Skip to main content
sharethis
"ไทย-อิสราเอล" ตั้งคณะทำงานร่วมในอิสราเอลการแก้ปัญหาแรงงานไทย
 
เว็บไซต์กระทรวงแรงงานรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับผู้แทนฝ่ายอิสราเอลและคณะ หารือดำเนินงานตามความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล แก้ปัญหาแรงงานไทยในอิสราเอล ทั้งสิทธิประโยชน์ การดูแล การคุ้มครอง และความเป็นอยู่ โดยสองฝ่ายตกลงตั้งคณะทำงานร่วมที่อิสราเอล เพื่อหามาตรการในการป้องกันแก้ไขช่วยเหลือแรงงานไทย
 
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ Mr. Amnon Neir Ben Ami Director General of Population and Immigration Authority (PIBA) ผู้แทนฝ่ายอิสราเอล และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ พร้อมขอบคุณในการต้อนรับในการเดินทางมาประชุมคณะกรรมการดำเนินงานตามความตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลอิสราเอล ประจำปี 2558 และได้หารือเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงานไทยในอิสราเอล ทั้งสิทธิประโยชน์ การดูแล การคุ้มครอง และความเป็นอยู่ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของอิสราเอล ที่ประกอบด้วย PIPB กระทรวงเศรษฐกิจ และสถานทูตไทยในกรุงเทลอาวีฟ รวมทั้ง CIMI ทำหน้าที่เป็นสายด่วนรับเรื่องร้องทุกข์จากคนงาน ลงพื้นที่ช่วยดูแลแก้ปัญหาแรงงานไทยตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการทำงาน สุขภาพอนามัยแข็งแรง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติด ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลราว 22,000 คน และในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นเป็น 24,000 คน และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่อิสราเอลให้แรงงานเข้าไปทำงานในภาคเกษตร
 
พลเอก สุรศักดิ์ฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดกับคณะรัฐมนตรีเสมอถึงประชาชนคนไทยที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง เรามีที่ดินของทางราชการจำนวนมาก น่าจะทำให้เหมือนหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตรที่เรียกว่า โมชาฟ (Moshav) คิบบุตส์ (Kibbutz) ของอิสราเอล ซึ่งคิดว่าคงต้องไปศึกษาถึงการทำโมชาฟ คิบบุตส์ และมานำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่าภาพโมชาฟ คิบบุตส์ ในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร
 
(กระทรวงแรงงาน, 4/6/2558)
 
เครือข่ายภาคประชาชนฯ เสนอให้คง การจัดระบบบำนาญแห่งชาติ ในร่างรัฐธรรมนูญ 
 
4 มิ.ย. 58 เครือข่ายภาคประชาชนฯ  เสนอให้คง การจัดระบบบำนาญแห่งชาติในร่างรัฐธรรมนูญ   พร้อมเสนอยกเลิกคำว่า “สงเคราะห์”  ในร่างรัฐธรรมนูญ  เพราะประชาชนทุกคนต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว
 
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ  และเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติ  เดินทางเข้าให้กำลังใจแก่ ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ   โดยสนับสนุนการทำหน้าที่ของกรรมาธิการยกร่างฯ ในการร่างรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศ   ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ได้เสนอให้คงไว้ซึ่งการจัดการ การคลังเพื่อสังคม การจัดระบบบำนาญแห่งชาติ การจัดหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลักประกันทางการศึกษาจนถึงปริญญาตรี การส่งเสริมให้เกิดสภาพลเมืองตามความพร้อมของพื้นที่  การจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค องค์การอิสระด้านคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม   พร้อมเสนอให้ แยกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ออกจากผู้ตรวจการแผ่นดิน และเพิ่มเรื่องปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค  และขอให้ยกเลิกคำว่า “สงเคราะห์” ในรัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนทุกคนต้องงได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่การสงเคราะห์และเลือกปฏิบัติ  รวมถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องคำนึงถึงมติทางเพศและการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
(วิทยุรัฐสภา, 4/6/2558)
 
ก.แรงงาน ชู "อาสาสมัครแรงงาน" คือบุคคลขับเคลื่อนงานในพื้นที่ที่สำคัญ
 
พลเอก กิตติ ปทุมมาศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมอาสาสมัครแรงงานจังหวัดนครปฐม ณ โรงแรมริเวอร์ จังหวัดนครปฐม ว่า พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) เป็นอย่างมากเพราะมองว่าเป็นบุคคลที่ขับเคลื่อนภารกิจงานของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานที่ลงพื้นที่สู่ประชาชนได้มากที่สุด อสร. จึงถือเป็นเครือข่ายการทำงานที่เข้าถึงประชาชนที่มีบทบาทมากที่สุดในขณะนี้ ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการพูดคุยและรับฟังปัญหาข้อขัดข้องเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติต่อไป
 
พลเอกกิตติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีสิทธิประโยชน์ของประชาชนทุกเรื่อง โดยหลักการของรัฐบาลอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีก็พร้อมจะทำ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามต้องดีกว่าเดิมโดยมุ่งที่ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ
 
สุนิสา เนี๊ยะกุ๊น อาสาสมัครแรงงาน (อสร.) ตำบลไร่ขิง  อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า “เป็น อสร. มาปีกว่า เหตุผลที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งอาสาสมัครแรงงานเพราะอยากเห็นคนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ มีสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากการประกันตนกับประกันสังคม และข่าวสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ซึ่งได้รับจากหน่วยงานราชการของกระทรวงแรงงาน อสร.ได้กระจายข่าวสารให้คนในพื้นที่ คนในชุมชนได้รับรู้ข่าวสาร ความรู้ รวมถึงได้แนะนำการสร้างรายได้จากอาชีพอิสระต่างๆ ซึ่งการทำหน้าที่ของ อสร. บอกจริงๆ ทำด้วยใจค่ะ”
 
มณี สุรวัฒนาประเสริฐ ประธานอาสาสมัครแรงงาน (อสร.) อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า “ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครแรงงาน มากว่า 4 ปี แรกเริ่มเนื่องจากเห็นชาวบ้านในชุมชนลำบาก อยู่บ้านไม่มีอาชีพ จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เขาได้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้สามารถนำมาจุนเจือครอบครัวได้ จึงได้ประสานกับสำนักงานแรงงานเพื่อจะรวมกลุ่มชุมชน การเป็น อสร. สร้างความภาคภูมิให้กับตัวเองมากเพราะมีโอกาสช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนให้มีงานทำ สร้างรายได้ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อันเนื่องมาจากการเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม”
 
ในโอกาสเดียวกัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) จังหวัดนครปฐม ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐม พร้อมร่วมประชุมกับจัดหางานจังหวัดภาคกลาง และภาคตะวันตก จำนวน 15 จังหวัด 
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 5/6/2558)
 
แรงงานค้าน “ระบบค่าจ้างลอยตัว” ชี้ไร้อำนาจต่อรอง-ย้อนยุคสมัยไร้ 300 บาท
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการศึกษาวิจัยความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการใช้ระบบค่าจ้างแบบลอยตัวทั่วประเทศ ในการปรับโครงสร้างค่าจ้างปี 2559 หลังคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) มีมติให้กลับไปใช้วิธีกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม คือ การกำหนดตามพื้นที่จังหวัด ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นการกลับไปสู่การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแบบเดิม แม้ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานจะบอกว่าแม้จะใช้ระบบค่าจ้างขั้นต่ำแบบลอยตัว แต่ยังการันตีว่าทุกอาชีพยังได้ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย 300 บาท ก็ตาม เพราะที่สุดแล้วเมื่อการกำหนดค่าจ้างอำนาจไปอยู่ที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ลูกจ้างแต่ละอาชีพก็ไม่มีสิทธิต่อรองค่าจ้างให้แก่ตนเองอยู่ดี เพราะลูกจ้างไม่มีความรู้  ไม่มีพื้นฐานความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ รวมไปถึงเรื่องกฎหมาย เพื่อเจรจาต่อรองค่าจ้างให้แก่ตนเอง
       
“ค่าจ้างแบบลอยตัวพวกเราไม่เห็นด้วยเด็ดขาด เพราะลูกจ้างไม่มีอำนาจในการต่อรองค่าจ้าง บางอาชีพถ้ามีอำนาจต่อรองก็ดีไป แต่บางอาชีพไม่มีเขาก็เสียประโยชน์ นั่นเป็นเพราะแต่ละจังหวัดไม่ได้มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่จะช่วยเรียกร้องค่าจ้างที่เหมาะสมของแต่ละอาชีพได้ ประกอบกับในคณะอนุฯก็มีตัวแทนจากกลุ่มนายจ้างเข้ามาด้วย หากจะใช้ระบบนี้ก็จำเป็นต้องมีการสนับสนุนในการให้ความรู้แรงงานในการเข้าไปต่อรองเจรจาเสียก่อน”
       
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวและว่า คสรท. ขอยืนยันในข้อเสนอเรื่องค่าจ้าง 2 ข้อ คือ ให้คงค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเอาไว้ แต่ต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด และให้พิจารณาโครงสร้างค่าจ้างด้วยอายุการทำงานและฝีมือในการทำงาน เพราะผู้ที่มีฝีมือในการทำงานมาก มีประสบการณ์มากก็ไม่ควรได้ค่าแรงเท่ากัน ตรงนี้ก็ควรนำมาพิจารณาด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 6/6/2558)
 
"บอร์ดค่าจ้าง" เสนอลอยตัวค่าจ้าง
 
จากเวทีการประชุมสัมมนา เรื่อง กรอบแนวทางและหลักเกณฑ์การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2559 และการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและนักวิชาการเข้าร่วมสัมมนาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน นายนคร ศิลปอาชา บอกว่า บอร์ดค่าจ้างชุดปัจจุบันมีมติให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัด ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เบื้องต้นได้ศึกษาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ 5 รูปแบบ คือ
 
1.ให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอมาตามปกติ 2.ค่าจ้างลอยตัว 3.ค่าจ้างตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด 4.ค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม และ 5.ค่าจ้างในลักษณะผสมผสานหลายรูปแบบ รวมทั้งจะนำข้อเสนอในเรื่องโครงสร้างค่าจ้างมาพิจารณาประกอบด้วย
โดยภายในเดือนมิ.ย.นี้ อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องส่งอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัดมาให้บอร์ดค่าจ้างพิจารณา คาดว่าจะสามารถสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศได้ในเดือนต.ค.นี้
 
“การปรับขึ้นค่าจ้าง ไม่ควรนำไปผูกกับนโยบายทางการเมือง เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ กระทบเป็นวงกว้าง ทั้งผู้ประกอบการ จ้างงาน และเศรษฐกิจรวม” นคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน
ธปท.แนะแรงงานเพิ่มทักษะสอดคล้องค่าจ้าง
 
ขณะที่ ผู้บริหารทีมนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทาน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ บอกว่า ค่าจ้างขั้นต่ำมีผลกระทบต่อการกำหนดค่าจ้างทั่วไปของแรงงาน ซึ่งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ เป็นการปรับมากกว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.4% ขณะที่ค่าจ้างปรับขึ้นในอัตราเฉลี่ย 20.6% ซึ่ง ช่วยให้แรงงานมีกำลังในการซื้อมากขึ้น แต่ตลาดแรงงานมีแนวโน้มคงที่ ดังนั้น แรงงานต้องปรับตัวโดยการพัฒนาทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่ปรับขึ้นด้วย
 
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2558 นั้น แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จะมีการขยายตัว แต่ก็ไม่สูงมากนัก โดยส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจคือ การใช้จ่ายของภาครัฐการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาประเทศจำนวนมากขึ้น ทำให้มองว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่เป็นไปอย่างช้าๆ
 ลูกจ้างระบุรัฐต้องคุมราคาสินค้าให้ได้
 
ด้านกรรมการค่าจ้าง ที่เป็นผู้แทนลูกจ้าง นายประจวบ พิกุล บอกว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นสิ่งที่ลูกจ้างสะท้อนให้เห็นว่า สภาวะเศรษฐกิจของบ้านเราตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ว่าลูกจ้างจะเอาอย่างเดียว เพราะการจะปรับอัตราค่าจ้างหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่อง แต่หากจะปรับอัตราค่าจ้างแล้ว ภาครัฐสามารถคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ ก็ทำให้ลูกจ้างอยู่ได้และมีความสุข เพราะแม้ว่า จะปรับอัตราค่าจ้างสูงเท่าใด ผลกระทบก็ตกไปอยู่ที่ลูกจ้างอยู่ดี
 
อย่างไรก็ตาม ค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศปัจจุบัน 300 บาทที่จะใช้ไปจนถึงสิ้นปี 2558 มาจากมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 ซึ่งหากใช้แนวทางใหม่ เท่ากับเป็นการยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้วันละ 300 บาท ทั่วประเทศ
 
(Now26, 7/6/2558)
 
ประกันสังคมมีมติปล่อยกู้ 2 แสนล้าน ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาล ชี้มั่นคง-ผลตอบแทนดี
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข่าวกระทรวงการคลัง ชักชวนกองทุนประกันสังคม ร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจำนวน 200,000 ล้านบาท กรรมการบอร์ด สปส.บางคนเห็นว่าควจะกระจายการลงทุน ว่า ปีนี้สำนักงานประกันสังคม(สปส.)มีงบประมาณการลงทุนสูงที่สุดจำนวน 400,000 ล้านบาท คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ เรื่องการลงทุนที่เป็นยุทธศาสตร์ เป็นการลงทุนในภาครัฐต่างๆ เช่น การก่อสร้างระบบรถไฟ ระบบบริหารน้ำ โดยแบ่งงบประมาณการลงทุนไว้ 200,000 ล้านบาทให้รัฐบาลกู้ โดยมีข้อแม้ว่ารัฐจะต้องออกพันธบัตรค้ำประกันให้ สปส. ดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3 – 3.5 ซึ่งได้เสนอมติไปยังกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการ และหากดำเนินการต่อไป กระทรวงการคลังต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงิน ส่วนกรณีที่เครือข่ายแรงงานมีความเป็นห่วงในเรื่องความมั่นคงและความคุ้มค่าในการลงทุน แม้ผลตอบแทนอาจไม่มากเท่ากับการนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ แต่ได้ผลตอบแทนในอัตราที่คุ้มค่า ส่วนเรื่องของความมั่นคง ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะรัฐบาลเป็นผู้ประกัน ทั้งนี้ จะระบุรายละเอียดการจ่ายเงินคืนและผลตอบแทนใน พ.ร.บ. ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการจ่ายเงินกรณีบำเหน็จและบำนาญชราภาพแน่นอน นอกจากจะมีการออกพันธบัตรเพื่อกู้เงิน สปส.แล้ว พ.ร.บ.นี้จะออกพันธบัตรเพื่อใช้หนี้เงินสมทบที่รัฐค้างจ่าย สปส.เป็นเงินกว่า 80,000 ล้านบาทด้วย โดยที่ผ่านมาไม่มีการนำเงินให้รัฐบาลกู้ในลักษณะนี้มาก่อน และในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ สปส.ปล่อยเงินกู้
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับมติของ สปส.ให้รัฐบาลกู้เงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนและอนาคตของผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน เนื่องจาก สปส.ต้องทยอยจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตน หากนำเงินไปลงทุนจำนวนมากโดยไม่มีหลักประกัน อาจกระทบต่อการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ทั้งนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะขอเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านและสอบถามรายละเอียดอีกครั้ง
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 7/6/2558)
 
"แรงงาน" ยันไม่มีมติยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ยกเลิกอัตราค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และจะนำค่าจ้างแบบลอยตัวมาใช้นั้น ไม่เป็นความจริง โดยระบุว่าเป็นเพียงแค่แนวทางที่คณะผู้วิจัยของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ศึกษาและนำเสนอเพื่อรับฟังความเห็นเท่านั้น ไม่ใช่มติของคณะกรรมการค่าจ้างแต่อย่างใด
 
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะใช้ในปี 2559 นั้น คณะกรรมการค่าจ้างได้ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างประจำจังหวัด พิจารณาว่าจะปรับเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร โดยให้พิจารณาตามภาวะค่าครองชีพในพื้นที่แต่ละจังหวัด และเสนอมาให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณา หากจังหวัดใดไม่มีการปรับเพิ่ม ก็จะคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อไป ไม่มีการปรับลดค่าจ้างขั้นต่ำลดลงจาก 300 บาทอย่างแน่นอน โดยจะได้ข้อสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้
 
(มติชนออนไลน์, 8/6/2558)
 
"วิไลวรรณ" ยื่นหนังสือถึงบวรศักดิ์คงมาตรา 121 ไว้ เรียกร้องเพิ่มสิทธิ์เลือกตั้งในสถานประกอบการ
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เข้ายื่นหนังสือต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญ เพื่อสนับสนุนให้คงไว้มาตรา 121 ในร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.จังหวัดละ 1 คน จากการกลั่นกรองโดยคณะกรรมการ รวมทั้งหมด 77 คน และจากการสรรหาหรือเลือกกันเองอีก 173 คน รวมถึงยังขอเพิ่ม ส.ว.ด้านแรงงาน วิชาการชุมชนและท้องถิ่น จาก 30 คนเป็น 44 คน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ใช้แรงงานและองค์กรด้านอื่น ๆ เข้ามีส่วนร่วมสภาด้วย ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้เพิ่มสิทธิ์ในการเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการ เนื่องจากแรงงานจำนวนมากอาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่ ไม่สามารถย้ายทะเบียนราษฎร์เข้ามาได้ ซึ่งทำให้แรงงานเหล่านั้นไม่สามารถเลือก ส.ว. และ ส.ส.ตามเจตนารมณ์ของตนได้อย่างแท้จริง รวมถึงทำให้การแก้ปัญหาและการจัดสรรงบของรัฐไม่ตรงกับความเป็นจริง
 
(ไอเอ็นเอ็น, 8/6/2558)
 
นายกชี้ขึ้นค่าแรงไม่ได้ เผยค่าแรง 300 บาท เป็นอุปสรรคนักลงทุน-ต่างด้าวเข้าประเทศเยอะ
 
เมื่อเวลา 10.25 น. วันที่ 8 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการค่าจ้าง เตรียมพิจารณาโครงสร้างค่าจ้างใหม่ ว่า ขณะนี้จะหาเงินจากตรงไหนได้ที่จะมาขึ้นค่าแรง ขอถามหน่อย เรียกร้องอะไรกันมาบ้าง ค่าแรง ค่ารักษาพยาบาล การศึกษา แล้วรายได้เรามีหรือไม่ มีเพิ่มขึ้นหรือยัง เราต้องให้เวลาในการสร้างความเข้มแข็งตรงนี้ก่อน ตนบอกแล้วว่า ใครอยากจะขึ้นค่าแรง ต้องไปที่กระทรวงแรงงานในการไปทดสอบเรียนรู้ที่จะได้ค่าแรงตามคุณวุฒิ ถ้าค่าแรงเหมาจ่ายทั้งหมดมันไปกันไม่ได้ เพราะ 1.ไม่มีเงิน 2.ไม่มีใครเขาจ้าง แล้วจะทำอย่างไร
 
ตอนนี้ค่าแรง 300 บาท ส่วนใหญ่ใครเป็นคนได้ แรงงานต่างด้าวใช่หรือไม่ ถ้าขึ้นมาต้องขึ้นให้เขาด้วยหรือไม่ หรือไม่ต้องขึ้น ขึ้นแค่คนไทยอย่างเดียว รู้หรือไม่ว่าเป็นอย่างไร ต้องขึ้นทั้งประเทศ เท่ากับว่า เราให้คนต่างชาติเยอะแล้ว เขาจะมามากขึ้น เพราะคนไทยไม่ทำ อีกทั้งเขาจะเข้ามาประเทศไทยเพราะค่างแรงขั้นต่ำที่บ้านเขาอยู่ที่เพียง 100-150 บาท ไม่เกิน 200 บาท คิดแบบที่ตนคิดบ้าง ถ้ารวยเท่าไหร่ตนก็ให้ได้ แต่อย่าปลุกระดมออกมา มันจนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแรงงาน จะเอาอะไรกันนักหนา ก็รู้อยู่ว่าเรากำลังสร้างความเข้มแข็ง กำลังให้คนเข้ามาลงทุน แค่ 300 บาทก็หนักหนาสาหัสพออยู่แล้ว ที่เขาจะไม่ลงทุน ซึ่งนี่ไม่ใช่ความผิดของตนหรือของใคร แต่ไปถามซิว่าใครทำมา มันควรจะมาทีละขั้นตอนหรือไม่ แต่ถ้าจะก้าวกระโดดขึ้นไปอีก ตนให้ไม่ได้ เพราะไม่มีเงิน
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 8/6/2558)
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยออกโรงค้าน บอร์ดประกันสังคมอนุมัติ 2 แสนล้านให้รัฐกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หวั่นกระทบความมั่นคงผู้ประกันตน 
 
9 มิ.ย. 2558 นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังชักชวนกองทุนประกันสังคมเข้าร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลจำนวนเงิน 200,000 ล้านบาท และมีกรรมการบอร์ด สปส.บางคนเห็นว่าควรจะกระจายการลงทุน ว่า ในปีนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีงบประมาณในการลงทุนสูงที่สุด เป็นจำนวน 400,000 ล้านบาท คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในเรื่องการลงทุนที่เป็นยุทธศาสตร์ เป็นการลงทุนในภาครัฐต่างๆ เช่น การก่อสร้างระบบรถไฟ ระบบบริหารน้ำ เป็นต้น โดยจะแบ่งงบประมาณในการลงทุนไว้จำนวน 200,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลสามารถกู้ได้โดยมีข้อแม้ว่ารัฐ จะต้องออกพันธบัตรเพื่อค้ำประกันให้กับ สปส. และมีดอกเบี้ยให้ ประมาณร้อยละ 3-3.5 ซึ่งได้เสนอมติของบอร์ดไปยังกระทรวงการคลังแล้ว โดยกระทรวงการคลังเห็นชอบด้วยในหลักการ และหากจะดำเนินการต่อไปกระทรวงการคลังต้องออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อกู้เงิน
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในกรณีนี้เครือข่ายแรงงานมีความเป็นห่วงในเรื่องความมั่นคงและความคุ้มค่าในการลงทุน นายนครตอบว่า เรื่องของผลตอบแทนนั้นอาจจะไม่มากเท่ากับการนำเงินไปลงทุนใน ต่างประเทศ แต่ได้ผลตอบแทนในอัตราที่คุ้มค่า ส่วนเรื่องของความมั่นคงนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงเลย เพราะมีความมั่นคงแน่นอนเนื่องจากรัฐบาลเป็นประกัน ทั้งนี้จะมีการระบุรายละเอียดในเรื่องการจ่ายเงินคืนและผลตอบแทนไว้ใน พ.ร.บ. ซึ่งยืนยันว่าไม่กระทบต่อการจ่ายเงินกรณีบำเหน็จและบำนาญชราภาพแน่นอน นอกจากจะมีการออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินจาก สปส.แล้ว พ.ร.บ.นี้ก็จะออกพันธบัตรเพื่อใช้หนี้เงินสมทบที่รัฐค้างจ่าย สปส.เป็นเงินกว่า 80,000 ล้านบาทด้วย
 
นายนครกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไม่มีการนำเงินให้ รัฐบาลกู้ในลักษณะนี้มาก่อน และในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ นโยบายของรัฐบาลหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้ สปส.ปล่อยเงินกู้แต่เป็นมติของบอร์ดที่ต้องการนำเงินไปลงทุนภายในประเทศ ในปัจจัยที่มีความมั่นคงและถือเป็นการช่วยรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
 
ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ขอคัดค้านการนำเงิน สปส.ไปให้รัฐบาลกู้เงินจำนวน 200,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของ กองทุนและอนาคตของผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน เนื่องจาก สปส.จะต้องทยอยจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้ผู้ประกันตน หากนำเงินไปลงทุนจำนวนมากโดยไม่มีหลักประกันอาจกระทบต่อการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ดังกล่าว อีกทั้งบอร์ด สปส.ไม่มีการสื่อสารและชี้แจงรายละเอียดการลงทุนกับผู้ประกันตนที่เป็นเจ้าของเงิน ทั้งนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ทางเครือข่ายจะขอเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านและสอบถามรายละเอียดใน เรื่องดังกล่าว
 
(มติชน, 9/6/2558)
 
ผู้เสียหาย กว่า 300 คน ร้องกองปราบ ถูกหลอกทำงานไร่ผลไม้ ประเทศออสเตรเลีย เสียค่านายหน้า คนละ 3 หมื่น ถึง 1 แสนบาท
 
กลุ่มผู้เสียหาย กว่า 300 คน เข้าร้องทุกข์ต่อ พันตำรวจเอก อัคราเดช พิมลศรี รักษาราชการแทนผู้บังคับการปราบปราม หลังถูกหลอกไปทำงานไร่ผลไม้และอู่ต่อเรือ ที่ประเทศออสเตรเลีย เสียค่านายหน้าคนละ 3 หมื่น ถึง 1 แสนบาท แต่ไม่สามารถไปทำงานได้จริง
 
นายธีระวัฒน์ ต๊ะผัด หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า มีคนชื่อ  นายนัทชล  ชักชวนให้ไปทำงานที่ประเทศออสเตรเลีย ได้ค่าจ้างเดือนละ กว่า 1 แสนบาท แต่ต้องจ่ายค่านายหน้า 3 หมื่นบาท โดยนัดให้มาอบรมที่ กระทรวงแรงงาน ในวันนี้ แต่เมื่อมาถึงกลับไม่มีการจัดอบรมใด ๆ จึงรู้ตัวว่าถูกหลอก
 
ด้านนางบัวผัน ทองอ้ม  เล่าว่า มีนายหน้าชักชวนให้ไปทำงานไร่ผลไม้ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีภาพถ่ายมายืนยันว่า มีคนเคยไปทำงานจริง และจะได้รับเงินเดือน 5 ถึง 7 หมื่นบาท ตัวเองและสามีจึงตกลง ไปกู้เงิน มาจ่ายค่านายหน้าคนละ 5 หมื่นบาท โดยหวังว่าจะไปทำงานเก็บเงิน แต่กลับถูกหลอก
 
ด้านพันตำรวจเอกอัคราเดช เปิดเผยว่า เบื้องต้น จะสอบปากคำผู้เสียหายทั้งหมด เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
 
(ไอเอ็นเอ็น, 9/6/2558)
 
อุตสาหกรรมเครื่องหนังวิกฤติแรงงาน
 
นายวีระ เลิศเรืองปัญญาวุฒิ อุปนายกฝ่ายส่งเสริมการค้า สมาคมเครื่องหนังไทย กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรมค่อนข้างติดลบในช่วงที่ผ่านมา แต่อุตสาหกรรมเครื่องหนังของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักความต้องการใช้เครื่องหนังของไทยในต่างประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะแฟชั่นกระเป๋า รองเท้า และเครื่องหนังที่ผลิตควบคู่กับอุปกรณ์มือถือยังมีความต้องการสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
ทั้งนี้ หากดูปริมาณความต้องการสินค้าทั้งตลาดสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น มีสัดส่วนสูงขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยเติบโตมากกว่าร้อยละ 4 ซึ่งปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยได้ประชุมหารือร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าการส่งออกสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังจะมีสัดส่วนเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตมากกว่าร้อยละ 4 โดยปีนี้ทางสมาคมฯ ตั้งเป้าหมายกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนังจะเติบโตร้อยละ 4 จากเดิมเติบโตร้อยละ 8-12 เนื่องจากแม้ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกยังมีความต้องการอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทย แต่ยังมีบางประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ เชื่อว่าอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมาย
 
โดยปีนี้สมาคมฯ จะไม่วิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเลขการส่งออกแม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ ไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนด้านฝีมือแรงงาน จึงอยากให้รัฐบาลผลิตบุคลากรเข้ามาเสริมอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทย และเพื่อกระตุ้นยอดขายในประเทศ
 
นายวีระ กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ร่วมกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมจัดงานมหกรรมเครื่องหนังคุณภาพ 2015 ระหว่างวันที่ 19-28 มิถุนายนนี้ อาคารแสดงสินค้า 1-2 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รัชดาภิเษก เพื่อนำผู้ผลิตและผู้ประกอบเครื่องหนังไทยกว่า 200 บริษัท ร่วมกันเปิดโลกแฟชั่น สุดยอดเครื่องหนังคุณภาพส่งออก คาดตลอดการจัดงานจะมีเงินสะพัดมากกว่า 20 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 25,000 คน โดยสินค้าจะถูกกว่าตลาดค่อนข้างมาก
 
(บ้านเมือง, 9/6/2558)
 
รวบสาวแสบหลอกแรงงานเก็บองุ่นออสเตรเลีย กินหัวคิวคนละ 1 แสน
 
(9 มิ.ย.) ที่กองปราบปราม เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาการ ผบก.ป. พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง รอง ผบก.ป.พ.ต.อ.ประเสริฐ พัฒนาดี รอง ผบก.ป.และ พ.ต.อ.พลฑิต ไชยรส ผกก.3 บก.ป. แถลงข่าวจับกุม น.ส.ฐานิดา สิทธิฤกษ์ อายุ 40 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ ตามหมายจับคดีจัดหางานให้คนงานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง และฉ้อโกงทรัพย์ ได้ที่ลุมพินีคอนโด ตึก D4 ห้อง 128/9 ชั้น 1 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม.
       
