พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ประเทศไทยใน “กับดักรายได้ปานกลาง” (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ประเทศไม่พัฒนาจำนวนหนึ่งสามารถยกระดับจาก “ประเทศยากจน” ไปเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง” ได้ในเวลาไม่นานก็เพราะในระยะเริ่มแรก ประเทศเหล่านี้มักจะมีทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเหลือเฟือ หากรัฐบาลมีเสถียรภาพและนโยบายชัดเจนด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐาน ระดมทรัพยากร ส่งเสริมเกษตรกรรมเพื่อส่งออก และร่วมกับทุนต่างชาติที่นำทุนและเทคโนโลยีเข้ามา ก็จะสามารถพัฒนาฐานอุตสาหกรรมขึ้นได้ ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการยกระดับรายได้ของประชากร

ประเทศไทยก็ได้ผ่านเส้นทางนี้โดยในช่วงแรกจากต้นทศวรรษ 2510 ถึงปลายทศวรรษ 2520 เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า เน้นให้ทุนต่างชาติ (ส่วนใหญ่เป็นทุนญี่ปุ่น) มาร่วมลงทุนกับทุนในประเทศ ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบริโภคสนองตลาดในประเทศ แต่พอถึงกลางทศวรรษ 2520 ตลาดภายในประเทศเริ่มชะลอตัว เศรษฐกิจขยายตัวช้าลง ซ้ำเติมด้วยวิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ประเทศไทยจึงได้ปรับเปลี่ยนไปเน้นอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก

ปลายทศวรรษ 2520 เกาหลีใต้และใต้หวันเผชิญกับการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาและยุโรป จึงได้ย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมมายังประเทศไทย ทำให้ฐานอุตสาหกรรมส่งออกของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้ประโยชน์ พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลังงานในเขตอุตสาหกรรมชายฝั่งตะวันออก ทำให้ช่วงปี 2528-2539 เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในโลก เฉลี่ยร้อยละ 12.4 ต่อปี ประเทศไทยมุ่งหน้าจากสถานะ “ประเทศยากจน” ไปสู่ “ประเทศรายได้ปานกลาง” อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนกำลังจะเป็น “เสื้อตัวที่ห้าแห่งเอเชีย”

อัตราดอกเบี้ยต่ำในเศรษฐกิจโลกประจวบกับความผิดพลาดทางนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยนำมาซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญ เพราะเมื่อมองย้อนหลังจากวันนี้ จะเห็นได้ว่า ปี 2540 คือ จุดเริ่มต้นของ “กับดักรายได้ปานกลาง” ของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นผลให้มีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในระบบรัฐสภาเป็นครั้งแรก สามารถกอบกู้เศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นาน รัฐบาลมีความพยายามที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจในหลายด้าน เศรษฐกิจไทยระยะนี้แม้จะฟื้นตัวดี แต่กลับมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 5-7 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าก่อนวิกฤต 2540 อย่างมาก

นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อให้เกิดการต่อต้านจากชนชั้นปกครองเก่าที่มีผลประโยชน์ครอบงำเศรษฐกิจไทยมายาวนาน พวกเขาได้ก่อรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยืดเยื้อเป็นวิกฤตการเมืองต่อมาจนเป็นรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แทนที่ด้วยการปกครองแบบเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ตลอดช่วงเวลานี้ เศรษฐกิจไทยก็ยิ่งอ่อนแอลงและมีการเจริญเติบโตลดลงจนเหลือเฉลี่ยร้อยละ 3-4 ต่อปีเท่านั้น

ประเทศไทยปัจจุบันแสดงอาการป่วยของ “กับดักรายได้ปานกลาง” อย่างชัดเจนคือ ค่าครองชีพและค่าจ้างแรงงานสูง แต่ผลิตภาพและทักษะของแรงงานไม่ยกระดับ สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การส่งออกชะงักงันไม่ขยายตัว ส่วนแบ่งของการส่งออกไทยในตลาดการค้าโลกไม่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำต่อเนื่อง สภาพโครงสร้างพื้นฐานที่เก่า ล้าสมัยและไม่เพียงพอ ทั้งถนน ระบบราง ท่าเรือ สนามบิน สาธารณูปโภค โทรคมนาคม เพราะไม่ได้มีการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งระบบมานานร่วมสามสิบปี

เงื่อนไขของการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” คืออะไร?

ข้อเสนอ “ทางเศรษฐกิจ” ค่อนข้างจะเป็นแนวทางเดียวกันจากประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันของหลายประเทศที่สามารถข้ามพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปได้ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ใต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นต้น

รัฐบาลจะต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งระบบ เพื่อยกระดับความสามารถในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูง ถนนหลวง ระบบรางคู่และรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือทั้งในประเทศและท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคมความเร็วสูงและทั่วถึง แหล่งพลังงานที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็โดยการที่รัฐบาลมีฐานะการคลังมั่นคง สามารถแบกรับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นได้ มีสถานะเป็นที่เชื่อถือยอมรับในตลาดเงินทุนของโลก ประกอบกับการร่วมลงทุนจากต่างชาติที่มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี

การยกระดับอุตสาหกรรมจากการใช้แรงงานและทรัพยากรเข้มข้นในยุคเริ่มแรก ไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะและเทคโนโลยีเข้มข้นที่สามารถจ่ายค่าแรงสูงได้นั้น หัวใจสำคัญคือ “การสะสมทุนมนุษย์” ซึ่งก็คือ การยกระดับความสามารถ ทักษะ ผลิตภาพของประชากรให้สูงขึ้น ด้วยการลงทุนในระบบการศึกษาทั้งกระบวน เน้นการผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม การวิจัยและพัฒนาทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

รัฐบาลเปิดเสรีการค้าและการลงทุน ลดอุปสรรคการไหลเข้าออกของสินค้า บริการ และเงินทุน ให้ระบบเศรษฐกิจมีลักษณะ “เปิด” ยิ่งขึ้น ซึ่งเอื้อให้มีการลงทุนและการแลกเปลี่ยนทางทักษะ ความรู้ วิจัยและเทคโนโลยี เพราะการสะสมทุนมนุษย์ไม่สามารถดำเนินไปได้ในสังคมแบบปิด ที่กีดกันการค้า การลงทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้จะเป็นไปได้ต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีนโยบายอันชัดเจน ซึ่งจะต้องไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการ เพราะรัฐบาลเผด็จการแม้ดูภายนอกจะมีความมั่นคง แต่เนื้อในมักจะไม่มีเสถียรภาพจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนความไม่พอใจและแรงต่อต้านจากประชาชนที่คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา

การเปลี่ยนผ่านระบบการเมืองจากเผด็จการที่ปิดและไม่มีเสถียรภาพ ไปสู่ระบบการเมืองที่ “เปิดมากขึ้น” กระทั่งเป็นเสรีประชาธิปไตย เป็นนิติรัฐ มีพรรคการเมืองหลายพรรค และมีการเลือกตั้งเสรีอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดตอน กลุ่มการเมืองสามารถเปลี่ยนผ่านอำนาจรัฐและนโยบายบริหารประเทศได้อย่างสันติและต่อเนื่อง เหล่านี้ จึงเป็น “เงื่อนไขสำคัญที่สุดทางการเมือง” ของการเอาชนะ “กับดักรายได้ปานกลาง”

ประสบการณ์ของญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีใต้ปลายทศวรรษ 2530 ใต้หวันต้นทศวรรษ 2540 ที่เปลี่ยนผ่านจากระบบการเมืองแบบปิดหรือเผด็จการ ไปสู่ระบบการเมืองเปิดที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ล้วนยืนยันบทเรียนข้อนี้ และนี่ก็เป็นกระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และระบบการศึกษาวิจัยทั้งหมด พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการเมืองที่ “เปิดและเป็นเสรีประชาธิปไตย” มากขึ้น

ในกรณีของประเทศไทย เงื่อนไขสำคัญเบื้องต้นของการข้ามพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ก็คือ การยุติวิกฤตการเมืองปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจ จากระบบการเมืองแบบปิดที่ครอบงำด้วยชนชั้นปกครองเก่าที่เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ ไปสู่ระบบการเมืองแบบเปิด ที่เป็นเสรีประชาธิปไตย ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพและต่อเนื่องพอที่จะลงมือปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษาวิจัย ตลอดจนเปิดเสรีการค้าการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่การผลิตที่ใช้ทักษะเทศโนโนโยลีสูงและจ่ายค่าจ้างสูง

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท