Skip to main content
sharethis

กรมทหารราบที่ 151 เปิดค่ายกัลยาณิวัฒนาจัดวงคุยโครงการพาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม นำผู้เห็นต่างกว่า 400 คนเข้าร่วมสะท้อนปัญหาให้รัฐฟัง พบมีข้อเสนอที่หลากหลาย ย้ำรัฐต้องจริงใจและให้ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยอย่างแท้จริง ฝ่ายภาคประชาสังคมชี้ ชี้การพูดคุยครั้งนี้คือจุดเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพระดับล่างจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสันติภาพในพื้นที่


18 มิ.ย. 2558 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ที่โรงยิมภายกองบังคับการกรมทหารราบที่ 151 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ต.กะลุวอ อ.เมือง จ.นราธิวาส พ.อ.สมเดช โยธา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 151 จัดโครงการ“เปิดค่ายกัลยานิวัฒนา พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม” เป็นโครงการพาคนกลับบ้านของกองอำนายการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) มีผู้เข้าโครงการพาคนกลับบ้านประมาณ 400 กว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่พำนักอยู่ฝั่งมาเลเซีย

โดยเป็นโครงการที่กอ.รมน.ภาค 4 สน.ต้องการพาคนที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ทั้งคนที่หนีหมายจับทั้งหลาย ได้แก่ หมายกฎอัยการศึก, หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และหมายจับ ป.วิอาญา รวมทั้งคนที่หวาดกลัว ระแวงหรือคิดว่าตัวเองถูกหมายจับ จึงหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน กลับมาอยู่กับครอบครัวที่บ้านในช่วงเดือนรอมฎอน

ทั้งนี้ภายในโรงยิมสถานที่จัดงาน ผู้จัดได้กำหนดที่นั่งออกเป็น 4 ส่วน แม้ว่าในขั้นตอนการลงทะเบียนและแจกบัตรคล้องคอให้แต่ละมีความสับสนอยู่บ้างก็ตาม

โดยที่นั่งบนอัฒจันทร์ด้านซ้ายเป็นที่นั่งของฝ่าย Party A ซึ่งหมายถึงฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนด้านฝั่งขวาเป็นที่นั่งของฝ่าย Party B ซึ่งหมายถึงผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมโครงการ ส่วนด้านหน้าเวทีเป็นที่นั่งของภาคประชาสังคม ผู้สังเกตการณ์และ O3 หรือฝ่ายที่สามซึ่งหมายถึงกลุ่มที่ทำหน้าที่ประสานงานกับผู้เห็นต่างที่อยู่ในฝั่งประเทศมาเลเซีย

ส่วนบนเวทีเป็นที่นั่งของตัวแทนนายกรัฐมนตรี มานั่งเป็นประธาน โดยมีพล.ท.นพวงศ์ สุรวิชัย แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และดาโต๊ะจากรัฐกลันตัน กับรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานีที่มาเป็นสักขีพยาน

ส่วนรูปแบบโครงการคือการให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบที่หลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านได้มาร่วมพูดคุยกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็น รับฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการได้กลับไปยังบ้านเกิดเพื่อร่วมประกอบศาสนกิจในเดือนรอมฎอน

สำหรับความเห็นหรือข้อเสนอของแต่ละฝ่ายที่มีนำเสนอในเวทีครั้งนี้ สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ บางส่วนได้ดังนี้

ข้อเสนอของ Party B.
1.รัฐต้องให้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยแก่ผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน เพราะที่ผ่านมาคนที่เข้าร่วมโครงการนี้ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุร้ายในหมู่บ้าน จะมีเจ้าหน้าที่รัฐไปที่บ้านทุกครั้ง ดังนั้นหากพวกเขาปลอดภัยก็จะมีคนต้องการเข้าร่วมอีกเยอะ

2.รัฐต้องจริงใจต่อการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้าน

3.อยากให้รัฐจัดโซนให้คนที่รัฐคิดว่าเป็นผู้ต้องสงสัยหรือคนรัฐหวาดระแวงได้ไปอยู่รวมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลพวกเขา

4.เจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบข้อมูลข่าวกรองให้รอบคอบที่สุด เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่คนมีความขัดแย้งส่วนตัว แต่กลับมีการรายงานว่าเป็นแนวร่วมพื้นที่ ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นแนวร่วม

5.รัฐต้องตรวจสอบคำซักทอดของผู้ที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเคยมีการซักถอดคนที่ไม่ได้เป็นแนวร่วม

6.หากโครงการพาคนกลับบ้านประสบผลสำเร็จจะทำให้คนที่อยู่ในประเทศมาเลเซียอีกมากจะเข้าร่วม เพราะไปลักลอบอยู่นานแล้ว และไม่มีทั้งบัตรประชาชนไทยและบัตรประชาชนมาเลเซีย

7.รัฐต้องให้การช่วยเหลือทางด้านอาชีพและให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนลูกๆ ของครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐ 3 ฝ่ายไม่รับรอง

8.คนที่อยู่ในมาเลเซียหลายคนอยากกลับบ้าน แต่รัฐต้องช่วยเหลือในเรื่องคดีและรับรองความปลอดภัย เพราะบางคนอยู่ในมาเลเซียอย่างลำบากมาก บางคนอยู่ในสวนยางพารา บางคนอยู่ในสวนปาล์ม

9.รัฐต้องสร้างเป็นธรรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดเวทีทางการเมืองให้ประชาชน รวมถึงยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่บังคับใช้ในพื้นที่ เพราะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิต่อประชาชนในพื้นที่
 

Party A.
1.เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของแม่ทัพภาคที่ 4 ในแนวทางการเมืองนำการทหารในการที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่

2.ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐพยายามดูแลคนที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านเป็นอย่างดี บางคนเจ้าหน้าที่รัฐดูแลจนได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการอบรมอาชีพต่างๆให้คนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้มีอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

3.งานข่าวกรอง ที่ผ่านมาเจ้าหน้ามีการตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้น และมีการตรวจสอบ DNA ด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาด

4.เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามหน้าที่ในพื้นที่ โดยที่จะไม่สร้างเงื่อนไขให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจ

5.ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้านที่มีหมายจับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) และหมายจับกฎอัยการศึก รวม 60 คน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐจะดำเนินการให้ศาลถอนหมายจับทั้งหมดหลังจากเดือนรอมฏอน ซึ่งเป็นหนึ่งขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่

6.ทาง อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานีได้เสนอว่า มีที่ดินสาธารณะจำนวน 70,000 ไร่ที่สามารถทำเป็นโซนนิ่งให้คนที่เข้าโครงการได้ไปเข้าไปอยู่อาศัยได้ หากระดับนโยบายเห็นด้วย
 

ฝ่ายองค์กรภาคประชาสังคม
1.อยากให้รัฐดำเนินการเยียวยาหรือให้ความช่วยเหลือกรณีที่ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญเสียชีวิตด้วย เพราะครอบครับเหล่านี้อยู่อย่างลำบาก

2.การพบปะครั้งนี้ ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากในการสร้างพื้นที่กลาง อีกทั้งถือเป็นกระบวนการสันติภาพระดับล่าง ที่มีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐเข้ามาร่วมด้วย รวมถึงเป็นการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพอีกด้วย และการเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการสันติภาพ

3.ปัญหาต่างๆ จากการสะท้อนฝ่าย Party B จะเป็นภาระของรัฐที่ต้องนำปรับปรุงและนำมาปฏิบัติต่อไป ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ได้แก้ปัญหาด้วยอาวุธ แต่แก้ปัญหาด้วยการพูดคุย ซึ่งในกระบวนการพูดคุยจำเป็นที่จะต้องใช้ความอดทน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net