Skip to main content
sharethis

9 มิ.ย. 2558 สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อเรื่อง เอเชียกับวิกฤตการณ์มนุษย์เรือ(Boat People) ในหัวข้อ ภูมิภาคภิวัตน์ การกำกับดูแล และภูมิภาคนิยม (Asia’s New “Boat People” Crisis: Regionalization, Regulation, Regionalism) นำเสวนาโดย รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ โดยมีวิทยากรคือ เจฟฟรีย์ ลาโบวิทซ์  (Jeffrey Labovitz ) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทย ( IOM Bangkok)  กวี จงกิจถาวร นักวิชาการอาวุโส ISIS  เกวน  โรบินสัน (Gwen Robinson) บรรณาธิการ Nikkei Asian Review และนักวิชาการอาวุโสของ ISIS  กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ และดร. กษิร ชีพเป็นสุข อาจารย์จากภาควิชาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฐิตินันท์ กล่าวว่า ปัญหามนุษย์เรือใหม่เราอาจจะเรียกพวกเขาว่าโรฮิงญา ผู้อพยบ หรือผู้ลี้ภัยก็ตาม เป็นวิกฤติการที่ส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศทั้งในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในกรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นในส่วนฟากฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้เห็นในอดีตมากนัก วิกฤตการมนุษย์เรือสามารถอธิบายได้ในหลายมิติ  การจัดประชุม 17 ประเทศเรื่องปัญหาโรฮิงญาที่จัดขึ้นโดยประเทศไทยในวันที่ 29 พฤษภภาคมที่ผ่านมา ผลจากการประชุมเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยเป็นประเทศทางผ่าน ในการประชุมครั้งนั้นจะไม่มีการใช้คำว่า โรฮิงญา และพม่าคงจะพอใจในเรื่องนี้

ฐิตินันท์  มองว่าโรฮิงญาในบังคลาเทศตอนนี้ได้ถูกจับตามองเพราะประเทศบังคลาเทศจำเป็นต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้จากการที่เป็นประเทศต้นทางของโรฮิงญาเหมือนกัน และในกรณีที่มีการสัมภาษณ์ในอินโดนีเซียสุมาตราชี้ให้เห็นว่ามีมนุษย์เรือมากกว่า 60% ที่มาจากบังกลาเทศและนี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะมาวิเคราะห์กัน

เจฟฟรีย์ ลาโบวิทซ์ กล่าวว่า เมื่อเรามองย้อนกลับไปดูเมื่อตอนการประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ที่สามารถรวมกลุ่มประเทศหลายประเทศมาอภิปรายกันในประเด็นที่ซึ่งยังไม่เคยพูดถึงมาก่อน ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่แต่เป็นปรากฏการณ์ที่มีมาแล้วกว่า 10 ทศวรรษ มนุษย์เรือไม่ได้มีถิ่นฐานเพียงแค่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้นแต่ยังมีอยู่ในเอเชียกลาง เอเชียใต้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นวิกฤตการณ์ของภูมิภาค การประชุมที่กรุงเทพนั้นถือเป็นครั้งแรกที่มีการรวมกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องมาคุยกันในประเด็นเรื่องมนุษย์เรือ และผลจากการประชุมครั้งนั้นได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของประเทศต่างๆในเชิงนโยบาย การบังคับใช้กฎหมาย กลไกในการปกป้องชีวิตมนุษย์เรือ

กวี จงกิจถาวร มองว่าคำถามของการอภิปรายวันนี้ที่ว่าจะเกิดอะไรต่อไปกับวิกฤติการณ์นี้  เป็นคำถามที่ตอบยากเพราะเมื่อถามถึงอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปมักไม่มีคำตอบแน่นอน การประชุมที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีการพูดเป็นเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นกุญแจสำคัญของเรื่อง เราจัดการประชุมครั้งนี้จึงทำให้พม่าเริ่มเข้ามามีบทบาท และเรื่องนี้ได้กลายมาเป็นเรื่องในภูมิภาค

“บางครั้งเราต้องให้เครดิตกับรัฐบาลนี้เพราะเขาได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง สิ่งนี้เป็นเรื่องน่าสนใจเพราะสิ่งนี้มาจากการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งของรัฐบาลไทย  ผมต้องยอมรับเลยว่าเนื่องจากแรงกดดันจาก EU  เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศไทยมีปัญหาภายในประเทศ ผมคิดว่านายกประยุทธ์ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก  คุณจะเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้สำคัญมากเพราะถ้าคุณต้องการจะแก้ปัญหาภายในภูมิภาคคุณต้องมั่นใจว่า  แรงงานที่เข้ามาในประเทศของคุณจะได้รับการปฏิบัติที่ดี  อย่างกรณี ลาว พม่า ที่เข้ามาในประเทศไทย  ประเทศไทยก็มีค่าแรงให้หัวละ 300 บาท  แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลา นี่เป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น” กวีกล่าวและและเสนอว่า ในคราวหน้าควรจัดให้มีการปะชุมที่เป็นนโยบายมากกว่านี้

“ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นตัวเชื่อมและในเวทีระหว่างประเทศนี้ อย่างน้อยก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นประเทศไทยจะนำเรื่องนี้เข้า ASEAN Agenda เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่องการค้ามนุษย์นี้ควรนำเข้ามาในประเด็น Asean Way ”

เกวน  โรบินสัน มองว่าปัญหานี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับการทูตโดยเฉพาะในประเทศอาเซียน ผู้คนในอาเซียนพบว่าตัวเองอยู่ในวิกฤตการณ์มนุษย์เรือ เกิดแรงกดดันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นเพราะความแตกต่างทางศาสนา การเมือง และพื้นฐานทางสังคม หลักการด้านความมั่นคงและนโยบายผู้อพยพได้เกี่ยวข้องกับปัญหานี้และทำให้เป็นระบบนานาชาติ หลักการไม่แทรกแซงกิจการใดๆ ระหว่างประเทศ ทั้งประเทศสมาชิกและประเทศด้านนอกจึงต่างพากันโยนความผิดให้กัน 

เกวนกล่าวเสริมว่าการเลือกตั้งประจำชาติที่จะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้จะสร้างการปฏิรูปได้แต่มันก็ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในประเทศ ความซับซ้อนของสังคม และแรงกดดันจากต่างประเทศ  การปฏิรูปเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามอง

กษิต ภิรมย์ มองว่าต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่พม่าไม่ยอมรับการเป็นเข้าเป็นพลเมืองของโรฮิงญารัฐบาลพม่าในยุคก่อนยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศเขา แม้ว่าคณะทูตของประเทศพม่าในทั่วทุกมุมโลกได้กดดันพม่าในเรื่องนี้ บางครั้งการพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเราต้องลืมเรื่องการเมืองหรือเรื่องของภาพลักษณ์ของโลกบ้าง

กษิต ตั้งข้อสังเกตว่า UNHCR ไม่ได้เข้ามาสนใจในประเด็นเรื่องมนุษย์เรือ แต่ในกรณีของผู้อพพยในลาว เวียดนาม UNHCR ได้เข้ามามีบทบาท และตั้งข้อเสนอว่าสิ่งที่ UNHCR ควรจะทำ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เงินสมทบกับประประเทศที่รับโรฮิงญาไว้ดูแล แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ควรจะทำคือการพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐอารากันให้ดียิ่งขึ้น และให้การศึกษาชาวพุทธในรัฐมากยิ่งขึ้นด้วย 

กษิต กล่าวเสริมว่า ในการประชุมวันที่ 29 พ.ค.นั้นเน้นจุดสนใจไปที่ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในทะเล แต่คงลืมนึกไปว่ายังมีชาวโรฮิงญาที่ยังอยู่บนบก อย่างในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดคือจังหวัด ระนอง สงขลา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยได้ปิดตาข้างหนึ่งที่หันไปสนใจแต่เรื่องโรฮิงญาในทะเลและละเลยส่วนบนบก ประเทศไทยสมควรต้องมองหา NGO ที่จะช่วยเรื่องประเด็นนี้

กษิร ชีพเป็นสุข กล่าวว่า ถ้าเราพูดเรื่อง Regionalism เราจะเน้นไปที่กระบวนการทางการเมือง แต่ถ้าพูดถึง Regionalization เราจะเน้นไปที่การหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ การเคลื่อนไหวของการลงทุนอย่างอิสระ แรงงาน ตลาดขนาดใหญ่ บทสรุปจากการประชุมเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้อพยพจำนวนมากต้องการที่จะย้ายไปในที่ที่ดีกว่า พวกเขาไม่ต้องการที่จะกลับไปที่เดิมและเนื่องจากการที่ไม่มีเอกสารการรับรองการเข้าประเทศจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการค้ามนุษย์ แต่สิ่งที่จะพูดคือจะพูดถึงว่าเราได้อะไรมาบ้างหลังจากประชุม ที่แน่ๆ มี 3 อย่างคือ 1.เสนอความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม 2.หยุดยั้งการอพยพ-ปราบค้ามนุษย์ระยะยาว 3. พยายามที่จะแก้ตั้งแต่ต้นตอของปัญหามนุษย์เรือ

กษิร  กล่าวเสริมว่า สถานการณ์ล่าสุด อินโดนีเซีย มาเลเซีย ยอมรับที่จะให้ที่พักชั่วคราว โรฮิงญาในทะเลอย่างน้อยได้รับการรับรองความปลอดภัย อินโดนีเซีย มาเลยเชียตกลงที่จะรับมนุษย์เรือ เจ็ดพันคนสำหรับจัดหาที่พักชั่วคราวให้ภายในระยะเวลา 1 ปี แต่ปัญหาก็คืออินโดนีเซียกับมาเลเซียมองเรื่องนี้ว่าเป็นแค่การแก้ปัญหาแค่ชั่วคราวเท่านั้น

ทั้งนี้สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจัดเสวนาสืบเนื่องจากประเด็นนี้ในวันที่ 18 มิ.ย. 2558 ในข้อหัว “Moving Up the Global Value Chain: Thailand’s Upgrading and Growth Imperatives” ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net