Skip to main content
sharethis

หมอนิรันดร์ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี คุยหน่วยงานราชการ ตัวแทนกองทัพเรือ พร้อมชาวบ้าน เร่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบังคับคดีให้ ชาวคลองชันออกนอกพื้นที่ หลังทหารอ้าง ม.44 เข้าจับกุมชาวบ้าน พร้อมเตรียมส่งเอกสารถึงอัยการ ขอชะลอการบังคับคดีออกไปก่อน

10 มิ.ย. 2558 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม 2 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านที่ดินและป่า เพื่อติดตามผลการแก้ไขปัญหา คำร้องที่ 666/2558 กรณีประชาชนถูกผลักดันออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ – เขาวังแจง พื้นที่บ้านคลองชัน หมู่ 7 ตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฎ จังหวัดจันทบุรี โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า พร้อมด้วย สมหมาย วิเชียรฉันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีการเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่บ้านคลองชัน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว กับเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ – เขาวังแจง เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างกองทัพเรือในฐานะผู้เช่าพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติเขาตาแป๊ะ – เขาวังแจง จำนวน 13,650 ไร่ ซึ่งใช้เป็นสนามซ้อมรบ เป็นผู้ยื่นเรื่องสู่อัยการเพื่อฟ้องชาวบ้านทั้งหมด 52 คน 47 หลังคาเรือน ให้ออกจากพื้นที่ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าจันตาแป๊ะ – เขาวังแจง ฐานเข้าอาศัยและทำกินในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย เมื่อปี 2549 และศาลตัดสินให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ในปี 2553 โดยชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น และสุดท้ายชาวบ้านไปขอยื่นฎีกา แต่อัยการไม่รับคำร้องขอฎีกา ทั้งนี้ด้านกรมบังคับคดี ได้ดำเนินการบังคดีตามกฎหมาย แต่ก็ได้มีการประชุมหน่วยงานราชการหลายครั้งเพื่อขอชะลอการดำเนินออกไป เพื่อหาทางเยียวยา และหาพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องออกจากพื้นที่ให้ได้ก่อน โดยในระหว่างนั้นขอให้ชาวบ้านได้พื้นที่ทำกินไปก่อน และห้ามไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่ม ขณะนี้เหลือชาวบ้านจำนวน 14 ราย ที่ยังไม่เซ็นชื่อว่า ยอมออกจากพื้นที่ เนื่องจากยังไม่มีที่ดินทำกิน(ติดตามรายงานพิเศษเร็วๆนี้)

พื้นที่ในเส้นกรอบเป็นพื้นที่ซึ่งกองทัพเรือเช่าพื้นที่เขตป่าสงวนฯทำสนามซ้อมรบ ส่วนสัญลักษณ์สี่เหลียมสีม่วงเป็นพื้นที่ของชุมชนคลองชัน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรอยต่อเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า กับเขตป่าสงวนฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2558 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ได้มีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาที่ชาวบ้านผลกระทบจากการดำเนินคดี กรณีคลองชัน โดยมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีข้อสรุปว่าให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แต่ภายหลังจากการประชุมกลับมีหมายจับชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวออกมา ด้านชาวบ้านจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจังหวัดจันทบุรีว่า หมายจับออกโดยไม่ชอบ โดยศาลได้รับรองแล้ว 7 คน และมีคำสั่งไต่สวนกรณีออกหมายจับไม่ชอบในวันที่ 15 และ 22 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ แต่แล้วกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็สะดุดหยุดลง โดยการอ้าง ม.44 ของ กองกำลังรักษาความสงบจังหวัดจันทบุรี เข้าจับกุมชาวบ้านทั้งหมด 9 ราย เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และส่งให้ตำรวจดำเนินคดีตามหมายจับ ล่าสุดชาวบ้านได้รับการประกันตัวออกไป โดยในวันที่ 24 มิ.ย. 2558 จะต้องมารายงานตัวต่อศาลอีกครั้ง

ด้านการประชุมในวันนี้ นพ. นิรันดร์ ได้สอบถามความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากที่การประชุมครั้งก่อนได้มีการสรุปว่าจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไขปัญหา โดยแบ่งรายละเอียดออกเป็น 5 ข้อคือ 1.สำรวจจำนวนผลที่ได้รับผู้กระทบ และมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยา 2.กำหนดวิธีการที่จะช่วยเหลือเยียวยา 3.กำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ 4.รายละเอียดของการจัดสรรที่ดินใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับผู้กระทบ และ 5.การจ่ายเงินชดเชยเยียวยา พร้อมกันนั้นได้มีการเสนอให้มีการชะลอการบังคับคดีออกไปก่อนจนกว่าการแก้ปัญหาจะแล้วเสร็จ พร้อมกับให้นายกเทศมนตรีตำบลจันทเขลมแจ้งชาวบ้านคลองชันว่า ไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม

สุวัฒน์ สมพจน์ ตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้กำลังจะดำเนินการตั้งคณะกรรมการ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ พร้อมรับว่าจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์

ด้านนายกเทศมนตรีแจ้งว่า ได้มีการดำเนินการแจ้งให้ชาวบ้านทราบแล้วว่าไม่ให้มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่มอีก

ด้านตัวแทนจากสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทุบรี ได้ให้ข้อมูลว่า ในขั้นแรกต้องเข้าใจว่าคดีนี้ได้สิ้นสุดไปแล้ว โดยศาลได้ตัดสินให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ในส่วนของการบังคับคดีหลังจากศาลตัดสินแล้ว ก็จะต้องมีการบังคับคดีให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ ซึ่งจะมีขบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด จนไปถึงขั้นตอนของการออกหมายจับ เพราะว่าชาวบ้านยังไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่ พนักงานกรมบังคับคดีก็ต้องรายงานต่อศาลว่ามีใครบ้างที่ยังอยู่ในพื้นที่พิพาท ศาลก็จะดำเนินการออกหมายจับ เพื่อให้มีการย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหลายรายที่ยอมเซ็นชื่อมอบพื้นที่ให้กับโจทย์ แต่ก็มีบางรายที่ยังกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่อยู่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลได้พิจาณาตัดสินแล้ว จำเลยก็ต้องออกไป ส่วนเรื่องการเยียวยาก็ต้องไปว่ากันอีกที

ตัวแทนกรมบังคับคดียังกล่าวอีกว่า ทางฝ่ายทหารเรือที่มาดำเนินการบังคับคดี มีความเป็นห่วงประชาชน หรือจำเลยที่อยู่ในพื้นที่พิพาท เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ซ้อมรบ เกรงว่าจะมีการผลาด และส่งผลกระทบให้กับประชาชน ทั้งต่อชีวิต และทรัพย์สิน

“ชาวบ้านต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้ายังไม่ย้ายออกจากพื้นที่ ทางกองทัพก็ไม่สามารถซ้อมรบได้ ก็อาจจะปัญหาความไม่พร้อมรับมือในเรื่องความมั่นคงของชาติ ประเทศชาติอาจจะเสียหายได้” ตัวแทนสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรี กล่าว

ขณะเดียวกัน นพ.นิรันดร์ ได้ชี้แจ้งว่า การที่กรรมการสิทธิมาในครั้งนี้ไม่ได้มีการเข้าไปยุ่งเรื่องคดี เพราะว่าโดยกฎหมายกรรมการสิทธิฯไม่ได้มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อศาล หรือคำตัดสินของศาล แต่ประเด็นที่เรามีการคุยกันมาตลอดคือ แนวทางในการที่จะเยียวยา และแก้ไขปัญหาจของพี่น้องประชาชน เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบที่ประกอบอาชีพสุจริต และในเรื่องของสิทธิชุมชนก็ได้รับรองเรื่องนี้ไว้ การที่จะบังคับคดี ซึ่งเขายังไม่สามารถที่จะหาที่อยู่ต่อได้ ในทางหลักสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของรัฐที่จะมาพิจารณาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ในส่วนของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานภายใต้โครงการนิยมเศรษฐกิจพอเพียง  จัดเตรียมพื้นที่รองรับชาวบ้านในกรณีพิพาท ซึ่งในขณะนี้มีจากจำนวนชาวบ้านทั้งหมด 15 รายที่เข้ารวมโครงการ จากจำนวนทั้งหมดที่ศาลได้ตัดสินให้ออกจากพื้นที่ โดยชาวบ้านส่วนที่เหลือระบุว่าไม่อยากไปอยู่ในพื้นที่ที่ได้มีการจัดหาไว้ให้ เนื่องจากมีพื้นที่เพียง 3 ไร่ ไม่สามารถทำหากินได้ เนื่องจากมีภาระที่แบกรับ

หนึ่งในชาวบ้านที่เข้าร่วมการประชุมกล่าวว่า การที่จะให้เราไปอยู่ในพื้นที่เพียง 3 ไร่ ไม่แตกต่างจากการเอาชาวบ้านไปโยนทิ้ง จากเดิมที่ชาวบ้านเคยอยู่ในพื้นที่ทำกินคนละประมาณ 10-15 ไร่ ก็ยังจัดว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ยากจน อีกทั้งการที่ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่เท่ากับเป็นการละทิ้งอาชีพเดิมที่เคยทำ ละทิ้งสวนผลไม้ทั้งหมดที่มี ซึ่งตรงนั้นคืออาชีพ และเป็นทรัพย์สินของชาวบ้าน

ด้าน สมภพ โชติวงศ์ คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า กล่าวว่า การชะลอการบังคับคดีจะเกิดขึ้นได้ จะมีความเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อทางโจทย์คือ อัยการ ซึ่งยืนฟ้องแทนกองทัพเรือ ไปแถลงขอให้มีการงดการบังคับคดีไปก่อนเป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จเสียก่อน ก็จะทำให้กระบวนที่เป็นมาตั้งแต่ต้นหยุดลงชั่วคราว

ตัวแทนกองทัพเรือ โดยนาวาเอกประสพ สงค์ประเสริฐ ประจำสำนักงานพระธรรมนูญกองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือเป็นเพียงแต่ผู้ยื่นเรื่อง ส่วนโจทย์คืออัยการ ถ้าอัยการงดการบังคับคดีก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งเคยพูดคุยกันแล้วหากมีการชะลอการบังคับคดีไปแล้ว แล้วแก้ปัญหาไม่แล้วเสร็จจนเรื่องหมดอายุความ อัยการที่แถลงขอให้มีการชะลอบังคับคดีก็จะต้องรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นพ.นิรันดร์ ได้กล่าวว่า ตนจะเป็นผู้ทำหนังสือถึงอัยการเองเพื่อเสนอให้มีการดำเนินการชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน ขณะเดียวกันก็ขอให้ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดจันทบุรี เร่งประสานจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด โดยคาดหวังว่าจะดำเนินการให้ทันก่อนหน้าวันที่ 24 มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ศาลเรียกชาวบ้านเพื่อรายงานตัวอีกครั้ง และคาดหวังว่าการดำเนินการของคณะกรรมการที่กำลังจะตั้งขึ้นจะมีกรอบระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อให้ไม่กระทบกับการหมดอายุความของการบังคับคดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net