‘ยิ่งลักษณ์’ ส่งตัวแทนส่งขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา ป.ป.ช. ปมจ่ายเยียวผู้ได้รับผลกระทบการชุมนุม

เมื่อวันที่ 9 มิ.ยที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารับทราบข้อกล่าวหากรณีดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2548-2553 โดย ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง แต่ได้ส่ง นายบุญเฉลียว ดุษฎี ในฐานะตัวแทนเข้าขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.

วิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณาว่าจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ ว่า ขึ้นอยู่กับองค์คณะไต่สวน อีกทั้งเรื่องนี้คงต้องถามความชัดเจนจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เพราะรับผิดชอบสำนวนนี้ ทั้งนี้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวน่าจะพิจารณาโดยเร็ว ไม่ต้องการให้ยืดเยื้อ

โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดให้ผู้ถูกกล่าวหาในส่วนของอดีตรัฐมนตรี 34 คน ให้ทยอยรับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่วันนี้ (9 มิ.ย.) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558

สำหรับรายชื่ออดีตรัฐมนตรีที่ ป.ป.ช.นัดหมายให้รับทราบข้อกล่าวในวันนี้ (9 มิ.ย.) ได้แก่ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.), ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี, กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนลินี ทวีสิน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สมชาย แสวงการ ให้ข้อมูล ป.ป.ช. ยันมีชายชุดดำ

ด้าน สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะอดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลต่อองค์คณะไต่สวนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) กรณีถอดถอน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และพระสุเทพ ปภากโร หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กรณีสั่งการสลายการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553

สมชาย กล่าวภายหลังเข้าให้ข้อมูลกว่า 2 ชั่วโมง ว่า วันนี้ (9 มิ.ย.) ได้นำข้อมูลที่คณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในเหตุการณ์ นิติเวช  ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาประกอบกัน มาให้กับองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 มีกองกำลังติดอาวุธ หรือ ชายชุดดำ จำนวน 2-3 กลุ่ม และมีการใช้อาวุธสงคราม เช่น M79 , M16 , AKA , ระเบิด M67 และระเบิด C4  นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการชันสูตรศพ ภาพถ่ายในเหตุการณ์ คลิปวีดีโอจากสื่อมวลชน และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท