Skip to main content
sharethis

หลังจากการประท้วง "ยึดครองย่านใจกลาง" ทางการฮ่องกงจับกุมนักกิจกรรมที่แสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตแล้ว 9 รายโดยอ้างกฎหมายคอมพิวเตอร์มาตรา 161 ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการจงใจใช้กฎหมายนี้ปิดกั้นความคิดเห็นของฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย


16 มิ.ย. 2558 เว็บไซต์เดอะดิปโพลแมตรายงานว่านับตั้งแต่ขบวนการประท้วงในฮ่องกงเมื่อช่วงปีที่แล้วฝ่ายทางการได้อ้างใช้กฎหมายควบคุมอินเทอร์เน็ตที่มีข้อบกพร่องในการจับกุมนักกิจกรรมทางโซเชียลมีเดียหลายรายซึ่งถือเป็นเรื่องน่ากังวล

จากรายงานความโปร่งใสของฮ่องกงโดยศูนย์สื่อและวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า นับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557 มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 9 รายถูกจับกุมจากการโพสต์ข้อความบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งทั้ง 9 คนล้วนถูกตั้งข้อหาโดยอ้างกฎหมาย "การใช้คอมพิวเตอร์ด้วยเจตนาส่อไปในทางอาชญากรรมหรือทุจริต" ซึ่งมี 3 รายถูกลงโทษให้ทำงานเพื่อชุมชนหรือเข้าศูนย์ปรับทัศนคติ

เดอะดิปโพลแมตยกตัวอย่างกรณีของผู้นำกลุ่มพีเพิลพาวเวอร์ที่ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาว่าทำการโพสต์เฟซบุ๊ก "ในเชิงยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำการผิดกฎหมาย" ก่อนที่ต่อมาจะได้รับการประกันตัวซึ่งมีการตั้งสมมติฐานว่าเขาถูกจับกุมเพื่อเป็นการเตือนไม่ให้เข้าร่วมรำลึกเหตุการณ์ปราบผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในวันที่ 4 มิ.ย. รวมถึงไม่ให้เขาร่วมการโหวตปฏิรูปการเมืองของสภาฮ่องกงและการเดินขบวนวันที่ 1 ก.ค. ที่จะถึงนี้

อีกกรณีหนึ่งคือการจับกุมแบร์รี หม่า (Barry Ma) ประธานกลุ่มออร์คิดการ์เดนนิงที่สนับสนุนให้ฮ่องกงแยกตัวออกจากจีนซึ่งโพสต์ข้อความในเชิงรุนแรง แต่อิริค เจิง (Eric Cheung) นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า ถ้าตำรวจเชื่อว่า แบร์รี หม่า ทำผิดคดีอาญาจากการข่มขู่ แบร์รี หม่าก็ควรจะถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาข่มขู่คุกคามแทนที่จะเป็นกฎหมายอาญาฮ่องกงมาตรา 161 ว่าด้วยการกระทำผิดด้วยคอมพิวเตอร์ อิริค เจิงระบุว่า จากตรรกะของตำรวจ หากมีใครพูดแสดงความเห็นแบบเดียวกับที่แบร์รี หม่าทำนอกอินเทอร์เน็ต เขาก็จะไม่ถูกจับ ซึ่งถือเป็นตรรกะที่ไม่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ กฎหมายอาญาฮ่องกงมาตรา 161 ว่าด้วย "การใช้คอมพิวเตอร์ด้วยเจตนาส่อไปในทางอาชญากรรมหรือทุจริต" ระบุว่าผู้ใดก็ตามที่เข้าถึงคอมพิวเตอร์ด้วยเจตนากระทำความผิด ด้วยเจตนาทุจริตหลอกลวง ด้วยมุมมองที่ต้องการหาผลประโยชน์ในทางทุจริต หรือด้วยเจตจำนงทุจริตที่สร้างความสูญเสียต่อผู้อื่น ผู้กระทำความผิดมีโอกาสต้องโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

นักวิจารณ์หลายคนมองว่าทางการกำลังใช้ประโยชน์จากความคลุมเครือของกฎหมายอาญามาตรา 161 นี้เพื่อเป็นการลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของนักกิจกรรมทางการเมืองบนอินเทอร์เน็ต ที่พวกเขามองเช่นนี้เนื่องจากกฎหมาย 161 มักจะถูกนำมาใช้อย่างไม่ได้มาตรฐาน

เจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกงมีการจับตามองนักกิจกรรมในโลกออนไลน์มากขึ้นเนื่องจากโซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญในขบวนการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2557 โจชัวร์ หว่อง ผู้นำนักศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการประท้วงครั้งนั้นก็ยอมรับว่าโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กทำให้การประท้วงเกิดขึ้นได้

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมา ส.ส. ในฮ่องกงมีการอภิปรายว่ากฎหมาย 161 ถูกรัฐบาลนำมาใช้เพื่อจงใจตั้งเป้าหมายกับกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ โดยส.ส. ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงกฎหมาย 161 เพื่อคุ้มครองไม่ให้ประชาชนถูกจับกุมหรือดำเนินคดีโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ ทางด้าน ส.ส.ฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้อ้างว่า กฎหมาย 161 ของฮ่องกงไม่ได้ตั้งเป้าหมายต่อการแสดงความคิดเห็นแต่ตั้งเป้าหมายต่อพฤติกรรม และพวกเขาเชื่อว่าศาลจะไม่ใช้กฎหมาย 161 ในทางที่ผิด

แต่ ชาร์ลส์ ม็อก ส.ส. และนักรณรงค์ด้านไอทีก็กล่าวว่ามีการใช้กฎหมายนี้แบบ "สองมาตรฐาน" เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 มีอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงข่มขู่คุกคามทางเพศต่อนักศึกษาผู้สนับสนุนประชาธิปไตยชื่อ คริสตินา ชาน บนเว็บบอร์ดตำรวจท้องถิ่นแต่ก็ไม่มีการทำคดีนี้

"กฎหมายมาตรา 161 แสดงให้เห็นวิธีการที่ไม่เป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจและพวกเขากำลังทำลายความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพของตัวเอง" เคร็ก ชอย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายจากกลุ่มขับเคลื่อนในระดับรากหญ้าชื่อ 'คีย์บอร์ดฟรอนต์ไลน์' กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Hong Kong’s Activist Social Media Culture Under Threat, Jennifer Zhang, The Diplomat, 14-06-2015
http://thediplomat.com/2015/06/hong-kongs-activist-social-media-culture-under-threat/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

เว็บไซต์กฎหมายฮ่องกง โดย กระทรวงยุติธรรม
http://www.legislation.gov.hk/blis_ind.nsf/fb2d3fd8a4e2a3264825647c0030a9e1/aabf383866751ea5c825648300322823?OpenDocument

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net