Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้มีโอกาสไปฟังและแลกเปลี่ยนกับชาวบ้านบ้านทุ่งป่าคา จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ถูกจับในกรณีครอบครองไม้ผิดกฏหมาย (ตัดไม้สัก) ในเวทีเสวนาหัวข้อ “บทเรียนทุ่งป่าคา สู่การปฏิรูประบบยุติธรรมในสังคมไทย” ที่จัดโดย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.), คณะเยซูอิต สวนเจ็ดริน, เครือข่ายพระสงฆ์ และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ

ชาวบ้านทุ่งป่าคาที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่ตัดไม้จำนวนเล็กน้อยเพื่อปลูกบ้าน บางรายถูกโหมประโคมข่าวว่ามีไม้สักสี่ท่อน ซึ่งหากเอาสี่ท่อนมาต่อกันก็เป็นเพียงหนึ่งต้น และเป็นไม้สักหัวไร่ปลายนา แน่นอนว่าในพื้นที่มีกระบวนการตัดไม้สักล่องแม่น้ำสาละวินอยู่จริง  แต่ไม้ที่ถูกตัดมากมายเหล่านั้นถูกขนย้ายผ่านด่านเจ้าหน้าที่ไปได้อย่างไรไม่ทราบ จนไม่เหลือเป็นหลักฐาน  แต่กระบวนทำลายป่าตัวจริงกลุ่มนี้รอดพ้นเงื้อมมือกฏหมายไป โดยมีชาวบ้านบ้านป่าคาเป็น “ แพะรับบาป” ไปแทน  เพราะทำให้สังคมรู้สึกเหมือนว่าจับคนตัดไม้ได้แล้ว ก็คงไม่มีใครตัดอีกแล้ว (ฮา)

ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ว่าประเด็นการนำเสนอ “คนอยู่ร่วมกับป่า” ถูกละเมิดโดยรัฐอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ชาวบ้านได้ต่อสู้/ต่อรองเรื่องนี้มาเป็นเวลามากกว่าสามสิบปีและได้เสนอกรอบคิดเกี่ยวกับ “ สิทธิชุมชน” ให้แก่สังคมได้ในระดับก้าวหน้ามากแล้ว องค์พระประมุขของชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงเคยมีพระบรมราโชวาทที่เน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้ในหลายวโรกาส

แต่ทำไม การ “บุกรุก” ชาวบ้านเช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีก และมีท่าทีที่จะขยายออกไปกว้างขวางมากขึ้น ดังที่รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้ที่มาจากคณะทหาร/รัฐประหาร ประกาศนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าอย่างแข็งกร้าว

คำตอบว่าทำไมต้อง “บุกรุก” ชาวบ้าน ก็เพราะ เป็นกิจกรรมการสร้าง “ ความชอบธรรม” ให้แก่การรัฐประหาร

คณะรัฐประหารรู้ตัวดีกว่าตนเองไม่มีความชอบธรรมในการยึดอำนาจ จึงพยายามสร้างความชอบธรรมให้ได้  และความชอบธรรมหนึ่งที่ต้องหลังการรัฐประหารทุกครั้ง ได้แก่ การแสดงตัวเป็น “ผู้ปกป้อง” ทรัพยากรธรรมชาติ  (ทุกครั้งเลยนะครับ การรัฐประหารปี ๒๕๓๔ ก็เกิดโครงการ คจก. เป็นต้น)

ความชอบธรรมนี้เป็นการแสดงเพื่อให้ “ ชนชั้นกลาง”ในเมืองยอมรับการรัฐประหารว่าได้ทำสิ่งที่ดีงามให้แก่สังคม ด้วยการรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้  (เห็นไหมแม้ว่าฉันมาไม่ถูกต้อง  แต่ฉันได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง  ซึ่งไอ้พวกบรรดานักการเมืองทำไม่ได้  ฮา)  ดังจะเห็นได้ว่าชนชั้นกลางในเมืองเงียบกริบในเรื่องนี้  ซึ่งหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชนชั้นกลางในเมืองจำนวนหนึ่งก็จะเลือกมาอยู่กับชาวบ้าน

การสร้างความชอบธรรมนี้สำเร็จได้บนฐานความ “ไม่รู้เรื่อง” ของชนชั้นกลางในเมือง  การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมในวิธีคิดชนชั้นกลางไทย คือ “ เขียวอย่างเดียวไม่มีคน” ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ล้าสมัยไปเนิ่นนาน  การเดินขบวนเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อระงับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในช่วงรัฐบาลก่อน แม้ว่าจะมีส่วนผสมของการคิดถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านอยู่แต่ก็ไม่สามารถซึมลึกลงไปเปลี่ยนวิธีคิดวิธีรู้สึกของชนชั้นกลางในเมือง

ความพยายามสร้างความชอบธรรมของคณะรัฐประหารนี้  จึงเป็นการทำลายหลักการข้อตกลงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวบ้านที่ดำเนินมากว่าสามทศวรรษลงอย่างสิ้นเชิง ในการประชุมที่กล่าวข้างต้น อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สองท่านได้กล่าวว่าพวกเขาได้ต่อสู้กับปัญหามานี้จนหัวหงอกแล้ว แต่ปัญหาก็กลับมาซ้ำรอยเดิมเหมือนตอนพวกเขายังหัวดำกันอยู่

การทำลายหลักการข้อตกลงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับชาวบ้านเช่นนี้เป็นเพียงความปรารถนาที่จะครองอำนาจโดยให้มีแรงต่อต้านน้อยที่สุด  โดยเฉพาะเรงต่อต้านจากชนชั้นกลางในเมือง  แต่ความชอบธรรมทางการเมืองนี้กลับเป็นการทำลายรากฐานหลักการการปกครองโดยนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง  แน่นอนว่า แค่การรัฐประหารก็เลวร้ายมากแล้ว แต่การกระทำต่างๆหลังการรัฐประหารยิ่งทำลายสังคมมากขึ้นไปอีก

การสร้างความชอบธรรมบนคราบน้ำตาของชาวบ้านที่กำลังระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง จึงไม่ใช่ปฏิบัติการณ์เพื่อรักษา “สิ่งแวดล้อม” อย่างที่ชนชั้นกลางในเมืองเลือกเชื่อทหาร   หากแต่เป็นกระบวนการทำลายพันธะสัญญาระหว่างรัฐกับสังคมอย่างรุนแรงและลึกซึ้ง

น่าตกใจ ที่คณะรัฐประหารและชนชั้นกลางในเมือง “ไม่ฉลาดพอ” ที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมและมองไม่เห็นความสำคัญของพันธะสัญญาของสังคมเช่นนี้  

ในทางกลับกัน  การสร้างความชอบธรรมนี้จะกลับเป็นผลร้ายแก่คณะรัฐประหาร หากมีช่องโหว่ที่ชนชั้นกลางในเมืองเห็นว่าคนรวย/นายทุนรุกที่ป่าไม่ถูกจับ (ดังที่นักการเมืองชื่อดังหยิบมาเล่นในเฟสบุ๊คของตน) เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว คณะรัฐประหารก็ไม่กล้าที่จะแตะการรุกป่าของบรรดาชนชั้นนำทั้งหลาย  ตัวอย่างเขายายเที่ยงก็แสดงให้เห็นว่าหากมีอำนาจก็จะรอดพ้นความผิด  กรณีชนชั้นนำหลุดจากความผิดแบบเดียวกันกับชาวบ้านจะปรากฏขึ้นอีกอย่างแน่นอนครับ

ข้อเสนอที่ดีที่สุดในวันนี้ คือ  “หยุดการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองบนคราบน้ำตาของชาวบ้าน” โดยทันทีครับ  ลองคิดจัดการประชุมระดมความเห็นจากทุกๆฝ่ายเพื่อแสวงหาทางการดำเนินกิจกรรมความชอบธรรมใหม่จะดีกว่า และจะมีโอกาสสร้างบรรทัดฐานบางอย่างที่ดีกว่าขึ้นมาได้

หากไม่ฟังชาวบ้านและติดตามความก้าวหน้าของความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม และทำอะไรต่อไปแบบ  “โง่และมักง่าย” แบบนี้ก็คงจะบอกว่าประวัติศาสตร์จะจารึกคณะรัฐประหารชุดนี้ไว้อย่างที่พวกท่านคิดไม่ถึงครับ

เราเตือนคุณแล้วนะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net