Skip to main content
sharethis

แชนดรา โบเซลโก นักเขียนผู้บันทึกเรื่องราวชีวิตในคุกของตัวเองเขียนบทความลงในเว็บไซต์เดอะการ์เดียน ระบุว่าเรือนจำที่ไม่ให้ผ้าอนามัยแก่ผู้หญิงถือเป็นการข่มเหงเกียรติสตรีและเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน

15 มิ.ย. 2558 โบเซลโก นักโทษที่เคยอยู่ในทัณฑสถานยอร์กในรัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 ปี ระบุว่าถึงแม้ในภาพยนตร์ซีรีส์เกี่ยวกับชีวิตในทัณฑสถานหญิงอย่างเรื่อง Orange Is the New Black จะเคยนำเสนอฉากตลกๆ อย่างการที่ตัวละครเอาผ้าอนามัยมาทำเป็นรองเท้าชั่วคราวหรือจากประสบการณ์ของตัวเธอเองที่เคยเอาผ้าอนามัยที่แจกในเรือนจำมาใช้แทนอุปกรณ์ขัดทำความสะอาดห้องขังของเธอเอง แต่เธอก็ไม่อยากให้คิดว่าคนในเรือนจำจะได้รับผ้าอนามัยมาง่ายๆ

โบเซลโก เล่าถึงประสบการณ์ในทัณฑสถานยอร์กที่เธอเคยอยู่ ผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ร่วมห้องขัง 2 คน จะได้รับผ้าอนามัย 5 ชิ้นต่อ 1 สัปดาห์เอาไปแบ่งกัน โดยไม่มีใครรู้ว่าจะนำชิ้นที่ 5 ไปแบ่งกันอย่างไรหรือทำอะไรกับมัน โดยรวมแล้วพวกเธอจะได้ผ้าอนามัยราว 10 ชิ้นต่อเดือน หมายความว่าจะสามารถเปลี่ยนได้เฉลี่ย 1 ครั้งในช่วงที่มีประจำเดือนประมาณ 5 วัน

สิ่งที่โบเซลโกต้องการตำหนิเกี่ยวกับผ้าอนามัยในเรือนจำคือมันมีแต่แบบที่ "ไม่มีปีก" และมีกาวติดที่อยู่แค่ระดับพอใช้ ทำให้ถ้าหากมีคนสวมผ้าอนามัยติดต่อกันนานๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอันใหม่จะทำให้มีเหตุการณ์หลุดร่วง ถึงขั้นเคยมีการหลุดผ่านกางเกงผู้ต้องขังให้เห็นต่อหน้าฝูงชน ส่วนตัวเธอรอดจากกรณีผ้าอนามัยหลุดมาได้เพราะเธอซื้อผ้าอนามัยเพิ่มแล้วนำมาเย็บติดกัน 6 ชั้นเพื่อให้มันใหญ่พอที่จะไม่หลุดผ่านกางเกงไปได้ เรื่องนี้ทำให้เธอตั้งคำถามว่าผ้าอนามัยที่ได้รับในเรือนจำเพียงพอหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าเธอจะสามารถแก้ปัญหาได้แต่ผู้ต้องขังร้อยละ 80 ไม่มีเงินมากพอจะซื้อจากที่จ่ายเสบียง นอกจากนี้ยังมีบางกรณีที่ผ้าอนามัยที่จ่ายเสบียงหมดจนไม่สามารถซื้อได้

ไม่เพียงแค่ในรัฐคอนเนคทิคัตเท่านั้น โบเซลโกระบุว่าเคยมีกรณีที่องค์กรด้านสิทธิพลเรือนเป็นตัวแทนผู้ต้องขังรัฐมิชิแกนฟ้องร้องทัณฑสถานกรณีมีผ้าอนามัยอยู่น้อยมากโดยถือเป็นการละเมิดสิทธิพลเรือน มีกรณีที่ผู้หญิงรายหนึ่งมีประจำเดือนเปื้อนชุดเครื่องแบบนักโทษจนทำให้เธอถูกจับถอดเสื้อตรวจแล้วหลังจากนั้นก็ให้ใส่ชุดจัมป์สูทเปื้อนๆ

โบเซลโกตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องการทำให้มีของเกี่ยวกับสุขอนามัยให้ใช้ในปริมาณน้อยในคุกไม่ใช่แค่เรื่องการเงินแต่เพียงอย่างเดียว แต่การทำให้นักโทษต้องสวมชุดเปื้อนๆ เป็นการทำลายความเคารพในตัวเองของพวกเขาย้ำเตือนถึงความไร้พลังอำนาจของพวกเขา ในขณะที่การขอบางสิ่งบางอย่างก็ทำให้เกิดอำนาจจากความแตกต่างทั้งจากนักโทษด้วยกันเองและจากผู้คุมซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะทำตามคำขอหรือปฏิเสธพวกเขาก็ได้

"การต้องขอผ้าอนามัยแบบสอดจากผู้คุมที่ดูมีความเป็นชายสูงถือเป็นเรื่องชวนให้รู้สึกถูกหยามศักดิ์ศรี แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือมันเป็นการยอมรับว่าถึงที่สุดแล้วผู้คุมเรือนจำก็เป็นคนควบคุมทั้งเรื่องความสะอาดของคุณ สุขภาวะของคุณ และความรู้สึกเคารพในตัวเองของคุณ" โบเซลโกระบุในบทความ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ผู้คุมไม่ชอบให้นักโทษหญิงเอาผ้าอนามัยไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนการรองรับประจำเดือน เช่นใช้เป็นตัวอุดกั้นระหว่างเตียงโยกๆ ไม่ให้เกิดเสียงดังเมื่อมันกระทบกับซีเมนต์ทุกครั้งที่คนนอนขยับตัว หรือใช้เป็น "แผ่นเจลชดเชย" ใส่ในรองเท้าทำงานที่สวมใส่ไม่สบาย ซึ่งโบเซลโกระบุว่าทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำไปเพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเธอทั้งสิ้น

ถึงแม้จะมีข้อถกเถียงว่านักโทษไม่ควรจะได้รับความสะดวกสบาย แต่โบเซลโกระบุว่าการเข้าถึงผ้าอนามัยถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับสิทธิในการเข้าถึงห้องสุขาและกระดาษชำระ ผู้หญิงก็ควรจะได้รับสิทธิในการรักษาศักดิ์ศรีของพวกเธอในช่วงที่มีประจำเดือนด้วย

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net