เลิกจ้าง 4 พนักงาน บริษัทผลิตรายการข่าว ฐานทัศนคติทางการเมืองขัดนโยบายบริษัท

เลิกจ้าง 4 พนักงาน บริษัทผลิตรายการข่าว หลัง คนหนึ่ง ถูกจับกุมหน้าหอศิลป์ และอีกสามคนเดินทางไปให้กำลังใจที่ สน. ปทุมวัน บริษัทชี้ทัศนคติทางการเมืองขัดนโยบายบริษัท

8 มิ.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า 4 พนักงานบริษัทผลิตรายการข่าวถูกเลิกจ้าง เนื่องจาก “มีทัศนคติหรือเจตจำนงทางการเมืองที่ขัดต่อแนวนโยบาย และแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท” ประกอบด้วย อนุชา รุ่งมรกต ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ และ แอน(ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง)

ขณะที่การเลิกจ้างพนักงานในครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการที่รายการบางรายการของบริษัทหมดสัญญากับช่อง และบางรายการถูกยกเลิกสัญญา ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง โดยมีพนักงานถูกเลิกจ้างทั้ง 21 คน โดย 16 คนถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และบริษัทยินดีที่จะให้เงินชดเชยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 1 คน ถูกเลิกจ้างโดยมีฐานความผิดรับจ้างทำงานให้บริษัทอื่น และอีก 4 คน ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางการเมือง

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง โปร์ดิวเซอร์รายการ ให้ข้อมูลว่า กรณีการเลิกจ้าง 4 พนักงานมีความแตกต่างกันไป สำหรับ อนุชา รุ่งมรกต ตำแหน่งช่างภาพรายการ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมบริเวณหน้าหอศิลป์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ถูกเลิกจ้างเป็นคนแรกในกลุ่มฐานความผิดเดียวกัน เนื่องจากบริษัทอ้างว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองของ อนุชา อาจถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท อาจทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง และขัดต่อแนวนโยบายการดำเนินธรุกิจของบริษัท

อนุชา รุ่งมรกต ใส่เสื้อเชิ้ตสีดำแถวล่าง

ชุมาพร เล่าต่อไปว่า อนุชาถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลทางการเมือง เนื่องจากเขาถูกจับกุมตัวหน้าหอศิลป์ จากเดิมหากตัดเหตุผลทางด้านการออกไป เขาทำงานกับบริษัทมาเกิน 1 ปีแล้ว การที่จะเลิกจ้าง ควรได้เงินชดเชยทั้งหมด 3 เดือน แต่กลับได้เพียงเงินเยียวยาเพียง 1 เดือน

ส่วนในกรณีของ 3 คนที่เหลือ ไม่ได้ถูกจับกุมตัว แต่ได้ไปที่หน้าหอศิลป์จริง และในช่วงที่มีความวุ่นวาย พวกเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาไปช่วยเหลือ เดฟ นักศึกษา ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกาย และพวกยืนยันว่าในคืนวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา เขาไปให้กำลังใจเพื่อนที่ถูกจับกุมที่ สน.ปทุมวัน จริง แต่ก็ไม่ได้เป็นการชุมนุมทางการเมือง

ชุมาพร ให้ข้อมูลอีกว่า กรณีของตน ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ โคโปร์ดิวเซอร์ และ แอน โคโปร์ดิวเซอร์ ถูกทางบริษัทเรียกเข้าพบ 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกมีการแจ้งว่าจะเลิกจ้างทั้งสาม 3 คน เนื่องจากมีทัศนคติทางการเมืองที่ขัดต่อแนวนโยบายของบริษัท และทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง แต่ตนก็พยามแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 3 คน ไม่ได้แสดงตนว่าไปในนามของบริษัท หรือใช้ชื่อของบริษัทไปกระทำการใด และการออกมาที่หอศิลป์ครั้งนั้นก็เป็นช่วงนอกเวลางาน

ขณะที่การเรียกเข้าพบของทางบริษัทในครั้งที่ 2 ได้มีการพูดเจรจากันว่า เนื่องจากกรณีของทั้ง 3 คน ไม่ปรากฏลักษณะความผิดที่ชัดเจน บริษัทยินยอมที่จะให้เงินชดเชยครบตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีเงือนไขว่า ทั้ง 3 คน ต้องยอมเซ็นชื่อในใบลาออก พร้อมกับเซ็นชื่อในใบเลิกจ้าง เนื่องจากบริษัทต้องการปรับลดจำนวนพนักงาน ซึ่งไม่ได้ระบุฐานความผิดไว้ โดยบริษัทอ้างว่า เพื่อเป็นการป้องกันการถูกฟ้องร้องจากพนักงานทั้ง 3 คนในภายหน้า หากใครไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะให้ใบเลิกจ้างที่มีฐานความผิดทางการเมือง ซึ่งบริษัทย้ำว่าจะทำให้มีความลำบากในการหางานทำต่อไป  และการให้เงินชดเชยในกรณีนี้อาจะได้รับไม่เต็มจำนวนตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ชุมาพร และธนาพงษ์เลือกไม่เซ็นชื่อในใบลาออกและยืนยันว่าการแสดงออกทางการเมืองของตนเองมีความชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่บริษัทได้จ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด

“นี่เป็นเรื่องผิดกฎหมายเลยนะ มันบีบคอบังคับให้พนักงานเซ็นใบลาออก ซึ่งมันไม่ถูกต้อง ไม่เครื่องยืนยันได้เลยว่าเราจะได้รับสิทธิเหมือนกับกรณีที่ถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัทก็อาจจะอ้างได้ว่า คุณลาออกเอง แล้วก็มีหลักฐานครบ ฉะนั้นเรากับธนาพงษ์ ไม่ยอมเซ็น ส่วนน้องอีกคนจำเป็นต้องเซ็น เพราะกังวลปัญหาในอนาคต เนื่องจากวางแผนจะไปเรียนต่อต่างประเทศ” ชุมาพรกล่าว

ชุมาพร ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า การเลิกจ้างพนักงานด้วยเหตุผลทางการเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม เพราะตลอดช่วงเวลาที่ตนทำงานมาไม่เห็นในนามของบริษัท ในการแสดงจุดยืนทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นเรื่องของปัจเจก และงานที่ตนทำก็ไม่ได้มีการสอดแทรกประเด็นทางการเมืองที่โน้มเอียงเข้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกครั้งที่มีประเด็นทางสังคม หรือประเด็นทางการเมืองที่เป็นข้อถกเถียงกันในสังคม ตนก็จัดรายการโดยการเชิญแขกรับเชิญที่มีความคิดหลากหลาย การกระทำของบริษัทในครั้งนี้ทำให้ตนไม่มั่นใจว่า มีสาเหตุที่แท้จริงจากอะไร

ด้านบริษัทได้ออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า ทางบริษัทได้มีการให้นโยบายไปแล้วก่อนหน้านี้ว่า ในสถานการณ์การเมืองที่มีกฎหมายพิเศษ ทางบริษัทไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานกระทำการในลักษณะหมิ่นเหม่ที่จะละเมิดต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัท เมื่อมีการละเมิดนโยบายจึงพิจารณาให้ออก (อ่านที่นี่

หมายเหตุ มีการเพิ่มเนื้อหาข่าว (10 มิ.ย.) 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท