Skip to main content
sharethis

สปช. จัดรับฟังความคิดเห็นแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า หลังใช้มา 16 ปีแต่ไม่เคยถูกบังคับใช้จริงจัง ชี้การค้าไทยยังผูกขาด ทำรายย่อยอยู่ไม่ได้ เผยร่างแก้ไข จะบังคับใช้รัฐวิสาหกิจ-ตั้งองค์กรอิสระ คาดเสนอให้ สนช.ภายใน ก.ค.นี้


17 มิ.ย. 2558  สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “กฎหมายแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปอย่างไร เพื่อป้องกันการผูกขาดและสร้างความเป็นธรรม” ที่โรงแรมเอเชียกรุงเทพ โดยในช่วงเช้าเป็นงานเสวนาวิชาการโดยวิทยากร 7 คนจากหลายอาชีพและหลายองค์กร ในช่วงบ่ายเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยผู้เข้าร่วมงานซึ่งเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการผูกขาดของธุรกิจใหญ่

เมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. ประชา เตรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมปฏิรูปเชิงประเด็นขององค์กรที่สำคัญ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. กล่าวเปิดโครงการเวทีรับฟังความคิดเห็น  โดยกล่าวย้อนถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้าซึ่งก่อตัวขึ้นในปี พ.ศ.2540 ว่า หลังจากมีกลุ่มทุนเข้ามาในประเทศและมีแนวโน้มผูกขาด จึงได้มี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ออกมาในปี พ.ศ.2542 แต่พ.ร.บ.นี้ไม่สามารถคุ้มครองผู้ค้ารายย่อยทั้งปลีกและส่ง ร้านค้ารายใหญ่เข้ามาเบียดเบียนรายย่อย ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่จะร่างโดย สปช. จะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ โดยคาดหวังให้เวทีนี้จะสามารถชี้ทางแก้ไขในระยะยาว


แก้ปัญหา พ.ร.บ. ปี42  นักวิชาการแนะสร้างจุดคานงัดของสังคมเพื่อสร้างแต้มต่อให้ผู้บริโภค

ต่อมา มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “กฎหมายแข่งขันทางการค้า ปฏิรูปอย่างไรเพื่อป้องกันการผูกขาดและสร้างความเป็นธรรม”
วินัย ดะลันห์ อนุกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย แนวนโยบายและปรับปรุงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ชี้ว่า การที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ไม่ปรากฏตัวอย่างความสำเร็จตลอดระยะเวลา 16 ปีนั้น เป็นเพราะการออกแบบที่ดีแต่ไม่มีวิสัยทัศน์ กล่าวคือ ออกแบบให้ส่วนราชการทำอะไรไม่ได้เลยเพราะคณะกรรมการขาดอำนาจที่เป็นอิสระ เอื้อให้ฝ่ายธุรกิจได้ผลประโยชน์มากเกินไป ที่สำคัญที่สุดคือไม่ให้อำนาจต่อรองผู้บริโภค ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างจุดคานงัดของสังคม คือต้องสร้างแต้มต่อให้ผู้บริโภค ซึ่งอาจจะเป็นการออกแบบกฎหมายที่ทำให้ผู้บริโภครวมตัวกันฟ้องได้ เป็นต้น

ด้าน กมลวรรณ จิรวิศิษฎ์ อนุกรรมาธิการปฏิรูปการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการนิยามธุรกิจและบุคคลภายใต้การบังคับใช้ที่ไม่ชัดเจน เช่น บางธุรกิจมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษอื่นดูแลอยู่แล้วเช่น ธุรกิจกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมี กสทช. กำกับอยู่ จึงเกิดการทับซ้อนกัน, การระบุประเภทธุรกิจที่ถูกควบคุมซึ่งไม่รวมประเภทรัฐวิสาหกิจเข้าไปด้วย ซึ่งจริงๆ กมลวรรณเสนอว่าควรรวม ยกเว้นบางองค์กรที่ทำประโยชน์ให้ประเทศจริงๆ เพราะการไม่บังคับใช้กฎหมายกับรัฐวิสาหกิจนั้นทำให้เอกชนถูกเบียดเบียนและต้องแข่งขันอย่างหนักจากการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจ เช่น ธุรกิจการบิน เป็นต้น, ปัญหาเชิงโครงสร้างองค์กร คณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการบางคนไม่ได้มีความรู้ในการบังคับใช้กฎหมาย, ความไม่ทันสมัยของข้อกฎหมาย แข็งตัว ไม่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และปัญหาของบทลงโทษและค่าเสียหายของผู้กระทำความผิด

2 ร่าง พ.ร.บ. เสนอแนวทางคุ้มครองผู้บริโภค

สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มี 2 ร่าง โดยมี คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ และ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้เสนอ ทั้งสองร่างมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานร่วมกัน

ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานอนุกรรมาธิการพาณิชย์และการบริการ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผู้เสนอ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ... ฉบับอนุกรรมาธิการพาณิชย์และการบริการ ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จะพยายามแก้ไขปัญหาที่เคยเกิดขึ้น และเสนอแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคว่าสิ่งที่สำคัญกว่ากฎหมายคือคนต้องมีสำนึกร่วมกัน ผู้ขายรายใหญ่มี Supply Chain (โซ่อุปทาน) ที่ดีกว่าทำให้ขายของได้ถูกกว่า เกิดการผูกขาดตลาดและเบียดเบียนผู้ขายรายย่อย ร่างใหม่นี้จึงมีแนวทางที่จะทำให้ระเบียบการแข่งขันเสรีเป็นธรรม ทำให้เกิดธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมากขึ้น โดยเป้าหมายหลักคือต้องการให้มีกฎหมายสักฉบับที่อาจจะไม่ได้แก้ไขปัญหาการแข่งขันได้ 100% แต่ธุรกิจขนาดเล็กต้องยืนหยัดอยู่ด้วยตนเองได้ เอาตัวรอดได้เท่าที่ทุนเขามีอยู่ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องรีบผลักดัน ถึงแม้จะโดนต่อต้านที่กฎหมายฉบับนี้ไปแตะรัฐวิสาหกิจหรือผู้ประกอบการรายใหญ่  แต่ก็คาดหวังว่าผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจอาจจะลดระดับลงมาสักนิดเพื่อให้ทุกธุรกิจในทุกระดับอยู่ร่วมกันได้โดยพึ่งพากัน

ด้านอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการผูกขาดและการแข่งขันทางการค้า ในคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เสนอแนวความคิดส่วนตัวว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจเพื่อหากำไรสูงสุดและการคุ้มครองผู้บริโภคที่เสียเปรียบในสังคม น่าจะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ กฎหมายที่ยุติธรรมจึงต้องสมดุลในทั้งสองส่วนนี้

อดิศักดิ์ชี้แจงต่อว่า คณะกรรมการได้วางแนวทางสิทธิผู้บริโภคไว้ 6 ประการ ได้แก่

1. สิทธิในเรื่องความปลอดภัยในตัวสินค้า
2. สิทธิที่ผู้บริโภคจะทราบข้อมูลข่าวสาร ราคา คุณภาพ ปริมาณสินค้า
3. สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกสินค้าที่หลากหลาย
4. สิทธิของผู้บริโภคที่จะร้องเรียนเกี่ยวกับสินค้า โดยมีผู้รับร้องเรียนเพื่อแก้ไข
5. สิทธิที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไข
6. สิทธิที่จะได้รับแจ้งสิทธิต่างๆ ของผู้บริโภค

อดิศักดิ์กล่าวว่า เขาได้ดูกฎหมายทั้ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งมุ่งเน้นไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เบียดเบียนผู้ประกอบการรายย่อย และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งมุ่งเน้นให้รัฐได้เข้ามาดูแล คุ้มครอง สิทธิผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคมีลักษณะการซื้อแบบต่างคนต่างซื้อ จึงไม่มีอำนาจต่อรองกับผู้ค้ารายใหญ่มากนัก แต่หากมีกฎหมายที่ดีควบคุมการแข่งขัน ผู้ผลิตก็จะถูกกดดันให้พัฒนาและผลิตสินค้าที่ดีเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้นใจความสำคัญของทั้งสองข้อกฎหมายนั้น เมื่อพิจารณาดูดีๆ ได้ให้ความเป็นธรรมกับทั้งฝ่ายธุรกิจและผู้บริโภค จึงอนุมานได้ว่ากฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันและส่งเสริมกัน และต้องเดินควบคู่กันไป

ในส่วนของแนวทางการปฏิรูปกฎหมาย อดิศักดิ์ได้แจกแจงถึงแนวคิดสำคัญทางการแข่งขันการค้า ดังนี้

1. การควบคุมพฤติกรรมของผู้อำนาจทางการตลาด มิให้ใช้อำนาจไปในทางมิชอบ
2. การควบรวมกิจการ
3. การควบคุมการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการแข่งขันทางการค้า
4. การควบคุมมิให้มีการจำกัดการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการนอกราชอาณาจักรโดยตรง
5. การควบคุมให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
6. การควบคุมมิให้เกิดผู้อำนาจเหนือตลาดเกินกว่าร้อยละ 75

ทั้งนี้ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาของข้อกฎหมายเก่าที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในมุมมองของคณะกรรมาธิการหลายประการ เช่น ปัญหากลไกในการบังคับใช้กฎหมาย โดยในกฎหมายแต่ละฉบับกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นแต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะคณะกรรมการไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์, ปัญหาบทลงโทษที่ไม่ตายตัว ไม่ขึ้นกับผลประโยชน์ที่ได้จากการประกอบธุรกิจ ฯลฯ

อดิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำงานอย่างเข้มข้นและยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่สุด และมีข้อเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้มีการดำเนินการเป็นอิสระ
2. ดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด มีการติดตามผล และต้องมีการรายงานต่อสาธารณชน เพื่อให้ตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส
3. เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายต่อรัฐวิสาหกิจ
4. กำหนดให้มีคำนิยามของ ตลาด, อำนาจเหนือตลาด, และผู้ประกอบธุรกิจในเครือ ให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
5. เพิ่มมาตรการในการผ่อนผันโทษเพื่อให้ผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนรู้เห็น ที่สามารถให้หลักฐานและข้อมูลอันเป็นประโยชน์ได้รับการลดหรือยกเว้นโทษ
6. เพิ่มบทลงโทษเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำที่ฝ่าฝืนและลงโทษผู้ฝ่าฝืนให้หลาบจำ โดยอาจให้มีการพิจารณาโทษปรับเป็นกี่เท่าของประโยชน์ที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับ

อดิศักดิ์เผยกรอบเวลาในการนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. .... ว่าจะร่างและแก้ไขแล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2558 พร้อมทั้งนำเสนอ สนช. ภายใน  31 กรกฎาคม 2558 โดยมีความคาดหวังที่ร่างกฎหมายจะประกาศใช้งานได้จริงภายในรัฐบาลชุดนี้
 

กรมการค้าภายในแนะควรแยกองค์กรการแข่งขันทางการค้าเป็นอิสระ

สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าตลอด 16 ปีในการดำเนินงานด้วย พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มีอุปสรรคและช่องโหว่จริง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เองพยายามผลักดันแก้ไขมาหลายปีแล้วและคิดว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดีในการแก้ไข โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการร่วมกับกรรมาธิการของ สปช. และให้คำปรึกษากับฉบับอนุกรรมาธิการพาณิชย์และการบริการฯ โดยมองว่าโครงหลักของ 2 ร่างคล้ายๆ กัน ดังนั้นจะมีการพูดคุยว่าตรงไหนที่เหมือนกันก็จะเอาไว้ หรือส่วนที่ต่างกันก็จะพูดคุยกันระหว่าง 2 ร่าง ส่วนเรื่องที่เล็งจะปรับปรุงคือโครงสร้างการทำงาน การที่องค์กรซึ่งกำกับดูแลกฎหมายการแข่งขันทางการค้าอยู่กับกรมการค้าภายในนั้นมีปัญหา เพราะกรรมการชุดเก่าไม่ได้มีความเชี่ยวชาญโดยตรง จึงอยากให้แยกออกมาเป็นอิสระ และมีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญในการบังคับใช้กฎหมาย

สันติชัยกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องรัฐวิสาหกิจนั้น เมื่อถูกยกเว้นจากพ.ร.บ.การแข่งขันนี้ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเอกชน ดังนั้นก็ต้องแก้ไขใน พ.ร.บ. ฉบับที่กำลังร่างอยู่นี้ เพราะเมื่อดูกฎหมายต่างประเทศส่วนใหญ่รัฐวิสาหกิจก็อยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่อาจจะมีข้อกำหนดยกเว้นให้แก่ “พฤติกรรม” ทางการค้าสำหรับรัฐวิสาหกิจที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการดำเนินการตามกฎหมายหรือตามคำสั่งของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ทั้งนี้ก็ได้พยายามที่จะสร้างกลไกการตลาดให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมอย่างเต็มที่และเน้นการแข่งขันที่เสรีอย่างแท้จริง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net