Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อาจจะกล่าวได้ว่าข้อถกเถียงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาทางสายตาของนายทุนกับรัฐโดยมีแรงงานเป็นผู้รับกรรมอันเกิดจากความบกพร่องของทั้งสองฝ่าย

ข้อสังเคราะห์ทางทฤษฎีและข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เผยให้รู้กันโดยทั่วมานานแล้วว่าระบบทุนนิยมคือการลงทุนเพื่อให้ได้เงินเพิ่มและมีความจำเป็นต้องขยายตัวตลอดเวลา[1] ภาระกิจหลักของธุรกิจนอกจากการผลิตคือ การแสวงหาตลาด-การบริโภค ดังนั้นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจทุนนิยมคือ การขาดแคลนการบริโภค  จะสังเกตได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้นไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนสินค้าแต่เกิดจากการที่มีเงินทุนและสินค้าล้นเกินกว่าผู้บริโภคจะบริโภคได้หมดต่างหาก[2] เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี ค.ศ. 1997 ในเอเชีย (ที่ดินและอาคารชุดล้นคนไม่มีเงินซื้อ) หรือวิกฤตแฮมเบอเกอร์ ปี ค.ศ. 2007 ในสหรัฐฯ (บ้านล้นคนไม่มีเงินซื้อ)  และการที่ภาคการผลิตสามารถผลิตสินค้าต่อไปได้จนล้นเกินบริโภคไม่หมดได้นั้นก็เป็นเพราะว่าภาครัฐอุ้มภาคการผลิตที่ด้อยประสิทธิภาพ[3] ในกรณีของรัฐไทย นอกจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ นโยบายรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทให้ต่ำ ยังรวมถึงการกดราคาค่าแรงให้อยู่ในระดับต่ำด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อให้ธุรกิจมีต้นทุนต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาดโลก

ผลพวงของการที่ภาครัฐมุ่งแต่สนับสนุนภาคธุรกิจให้ขยายการผลิตแต่ละเลยที่จะสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็งทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อในประเทศลด รัฐจะใช้มาตรการอุดหนุนผู้บริโภคระยะสั้นสำหรับกระตุ้นการบริโภค เช่น แจกคูปอง แจกเงิน ลดภาษีสินค้าบางรายการ ฯลฯ มาตรการเหล่านี้ประกาศใช้ในนามของการให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่เนื้อแท้แล้วมีเป้าหมายเพื่อประคับประคองภาคธุรกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ก็จะต้องประสบกับวิกฤตในไม่ช้าด้วยเหตุที่ว่าไม่มีการแก้ไขรากฐานแท้จริงของปัญหาคือความไม่สมดุลกันระหว่างกำลังการผลิต (กำไรของนายทุน) กับกำลังการบริโภค (ค่าแรงของแรงงาน)

กล่าวโดยสั้นคือ วิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากช่องว่างระหว่างกำไรของนายทุนกับค่าจ้างแรงงานที่มากเกินเป็นระยะเวลายาวนานจนคนงานไม่สามารถสะสมทุนและไม่มีกำลังบริโภคอันเป็นปัจจัยจำเป็นที่จะช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมขยายตัวต่อไปได้ และที่ผ่านมาปัญหานี้ถูกกลบเกลื่อนหรือเลื่อนการเกิดวิกฤตออกไปจากการที่รัฐเข้ามาผ่อนคลายความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับแรงงานด้วยนโยบายประชาสงเคราะห์ต่าง ๆ  

จะเห็นได้ว่าในระยะยาวการกดราคาค่าจ้างมีผลทำให้กำลังบริโภคเติบโตช้าหรือไม่เติบโตและจะกลับมาเป็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจอีกทีหนึ่ง แต่ด้วยเหตุที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นายทุนสามารถล้อบบี้ให้รัฐช่วยปกป้องคุ้มครองธุรกิจในนามของผลประโยชน์แห่งชาติ เช่น การที่รัฐพยายามอุ้มภาคธุรกิจในกรณีวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย[4], การอุ้มภาคการเงินในกรณีวิกฤตแฮมเบอเกอร์ของสหรัฐฯ[5] ทำให้นายทุนมองสั้น ไม่มีจำเป็นต้องกระจายคืน (re-distribute) ส่วนเกินในรูปแบบของกำไรที่ตนเองได้มาให้แก่แรงงาน สำหรับให้แรงงานสามารถสะสมทุนและสร้างกำลังการบริโภคในอนาคต ซึ่งกำไร/ส่วนเกินนี้ ถ้านายทุนได้มาเพราะกดค่าแรงต่ำ แปลว่านายทุนไม่มีประสิทธิภาพหรือแทบจะไม่มีความสามารถใด ๆ เลย เพราะกำไรของเขามาจากส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนวัตถุดิบและแรงงานเท่านั้น ถ้านายทุนจ่ายค่าแรงสูงและยังสามารถทำกำไรได้ แปลว่าส่วนต่างระหว่างราคาขายนั้นนอกจากต้นทุนวัตถุดิบกับต้นทุนแรงงานแล้วยังมีความสามารถในการบริหารจัดการ นวัตกรรม ฯลฯ

ถ้านายทุนมองสั้น ไม่ยอมกระจายคืนส่วนเกินด้วยตนเอง รัฐก็มีหน้าที่ต้องสร้างสถาบันต่าง ๆ เพื่อกดดันให้นายทุนแบ่งส่วนเกินที่ได้แก่สังคม อย่างง่ายที่สุดคือการสนับสนุนการตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง หากรัฐตาบอดไม่ยอมทำ มุ่งดำเนินการฉพาะด้านการจัดแจงโครงสร้างเชิงสถาบันที่อำนวยความสะดวกให้แก่ทุน เช่น การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตรการส่งเสริมการลงทุน การทำข้อตกลงเปิดเขตเสรีทางการค้า เมื่อนั้นแรงงานก็จะกลายเป็นผู้รับภาระจากการแสวงหาผลกำไรของนายทุนโดยมีรัฐเป็นเครื่องมือ

แล้วทำอย่างไรรัฐถึงจะบังคับให้ทุนกระจายส่วนเกิน-ที่เกิดจากแรงงานหรือเกิดจากต้นทุนร่วมของประเทศคืนสู่สังคม? ข้อมูลจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าการกดดันดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยการต่อสู้ทางการเมืองทั้งโดยสันติผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่เสรีหรืออาจจะด้วยวิธีการที่รุนแรงนองเลือดหากระบอบการเมืองปิดแคบเป็นเผด็จการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กรณี 14 ตุลาคม 2516 ที่นำไปสู่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำครั้งแรกของไทย กรณีพฤษภา 35 ที่นำไปสู่การได้ รธน. ประชาธิปไตยเพื่อภาคธุรกิจและคนชั้นกลาง ชัยชนะทางการเมืองของภาคธุรกิจและคนชั้นกลางส่งผลให้มีการกำหนดว่ารัฐไทยต้องเป็นรัฐที่ “สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด” ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นฉบับแรก

หากจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ด้วยความรุนแรง สังคมก็ต้องออกแบบระบบการเมืองให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะแรงงานมีช่องทางอย่างเป็นทางการในการเรียกร้องผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่ต้องต่อสู้บนท้องถนน เช่น มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์แรงงาน หรือการกระจายอำนาจ เป็นต้น

หากรัฐไทยไม่แก้ไขปัญหาพื้นฐานในระดับโครงสร้างก็ยากที่จะพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือ วิกฤตการเมืองที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากระบอบการเมืองไทยปัจจุบันนั้นปิดแคบ ให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจและการบริโภคมาก แต่ปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองโดยเฉพาะกระบวนการทางการเมืองแบบตัวแทน หรือเสรีประชาธิปไตยอันเป็นเครื่องมือเจรจาต่อรองประนีประนอมความขัดแย้งทางเศรษฐกิจโดยสันติ

เมื่อการกดขี่ทางเศรษฐกิจและการปิดกั้นทางการเมืองบรรจบกัน ณ จุดวิกฤต สิ่งที่รออยู่ยากที่จะเป็นอื่นไปได้นอกจากความรุนแรงและความสูญเสีย




[1] ดูตัวอย่างคำอธิบายเรื่องทุนนิยมได้จาก David Harvey,  และ เจมส์ ฟุลเชอร์, ทุนนิยม: ความรู้ฉบับพกพา, แปลโดยปกรณ์ เลิศเสถียรชัย, กรุงเทพ:โอเพ่นเวิลด์ส, 2554, น. 44-51

[2] ดูตัวอย่างคำอธิบายเรื่องเงินทุนและการผลิตที่ล้นเกินได้จาก เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่, กรุงเทพ:โอเพ่นบุ๊คส, 2551, น. 61-68 และ  Robert Brenner, “What is good for Goldman Sachs is Good for America: The Origins of the Current Crisis,” eScholarship University of California, accessed 13 May 2010, scholarship.org/uc/item/0sg0782h. p. 2

[3] Robert Brenner, p. 12-16

[4] ความพยายามอุ้มภาคธุรกิจของรัฐปรากฎตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น “ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลกู้อีก 3 แสนล้านแก้ ศก. วูบ/ดันบาทแข็ง,” มติชน, 31 ธ.ค. 2540, น. 1, 11 และ “ถกเศรษฐกิจนัดแรกวงแตกบรรหารสอดไส้อุ้มอสังหาฯ,” ประชาชาติธุรกิจ, 27 มิ.ย. 2539, น. 1, 29 และ “30 นักธุรกิจหารือลับบิ๊กจิ๋วลดภาษีนำเข้า-รื้อกรมศุลฯ,” ประชาชาติธุรกิจ, 22 พ.ค. 2540, น. 1, 17 เป็นต้น

[5]เกษียร เตชะพีระ, น. 41-58

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net