'ร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย' ทำไม..?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

รัฐและผู้รับผิดชอบมหาวิทยาลัยได้พยายามกันมานานพอสมควรแล้ว ที่จะออกระเบียบกำหนดไม่มีให้ร้านขายเหล้าอยู่ในบริเวณใกล้เคียงรอบๆ มหาวิทยาลัย

แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อเร็วๆ นี้ เมื่อนักกีฬาของมหาวิทยาลัยรังสิตถูกฆาตกรรม อันมีเหตุมาจากร้านเหล้า จึงทำให้ความต้องการขจัดร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

ผมพูดกับนักศึกษาตลอดมาว่า ต่อให้กฎระเบียบนี้ตราออกมาและบังคับใช้ได้จริง ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจออกไปกินเหล้าของนักศึกษา ผมมักจะใช้คำพูดค่อนข้างตรงไปตรงมา ทำนองว่าคนที่คิดกฎนี้คงคิดว่านักศึกษาไม่มีตีน ที่จะเดินทางไปกินเหล้ากระมัง  (ฮา)  แพทย์ท่านหนึ่งที่กังวลใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุอันเกิดจากนักศึกษากินเหล้าแล้วขับรถหรือรถมอเตอร์ไซค์ ก็จะบ่นว่าหากร้านเหล้าย้ายไปไกลๆ เธอเชื่อว่าอุบัติเหตุจะเกิดมากขึ้นอย่างแน่นอนแล้วย้ำว่าใครจะรับผิดชอบ
ผมจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนมีการสำรวจสถิติจำนวนนักศึกษาที่กินเหล้า พบว่านักศึกษาสายสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ กินเหล้าเพิ่มขึ้นร้อยละเจ็บสิบกว่า สายวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละสี่สิบและสามสิบ (อาจจะผิดไปบ้าง ต้องขอโทษด้วยนะครับ) และสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของนักศึกษาหญิงกินเหล้าก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจนะครับที่ว่าสถิติคนไทยกินเหล้ามากติดอันดับหนึ่งในห้าของโลก และกินเหล้ากันประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมด (15 ล้านคน สถิติปี 2552) ในเมื่อเราทำให้คนเริ่มเมาตั้งแต่หนุ่มสาวแล้ว ยิ่งช่วงหลังเกิดกระแสคลั่งเบียร์อร่อยๆ จากต่างประเทศ จำนวนคนกินเบียร์น่าจะสูงมากกว่าเดิมมาก(แหะๆ แต่มันก็อร่อยจริงนะครับ)

หากคิดกันอย่าง “มักง่าย”  อย่างที่คิดกัน เช่น การห้ามมีร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย ก็คงจะไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมาหรอกครับ  มิหนำซ้ำ เชื่อว่าน่าจะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น เพราะเมาแล้วต้องเดินทางกลับหอไกลกว่าเดิม ผมอยากจะลองเสนอให้คิดพิจารณาจากปัจจัยนักศึกษาเองว่า ทำไมพวกเขาและเธอจึงกินเหล้าเพิ่มมากขึ้น เพราะในเรื่องนี้ การจัดการด้านอุปทาน (Supply side) มีผลน้อยมากกว่าการจัดการด้านความต้องการ (Demand side) ครับ

คำถามง่ายๆ ก็คือ ทำไมนักศึกษาถึงนิยมออกไปกินเหล้ากัน

คำตอบที่ผมได้จากการพูดคุยกับนักศึกษามานานกว่ายี่สิบปี ก็คือ นักศึกษาออกไปกินเหล้าเพิ่มมากขึ้นเพราะไม่มีอะไรจะทำในเวลาค่ำคืน ผมคิดว่าคำตอบนี้ฟังขึ้น และน่าจะเป็นปัจจัยหลักครับ ผมจึงอยากจะเน้นว่า นี่เป็นความผิดของมหาวิทยาลัย ที่ต้องแก้ไขโดยด่วน

ผมคิดว่าเป็นความผิดของมหาวิทยาลัยโดยแท้ เพราะมหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้นักศึกษาคิดคำนึงถึงการสร้างและแสวงหาความรู้ต่อเนื่องจากการเรียนในแต่ละวันได้ การเรียนจบลงเมื่อหมดชั่วโมงและหมดวัน ชีวิตนักศึกษาหลังสี่โมงเย็นของแต่ละวันจึงว่างเปล่า (ยกเว้นสายวิทยาศาสตร์ที่ต้องเข้าแลบปฏิบัติการ) การเรียนจึงมีแค่เข้าฟังครูพูดแล้วรอท่องหนังสือสอบในช่วงสอง/สามวันก่อนสอบ การทบทวนสิ่งที่ “เรียน” มาในแต่ละวันไม่มีความหมาย เพราะกระบวนการสอนไม่ได้เอื้อให้นักศึกษานำไปคิดต่ออะไรได้ การทบทวนก็คือท่องสิ่งที่ครูพ่นมาในชั่วโมงที่ผ่านมาเท่านั้น ไม่มีความหมายอะไรเลย นักศึกษาจึงเก็บเอาไว้ท่องก่อนสอบ

กระบวนการเรียนการสอนลักษณะนี้มีทั่วไป ไม่ว่ามหาวิทยาลัยใหญ่หรือเล็ก ซึ่งทำให้มีผลเท่ากับว่าการเรียนการสอบในมหาวิทยาลัยจบลงแค่สี่โมงเย็น และส่งผลต่อเนื่องให้ห้องสมุดปิดประมาณสองถึงสามทุ่มเท่านั้น การเกิดพื้นที่สาธารณะในมหาวิทยาลัยที่จะทำให้เกิดกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดความรู้จึงไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ ในเมื่อนักศึกษาไม่ได้ทำให้ต้องคิดต่อเนื่องเชื่อมต่ออะไรในแต่ละวัน

ถ้าอย่างนั้นแล้วจะให้นักศึกษาไปที่ไหนกันหลังสี่โมงเย็น

นักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เล่นกีฬาได้ก็ไปเล่นกีฬา แต่มหาวิทยาลัยก็มีพื้นที่สนามไม่มากนัก พื้นที่ที่พอมีบ้างก็แน่นขนัด (แย่งกันเตะฟุตบอล) ขณะเดียวกัน การจัดการกีฬาในมหาวิทยาลัยก็เป็นเรื่องเฉพาะของคนเล่นเป็น ไม่มีพื้นที่สนามสำหรับคนเล่นไม่เป็นหรือคนอยากหัดเล่น ทางเลือกอีกสองทางที่นักศึกษานิยมก็คือ ต้องหาแฟนให้ได้เพื่อจะได้แก้เหงา และเล่นเกม (สำหรับนักศึกษาชาย)

ดังนั้น นอกจากการเล่นกีฬา มีแฟน เล่นเกมแล้ว นักศึกษาไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้อีก เพราะกระบวนการเรียนการสอนไม่ได้สร้างให้เกิดความปรารถนาจะเชื่อมต่อความรู้กับการดำเนินชีวิตหลังสี่โมงเย็นการออกไปกินเหล้ามากขึ้นจึงเกิดขึ้น เพราะกีฬาก็เล่นไม่เป็น หากแฟนก็ยาก (หากไม่รวยพอ) เกมก็สู้คนเก่งๆ ไม่ได้ กินเหล้าง่ายที่สุด และเลือกได้ว่าจะกินแบบถูกหรือแพง (ฮา)

ดังนั้น หากจะคิดแก้ปัญหานักศึกษากินเหล้าจริงๆ ไม่ใช่ดรามาเฉพาะสถานการณ์ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองอย่างเร่งด่วน เพราะปัญหาไม่ใช่แค่ร้านเหล้าใกล้หรือไกลมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ที่ล้มเหลวของมหาวิทยาลัยเอง ปัญหานี้จะหนักมากกว่าเกิด และยิ่งจะทำให้นักศึกษาไม่ได้เป็นและไม่มีโอกาสเป็น “นักศึกษา” จริงๆ มากขึ้น ดังที่เราเห็นกันว่า ผลผลิตของมหาวิทยาลัยตกต่ำลงตลอด เรื่องง่ายๆ เช่น การเขียนภาษาไทยให้เป็นภาษาก็เลวร้ายมากขึ้น จึงไม่ต้องพูดถึงการคิดเป็น เพราะหากเขียนได้ห่วยมากก็แปลว่าคิดไม่ได้  เจ้าของบริษัท/หน่วยงานที่รับพนักงานทำงานเฉพาะด้าน เช่น วิศวกรรม สถาปัตยกรรม รวมทั้งความรู้เฉพาะทางระดับเข้มข้น เช่น ในโรงพยาบาล  มักจะบ่นตรงกันว่าคุณภาพของบัณฑิตต่ำลงมาก มิพักต้องพูดถึงสายสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์

หากมองปัญหานักศึกษากินเหล้าในอีกมุมหนึ่งเช่นที่กล่าวมานี้ ก็จะพบว่าการคิดห้ามร้านเหล้าไม่ให้เปิดใกล้มหาวิทยาลัยไม่ได้มีผลอะไรเลยแม้แต่น้อย การแก้ไขปัญหาสำคัญเช่นนี้อยู่ที่คนในมหาวิทยาลัยทุกคนทุกระดับ จำเป็นต้องหันกลับมามองตัวเอง และหาทางปรับแก้การเรียนการสอนเพื่อเพิ่มความปรารถนาอยากรู้และเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา พวกเขาจะได้มีโอกาสใช้ชีวิต “นักศึกษา” จริงหลังสี่โมงเย็น

หนึ่งพันกว่าวันที่นักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย ควรจะเป็นพันกว่าวันที่มีค่าสำหรับพวกเขาซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวของสังคม มหาวิทยาลัยควรจะเป็นสถานที่ที่ทำให้คนหนุ่มสาวเหล่านี้ “เปล่งประกาย” แห่งปัญญาได้มากที่สุด 

อาจารย์ทุกท่านครับ เริ่มต้นเทอมหน้านี้เลยดีไหมครับ

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท