สถาบันคีนันฯ ถอดบทเรียน HARAPAN KAMPONG พบเป็นเครื่องมือเชื่อมนักเรียน ครู ผู้นำชุมชน

สถาบันคีนันแห่งเอเชียถอดบทเรียน 3 ปี โครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบ HARAPAN KAMPONG เริ่มจากสร้างความไว้ใจ พัฒนาศักยภาพการสื่อสาร สู่การทำแผนที่ชุมชน กลายเป็นตัวเชื่อมนักเรียน ครูและผู้นำชุมชนให้คุยเรื่องเดียวกันได้ นักเรียนกล้าแสดงความเห็นอย่างมีเหตุผล รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แนะควรให้อยู่ในหลักสูตรโรงเรียน

ระหว่างวันที่ 12-13 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา สถาบันคีนันแห่งเอเชียร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดประชุมถอดบทเรียนโครงการพัฒนาเยาวชนต้นแบบเติมความหวังสู่สังคม HARAPAN KAMPONG (HAKAM) ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาจากโรงเรียนเป้าหมาย มีการแสดงผลงานนักเรียนและการเสวนาเพื่อค้นหาปัจจัยสู่ความสำเร็จและก้าวต่อไปของโครงการ HAKAM

โครงการ HAKAM เป็นโครงการที่สถาบันคีนันเอเชียร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานีจัดอบรมนักเรียนทำแผนที่ชุมชนเพื่อสื่อเรื่องราวที่มีอยู่ในชุมชนนำเสนอต่อคนภายนอก เรียนรู้กระบวนการสื่อสารผ่านเรื่องเล่าโดยใช้แผนที่ชุมชนเป็นจิตภาพในการสร้างชุมชน โดยมี 6 โรงเรียนนำร่องที่เป็นโรงเรียนมัธยมของรัฐในจังหวัดปัตตานี

นายฟาเดล หะยียามา เจ้าหน้าที่สถาบันคีนันแห่งเอเชีย นำเสนอผลการดำเนินงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่า ปีแรกมีอุปสรรคในเรื่องความไม่ไว้ใจจากโรงเรียนและชุมชนเป้าหมายต่อโครงการนี้ ดังนั้นในปีแรกจึงเน้นไปที่กระบวนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นส่วนใหญ่

นายฟาเดล นำเสนอต่อไปว่า ปีที่ 2 เมื่อมีความไว้ใจกันมากขึ้นทำให้กิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี กระบวนการหลักๆ ในปีที่ 2 จึงเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพทั้งนักเรียน ครู และผู้นำชุมชน โดยเน้นเรื่องการสื่อสารเป็นหลัก

“ทางโครงการได้เชิญผู้ชำนาญการด้านการสื่อสารมาให้ความรู้ อาทิ นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และอาจารย์สมัชชา นิลปัทม์ อาจารณ์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร เป็นต้น” นายฟาเดล กล่าว

นายฟาเดล นำเสนอต่อไปว่า ในปีที่ 3 เห็นได้ชัดถึงการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ที่โดดเด่นมาก โดยแต่ละโรงเรียนมีโครงการหลักๆ ปีละ 1 โครงการ รวมระยะเวลา 3 ปี แต่ละโรงเรียนจะมีกิจกรรมหลักๆ 3 กิจกรรม ที่เด่นๆ ได้แก่ การทำแผนที่ชุมชนโดยนักเรียน ซึ่งสามารถระบุสถานที่ต่างๆในชุมชนของตนเองอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

“ที่สำคัญแผนที่ชุมชนนี้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเชื่อมต่อระหว่างนักเรียน ครู และผู้นำชุมชน เพราะหากนักเรียนทำแผนที่ผิด ครูหรือผู้นำชุมชนจะมาช่วยกันแนะนำข้อมูลต่างๆ ให้นักเรียน ทำให้ทั้ง 3 ฝ่าย สามารถคุยในเรื่องเดียวกันได้ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่สนุกและเป็นเรื่องที่ดีที่เกิดขึ้นในชุมชน” นายฟาเดล กล่าว

นายฟาเดล นำเสนอต่อไปว่า ส่วนการแบ่งกลุ่มย่อย 6 กลุ่มตามโรงเรียนเป้าหมาย ได้แก่ โรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร อ.สายบุรี โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ อ.ยะหริ่ง โรงเรียนปทุมคงคาอนุสรณ์ อ.หนองจิก โรงเรียนยาบีบรรณวิทย์ อ.หนองจิก โรงเรียนสะนอพิทยาคม อ.ยะรัง และโรงเรียนราชมุนีรังสฤษฎ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

“ทุกกลุ่มพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก และอยากให้จัดโครงการนี้ต่อไป เพราะทำให้เด็กนักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มีเหตุมีผลมากขึ้น รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญทำให้นักเรียน ครู และผู้นำชุมชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น” นายฟาเดล กล่าว

นายฟาเดล นำเสนอปิดท้ายว่า ทว่าอุปสรรคใหญ่ที่ทุกโรงเรียนพูดถึงก็คือเรื่องของ “เวลา” ที่ทั้งนักเรียน ครู และผู้นำชุมชนมีเวลาว่างไม่ค่อยตรงกัน จึงมีข้อเสนอจากบางกลุ่มว่าหากจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปในจังหวัดอื่นๆ ทางผู้จัดควรพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อจะได้กำหนดให้โครงการนี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน เป็นต้น

ดร.สายสวรรค์ วัฒนพานิช กรรมการที่ปรึกษาโครงการ HAKAMกล่าวว่า การพัฒนาเยาวชนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการพัฒนาเยาวชนจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนได้ ที่สำคัญต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของโครงการตลอดระยะเวลา 3 ปี และบทเรียนที่ได้จากโครงการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขยายผลโครงการต่อไปในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท