Skip to main content
sharethis

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอแจงงานวิจัย พบสิทธิสุขภาพมีความเหลื่อมล้ำสูง ระบุผู้ป่วยสิทธิข้าราชการอายุยืน ไม่ใช่ข้อสรุปบัตรทองไร้คุณภาพ แต่มีปัจจัยอื่นเหนือกว่า เช่น รายได้ บำนาญ สวัสดิการที่ทั่วถึงกว่า ชี้เน้นช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ

16 มิ.ย.2558 วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้แจงถึงกรณีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับงานวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ซึ่งนำไปสู่การโจมตีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า งานวิจัยดังกล่าวใช้ข้อมูลผู้ป่วยในจาก สปสช. และกรมบัญชีกลาง โดยผู้ป่วยในเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรังโรคใดโรคหนึ่งจาก 5 โรค คือ ความดันโลหิตสูง หลอดเลือด เบาหวาน มะเร็ง และหัวใจ หรือเป็นหลายโรคในกลุ่มเดียวกันนี้

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอกล่าวว่า การวิจัยได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายปีสุดท้ายก่อนตายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และพบว่า มีความเหลื่อมล้ำสูงมากในผู้ป่วยที่มีสิทธิสุขภาพต่างกัน ทั้งที่เป็นโรคในกลุ่มเดียวกัน โดยพบว่า ข้าราชการมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าประชาชนทั่วไป แต่มีค่าใช้จ่ายมากกว่าถึง 13% ทั้งนี้ การที่อายุเฉลี่ยของข้าราชการยืนยาวกว่า อาจจะมีปัจจัยอื่นๆ มาอธิบายได้ด้วย นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาล เช่น มีอาชีพที่เป็นพิษภัยกับสุขภาพต่ำกว่า มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพส่วนตัวมากกว่า มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยในที่เป็นประชาชนทั่วไป มีอาการของโรครุนแรงกว่าเมื่อเข้ารับการรักษาในช่วงปีสุดท้ายก่อนตาย และมีบางรายที่เข้ารับการรักษาเป็นครั้งแรกในช่วง 5 ปีก่อนตาย ซึ่งอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการรอดต่ำเมื่อเข้ารับการรักษา ขณะที่ข้าราชการมีการเข้าถึงสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึงกว่า

ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอกล่าวว่า การที่ข้าราชการซึ่งมีรายได้สูงกว่า และมีบำเหน็จบำนาญ ทำให้มีความสามารถในการเดินทางมารักษาได้ดีกว่าประชาชนทั่วไป ดังนั้น ผลจากงานวิจัยที่ระบุว่า สิทธิข้าราชการมีอัตราการตายต่ำกว่าสิทธิอื่นนั้น ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลได้ว่า เป็นเพราะสิทธิอื่น ซึ่งหมายถึงหลักประกันสุขภาพที่ สปสช.ดูแลอยู่นั้น มีการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือที่มีการนำงานวิจัยไปอ้างว่า เป็นเพราะการรักษาแบบเหมาโหลทำให้ผู้ป่วยบัตรทองตายมากกว่าสิทธิข้าราชการนั้น ก็เป็นการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ไม่ถูกต้อง เนื่องจากต้องคำนึงถึงตัวแปรหรือปัจจัยอื่นๆ อีกมาก เรียกได้ว่าการเอางานวิจัยนี้ไปอ้างเพื่อสรุปผลบางอย่างนั้น เป็นการบีบบังคับข้อมูลที่มีอยู่เล็กน้อยให้ตอบคำถามที่มากเกินไป

“ข้อมูลของ สปสช. และกรมบัญชีกลาง ทำให้การวิจัยสามารถวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำของการได้รับการรักษาของประชาชนได้ ทั้งนี้ก่อนที่ประเทศไทยจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น การเก็บข้อมูลไม่ค่อยสมบูรณ์นัก ทำให้การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำนี้จะกระทำมิได้เลย ดังนั้น การจะเปรียบเทียบว่าก่อนมีประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความเหลื่อมล้ำหรือความเป็นธรรมทางสุขภาพเป็นอย่างไร เราไม่ทราบ มันอาจจะแย่กว่านี้หรือดีกว่านี้ เราไม่สามารถสรุปได้ สิ่งที่ได้จากงานวิจัยนี้คือ การวิจัยเพื่อพัฒนา เราน่าจะมาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรต่อไปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนี้ให้ค่อยแคบลงเรื่อยๆ จะดีกว่า” ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net