Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2558  ภายหลัง คสช. สั่งระงับงานเสวนาเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ในวันนี้(อ่านข่าว)  แต่วิทยากรบางส่วนยังคงเดินทางมาร่วมงาน โดยให้เหตุผลว่ามารับประทานอาหารเย็นร่วมกัน บรรยากาศด้านล่างอาคารมณียาที่ตั้ง FCCT มีตำรวจในเครื่องแบบอยู่ประมาณ 10 นาย ภายในอาคารอาคารมีตำรวจนอกเครื่องแบบอยู่จำนวนหนึ่ง

วิทยากรตามกำหนดการเดิมที่มาร่วมงานได้แก่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ เดวิด สเตรกฟัสส์ นักวิชาการอิสระชาวอเมริกัน และสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังดี 112  นอกจากวิทยากรแล้วยังมี สุณัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษา ฮิวแมนไรท์ วอทซ์ (Human Rights Watch) ประจำประเทศไทยและผู้สื่อข่าวจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วมด้วย

สุกัญญา พฤกษาเกษมสุขกล่าวว่า ทาง FCCT เชิญมาเป็นวิทยากรในงานเสวนาครั้งนี้ เหตุเพราะเธอเคยออกมาแถลงข่าวภายหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ตัดสินคดีของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เมื่อมกราคม 2555 และรณรงค์เรื่องของสมยศเรื่อยมา จึงเชิญมาร่วมงานในฐานะผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 และมีการติดต่อล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน

สุกัญญากล่าวต่อว่า หวังไว้ว่าทางรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้พูดคุยชี้แจ้ง ซึ่งน่าจะเกิดผลดีต่อทางรัฐบาลมากกว่าที่จะห้ามไม่ให้จัด การห้ามนั้นส่งผลกระทบมากกว่า เพราะสื่อต่างชาติมองว่าแม้แต่การพูดก็ยังไม่ได้รับอนุญาต

“ผู้ที่มาร่วมเสวนาวันนี้น่าจะมีความหลากหลายเ ท่าที่ดู ไม่ใช่คนที่มีผลกระทบ แต่มีคนที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แล้วก็อยากจะให้สถาบันคงไว้ในอีกแง่มุมหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเสวนาในวันนี้ก็จะเป็นการเปิดมุมมองของหลายๆ อย่าง ที่ตัวเองคิดไว้ก็คือการเปิดให้มีการเสวนาวันนี้เป็นประโยชน์มากกว่าการห้ามเพราะการห้ามยิ่งทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยแย่ลงไปกว่าเดิม ยังไงนักข่าวก็จะลงว่าวันนี้ไม่สามารถจัดได้ เพราะฉะนั้นคนก็จะมาถามว่าทำมถึงจัดไม่ได้ เพราะอะไรเหตุผลอะไร ก็จะเป็นผลเสียต่อภาพพจน์ประเทศ” สุกัญญากล่าว

ส่วนสาเหตุที่ คสช. สั่งระงับงานเสวนา เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สุกัญญามองว่าเป็นการกระทำที่ดูเกินกว่าเหตุ สังคมคงไม่สามารถแตกแยกได้จากการที่คนแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตใจ เพราะฉะนั้นการที่มาพูดในที่สาธารณะแบบนี้ไม่น่าจะทำให้ความแตกแยกเกิดขึ้นได้ แต่การที่ไม่ให้พูดแล้วคนเก็บเอาไปพูดข้างนอกอาจส่งผลจะให้สังคมแตกแยกมากกว่า

 “ถ้าถามว่ากลัวไหมที่คุณสมยศก็ยังอยู่ในเรือนจำแล้วเราออกมารณรงค์เรื่อง 112 เรื่อยๆ คิดว่าทุกคนก็คงจะกลัวเพราะว่ามันมีผลกระทบ แต่ว่าเราก็ตัดสนใจส่วนหนึ่งว่าจะต้องออกมาเปิดตัวเพื่อที่จะออกมาพูดในสิ่งที่มันเกิดเป็นปัญหากับเรา เพราะฉะนั้นถามว่ากลัวไหมก็คงกลัวอยู่แต่ว่ามันก็จำเป็นที่จะออกมาพูดให้กับสังคมได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่ได้รับการจับกุม คุมขัง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง”สุกัญญากล่าว

ด้านสุณัย  ผาสุก กล่าวว่า คำสั่งระงับการเสวนาไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะเป้าหมายของ คสช. ตั้งแต่ตอนทำการรัฐประหารก็เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์และมีการเร่งยกระดับการดำเนินคดีโดยใช้กฎหมายมาตรา 112 จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางคณะรัฐบาล คสช. และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีความอ่อนไหวอย่างมากหากจะมีการตั้งคำถามหรือการเปิดโอกาสให้กับฝ่ายต่างๆ ที่มีจุดยืนเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ได้แสดงความคิดเห็น

“เมื่อพื้นที่นี้ถูกปิดลงมันก็จะไม่มีการให้ข้อมูลอีกต่อไป มันก็จะเหลือแต่การตั้งคำถาม มันก็เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ ที่สำคัญ การตัดสินใจยกเลิกเวทีหรือการห้ามไม่ให้มีเวทีของสมาคมผู้สิ่งข่าวต่างประเทศผมมองว่าเป็นผลลบต่อตัวรัฐบาลเองและก็ตัวคสช.เองด้วยซ้ำ เพราะว่ามันทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้กฎหมายมาตรา 112 ไม่สามารถให้คำตอบจากปากของเขาต่อสาธารณะได้ เพราะฉะนั้นคำถามคำพิพาทก็จะยิ่งมีมากขึ้น” สุณัยกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า การระงับเวทีสาธารณะครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย เพราะถือว่าเป็นการแสดงออกโดยสันติ เป็นการใช้เสรีภาพในทางวิชาการ และหากมองถึงพื้นที่ซึ่งเป็นสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศนั้นพื้นที่แห่งนี้ก็เคยถูกใช้ให้ฝ่ายต่างๆ ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 มาแล้วอย่างต่อเนื่องในทุกรัฐบาล รวมถึงนักวิชาการ ซึ่งเป็นผู้ทำการศึกษาในแง่มุมต่างๆ ของกฎหมายมาตรา 112 ทั้งพัฒนาการของกฎหมาย การตีความ การบังคับใช้กฎหมาย ได้มีโอกาสให้ข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ออกมาเป็นข้อมูลที่ให้ข้อมูลแก่สาธารณะ และไม่ใช่เพียงในประเทศไทย แต่เป็นข้อมูลที่จะส่งผ่านสื่อต่างประเทศไปยังประชาคมโลกด้วย ทำให้ทั้งคนไทยและคนที่อยู่นอกประเทศไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 ว่าฝ่ายที่สนับสนุนมีเหตุผลอย่างไร ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ดีกรีความไม่เห็นด้วยมีตั้งแต่ขอให้ปฏิรูปปรับปรุงกฎหมายไปจนถึงขอให้ยกเลิกกฎหมาย เหตุผลข้อโต้แย้งเป็นอย่างไร แล้วสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการบังคับใช้กฎหมายมันอยู่ในสถานภาพอย่างไร

“แม้แต่พูดในเวทีเป็นกลางก็พูดไม่ได้อีกต่อไป และประเด็นที่กว้างขว้างออกคือพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นในสาธารณะก็ถูกกระชับมากขึ้นเรื้อยๆ มันก็ขยายความไปถึงพื้นที่ของสมาคมสื่อต่างประเทศด้วย ไม่ใช่พื้นที่สำหรับสื่อไทยต่อไป ไม่ใช้พื้นที่ของ NGO ไทย ไม่ใช่พื้นที่ของนักกิจกรรมไทยเท่านั้น แต่พื้นที่ของสื่อต่างประเทศก็ถูกปิดกั้นไปด้วย” สุณัยกล่าว

สุณัยกล่าวต่อไปว่า เมื่อไม่กี่วันมานี้ที่เวทีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของประเทศไทย ผู้แทนประเทศไทยใช้วิธีไม่ตอบคำถาม เพราะฉะนั้นจึงเป็นการสอดรับกันในเวทีระหว่างประเทศและเวทีในประเทศที่ปิดกั้นไม่ให้คำตอบในเรื่องมาตรา 112 ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “คำถาม กับ เสียงพิพาท” ที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นซึ่งถือเป็นผลลบกับตัวรัฐบาลและ คสช. เองในที่สุด

“หากว่าทางคสช หรือพลเอกประยุทธยังเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นฝ่ายที่มีอำนาจต่อไป สิ่งที่พลเอกประยุทธ์พูดล่าสุดก็คือว่า แม้แต่การคิดเกี่ยวกับ 112 ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม  ก็สะท้อนท่าทีแล้วว่าเรื่องของกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องห้าม พูดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” สุณัยกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net