Skip to main content
sharethis

แม้ว่าพรรคสายอนุรักษ์นิยมอย่าง 'เอเคพี' จะยังคงชนะคะแนนในการเลือกตั้งทั่วไปในตุรกีแต่ก็สูญเสียคะแนนอย่างมากจนทำให้ไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้ายอย่าง 'เอชดีพี' ที่แม้จะเป็นรองแต่ก็ทำได้ดีขึ้นกว่าครั้งก่อนมาก หลังจากที่พรรครัฐบาลเดิมทำประชาชนเสื่อมศรัทธาในหลายๆ ด้าน


การเลือกตั้งล่วงหน้าโดยชาวตุรกีที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี เมื่อเดือน พ.ค. 2558
(ที่มาภาพ :
Flickr)


ภาพการส่งรายชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่ง ส.ส.ของพรรคเอเคพี เมื่อเดือน เม.ย. 2558
(ที่มาภาพ :
Wikipedia)


บรรยากาศการเลือกตั้งที่ศูนย์ประชุมโอลิมเปียของกลุ่มชาวตุรกีที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน
(ที่มาภาพ :
Wikipedia)


เซลาฮัตติน เดมีร์ตัซ จากพรรคเอชดีพี พรรคฝ่ายซ้ายที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
(ที่มาภาพ :
Wikimedia)

 

9 มิ.ย. 2558 การเลือกตั้งทั่วไปในตุรกีเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผลออกมาว่าพรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือ 'เอเคพี' (AKP) ซึ่งเป็นพรรคสายขวากลางยังคงได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งมากที่สุดคือร้อยละ 40.9 รองลงมาคือพรรคสาธารณรัฐประชาชนหรือ 'ซีเอชพี' (CHP) ซึ่งเป็นพรรคซ้ายกลางเสรีนิยมได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 25 ตามมาด้วยพรรคขบวนการชาตินิยมหรือ 'เอ็มเอชพี' (MHP) ร้อยละ 16.3 และพรรคประชาธิปไตยประชาชนหรือ 'เอชดีพี' (HDP) ร้อยละ 13.1

จากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ตุรกีครั้งล่าสุดนี้พบว่าพรรคเอเคพีสูญเสียคะแนนเสียงไปร้อยละ 8.9 ขณะที่พรรคเอชดีพีได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ทั้งนี้ยังถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มี ส.ส. ผู้หญิงได้รับเลือกเข้าไปในสภามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของตุรกีคือ 97 คน

สำนักข่าวบีบีซีระบุว่าพรรคเอเคพีได้รับคะแนนนิยมลดลงอย่างมากจากคราวที่แล้ว ซึ่งในระบบผู้แทนแบบสัดส่วนในตุรกีทำให้พรรคเอเคพีไม่สามารถจัดตั้งรัฐสภาเสียงข้างมากได้เนื่องจากคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่เพียงพอและถูกบีบให้ต้องจัดระบบรัฐบาลผสม แต่ดูเหมือนว่ายังไม่มีพรรคการเมืองใดแสดงเจตจำนงต้องการเข้าร่วมด้วย

มาร์ค โลเวน ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานจากเมืองอิสตันบูลระบุว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ทำให้เกิดการเมืองยุคใหม่ในตุรกี ถึงแม้ว่าพรรคเอเคพีจะยังคงมีฐานเสียงจากฝ่ายอิงศาสนาและชาวตุรกีอนุรักษ์นิยม แต่พลังครอบงำทางการเมืองโดยพรรคเอเคพีตลอด 13 ปีที่ผ่านมาในตุรกีกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์ระบุว่าเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกาน หัวหน้าพรรคเอเคพีมีการหาเสียงในเชิงต่อต้านผู้แทนที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เพื่อเอาใจฐานเสียงกลุ่มอนุรักษ์นิยมทางศาสนา แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้ลงสมัครชาว LGBT คนใดสามารถชิงที่นั่งในสภาได้เลย แต่พรรคสนับสนุนชาวเคิร์ตอย่างพรรคเอชดีพีที่สามารถชนะคะแนนเสียงเกินร้อยละ 10 ทำให้เข้าไปมีบทบาทในสภาได้ก็ให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่ม LGBT ซึ่งพรรคฝ่ายซ้ายอย่างเอชดีพีได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมากจากการเลือกตั้งปี 2544 ที่ได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 5

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนนำเสนอเรื่องราวของ เซลาฮัตติน เดมีร์ตัซ ผู้มีสมญานามว่า "โอบาม่าชาวเคิร์ด" จากรูปลักษณ์ภายนอกและวิธีการพูดของเขา เขาเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงพรรคเอชดีพีให้เป็นพรรคเสรีนิยมกระแสหลักและได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวเคิร์ดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้ ซึ่งฐานเสียงของเขานอกจากชาวเคิร์ดซึ่งเป็นประชากรร้อยละ 20 ของประเทศตุรกีแล้วยังมาจากผู้หญิง กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และกลุ่มชาวตุรกีที่ไม่ฝักใฝ่ศาสนา

เดมีร์ตัซประกาศว่าพรรคของเขาได้รับคะแนนเสียงจากกลุ่มแรงงาน คนว่างงาน ชาวบ้าน ชาวนา ผู้ที่ถูกกดขี่และต้องการความยุติธรรม ต้องการสันติและเสรีภาพ ซึ่งก่อนหน้านี้เออร์โดกานเคยหาเสียงโจมตีเดมีร์ตัซว่าเป็น "พวกนอกศาสนา" หลังจากเขาสัญญาว่าจะยุบฝ่ายกิจการศาสนาของรัฐบาลตุรกี

สำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ตุรกีในครั้งนี้มีประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตของรัฐ และสถานการณ์ชาวเคิร์ดเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งผลของการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสินว่าพรรครัฐบาลซึ่งนำโดยประธานาธิบดีเออร์โดกานในปัจจุบันจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเองได้หรือไม่ โดยพรรคเอเคพีต้องชนะที่นั่งในสภาให้ได้ 2 ใน 3 จากทั้งหมด 550 ที่นั่งถึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ในประเด็นเรื่องชาวเคิร์ด ทางการตุรกีกำลังดำเนินการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มกบฏพีเคเค (PKK) ซึ่งกระบวนการสันติภาพจากข้อเสนอของพรรคเอเคพีได้รับการสนับสนุนจากทั้งพรรคเอชดีพีและพรรคสาธารณรัฐประชาชน มีเพียงพรรคขบวนการชาตินิยมเท่านั้นที่ต่อต้านการเจรจา

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นโดยสำนักงานของพรรคเอชดีพีถูกโจมตีด้วยระเบิดในวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา และมีการโจมตีการเดินขบวนในเมืองดิยาร์บากีร์ที่มีชาวเคิร์ดอาศัยอยู่จำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีการประท้วงต่อต้านการใช้กำลังโจมตีจนเกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเล็กน้อย

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจซึ่งพรรคใหญ่ทั้ง 3 พรรคยกเว้นพรรครัฐบาลเอเคพี ให้สัญญาว่าจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่พรรคเอเคพีกลับกล่าวโจมตีนโยบายขึ้นค่าแรงโดยอ้างว่า "จะทำให้คนตกงานมากขึ้น"

แม้ว่าพรรคเอเคพีจะได้รับการชื่นชมเรื่องการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับต่างชาติ แต่ผู้คนบางส่วนก็รู้สึกว่ารัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่นและให้สวัสดิการประชาชนไม่มากพอ อีกทั้งยังมีปัญหาคนตกงานและคนที่ยากจนในระดับต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนถึงร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความถดถอยด้านสิทธิมนุษยชน การปิดกั้นสื่อที่เพิ่มมากขึ้น และการแสดงออกเชิงอำนาจนิยมมากขึ้นโดยพรรครัฐบาล

 

เรียบเรียงจาก


ข้อมูลเพิ่มเติม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net