พ.ต.อ.อัคราเดชกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายเรืองศักดิ์ ฝากไธสง และพวกกว่า 40 คน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ป. ให้ดำเนินคดีต่อ น.ส.ฐานิดา, น.ส.นัทที โกมลวานิช และน.ส.พัชรีญา บุญทวีสวัสดิ์ หลังจากทั้งสามร่วมกันหลอกลวงให้ไปทำงานเก็บผลไม้ที่ประเทศออสเตรเลีย โดยจะได้ค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท แต่ต้องจ่ายค่าดำเนินการรายละ 100,000-120,000 บาท แต่เมื่อจ่ายเงินให้แล้วกลับไม่ได้เดินทางไปทำงานตามที่กล่าวอ้าง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานก่อนขอศาลอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาทั้งสามราย จนกระทั่งเย็นวานนี้เจ้าหน้าที่สืบทราบว่า น.ส.ฐานิดาหลบซ่อนตัวอยู่ในลุมพินีคอนโดดังกล่าวจึงนำกำลังเข้าจับกุมตัว
       
สอบสวน น.ส.ฐานิดาอ้างว่าตนก็ตกเป็นผู้เสียหายเช่นกันเนื่องจากได้รับการชักชวนจาก น.ส.นัททีซึ่งอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลียว่าให้จัดหาคนทำงานให้ เมื่อตนได้เงินจากผู้เสียหายแล้วก็จะโอนไปยังบัญชีของ น.ส.พัชรีญาทันที แต่ทั้งนี้รายละเอียดอื่นๆ ขอให้การในชั้นศาล และยืนยันว่าตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ
       
พ.ต.อ.อัคราเดชกล่าวว่า ในส่วนคดีนี้เจ้าหน้าที่ได้สืบสวนจนทราบว่าผู้ต้องหามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในขบวนการหลอกแรงงานไปเก็บองุ่น ขณะนี้ยังเหลือผู้ต้องหา 2 รายที่หลบหนีการจับกุม โดย น.ส.นัททีมีหมายจับอยู่ 3 หมาย และคาดว่ายังคงกบดานอยู่ในประเทศไทย และ น.ส.พัชรีญาเบื้องต้นทราบว่ากบดานอยู่ที่ต่างประเทศ ทั้งนี้ได้ประสานข้อมูลและหมายจับเพื่อขึ้นแบล็กลิสต์ต่อไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ บก.ป.จะเร่งดำเนินการติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากคดีดังกล่าวมีผู้เสียหายจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อยากฝากประชาชนว่าก่อนไปทำงานที่ต่างประเทศควรตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงแรงงานให้ดีก่อน ไม่เช่นนั้นจะตกเป็นเหยื่อของขบวนการดังกล่าวได้
       
ต่อมาภายหลังการแถลงข่าว นายวิรัตน์ ศรีสัมพันธุ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน ได้นำผู้เสียหายจำนวน 300 คนที่ถูกนายหน้าหลอกให้ไปเก็บองุ่นที่ออสเตรเลียเดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.อัคราเดช เพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อนายณัฐชล ใจอ้าย นายหน้าหลอกแรงงานไปทำงานที่ออสเตรเลียเช่นกัน
       
นายธีรวัฒน์ ต๊ะพัด อายุ 25 ปี หนึ่งในผู้เสียหายให้การว่า นายณัฐชลอ้างว่าตัวเองเป็นนายหน้าหาแรงงานไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น เก็บองุ่น และทำงานเป็นช่างอู่ต่อเรือ โดยได้ค่าจ้างเดือนละ 1 แสนบาท แต่ต้องจ่ายค่าดำเนินการรายละ 30,000 บาท ตนหลงเชื่อจ่ายเงินไป 30,000 บาท จากนั้นนายณัฐชลนัดให้ตนมาอบรมก่อนเริ่มงานที่กระทรวงแรงงาน ทันทีที่มาถึงก็ขึ้นไปที่ห้องประชุมตามที่นัดหมาย แต่ปรากฏว่าไม่พบตัวนายหน้าคนดังกล่าว และเมื่อสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานกลับพบว่าไม่มีการอบรมใดๆ จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ก่อนตัดสินใจมาแจ้งความเพื่อให้ช่วยติดตามให้ เนื่องจากทราบว่าก่อนหน้านี้มีผู้ถูกหลอกในลักษณะคล้ายกัน เชื่อว่าเป็นขบวนการเดียวกัน 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9/6/2558)
 
แนะรัฐปิดช่องโหว่ยกเลิกค่าแรงขั้นต่ำ
 
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ถึงการยกเลิกการกำหนดค่าแรงขั้นต่่ำอัตราเดียวทั่วประเทศว่า การชี้แจงของกระทรวงแรงงานล่าสุดนั้นหมายความว่า ไม่ได้ยกเลิก และจะไม่มีจังหวัดไหนที่จะถูกลดค่าแรงลงมา ซึ่งตนมองว่ากระทรวงแรงงานทำถูกต้อง แต่จากนี้ไปจังหวัดไหนจะปรับเพิ่ม จะนำระบบค่าจ้างแบบลอยตัวมาใช้ คือไม่ต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศนั้น ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยระบบค่าจ้างแบบลอยตัวนั้นจะทำให้อำนาจต่อรองของลูกจ้างไม่มี จะขึ้นอยู่ที่นายจ้างเป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการจะชอบ โรงงานต่าง ๆ อาจจะไปเปิดในต่างจังหวัดมากขึ้นก็เป็นได้ เพราะค่าแรงในต่างจังหวัดจะถูกกว่าในเมืองหลวง
 
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่การใช้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ จะทำให้การอพยพเข้ามาทำงานในเมืองหลวงและปริมณฑลนั้นลดลง ปัญหาครอบครัวของคนระดับล่างก็จะไม่ล้มเหลวและแตกแยก เพราะไม่ต้องไปทำงานกันคนละที่คนละทาง แต่นายจ้างจะออกมาบอกว่า แบกต้นทุนค่าแรงสูงไม่ไหว หรือกำไรน้อยลง ดังนั้น จึงขึ้นอยู่ที่จุดยืนของนโยบายว่าจะเอาอย่างไร ถ้าหากจะให้ลูกจ้างได้ประโยชน์ก็ต้องอัตราเดียวทั่วประเทศ แต่ถ้าจะให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการมีความคล่องตัวก็ต้องใช้ระบบค่าจ้างแบบลอยตัว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 แบบนั้นมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ มิติที่แตกต่างกัน อยู่ที่รัฐบาลว่าจะเอาอะไรเป็นเป้าหมายใหญ่ ถ้าประเทศเป็นของประชาชน ศูนย์กลางก็ต้องเป็นประชาชน 
 
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะต้องมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาเสริมด้วยเพื่อปิดช่องโหว่ที่เป็นข้อเสียของทั้ง 2 แบบ ถ้าไม่มี ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็อาจจะมากขึ้น เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าว ถ้าจะยกระดับชีวิตคนระดับล่างก็ต้องใช้วิธีนี้ ซึ่งอาจจะมีจุดอ่อนเยอะ เพราะมีช่องให้ทุจริตได้ง่าย เนื่องจากทุกขั้นตอนสามารถรั่วไหลได้ตลอด แต่ก็ต้องไม่ไปแทรกแซงจนฝืนกลไกของตลาดให้มากนัก เพราะข้าวตันละ 15,000 บาทในโครงการรับจำนำข้าวนั้น คนจะโยกกลับไปอยู่ภาคเกษตรกันหมด จะทำอย่างไรไม่ให้แรงงานทะลักไปภาคเกษตร ก็ต้องดึงค่าแรงให้สูงเพื่อให้สมดุลกัน จะเห็นได้ว่าโครงการจำนำข้าวกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทนั้นก็เชื่อมโยงกันอยู่ด้วย
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 9/6/2558)
 
อาชีวศึกษานำร่องสมุดพกความดี แก้ปัญหาขาดแรงงาน
 
จากการที่รัฐบาลกำหนดให้การปฏิรูปการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือของไทย ทำให้การศึกษาสายอาชีพ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้มีผู้เรียนสายอาชีวะ เพื่อผลิตแรงงานประเภทมีฝีมือ เข้ามาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาของชาติมากขึ้น
 
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงความต้องการของตลาดแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับการเลือกเรียนสายอาชีพของเยาวชน ที่นิยมเลือกสายสามัญมากกว่า แต่หลังจากรัฐบาลส่งเสริมการศึกษาสายอาชีพ การอาชีวศึกษาจึงได้ปรับภาพลักษณ์ใหม่ หวังสร้างคนคุณภาพ ทั้งมีวินัยอุตสาหกรรม และ เป็นคนดีของสังคม
 
ดังนั้น การอาชีวศึกษา จึงได้จัดเสริมหลักสูตรแฝงเพื่อปลูกจิตสำนึกสาธารณะ ผ่านโครงการนำร่องหนังสือเดินทางความดี หรือ อาร์ พาสปอร์ต ซึ่งหมายถึงหนังสือบันทึกความประพฤติระหว่างการศึกษา เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่านักเรียนคนนั้นมีความประพฤติที่ดี อยู่ในกรอบวินัย โดยได้ทำเป็นบันทึกข้อตกลงกับสภาหอการค้าไทย และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อให้รับเด็กเหล่านี้เข้าทำงาน ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างช่วงทดลองขยายผล และ ทำการวิจัยควบคู่กันไป โดยคาดว่าจะใช้ได้ทั่วทั้งประเทศในปีหน้า 
 
เบื้องต้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้วิเคราะห์และประเมินตัวเลขการขาดแคลนแรงงานของประเทศไทย พบว่า ขณะนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าตัวเลขความต้องการแรงงานของภาคอุตสาหกรรม ปี 2556 จำนวน 5.85 ล้านคน และ ปี 2557 จำนวน 5.91 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนผู้เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 5.46 ล้านคน กับ 5.51 ล้านคน ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2556 เกิดปัญหาการขาดแคลน 3.9 แสนคน และ ในปี 2557 ขาดแคลนแรงงานเพิ่มเป็น 400,000 คน 
 
โดยมีสาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขาดแคลนเป็นลำดับต้นๆ รองลงมา เป็นอุตสาหกรรมทางด้านยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติก ไม้ เครื่องเงิน อัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ตามลำดับ และมีแนวโน้มที่การขาดแคลนแรงงานจะเพิ่มมากขึ้น สืบเนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรไทยที่ลดลง ขณะเดียวกันความต้องการทางด้านแรงงานที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนปัญหาว่าการผลิตแรงงานในสายอาชีพ โดยเฉพาะสายช่างยังไม่เพียงพอกับความต้องการ
 
(ครอบครัวข่าว, 10/6/2558)
 
กกร.เตรียมถกปรับขึ้นค่าแรงปี 59 ก.ค.นี้
 
(10มิ.ย.58) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในเดือนหน้า จะมีการหารือถึงการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างของปี 2559 โดยจุดยืนของ ส.อ.ท. จะเสนอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างเป็นรายพื้นที่ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ และค่าครองชีพของแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน การปรับขึ้นค่าจ้างจึงไม่ควรมีอัตราเท่ากันทั้งประเทศและการที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ ก็ควรถูกนำพิจารณาถึงอัตราค่าจ้างในปีหน้าด้วย
 
ทั้งนี้ ภาคเอกชนไม่อยากให้เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะผู้ที่จ่ายค่าแรงคือผู้ประกอบการไม่ใช่นักการเมือง และภาครัฐควรคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากในอดีต ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมบ้างรายต้องปิดกิจการลง
 
ด้านพลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวานนี้( 9 มิ.ย.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงกระแสข่าวการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยยืนยันว่า ยังอยู่ในขั้นการศึกษาวิธีการกำหนดอัตราค่าจ้าง ว่าควรจะกลับไปใช้แบบเดิมที่ให้คณะกรรมการกำหนดค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้กำหนดอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ และขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือปรับเปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น
 
(TNN24, 10/6/2558)
 
สมาคมประมงลั่นปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ไม่กระทบภาคประมง
 
นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลากล่าวว่า กระทรวงแรงงาน จะขึ้นค่าแรงวันละมากกว่าวันละ 300 บาทนั้น  แรงงานในภาคประมงไม่ได้รับผลกระทบและไม่เดือดร้อนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง  เนื่องจากแรงงานในภาคประมงทำงานแบบล่าเปอร์เซ็นต์มายาวนาน และพอใจกับการคิดค่าแรงโดยวิธีเช่นนี้  เพราะขยันทำงานมากได้เงินมาก ซึ่งมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทหลายเท่า  แต่อาจจะกระทบกับธุรกิจอื่น
 
ขณะที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี ประธานกรรมการบริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนล ฟูดส์ จ.สงขลากล่าวว่า จากกระแสข่าวว่ากระทรวงแรงงานจะปรับขึ้นค่าแรงจากวันละ 300 บาทนั้น  กระทรวงแรงงานต้องมีความชัดเจน เข้าใจในรายละเอียด  ต้องพิจารณาครอบคลุมทุกมิติ  และนั่งพูดคุยกันทุกภาคส่วนก่อนๆนำเสนอสาธารณะ  จากกรณีที่รัฐบาลชุดก่อนได้ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ซึ่งสนองนโยบายประชานิยมที่หาเสียงไว้  ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายตัวไปแล้ว  บางธุรกิจทนขาดสภาพคล่องไม่ไหวต้องชิงปิดตัวเองไปก็มี
 
(มติชน, 10/6/2558)
 
ทีดีอาร์ไอเสนอรวมระบบประกันสุขภาพเป็นหนึ่งเดียว
 
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการประชุมระดมความคิดเห็นในหัวข้อเรื่อง "กลไกกลางเพื่อการบูรณาการระบบหลักประกันสุขภาพ" ขึ้น เนื่องจากปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพที่รัฐจัดให้ประชากรไทยมีด้วยกัน 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2.ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และ 3.ระบบประกันสังคม ซึ่งทั้ง 3 ระบบมีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านการให้บริการ การได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และการบริหารจัดการ ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมจากสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ดังนั้น การประชุมระดมความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนออันจะนำไปสู่การใช้ พ.ร.บ.สร้างความกลมกลืนของระบบประกันสุขภาพ รวมถึงเป็นกลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการรักษาพยาบาล และการจัดระบบที่มีเอกภาพมากยิ่งขึ้น
 
ที่ประชุมระดมความคิดเห็นซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ คณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และประธานอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม และ ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านกฎหมายเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ ดำเนินการอภิปรายและนำเสนอภาพรวมผลการศึกษา โดยจากการศึกษากรณีตัวอย่างต่างประเทศที่มีกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลหลายกองทุน แต่สามารถให้สวัสดิการพื้นฐานที่ทัดเทียมกันแก่ประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งได้มีการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มผู้ใช้สวัสดิการ กลุ่มผู้ให้บริการสุขภาพ และกลุ่มสวัสดิการทั้ง 3 ระบบ
 
ทั้งนี้ การศึกษาได้จัดทำร่างข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ โดยเสนอให้จัดตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Council on Health Insurance) เป็นกลไกลกลางในการสนับสนุนในเกิดการเจรจา และนำไปสู่ความเป็นธรรมในการได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ และมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ โดยคณะกรรมการสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ มีหน่วยงานภาครัฐ 3 กระทรวง ได้แก่ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน มีผู้แทนหน่วยงานผู้รับประกันจำนวน 3 คน แบ่งเป็น กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้แทนผู้ให้บริการ 3 คน ได้แก่ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่น และผู้แทนภาคเอกชน มีผู้แทนผู้รับบริการ 3 คน ได้แก่ ผู้แทนข้าราชการ 1 คน ผู้แทนผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าประกันสังคม 1 คน และประชาชนผู้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1 คน และมีกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม.แต่งตั้งอีก 3 คน โดยมาจากสาขาการแพทย์และสาธารณสุข สาขาการเงินการคลังและการประกันสุขภาพ และสาขาสังคมศาสตร์และการคุ้มครองผู้บริโภคสาขาละ 1 คน เป็นกรรมการ
 
ทั้งนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ใช้สวัสดิการ กลุ่มผู้ให้บริการสุขภาพ และกลุ่มสวัสดิการทั้ง 3 ระบบนั้น คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอให้ที่จะประชุมในวันที่ 8 มิถุนายน ก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการประสานระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีนายอัมมาร สยามวาลา วิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี.
 
(ไทยโพสต์, 10/6/2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net