บ.จอร์จี้ ใช้ ม.75 สหภาพรุดถกหวั่นปิดโรงงานหนี

บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ประกาศใช้ ม.75  หยุดกิจการบางส่วนชั่วคราว 1 เดือนระบุเศรษฐกิจตกต่ำ-คำสั่งซื้อลด สหภาพแรงงานรุดเข้าพูดคุย หวั่นย้ายวัตถุดิบไปแม่สอดปิดโรงงานหนี ด้านบริษัทรับปากหากจะปิดกิจการจะแจ้งล่วงหน้าก่อน 
 
17 มิ.ย. 2558 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์เปิดเผยว่า บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยระบุว่าบริษัทฯ กำลังประสบปัญหาคำสั่งซื้อสินค้าลดลงเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ ด้วยเหตุนี้บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องขอหยุดกิจการเป็นบางส่วนชั่วคราวเพื่อลดค่าใช้จ่ายและกำลังการผลิตลงให้สอดคล้องกัยสถานการณ์ โดยให้พนักงานจำนวน 76 คน หยุดงานชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2558 ถึงวันที่ 7 ก.ค. 2558 รวมระยะเวลา 30 วันตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 
ทั้งนี้หลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศใช้มาตรา 75 นั้น ทางสหภาพแรงงานได้ขอเข้าพูดคุยเจรจากับบริษัทฯ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่โดยได้ทำบันทึกข้อความสาระสำคัญของการพูดคุยกันดังนี้
 
ประเด็นการโยกย้ายสิ่งของ อุปกรณ์ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตไปยังโรงงาน อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทางสหภาพแรงงานฯ มีความเป็นห่วงว่าบริษัทฯ จะปิดกิจการในอนาคตนั้น ทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่าการย้ายสิ่งของและอุปกรณ์ดังกล่าว เป็นการย้ายเฉพาะอุปกรณ์โต๊ะตัด เนื่องจากปัจจุบันทางบริษัทฯ ไม่มีแผนกตัดแล้ว
 
ส่วนเรื่องการใช้มาตรา 75 นั้น พนักงานตรวจแรงงานได้ชี้แจงข้อกฎหมายให้กับทั้งสองฝ่ายให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน โดยตัวแทนสหภาพแรงงานฯ มีประเด็นปัญหาว่าเมื่อครบระยะเวลา 30 วัน ในการประกาศใช้ในครั้งนี้ไปแล้ว นายจ้างจะประกาศใช้มาตรา 75 อีกหรือไม่ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่ายังไม่สามารถให้คำตอบในขณะนี้ได้ เนื่องจากต้องประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับคำสั่งซื้อและปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ก่อน และหากต้องประกาศใช้มาตรา 75 ต่อไปอีกนั้นจะแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบก่อนไม่น้อยกว่า 3 วันตามกฎหมาย
 
ทั้งนี้บริษัทฯ ยังระบุว่าขณะที่ลูกจ้างหยุดงานตามมาตรา 75 นั้นก็สามารถไปสมัครงาน และเข้าทำงานกับบริษัทอื่นได้ ในส่วนของนายจ้างจะไม่ตัดสิทธิลูกจ้าง และถือว่ายังคงมีนิติสัมพันธ์การเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างต่อกันอยู่ และจะปฏิบัติตามกฎหมายประกันสังคมทุกประการ
 
ประเด็นสุดท้ายในการพูดคุยกันของทั้งสองฝ่าย บริษัทระบุว่าหากจะต้องปิดกิจการลง จะแจ้งให้ลูกจ้างทราบก่อนการปิดกิจการไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และจะปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานทุกประการ
 
 
 
 
เกี่ยวกับมาตรา 75 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 กำหนดว่า  “ ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ”
               
หลักเกณฑ์ที่ต้องนำมาใช้เกี่ยวกับการหยุดกิจการชั่วคราว คือ
 
-   มีเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการชั่วคราว
เหตุจำเป็น เช่น ประสบปัญหาด้านการเงิน การตลาด คำสั่งซื้อสินค้าลดลงมาก คำสั่งผลิตลดลง   ทำให้กระบวนการผลิตได้รับผลกระทบ หรือลดลง เป็นต้น หยุดกิจการชั่วคราว คือ การกำหนดวันหยุดปิดกิจการเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่งช่วงใด หรือหลายช่วงต่อเนื่องกัน 
 
-   การหยุดกิจการนั้นมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย
คำว่า “เหตุสุดวิสัย”หมายความว่า เหตุใด ๆ ที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ ทั้งจากผู้ประสบภัยเองหรือบุคคลใกล้เคียง แม้จะได้ระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในสภาวะเช่นนั้น อาทิเช่น  น้ำท่วม พายุเข้าแผ่นดินไหว ซึ่งนายจ้างไม่สามารถเตรียมการป้องกันล่วงหน้าได้ ทำให้บริษัท โรงงาน หรือสถานประกอบการได้รับความเสียหายและต้องปิดปรับปรุง ซ่อมแซม หรือเป็นเหตุให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ   ถือว่า เป็นสาเหตุมาจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างไม่อาจป้องกันได้ เหตุที่ต้องให้ลูกจ้างหยุดงานด้วยเหตุสุดวิสัย นายจ้างจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้าง เพราะถือว่าการจ่ายค่าจ้างด้งกล่าวตกเป็นเหตุพ้นวิสัยเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าจ้างในระหว่างปิดกิจการ
 
-   หยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน
หากเข้าองค์ประกอบเหตุที่ต้องหยุด นายจ้างสามารถกำหนดให้หยุดได้ แม้บางส่วน เช่น บางฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ เฉพาะฝ่ายผลิต หรือเฉพาะในส่วนออฟฟิศ หรือ ทั้งหมด ทั้งโรงงาน ก็ได้
 
-   จ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่ปิดกิจการไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้างปกติที่ลูกจ้างได้รับก่อนปิดกิจการชั่วคราว 
ก่อนปิดกิจการ ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเท่าใด ให้คำนวณจ่ายในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้าง ตลอดเวลาที่ให้ลูกจ้างหยุด ไม่ว่าพนักงานรายวันหรือรายเดือน  โดยสามารถคำนวณได้ตามประเภทของลูกจ้าง
 
-   แจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่าสามวันทำการ
การแจ้ง ต้องทำเป็นหนังสือ ระบุเหตุจำเป็น ผลกระทบ จำนวนลูกจ้างหรือ ฝ่าย หรือทั้งหมด ที่ต้องการให้หยุด กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนชัดเจน ระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุด แจ้งให้ลูกจ้างทราบ อาจเป็นประกาศและส่งสำเนาให้ หรือให้ลงชื่อรับทราบก็ได้ และต้องส่งให้พนักงานตรวจแรงงานพื้นที่ หรือพนักงานตรวจแรงงานจังหวัดทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าสามวันทำการ ก่อนเริ่มหยุดหรือปิดกิจการ
 
  
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท