เรียนเล่นเล่น #9: โรฮิงญา เรียนกับ ศิววงศ์ สุขทวี และวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ [คลิป]

คลิปจากเสวนา "เรียนเล่นเล่น" คาบที่ 9 หัวข้อ "โรฮิงญา: มองข้อจำกัด ทางออก ผ่านมิติกฎหมายและกลไกการปกป้องคุ้มครอง" โดย ศิววงศ์ สุขทวี ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรข้ามชาติ และวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ มูลนิธิไทยเพื่อคนมีปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล

ตอนหนึ่ง ศิววงศ์ สุขทวี กล่าวถึงปัญหาผู้อพยพจากรัฐอาระกันและบังกลาเทศว่า ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศต้นทาง เรือเราไปรับเขาออกจากบ้าน การบอกว่าเราเป็นเพียงกลางทาง เป็นแค่คำปลอบประโลมและโทษประเทศพม่า เรานี่แหละทำให้คนออกมามากกว่าเดิม

UNHCR ประเมินว่าปีที่แล้วมีโรฮิงญาอพยพประมาณ 50,000 คน ปีนี้มาแล้ว 25,000 ถ้าจับเรื่อยๆ ตัวเลขอาจถึงแสน และเป็นเรือเราเองที่ไปรับเขามาตลอด ถ้ามีการจับเกิดขึ้นก็ให้ขึ้นฝั่งไม่ได้ เรือครึ่งหนึ่งก็พยายามจะหันหัวเรือกลับแต่ก็เกิดการเรียกค่าไถ่อีก ถ้าไม่จ่ายก็กลับไม่ได้

เรือทั้งหมดถูกหยุดยั้งจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตอนตามข่าวเราดีใจในความเอาจริงเอาจังของตำรวจ มีการจับเจ้าของเรือพยายามไปถึงปลายทางที่ปาดังเบซาร์ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้มันอาจจะใหญ่เกินว่าที่ทางตำรวจคิด แม้ว่าจะจับนายทหารระดับพลโทได้ ถ้าไม่มีกระบวนการนำผู้เสียหายที่ไปมาเลเซียแล้วกลับมาเป็นพยาน ไม่ดีลกับมาเลเซียอย่างจริงจัง โอกาสที่จะเอาผิดตำรวจทหารที่อยู่ในขบวน 70-80 คนคงเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมตัวเลขกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว ปีนี้น้อยกว่าปีก่อนๆ ตม.ก็มีการปรับปรุงสถานที่เพื่อรองรับแล้ว คงไม่มีการเสียชีวิตเหมือนสองปีที่ผ่านมา สำหรับบ้านพักของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เขาทำเกินกำลังมา 2 ปีแล้ว ปีนี้เป็นปีที่ 3 เขามีหน้าที่ดูแลผู้หญิงและเด็กแล้วต้องมารับดูแลคนเหล่านี้ แรกๆ ก็เป็นไปด้วยดี แต่ยิ่งนานต่างคนต่างตึงเครียด

สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น เขาเสนอว่า ตราบใดที่เรายังมีปัญหาพื้นฐานอย่างนี้แล้วไม่ยอมรับว่าเป็นปัญหา ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการควบคุมคนได้ ถ้ารัฐไม่ให้สถานะบางอย่างกับเขา รัฐจะจัดการคนกลุ่มนี้อย่างไร แต่ว่าเราก็ยังมีความหวัง วิธีการที่ไทยใช้กับแรงงานข้ามชาตินั้นดี เราผ่อนผันให้เขาอยู่ในประเทศก่อน แล้วใช้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ แสดงให้เห็นว่าคนที่ทำนโยบายนี้มองเห็นปัญหานี้อยู่ การใช้แนวทางนี้เป็นพื้นฐานในการขยับไปยังกลุ่มผู้ลี้ภัยน่าจะเป็นประโยชน์

ขณะที่ วีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์ กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้อพยพทางเรือ โดยเฉพาะการให้ผู้อพยพขึ้นฝั่ง ถือเป็นสิ่งที่ไทยต้องปฏิบัติ ตามที่ลงนามไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศด้วย อย่างเช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งกฎหมายนี้ยังถือเป็นจารีตระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ต้องระวังการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ไทยลงนามไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานที่ไทยลงนามเอาไว้ด้วย

ขณะเดียวกัน ไทยยังลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (CERD) ที่ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการเรียกร้องให้ไทยจัดทำรายงานพิเศษโดยเฉพาะกรณีปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ซึ่งปีนี้ปัญหาก็ยังเหมือนเดิม เรายังคงเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติกับโรฮิงญา และปรากฏการณ์ทางโซเชียลมีเดีย นับเป็นการละเมิดอนุสัญญาดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ เพราะว่า CERD ไม่ยอมให้เราเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และรัฐไม่สามารถปล่อยให้มีการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ทั้งนี้เราไม่เห็นว่ารัฐบาลมีบทบาทในการหยุดยั้งกระแสสังคมในการต่อต้านกระแสเหยียดเชื้อชาติ ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาส่วนหนึ่งและรายงานในฉบับต่อไปจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาอยู่ในรายงานด้วย

ในส่วนของข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยโดยรวม วีรวิชญ์กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง มีหลายกระทรวงรวมทั้งภาคประชาสังคมประชุมร่วมกันเพื่อทำข้อเสนอแก้กฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อให้มีประเภทวีซ่าเพิ่มขึ้น คือ วีซ่าประเภทขอลี้ภัย ภายใต้แคมเปญ Treat them like a tourist ล่ารายชื่อใน change.org

ทั้งนี้เพราะผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยดูแลตัวเองได้ หรือมีญาติส่งเงินมา หรือองค์กรต่างๆ ให้การสนับสนุนดูแล อยู่ได้ไม่ต่างกับนักท่องเที่ยว long stay เท่าไร รัฐจึงควรอนุญาตให้เขาอาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมายขณะที่ UNHCR ก็พิจารณาสถานภาพไปตามกระบวนการ (อ่านคำอภิปรายทั้งหมดได้ที่นี่)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท