เกาหลีใต้เริ่มทดลอง 'รักษาด้วยพลาสมา' หวังรักษา 'โรคเมอร์ส' ที่กำลังระบาด

หลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 150 ราย ในเกาหลีใต้ ทางการเกาหลีใต้เริ่มพยายามต่อสู้กับโรคระบาดจากเชื้อไวรัส 'เมอร์สคอฟ' ด้วยการทดลองรักษาด้วยการถ่ายเลือดหรือของเหลวจากเลือดที่เรียกว่าพลาสมาจากตัวผู้ป่วยที่สามารถฟื้นตัวจากโรคได้ให้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ

16 มิ.ย. 2558 จากกรณีการระบาดของโรคเมอร์ส (Mers) ในเกาหลีใต้ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 19 ราย สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่ารัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มทำการทดลอง "การรักษาด้วยพลาสมา" แล้ว

การรักษาด้วยพลาสมาซึ่งหมายถึงของเหลวส่วนประกอบของเลือดเป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ดีในการรักษาโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคอีโบลา มีวิธีการคือการให้เลือดของผู้ป่วยรายอื่นที่สามารถหายจากการติดเชื้อชนิดเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการรับรองผลที่แน่ชัด แต่ในกรณีของอีโบลามีบางรายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้แล้วได้ผล

"การถ่ายพลาสมาของเลือดไม่ใช่วิธีการรักษาที่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ แต่ก็มักจะนำมาใช้เวลาที่วิธีการรักษาแบบอื่นไม่ได้ผล ...ซึ่งมีการกระทำโดยการยินยอมของผู้บริจาคเลือดและผู้รับบริจาค" เจ้าหน้าที่ศูนย์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยฮัลลีมกล่าว

บีบีซีรายงานอีกว่ามีผู้ติดโรคเมอร์สในเกาหลีใต้มากกว่า 150 รายแล้ว นอกจากนี้ในประเทศเยอรมนีมีรายงานผู้เสียชีวิตรายแรกจากโรคเมอร์สเป็นชายวัย 65 ปี เสียชีวิตในคลินิกเมืองออสนาบรึค ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเยอรมนี

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเกาหลีใต้กล่าวว่ามีโรงพยาบาลสองแห่งในเกาหลีใต้เริ่มทดลองการรักษาด้วยพลาสมาแล้ว แม้ว่าจะมีรายงานกรณีผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 4 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ในวันอังคาร แต่ทางการเกาหลีใต้ก็เน้นย้ำว่ามีกรณีใหม่เกิดขึ้นในจำนวนน้อยลง

อย่างไรก็ตามยังคงมีความรู้สึกหวาดกลัวและมีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ในหมู่ประชาชนชาวเกาหลีใต้ เช่นกรณีที่คนทำงานสาธารณสุขพ่นสเปรย์ป้องกันการติดเชื้อในห้องคาราโอเกะและในร้านอื่นๆ หรือกรณีที่ครูพากันโรยเกลือตามพื้นเพราะคิดว่าจะเป็นการป้องกันโรคได้ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด

โรคเมอร์สเกิดจากไวรัสจำพวกโคโรนาที่ชื่อเมอร์สคอฟ (Mers-CoV) เชื้อไวรัสเมอร์สคอฟจะติดต่อโดยส่งผ่านจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่นผ่านทางการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะติดต่อผ่านการไอและจาม ผู้เป็นโรคเมอร์สจะมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดใหญ่ เช่นมีไข้ มีอาการไอ หรือมีการหายใจลำบาก ระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งมีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

ในปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบวิธีการรักษาที่แน่ชัดและยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเมอร์ส จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยโรคเมอร์สราวร้อยละ 36 เสียชีวิต

วิธีการรักษาด้วยพลาสมาหรือด้วยเลือดของผู้ที่ฟื้นฟูตนเองได้เคยถูกนำมาใช้ช่วงอีโบลาระบาดเนื่องจากหวังว่าจะมีสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า "แอนติบอดี้" อยู่ในเลือดของผู้ป่วยที่หายจากโรคได้

เมื่อนานมาแล้วนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าวิธีการรักษาด้วยพลาสมาสามารถรักษาโรคอย่างโรคคอตีบ และบาดทะยัก รวมถึงมีการใช้รักษาโรคคางทูม โรคหัด โรคปอดบวม แต่ก็มีการใช้วิธีนี้ลดลงหลังจากมีการพัฒนายาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส และวัคซีน

 

เรียบเรียงจาก

South Korea begins plasma treatment trial for Mers, BBC, 16-06-2015
http://www.bbc.com/news/health-33146828

South Korean officials go on offensive against MERS: Plasma trial begins, stimulus considered, Washington Post, 16-06-2015
http://www.washingtonpost.com/news/to-your-health/wp/2015/06/16/south-korean-officials-go-on-offensive-against-mers-plasma-trial-begins-stimulus-considered/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

First trials of blood-based Ebola therapy kick off, Nature,  15-12-2014
http://www.nature.com/news/first-trials-of-blood-based-ebola-therapy-kick-off-1.16564

Ebola raises profile of blood-based therapy, Nature, 23-12-2015
http://www.nature.com/news/ebola-raises-profile-of-blood-based-therapy-1.16625

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท