“ประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ” นักวิชาการชี้ ยกเลิก ม.44 ก่อนประชามติ

วงเสวนา “ประชามติอย่างไร ไม่เสียของ” นักวิชาการชี้ ยกเลิก ม.44 ก่อนประชามติ และเสนอทางเลือกหากประชาชนไม่เอา รธน. ต้องไม่กลับสู่วงจรเดิม พร้อมเปิดผลโหวตหาก รธน. ไม่ผ่าน ให้ทำอย่างไรต่อ

7 มิ.ย. 2558 เวลา 13.15 น. ที่โรงแรมบางกอกชฎา เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 4 องค์กร คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เว็บไซต์ไทยพับลิก้า เว็บไซต์ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย จตุรงค์  บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย และสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข จากเว็บไซต์ประชาไท

ทั้งนี้ นอกจากการเสวนา ตัวแทนเว็บไซต์ประชามติได้เปิดผลสำรวจของเว็บที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.-4 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวต 1,000 คนเศษ ในแต่ละข้อ ผลลัพธ์ได้แก่ (1)ให้นำรัฐธรรมนูญ2540 กลับมาใช้ เห็นด้วย 84% ไม่เห็นด้วย 16% (2) ให้นำรัฐธรรมนูญ2550 มาใช้ เห็นด้วย 20% เห็นด้วย 80% (3) ให้ประชาชนเลือก สสร. เห็นด้วย 87% ไม่เห็นด้วย 13% (4) ให้ คสช.แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างใหม่ เห็นด้วย 14% ไม่เห็นด้วย 86% (5) ให้ สนช.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นด้วย 13% ไม่เห็นด้วย 87% (6) ให้คสช.หยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย 74%

ชมคลิปงานเสวนาฉบับเต็ม จากทีมPITV

ประชามติเสียของหรือไม่ ต้องดูที่ร่าง รธน. หลังการแก้ไข

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับบนี้มีการเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จากการที่มีหลายคนเข้าไปนั่งเป็น สปช. และสิ่งที่เห็นออกมาชัดเจนก็คือเรื่องของ สิทธิพลเมือง แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังคงเป็นปัญหา และมีการถกเถียงกันอยู่ โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า มีบางประเด็นที่หากไม่แก้ไขจะทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั่นคือ 1.การเลือกวุฒิสมาชิกที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดหนึ่งเลือกแล้วให้ประชาชนเลือกจากตรงนั้นอีกทีซึ่งขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ทำไมให้ประชาชนเลือกเองโดยตรง เพราะไม่เชื่อมั่นประชาชนหรืออย่างไร 2.การควบรวมสององค์กรเข้าด้วยกันคือ คณะกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งที่หลักการพื้นฐานและอำนาจหน้าที่ของสองแห่งนี้แตกต่างกัน ทำงานกันคนละเรื่องกัน 3. เรื่องระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง อย่าบีบฝ่ายตรงข้ามจนไม่มีทางออก เจตนาผู้ร่างอาจต้องการทำให้การเมืองโปร่งใส แต่บางครั้งก็ต้องรอบคอบเพราะพรรรคการเมืองสองพรรคในไทยต่างก็มีฐานมวลชนกว้างขวาง

จตุรงค์กล่าวอีกว่า หากมีการทำประชามติแล้วผลที่ออกมาคือไม่ผ่าน คิดว่าก็ต้องกลับไปร่างกันใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็เขียนเอาไว้แล้วว่าต้องทำอย่างไรถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน  แต่ก็มีข้อเสนออื่นๆ อีกมาก แต่คิดว่าทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการกลับไปเริ่มต้นใหม่ ซึ่งก็จะมีผลทำให้เกิดการยึดเวลาของรัฐบาลออกไปอีก ก็อาจจะสร้างความอึดอัดให้กับคนกลุ่มหนึ่งที่อยากให้เกิดการเลือกตั้งเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งอาจจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อประเทศไทยด้วย ฉะนั้นหากจะมีการทำประชาติ ที่ใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท หากแค่ได้ผลลัพธ์เพียงผ่านหรือไม่ผ่านน่าจะไม่คุ้มค่า ควรมีข้อมูลที่นำไปใช้ต่อได้ กกต.สามารถออกแบบให้ลงรายละเอียดมากกว่านี้ได้ เช่น อาจมีคำถามว่า ผ่านแต่ยังไม่เห็นด้วยในประเด็นอะไร หรือไม่ผ่านจะขอให้แก้อะไร

อย่าสักแต่ว่าจะทำ ประชามติต้องการบรรยากาศของการถกเถียง

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อธิบายว่า หลักการของการทำประชามติคือ การเป็นกลไก หรือเครื่องมือสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ เป็นการถ่ายโอนอำนาจจากผู้แทน ตัวแทน มาสู่ประชาชน ให้ประชาชนตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ อย่างในประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีการให้ทำประชามติทั้งเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือนโยบายสำคัญ เช่นการเข้าร่วมกลุ่มสหภาพยุโรป อยากจะย้ำว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะเอามาทำประชามติได้ เช่น โดนโจรขึ้นบ้าน แล้วโจรอยากปกครองบ้าน แล้วมาบอกว่าให้ทำประชามติ ตรงนี้ต้องคิดต่อให้มาก ว่ามันขัดการหลักการหรือไม่     

ประภาสกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยหลังจากเกิดรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้มีการขยายประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาสู่ การเมืองภาคประชาชน หรือประชาธิปไตยทางตรง ประชามติก็ได้เข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญทั้ง 40 และ 50 ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่สำคัญที่เราพยายามสร้างกันอยู่ นอกจากเรื่องหลักการแล้ว กระบวนการของการทำประชามติก็เป็นสิ่งที่สำคัญ บริบทของการทำประชามติต้องเอื้อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่สักจะทำก็ทำ ดังนั้นจึงต้องเปิดให้มีการถกเถียง ทำเวทีประชาพิจารณ์ จะทำอย่างนั้นได้ต้องยกเลิกประกาศ คสช. รวมทั้ง ม.44 ที่มันไปขัดขวางบรรยากาศของการจัดเวที รวมกลุ่ม เสนอความเห็นต่างๆ

“ตอนนี้ก็ต้องว่าไปในเกมนั้น เราคงต้องไปพูด ไปรักษาหลักการไว้ ไม่ค่อยได้คิดว่าออกแบบอย่างไรให้เขาไม่อยู่ยาว ยังไงเขาก็อยู่ แต่คิดว่าอย่างน้อยที่สุดกระบวนการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องก็ไม่ควรจะไปอยู่ในเกมให้เขาอยู่ต่อ ต้องสร้างกระบวนการที่อย่างน้อยรักษาหลักการไว้เรื่องประชามติ รักษาหลักการใหญ่ๆ ไว้”ประภาสกล่าว

ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน เราจะไม่กลับสู่วงจรเดิม

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ กล่าวว่า การทำประชามติไม่ให้เสียของ ของที่ว่านั้นหมายถึงอะไร ในช่วงต้น คุณชูวัสได้กล่าวว่า ของที่ว่าคือเจตนารมณ์ของการทำรัฐประหารหรือเปล่า ซึ่งถ้าจะพูดถึงเจตนารมณ์ของการทำรัฐประหารก็คงต้องไปพูดกันในอีกเวทีหนึ่ง แต่สำหรับทางกลุ่มคิดว่า ของในที่นี้ ที่ไม่ควรเสียคือ หลักการของการการทำประชามติ และหลักการประชาธิปไตย

ปองขวัญ กล่าวต่อว่า ทางกลุ่มเรียกร้องการทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น  โดยแบ่งเป็นสองส่วนคือ ช่วงก่อนการทำประชามติจะต้องเปิดให้รณรงค์ แลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ทุกฝ่ายทุกความคิดเห็น และต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เช่นนั้นเราก็พร้อมจะบอกว่าไม่ยอมรับการทำประชามติแบบนี้ เพราะใช่ประชามติที่เป็นประชาธิปไตย ส่วนช่วงขั้นตอนในการทำประชามติ ต้องรอก่อนว่า สปช.จะลงมติต่อตัวรัฐธรรมนูญอย่างไร หากรับรัฐธรรมนูญนี้ก็ไปทำประชามติ คนเห็นด้วยก็ประกาศใช้ นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทางกลุ่มเรียกร้องว่าไม่ให้กลับไปสู่วงจรเดิม แต่ให้ยกเลิกและยุบองค์กรที่มาจากรัฐประหารทั้งหมด แล้วเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยให้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็นำเข้าสู่กระบวนการประชามติอีกครั้ง ซึ่งเราได้คำนวณเวลาไว้แล้วว่าจะไม่เกินโรดแม็พของ คสช.

“ส่วนการทำประชามติรายมาตรานั้นไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง มันมีปัญหาที่มาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นองค์กรที่ใช้กระบอกปืนวิ่งราวเอาสิทธิคนไป ถ้าเราจะเอารัฐธรรมนูญฉบับโจรขึ้นมาใช้เราจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าไปออกสิทธิออกเสียงต่องรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด” ปองขวัญกล่าว

ถ้าไม่ฟังเสียงคนอื่นๆ จะยอมให้มันจบง่ายๆ อย่างนั้นหรือ

สุนี ไชยรส กล่าวว่า การพูดเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญตอนนี้มีสองแนว คือ ไม่อยากยุ่งด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไม่เข้าท่าตั้งแต่ต้นทาง แต่ดิฉันอยากเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช้ยาสารพัดนึก สูตรสำเร็จ สิ่งที่เราเรียนรู้มาคือ รัฐธรรมนูญต้องไม่อยู่ในมือนักกฎหมายหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยเราเรื่อยมา เราจึงต้องมองรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการต่อรองกันในสถานการณ์หนึ่งๆ และอย่าลืมว่าเดิมรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีเรื่องประชามติ แต่กลายเป็นเรื่องต้องเดินหน้าต่อเพราะเห็นได้ชัดว่ามีมุมที่หลายฝ่ายต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม การที่เราสามารถเดินหน้ามาสู่ประชามติได้ก็ควรใช้ประชามติให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

สุนี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือ เราจำเป็นต้องทำให้คำขอแก้ไขหรือทุกข้อเรียกร้อง มาสู่เวทีเปิดให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักในทุกประเด็น ไม่ว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน ประเด็นต่างๆ ก็จะก่อรูปขึ้นมาจากการถกเถียงเพื่อที่เราจะนำไปทำประชมติเป็นรายประเด็น ขณะที่ต้องทำทั้งฉบับด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท