์พิศ เขียนไว้ว่า

 “สังคายนาวาติกันครั้งที่สองนับเป็นสังคายนา “สากล” ครั้งแรกในความหมายที่แท้จริง เพราะเป็นครั้งแรกที่พระสังฆราชผู้เข้าร่วมประชุมมาจากทั่วโลก และหัวข้อการพิจารณานั้นกินความครอบคลุมไปจนทั่วพระศาสนจักร ทั้งนี้เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนจะจำกัดอยู่แต่เพียงในยุโรปและประเทศตะวันตกเท่านั้น อีกทั้งประเด็นที่ได้รับการพิจารณาก็จำกัดอยู่ภายแวดวงภายในของพระศาสนจักรในตะวันตกเท่านั้น

จุดหมายของสังคายนาครั้งนี้คือการพิจารณาสภาพการณ์ของโลกปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มองดู “เครื่องหมายแห่งกาลเวลา” (Signs of Times) และพยายามหาคำตอบจากจุดยืนทางศาสนาให้กับสังคมปัจจุบัน โดยเลือกสรรประเด็นเรื่องที่เหมาะกับยุคสมัยมากที่สุดมาพิจารณา ซึ่งนับเป็นการเปิดแนวทางที่แตกต่างออกไปจากสังคายนาครั้งอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีการพิจารณาประณามและ “กล่าวโทษ” คำสอนที่ผิด (Heresy) ใด ๆ หากแต่เป็นการริเริ่ม “เสวนา” (Dialogue) กับแนวคิดและวิถีชีวิตที่ต่างออกไปจากตนด้วยใจเปิดกว้างขึ้น” [3]

ความจริง การปฏิรูปศาสนาของศาสนจักรคาทอลิกนั้นเกิดขึ้นมาตลอดหลายศตวรรษ แต่สภาสังคายนาครั้งที่สองนี้น่าจะเป็นตัวอย่างการปฏิรูปศาสนาที่ล้ำสมัยที่สุดและทำให้ศาสนจักรโรมันคาทอลิกในปัจจุบันมีแนวคิดล้ำหน้ากว่าศาสนาใด ๆ ณ เวลานี้ก็ว่าได้ แนวคิดหลักในการประชุมสภาวาติกันครั้งที่สองคือ “aggiornamento” ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า “getting up to today” คือ “ลุกขึ้นสู่ปัจจุบัน” กล่าวได้ว่าศาสนจักรโรมันคาทอลิกในช่วงเวลานั้นกำลังถูกกระตุ้นให้ “ทันสมัย” [4] เจตนาสำคัญที่สุดคือต้องการทำให้ศาสนจักรเป็นเครื่องหมายที่เรียบง่าย น่าเชื่อถือและทุกคนเข้าใจได้ [5]  การสังคายนาจึงมุ่งจะ“ฟื้นฟูพลังของพระศาสนจักรและแสวงหารูปแบบใหม่ที่ถูกนำไปใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการปัจจุบัน”

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อโลกและต่อสถานภาพของศาสนจักรในโลกนี้  โดยศาสนจักรโรมันคาทอลิก ณ เวลานั้นได้ปรับเปลี่ยนแนวการ “วิเคราะห์” สภาพการณ์ในปัจจุบันในลักษณะใหม่แทนที่จะมุ่งความสนใจไปที่ความมั่นคงของศาสนจักรอย่างเดียว ก็มุ่งความสนใจไปยัง “ความทุกข์ยาก” ของมนุษย์ภายใต้ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ และถือว่าตนเอง (ศาสนจักร) เป็นส่วนหนึ่งในสังคมโลกเดียวกันนี้  ศาสนจักรไม่ใช่ “ผู้บริสุทธิ์” ที่อยู่เหนือกาลเวลาและสถานที่ ด้วยวิธีการนี้ศาสนจักรจึงถูกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมกับผู้คนแห่งยุคนี้ โดยมองยุคสมัยปัจจุบัน “ด้วยความเห็นอกเห็นใจ” ถือเป็นหน้าที่ของศาสนจักรที่จะทำความเข้าใจและหาคำตอบใหม่สำหรับทุกคนแม้ว่าเขาไม่ได้สนใจศาสนาเลยก็ตาม หมายความว่า “ชาวคริสต์ต้องเป็นหนึ่งเดียวกับคนเหล่านี้ด้วยความเคารพและรัก ถือว่าตนเป็นสมาชิกร่วมประชาคมเดียวกัน มีส่วนร่วมในวิถีทางวัฒนธรรมและสังคม โดยคบหาและร่วมงาน ต้องรู้จักประเพณีวัฒนธรรมของชาติและศาสนาอื่น ๆ เป็นอย่างดี” [6]

น่าจะกล่าวได้ว่า นี่คือสิ่งที่สแวเรอร์เรียกว่าการปรับเปลี่ยน “หลักการ” บางอย่างเพื่อให้ศาสนธรรมที่ “เป็นจริงแท้และสากล” ได้รับการตีความใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดมากประการหนึ่งในการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 คือ ท่าทีต่อศาสนาอื่น ๆ เดิมทีนั้นศาสนจักรโรมันคาทอลิกมีประกาศว่า “นอกพระศาสนจักรไม่มีผู้ใดรอดได้” วาติกันครั้งที่สองได้ให้ความเข้าใจใหม่ว่า ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามวิถีชีวิตของตนอย่างซื่อสัตย์และจริง เขาผู้นั้นก็สามารถรอดได้ (ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือชาวคริสต์หรือไม่ก็ตาม) นี่คือข้อความในพระธรรมนูญที่มีผลต่อการปฏิรูปมุมมองของคาทอลิกทั่วโลก

 “พระศาสนจักรคาทอลิกไม่ได้ปฏิเสธสิ่งใดที่จริงและศักดิ์ในศาสนาเหล่านี้ พระศาสนจักรพิจารณาด้วยความเคารพอย่างจริงใจซึ่งวิถีปฏิบัติและวิถีชีวิต ตลอดจนกฎและหลักธรรมคำสอนเหล่านี้ ถึงแม้จะผิดไปจากที่ตนเองถือและสอนหลายประการ แต่บ่อยครั้งก็นำแสงสว่างจากองค์ผู้เป็นสัจธรรมมาสู่มนุษย์ . . . . . ฉะนั้นพระศาสนจักรจึงขอเตือนลูก ๆ ให้รับรู้ ปกป้อง และทำให้คุณค่าทางจิต ทางศีลธรรม และทางสังคม และวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่ในตัวคนต่างศาสนาเหล่านี้ ให้ลูก ๆ ทำเช่นนี้โดยการเสวนาร่วมมือกับผู้นับถือศาสนาอื่น ด้วยความฉลาดรอบคอบและความรัก และโดยแสดงความเชื่อและดำเนินชีวิตแบบคริสตชน” [7]

เสรี พงศ์พิศ อธิบายว่า ข้อความนี้เป็นข้อความที่แสดงถึงจุดยืนใหม่ ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์สภาพการณ์ปัจจุบันซึ่งเห็นว่า โลกมนุษย์ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็มีทั้งคนดีและคนชั่ว หลักศาสนาต่าง ๆ ล้วนสอนให้คนไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิต ถ้าหากยึดหลักการเดิมที่ศาสนจักรเคยบอกไว้ว่า ใครผู้ใดไม่ได้รับศีลล้างบาปเป็นชาวคริสต์ ผู้นั้นไม่อาจรอด (จากบาป) ได้ ผู้คนนับพัน ๆ ล้านคนทั้งในปัจจุบันและในอดีตก็คงตกนรกไปหมดสิ้น รวมทั้งชาวคริสต์เองที่เป็นคนบาป คนที่ไปสวรรค์จริง ๆ ก็คงไม่มีกี่คน เรื่องนี้น่าจะขัดแย้งกับหลักคำสอนที่ว่า พระเจ้าไม่ทรงปรารถนาให้ผู้ใดพินาศ ทรงต้องการให้ทุกคนรอด ดังนั้น พระองค์ก็คงต้องประทานเงื่อนไขและเครื่องมือให้มนุษย์ทุกคนไปสู่ความรอดได้ [8]

มีข้อสังเกตว่า สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 ไม่ได้มีภารกิจการปฏิรูปเพื่อจะสร้างความมั่นคงให้แก่พระศาสนจักรเป็นด้านหลักเพียงประการเดียว ปฏิญญาว่าด้วยท่าทีต่อศาสนาอื่นสะท้อนให้เห็นว่าการที่ชาวโลกจะนับถือศาสนาคริสต์หรือไม่ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป สิ่งสำคัญที่สุดคือเขาเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามหลักศาสนาธรรมที่ก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจ คุณค่าทางศีลธรรมและคุณค่าทางสังคมหรือไม่ มนุษย์ทั่วไปในฐานะเพื่อนร่วมโลก (ไม่ใช่เพียงมนุษย์ในคริสต์ศาสนาเท่านั้น) ที่ได้กลายเป็นจุดศูนย์รวมที่ศาสนจักรคาทอลิกจะต้องมอง “ด้วยความรัก” และ “เห็นอกเห็นใจ” จะว่าไปแล้ว “ความทุกข์ยาก” ของมวลมนุษย์ต่างหากที่เป็นภารกิจสำคัญของศาสนจักร ภายใต้การปฏิรูปนี้ศาสนจักรคาทอลิกได้ก้าวพ้นขอบเขตทางศาสนาของตน เพื่ออ่อนน้อมถ่อมตนต่อโลก มิใช่อยู่เหนือโลกอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในสำนึกแห่งการปฏิรูปของท่านพุทธทาสภิกขุ องค์ดาไล ลามะแห่งธิเบตหรือแม้แต่บุคคลสำคัญในพุทธศาสนานิกายวัชรยาน อย่างเช่น เซอเกียม ตรุงปะ ที่ทะลุกรอบของจารีตประเพณีทางศาสนาออกไปจนผู้คนเรียกว่า “คุรุบ้า” ผู้คนเหล่านี้ไม่สนใจความมั่นคงของพุทธศาสนาหากแต่สนใจความมั่นคงของชีวิตมนุษย์โดยทั่วไป การนับถือพุทธศาสนาหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการเผยแผ่คำสอน ในแง่นี้ เมตตาธรรมแผ่ขยายออกไปเหนือตัวตนเหนือขอบเขตของศาสนาที่กำหนดขึ้นโดยจารีตประเพณี การปฏิรูปศาสนจักรคาทอลิกจึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะต่อศาสนจักรแต่มีความหมายต่อมนุษยชาติโดยรวมด้วย   

 ควรจะกล่าวในที่นี้ด้วยว่า เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคายนาวาติกันครั้งที่สอง ไม่เพียงแต่เรื่องของจุดมุ่งหมายปลายทางหรือผลที่เกิดขึ้นจากการสังคายนาเท่านั้น กระบวนการสังคายนาที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะได้สะท้อนแสดงถึงความปรารถนาอันแท้จริงที่จะ “ร่วมกับ” สังคมสมัยใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน กล่าวคือ มีการเรียกพระคาร์ดินัลจากทั่วโลกถึง 2,860 องค์มาร่วมประชุม รวมทั้งเปิดโอกาสให้ศาสนิกชนที่นับถือนิกายอื่นและสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมสังเกตการณ์ ในระหว่างการประชุมก็ยอมให้มีการถกเถียงกันอย่างเสรีและเปิดกว้างทางความคิด การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 4 ปีเพื่อพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญอย่างละเอียดถี่ถ้วน การปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่จึงไม่อาจเกิดขึ้นด้วยความคิดแคบ ๆ ที่คนไม่กี่คนจินตนาการถึงสภาพการณ์บางอย่างที่ไม่น่าพอใจแล้วกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นมาโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้คนที่เกี่ยวข้องภายในไม่กี่วันกี่เดือน การปฏิรูปศาสนาที่ต้องอาศัยเจตจำนงร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนจักรอย่างแท้จริงทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก สังคายนาสภาวาติกันครั้งที่ 2 เป็นตัวอย่างอันสำคัญที่พระสงฆ์ ผู้มีอำนาจและชาวพุทธในสังคมไทยควรเรียนรู้ทำความเข้าใจในฐานะบทเรียนที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจเรื่อง “ความหมาย” และ “แนวปฏิบัติ” หรือ “กระบวนการ” ของการปฏิรูปพุทธศาสนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

การสังคายนาครั้งที่ 3 ของพุทธศาสนาเถรวาท

ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา เคยมีการปฏิรูปพุทธศาสนาตามความหมายที่กล่าวถึงนี้หรือไม่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในช่วง 1,500 ปีแรกนับแต่หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นต้นมา ก็คือการเกิดขึ้นของพุทธศาสนานิกายมหายาน และนิกายวัชรยาน ในสำนึกของชาวพุทธเถรวาทที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พุทธศาสนาในลังกาและประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่เขียนโดยชาวพุทธเถรวาท การเกิดขึ้นของพุทธศาสนาสองนิกายนี้ไม่ใช่การปฏิรูปศาสนา หากแต่การเกิดขึ้นของนิกายทั้งสองจะถูกนิยามว่าเป็นความเสื่อมหรือยุคแห่งสัทธรรมปฏิรูป เป็นสัทธรรมปลอม ๆ ไม่ใช่พระสัทธรรมอันแท้จริง อย่างไรก็ตาม หากมองประวัติศาสตร์พุทธศาสนาโดยรวม ไม่ได้ถือพุทธศาสนาเถรวาทเป็นศูนย์กลางของการอธิบายเหตุการณ์ทางศาสนา ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของพุทธศาสนานิกายมหายานและวัชรยานเป็นการปฏิรูปพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ในความหมายที่ว่า “มีการปรับเปลี่ยนหลักการใหม่” เพื่อให้สามารถตีความหลักคำสอน (สัจจะที่เป็นสากล) ได้อย่างมีความหมายต่อชีวิตหรือสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อาจไม่ใช่ในความหมายที่ปรับหลักการเพื่อเข้าสู่โลกสมัยใหม่ตามนิยามของสแวเรอร์ที่กล่าวถึงแล้วนั้น

ขอให้ลองอ่านข้อความจาก “คำนำ” ของเจมส์ บี โรบินสัน ในหนังสือ จตุราศีติสิทฺธปรวฤตฺติ : ชีวประวัติของแปดสิบสี่สิทธา ของอภัยทัต พรรณนาถึงพัฒนาการของพุทธศาสนาในช่วงสำคัญไว้ดังนี้

ขณะที่พระพุทธศาสนาในยุคต้น ๆ คลี่คลายขยายตัวมา การปฏิบัติสมาธิภาวนาค่อย ๆ ถูกบดบังไปสิ้นด้วยการศึกษาในเชิงปริยัติและแนวโน้มที่จะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในปัญญายิ่งกว่าที่จะเข้าถึงตัวประสบการณ์จริง เมื่อกาลเวลาล่วงเลยนานเข้าจึงก่อเกิดผู้บรรลุธรรมขึ้นน้อยแสนน้อย และเพื่อเป็นการทดแทนต่อความย่อหย่อนในการปฏิบัตินี้เองที่หลักธรรมมหายานได้ก่อกำเนิดขึ้น มหายานในยุคต้น ๆ มิใช่การปฏิเสธสายธรรมของหีนยาน ทว่าเป็นเพียงการน้อมนำหลักธรรมคำสอนสู่การปฏิบัติเท่านั้น โดยอาศัยอุดมคติแห่งพระโพธิสัตว์ของมหายาน หรือ “ผู้แสวงหาหนทางสู่การตรัสรู้” จึงหวนกลับมาเน้นที่ความสำคัญของการมุ่งสู่ความเป็นพุทธะ และแทนที่จะสงวนความเป็นพุทธะไว้ให้แก่ผู้ที่เลือกใช้ชีวิตเยี่ยงสมณะเท่านั้น โพธิสัตวมรรคกลับแผ่กว้างไปถึงฆราวาสด้วยเช่นกัน

ปรัชญามหายานได้รุ่งเรืองเฟื่องฟูเป็นอย่างยิ่งในสมัยคริสต์ศตวรรษที่สอง ด้วยหลักปรัชญามาธยามิกของท่านนาคารชุน และในช่วงคริสต์ศตวรรษที่สี่ด้วยปรัชญาสำนักโยคาจารย์ของท่านอสังคะ หลักปรัชญาเหล่านี้ช่วยนำไปสู่ปัญญาอันกระจ่างแจ้งซึ่งก็คือการตรัสรู้ และโดยอาศัยหลักธรรมของสำนักเหล่านี้ พุทธศาสนาก็ได้บรรลุถึงภูมิปัญญาอันลุ่มลึกถึงขีดสุดในอินเดีย

ทว่าการคลี่คลายขยายตัวของทั้งสองสำนัก ก็ยังก่อให้เกิดความติดยึดในแง่ของข้อมูลความรู้เกี่ยวกับปัญญา และบ่อยครั้งที่เน้นไปที่ตรรกะและวาทศิลป์ยิ่งกว่าการเข้าถึงตัวประสบการณ์โดยตรง อย่างไรก็ตาม อุดมคติที่มุ่งหวังจะหลอมรวมปริยัติและปฏิบัติเข้าด้วยกันก็ยังมิได้ถูกหลงลืมโดยสิ้นเชิง และในสายธรรมดังกล่าวก็ยังคงมีผู้ที่มิได้พอใจอยู่กับแค่เพียงการท่องจำ หากแต่ปรารถนาจะแปรเปลี่ยนหลักปรัชญาให้กลายเป็นตัวการปฏิบัติ

ด้วยสาระสำคัญนี้เองที่วัชรยานหรือพุทธตันตระได้โดดเด่นขึ้นมา ดุจเดียวกับที่มหายานได้ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับกระแสปริยัติของหีนยาน เช่นกัน วัชรยานก็ได้ผุดเด่นขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลกับกระแสปริยัติของมหายาน วัชรยานหาได้ปฏิเสธมหายานไม่ เพียงแต่ย้ำเตือนว่าหลักพุทธธรมนั้นจะต้องเข้าถึงด้วยการพากเพียรปฏิบัติ[9]

หนังสือ Essential Tibetan Buddhism ของศาสตราจารย์โรเบิร์ต เทอร์แมน แห่งมหาวิทยาลัยคอลัมเบีย (ซึ่ง ส. ศิวลักษณ์ นำมาแปลเป็นภาษาไทยชื่อ สาระพระพุทธศาสนาของธิเบต)[10] ชี้ให้เห็นว่ายานทั้งสามคือสาวกยาน (หมายถึง พุทธศาสนายุคแรก รวมทั้งนิกายเถรวาทกระแสหลักด้วย) มหายาน และวัชรยาน ล้วนเป็นพัฒนาการที่สำคัญของพุทธศาสนา

ห้าร้อยปีแรก พุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่คณะสงฆ์เป็นหลัก พระสงฆ์มีความสำคัญต่อสังคมที่อยู่นอกสังคมกระแสหลักของอินเดีย คือช่วยให้การศึกษาแก่ปัจเจกบุคคล ช่วยชี้ให้เห็นทางเลือกออกจากเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและลัทธิศาสนาของกระแสหลัก  ห้าร้อยปีต่อมา มหายานมีบทบาทในการเคลื่อนย้ายพุทธศาสนาออกนอกวัดวาอาราม เข้าไปผสมผสานกับเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมกระแสหลัก ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วจากห้าร้อยปีแรก โดยรากฐานการศึกษาที่ได้มาจากคณะสงฆ์ ขบวนการของพุทธศาสนาได้เผชิญหน้าโดยตรงกับความรุนแรงของสังคม ปรับวิถีการสอนศีลธรรมด้วยการเน้นไปที่ความเมตตากรุณา ในรอบห้าร้อยปีสุดท้าย นอกจากพุทธศาสนาจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของสังคมที่พัฒนาแล้ว ยังไปมีบทบาทกับผู้คนชายขอบของสังคมอีกด้วย โดยเฉพาะเผ่าต่าง ๆ และชนชั้นในวรรณะที่ต่ำต้อยลงไป รวมถึงชาวต่างชาติต่างภาษาอย่างชาวธิเบต เป็นต้น เมื่อพุทธศาสนาแผ่ออกยังคนชายขอบ จำเป็นต้องใช้มนตร์คาถา เป็นพาหะในการสั่งสอน เพราะจะใช้เหตุผลและตัวหนังสือย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะวิธีหลังนี้จะใช้ได้ดีกับคนที่มีการศึกษาแล้วตามเมืองต่าง ๆ เท่านั้น

จากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาโดยรวม อาจกล่าวได้ว่ามีการปรับเปลี่ยน “หลักการ” เพื่อทำความเข้าใจหลักคำสอนและตีความคำสอนทางพุทธศาสนาอย่างน้อย 2 ระยะด้วยกันซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ต่อประวัติศาสตร์พุทธศาสนา คือการเกิดขึ้นของมหายาน ซึ่งเชิดชูอุดมการณ์พระโพธิสัตว์เป็นหัวใจหลักในการเผยแผ่ศาสนธรรม กับการเกิดขึ้นของวัชรยานหรือตันตรยาน ที่มุ่งจะหลอมรวมการปฏิบัติและปริยัติเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน วัชรยานเป็นการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติทางศาสนาโดยรวมเอา “สายธรรม” ทั้งของเถรวาทและมหายานเข้ามาอยู่ในแบบแผนของการปฏิบัติทางศาสนาด้วย แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนดังกล่าวนี้อาจจะไม่ตรงกับความหมายของการปฏิรูปที่สแวเรอร์ให้ไว้เพราะไม่ได้เป็นการปรับเปลี่ยนเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นสมัยใหม่” (Modernization) ไม่ได้เป็นการปรับเปลี่ยน “อภิปรัชญา” แบบเดิมเพื่อให้รับกับแนวคิดเหตุผลนิยมหรือวิทยาศาสตร์อันเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นสมัยใหม่ แต่อาจถือเป็นการปฏิรูปคำสอนในความหมายกว้าง ๆ ที่ว่ามีการนำหลักการใหม่มาใช้เพื่อให้สามารถตีความคำสอนได้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ดำรงอยู่

หากตีความว่า การกำหนด “หลักการ” หรือ “การวางแนวทางใหม่” เพื่อให้เกิดความเข้าใจคำสอนและการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ ก็อาจจะเรียกได้ว่าพระสงฆ์ในพุทธศาสนาก็เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปพุทธศาสนาตลอดมา เฉพาะในประวัติศาสตร์พุทธศาสนานิกายเถรวาท เหตุการณ์ที่ควรกล่าวถึงก็คือ การสังคายนาครั้งที่ 3 ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปพุทธศาสนาชนิดหนึ่ง   อันอาจเป็นตัวอย่างสำคัญของการปฏิรูปศาสนาที่อ้างอิงเป็นแบบอย่างได้เพราะในการสังคายนานี้ ปรากฏว่ามีการตั้งมาตรฐานด้านหลักคำสอนและแนวปฏิบัติของพระสงฆ์ในพุทธศาสนาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมและมีหลักฐานเพื่อการศึกษาค้นคว้ามาจนทุกวันนี้ การประชุมสังคายนาดังกล่าวคือการขีดเส้นแบ่งว่าอะไรคือสัทธธรรมอันแท้จริง และอะไรคือสัทธรรมปฏิรูป  อะไรคือความแตกต่างระหว่างความเป็นเถรวาทกับนิกายอื่น ๆ โดยอาศัยบรรทัดฐานของพระธรรมวินัยที่รวบรวมไว้ตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ 1 (หลังพุทธปรินิพพาน 3 เดือน) การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลานานถึง 9 เดือน มีพระสงฆ์ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมสังคายนาถึง 1,000 รูปซึ่งชาวพุทธเชื่อว่าทั้งหมดนั้นเป็นพระอรหันต์ (อรรถกถากล่าวว่า คัดเลือกพระสงฆ์ 1,000 รูป จาก 6,000.000 รูป (หกล้านรูป) ซึ่งไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมใด ก็ไม่น่าเชื่อว่าในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชจะมีพระสงฆ์เถรวาทจำนวนมากเพียงนั้น)

เมื่อศึกษาลงไปในรายละเอียดของการสังคายนาแต่ละครั้ง เราพบว่าจุดเริ่มต้นของการสังคายนาของพุทธศาสนามาจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่พระสงฆ์ในขณะนั้นเผชิญอยู่และเห็นว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงโดยนำเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันในที่ประชุม สภาพปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขมี 2 ส่วนคือ อย่างแรก ได้แก่ มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งประพฤติผิดพระธรรมวินัย  ในกรณีนี้ การแก้ไขมุ่งไปที่การกำจัด “อลัชชี” ซึ่งในกรณีสังคายนาครั้งที่ 3 พระสงฆ์ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จึงได้เชื้อเชิญให้ผู้ปกครองคือพระเจ้าอโศกมหาราชเข้ามาช่วยจัดการ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพุทธศาสนาไปแอบอิงอยู่กับอำนาจรัฐ และกลายเป็นปัญหาหนึ่งที่มีการถกเถียงกันเมื่อก้าวเข้าสู่สังคมรัฐประชาธิปไตยที่แยกรัฐออกจากศาสนา ส่วนที่สองที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงก็คือ ส่วนที่เกี่ยวกับตัวพระธรรมวินัย การตีความพระธรรมวินัยที่แตกต่างกันจนสับสนทำให้สภาพการณ์ช่วง 100 ปีที่สองหลังพุทธกาลเต็มไปด้วยความสับสน การตีความคำสอนขยายแง่มุมออกไปมากเกินกว่าพระธรรมวินัยที่รับรองกันมาตั้งแต่ช่วงหนึ่งปีแรกหลังพุทธกาล การจัดการแก้ไขส่วนนี้ พระสงฆ์จะใช้กระบวนการภายในของสงฆ์เอง โดยการประชุมสงฆ์เพื่อ “สังคายนา” พระธรรมวินัย การสังคายนาจึงเป็นกระบวนการเพื่อแสวงหาความเข้าใจ “ความหมายอันแท้จริง” ของพระธรรมคำสอนอันเป็นประเด็นปัญหาในขณะนั้น ๆ  การสังคายนาแต่ละครั้งจะมีข้อตกลงที่ชัดเจนเกี่ยวกับพระธรรมวินัยเสมอและเป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์เถรวาทที่จะต้องยึดถือปฏิบัติตามข้อตกลงที่ผ่านกระบวนการสังคายนาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด[11]

“เรื่องเล่า” เกี่ยวกับการสังคายนาครั้งที่ 3 ที่ปรากฎในคัมภีร์ สมันตปาสาทิกา อรรถกถามหาวิภังค์ (พระวินัยปิฎก) และ ปรมัตถทีปนี อรรถกถากถาวัตถุ (พระอภิธรรมปิฎก) เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับเนื้อหาในหนังสือ “ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา” ของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ[12]  กล่าวถึงแนวคิดและคำสอนของพุทธศาสนาสำนักต่าง ๆ 18 นิกายที่เกิดขึ้นก่อนการสังคายนาครั้งที่ 3 และหลังจากนั้น เมื่ออ่านร่วมกับ “กถาวัตถุ” (พระไตรปิฎก เล่ม 37) เราจะพบเห็นบรรยากาศแห่งความสับสนวุ่นวายและการถกเถียงกันโต้แย้งกันเกี่ยวกับ “ความหมายอันแท้จริง” ของพุทธพจน์ระหว่างสำนักพุทธนิกายต่าง ๆ ที่มีความเห็นต่างกันในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี ความสับสนเกี่ยวกับความหมายอันแท้จริงของพระธรรมวินัยเหล่านี้ได้นำเข้าสู่การถกเถียงหาข้อยุติในการสังคายนาครั้งที่ 3 ของฝ่ายเถรวาท แต่เรื่องราวที่ถกเถียงเพื่อหาข้อตกลงกันทางความคิดระหว่างคณะสงฆ์เถรวาทผู้ร่วมประชุมสังคายนานั้นอยู่ไม่ปรากฏให้เห็นในกระบวนการสังคายนาแต่ประการใด แต่จะปรากฎในทำนองว่าพระเถระผู้เป็นประธานในการสังคายนาคือ พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ได้รจนาคัมภีร์ “กถาวัตถุ” โดยรวบรวมข้อถกเถียงจากคัมภีร์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นมาพิจารณาโต้แย้งจากมุมมองของฝ่ายเถรวาท (หรือสถวีรวาท) แล้วนำเข้าสู่สังคายนา แล้วสังฆสภาก็มีมติให้รับรองคัมภีร์ “กถาวัตถุ” นั้นเป็นส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก [13] เนื่องจากบรรยากาศก่อนการตกลงร่วมกันของคณะสงฆ์ผู้สังคายนาไม่ปรากฎในคัมภีร์ใด ๆ  ผู้เขียนจึงตีความว่า ภายในการประชุมนั้นคงจะมีการพิจารณาถกเถียงเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมวินัยอยู่มาก ถ้าเพียงทำหน้าที่รวบรวมและร่วมกันสวดเพื่อให้จำคัมภีร์ให้ได้ครบถ้วนทั้งหมด อาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานถึง 9 เดือนก็ได้ ขนาดในการประชุมสังคายนาครั้งที่ 1 ซึ่งมีพระอรหันต์ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าเข้าร่วมประชุมถึง 500 รูปยังตกลงกันไม่ได้ว่า “อะไรคือสิกขาบทเล็กน้อย” ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ก่อนจะปรินิพพาน แล้วประเด็นใหม่ที่ลึกซึ้งกว่าซึ่งคณะสงฆ์ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชเผชิญอยู่นั้นจะไม่มีการถกเถียงกันเลย ย่อมไม่น่าเป็นไปได้

ข้อแตกต่างระหว่างการสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 กับสังคายนาครั้งที่ 3 ของพุทธศาสนานั้นมีข้อที่มองเห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ การสังคายนาของพุทธศาสนายุคแรกทุกครั้งที่เกิดขึ้นในอินเดียมักกล่าวว่ามีผู้ปกครองในยุคนั้นเข้ามาให้การอุปถัมภ์การสังคายนา ส่วนการสังคายนาวาติกันเมื่ออดีตนั้น ดูเหมือนจะมีอำนาจรัฐหรือผู้ปกครองภายของรัฐ (โรมัน) ได้เข้ามามีส่วนสำคัญอยู่บ้างก็คือ กรณีสภาสังคายนาไนซีอา (The Council of Nicaea 235EC)[14] อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การสังคายนาเวียนนาในปีค.ศ.1311 ซึ่งได้มีการประกาศเจตนารมณ์ที่จะฟื้นฟูชีวิตทางศาสนาที่เริ่มเสื่อมทรามไป การปฏิรูปศาสนาคาทอลิกก็เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นการภายในทีละเล็กทีละน้อยตลอดศตรวรรษที่ 15-16  การปฏิรูปภายใต้สภาสังคายนาล้วนเกิดขึ้นภายใต้อำนาจอันเบ็ดเสร็จของศาสนจักรซึ่งสามารถกำหนดควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ และทิศทางของศาสนจักรด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจรัฐ จะว่าไปวาติกันก็เป็นอำนาจรัฐหนึ่งโดยตัวเองอยู่แล้ว กระนั้น สภาสังคายนาครั้งที่สองก็ได้สร้างมิติที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากประวัติศาสตร์ศาสนจักรคือประกาศให้พระคาร์ดินัลจากทั่วโลกได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ครั้งสำคัญ การปฏิรูปครั้งนี้ได้เปลี่ยนรูปโฉมศาสนจักรคาทอลิกยุคใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง และมีผลกระทบสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน

ส่วนพุทธศาสนาจะอาศัยอำนาจรัฐมาช่วยจัดการ “อลัชชี” ในกรณีที่พระสงฆ์เองไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะกรณีสังคายนาครั้งที่ 3 ที่มีการบังคับผู้ที่ล่วงละเมิดวินัยหรืออลัชชีจำนวนมากออกจากศาสนาหรือคณะสงฆ์ การเชื้อเชิญอำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์จึงดูเหมือนจะจำเป็นในส่วนที่จะทำให้เกิดสภาพบังคับแก่ผู้กระทำผิดพระธรรมวินัย ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้พระสงฆ์ในพุทธศาสนามักจะอิงอยู่กับอำนาจรัฐ ในแง่หนึ่งมองได้ว่าพุทธศาสนาไม่สามารถพัฒนาวัฒนธรรมเชิงอำนาจให้สามารถแก้ไขปัญหาภายในคณะสงฆ์ได้ด้วยตนเอง การพึ่งพิงอาณาจักรจึงมักกลายเป็นข้อเรียกร้องอยู่เสมอมา และก็กลายเป็นข้ออ้างเพื่อรัฐหรือผู้ปกครองจะได้มีความชอบธรรมในการจัดระเบียบคณะสงฆ์สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อที่เหมือนกันในการดำเนินกิจกรรมการสังคายนาที่กล่าวถึงทั้งคาทอลิกและพุทธศาสนาในอดีตก็คือการรวมพระสงฆ์จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการสังคายนา ซึ่งในที่นี้ได้ตีความหลวม ๆ ว่ากิจกรรมการปฏิรูปศาสนาชนิดหนึ่ง

บทเรียนที่อันมีนัยสำคัญต่อการปฏิรูปศาสนาในสังคมไทย

เราได้เรียนรู้อะไรจากกรณีสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 และสังคายนาครั้งที่ 3 ของเถรวาท ?

การกำหนดให้การปฏิรูปเป็นกิจกรรมทางศาสนาสำคัญที่ผู้มีส่วนร่วมในศาสนาจะต้องมีส่วนร่วมนี้สะท้อนให้เห็นสำนึกที่มีลักษณะแบบประชาธิปไตยไม่มากก็น้อย สำนึกทำนองนี้ไม่เพียงแต่เป็นการให้ความสำคัญและเคารพต่อ “สัจจะ” อันเป็นสากลของศาสนา ในฐานะสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจและแปรความหมายให้สอดรับกับประสบการณ์ใหม่หรือสภาพการณ์ใหม่ทางสังคม ซึ่งคนใดคนหนึ่งไม่สามารถจะผูกขาดเป็นของตนเองได้ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะพึงอ้างได้ว่าตนเองเข้าถึงสัจจะและความรู้อันถูกต้องทางศาสนาเพียงผู้เดียว หากแต่ทุกคนในสังฆมณฑลได้รับความเคารพให้เข้ามามีส่วนร่วมในหลักการและแนวทางที่จะใช้เป็นรากฐานของอนาคต

ในแง่นี้เอง ที่เราจะเห็นว่า “ศาสนธรรม” จะได้รับการยกไว้เหนืออำนาจของปัจเจกบุคคลและเหนืออำนาจรัฐ หมายความว่า ผู้ปกครองรัฐไม่ได้มีอำนาจใด ๆ ที่จะมากำหนดความเข้าใจ “ศาสนธรรม” ให้เป็นไปตามต้องการของตน แต่ศาสนธรรมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อโลกสมัยใหม่นั้นจะต้องได้รับการถกเถียง วิเคราะห์ พิจารณาจากหลากหลายผู้มีประสบการณ์และอย่างรอบด้าน และสุดท้ายก็จะต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์จากชุมชนสงฆ์ทั้งหมดที่เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อการปฏิรูป สิ่งที่จะถูกยึดถือเป็น “รากฐาน” สำคัญต่อรูปแบบชีวิตและวัฒนธรรมศาสนานั้นจะต้องเป็น “ความเห็นร่วม” ของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่ความเห็นของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน

ความหมายของการปฏิรูปที่กล่าวมานี้จะใช้ได้กับการปฏิรูปพุทธศาสนาในประเทศไทยหรือไม่ ชาวพุทธไทยเรียนรู้อะไรจากศาสนาอื่น ๆ หรือเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์พุทธศาสนาบ้างหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราจะกล่าวถึงในตอนต่อไป หลังจากศึกษาการปฏิรูปศาสนาที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทยสมัยใหม่และปัจจุบันแล้ว ก็จะมาดูว่าเราสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์ เรียนรู้อะไรได้บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทย

 

 

รายการอ้างอิง

[1] Peter A. Jackson, Buddhism, Legitimation and Conflict : The Political Functions of Urban Thai Buddhism. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1998:pp.40-60 (อ้างใน ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2541.”พุทธทาสภิกขุในบริบทของสังคมไทย.” หนังสือพิมพ์พุทธศาสนา รายตรีมาส 2 (พฤษภาคม-กรกฎาคม), น.108)

[2] Donald K. Swearer, “Thai Buddhism: Two Responses to Modernity.” in K. Ishwaran (editor), Contributions to Asian Studies, Vol, IV, p. 79 (อ้างใน ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, 2541:น. 110)

[3] เสรี พงศ์พิศ 2531. ศาสนาคริสต์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น.93-94.

[4] แผนกคริสตศาสนธรรม อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ, 2556. คู่มือสำหรับ “สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2”. กรุงเทพฯ: ปิติพานิช. น.10

[5] ทัศไนย์ คมกฤส และคณะ,(ผู้แปล). 2013. ระลึกวาติกันที่ 2 สังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อพิธีกรรม. น. 8

[6] เสรี พงศ์พิศ, อ้างแล้ว. น. 97

[7] “สังคายนาวาติกันที่สอง “ปฏิญญาว่าด้วยความสัมพันธ์กับศาสนาอื่น ๆ” วรรค 2 (อ้างใน เสรี พงศ์พิศ, อ้างแล้ว. น.96)

[8] เสรี พงศ์พิศ, อ้างแล้ว. น. 96

[9] อภัยทัต. 2547. จตุราศีติสิทฺธปรวฤตฺติ : ชีวประวัติของแปดสิบสี่สิทธา. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง.  ถอดความเป็นภาษาไทยโดย พจนา  จันทรสันติ. น. (16) – (17)

[10] โรเบิร์ต เทอร์แมน, เขียน. 2546. สาระพระพุทธศาสนาของธิเบต. ส. ศิวลักษณ์ แปล. กรุงเทพฯ : ศูนย์ไทยธิเบต. 

[11] เรื่องที่ว่ามีกระบวนการถกเถียงหาข้อตกลงร่วมกันนี้ ไม่มีหลักฐานระบุในคัมภีร์โดยตรง หากเป็นการตีความของผู้เขียนเอง ดูใน ชาญณรงค์ บุญหนุน, “การสังคายนาในมุมมองใหม่ : หนทางสู่การแก้ปัญหาของคณะสงฆ์ไทยปัจจุบัน” วารสารพุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7,2 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2542): 5-29.

[12] เสถียร โพธินันทะ. 2544. ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา.กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์. น.193-344.

[13] มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2547. พระวินัยปิฎก เล่ม 1 ภาค 1 มหาวิภังค์ ปฐมภาคและอรรรถกถา. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย. น.71- 107.และ  มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์. 2545. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 4  กถาวัตถุ ภาคที่ 1 และอรรถกถา. กรุงเทพฯ : มหามกุฎราชวิทยาลัย. น.3-21

[14] Smart, Ninian.1989. The World’s Religions. 2th Ed. United Kingdom. Cambridge University Press. pp. 257-261

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ชาญณรงค์  บุญหนุน เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท