พบปี 2557 คนทำงานยื่นข้อเรียกร้อง 552 ครั้ง ได้ข้อตกลงสภาพการจ้าง 490 ฉบับ

สถิติจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพบทั้งปี 2557 พบคนทำงานในสถานประกอบการ 485 แห่ง ยื่นข้อเรียกร้อง 552 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องรวม 471,297 คน พิพาทแรงงาน พิพาทแรงงาน 102 แห่ง 117 ครั้ง นัดหยุดงาน 3 ครั้ง และปิดงานอีก 3 ครั้ง ได้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างรวม 490 ฉบับ

 

สถิติจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพบทั้งปี 2557 พบคนทำงานในสถานประกอบการ 485 แห่ง ยื่นข้อเรียกร้อง 552 ครั้ง มีลูกจ้า...

Posted by Workazine on 6 มิถุนายน 2015

 

6 มิ.ย. 2558 สถิติจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในด้านสถิติแรงงานสัมพันธ์ ข้อเรียกร้อง, ข้อพิพาทแรงงาน นัดหยุดงาน ปิดงาน, ข้อขัดแย้ง ผละงาน และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ในปี 2557 สรุปตัวเลขที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้ดังนี้

การแจ้งข้อเรียกร้องตามลักษณะสถานประกอบกิจการ

ในปี 2557 ที่ผ่านมามีการแจ้งข้อเรียกร้องในสถานประกอบการ 485 แห่ง จำนวน 552 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 471,297 คน แยกเป็นเอกชน (Private Enterprise) คือ กิจการทั่วไปในสถานประกอบการ 472 แห่ง จำนวน 538 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 421,225 คน และกิจการตาม ม.23 [1] ในสถานประกอบการ 6 แห่ง 6 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,957 คน ส่วนรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) ในสถานประกอบการ 7 แห่ง จำนวน 8 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 48,115 คน

ข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน และปิดงาน [2]

ในปี 2557 ที่ผ่านมามีข้อพิพาทแรงงานในสถานประกอบการ 102 แห่ง จำนวน 117 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 82,464 คน มีการนัดหยุดงาน 3 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 2,606 คน และมีการปิดงาน 5 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,038 คน

ข้อขัดแย้งและการผละงาน [3]

ในปี 2557 ที่ผ่านมาจานวนข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง 149 แห่ง จำนวน 192 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 122,474 คน ซึ่งผลการแก้ไขระงับข้อขัดแย้งมีดังนี้ สามารถตกลงกันได้โดยไม่มีการผละงาน 125 แห่ง จำนวน 167 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 108,542 คน ตกลงกันได้หลังผละงาน 3 แห่ง จำนวน 3 ครั้ง มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,021 คน ถอนเรื่อง 3 แห่ง จำนวน 3 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 1,155 คน ส่งดำเนินคดีฟ้องศาล 8 แห่ง จำนวน 9 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 2,855 คน นัดเจรจาต่อ 10 แห่ง จำนวน 10 ครั้ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 8,901 คน

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง [4]

ปี 2557 มีข้อตกลงที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งหมดสูงสุดในรอบ 3 ปี (พ.ศ. 2555 - 2557)

ส่วนการจดทะเบียนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อปี 2557 มีข้อตกลงที่ได้รับการจดทะเบียนทั้งหมด 490 ฉบับ โดยแบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 37 ฉบับ และภูมิภาคอีก 453 ฉบับ ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 3 ปี (พ.ศ. 2555 - 2557) โดยในปี 2555 ได้ข้อตกลงที่ได้รับการจดทะเบียน 435  ฉบับ และปี 2556 ได้ข้อตกลงที่ได้รับการจดทะเบียน 409 ฉบับ

 

____

[1] กิจการอันเกี่ยวกับบริการสาธารณะหรือกิจการอันมีความจำเป็นต่อประชาชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518  ความว่าเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการดังต่อไปนี้

(1) การรถไฟ
(2) การท่าเรือ
(3) การโทรศัพท์หรือการโทรคมนาคม
(4) การผลิตหรือจำหน่ายพลังงานหรือกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน
(5) การประปา
(6) การผลิตหรือการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง
(7) กิจการโรงพยาบาล  หรือกิจการสถานพยาบาล
(8) กิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

[2] ข้อพิพาทแรงงาน หมายความว่า ข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ เมื่อลูกจ้างหรือสหภาพแรงงาน หรือนายจ้างหรือสมาคมนายจ้าง ได้แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อให้มีการกำหนดหรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและไม่ได้เริ่มเจรจากันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (3 วันในกิจการเอกชน และ 5 วันในกิจการรัฐวิสาหกิจ นับแต่วันที่ฝ่ายหนึ่งรับข้อเรียกร้องจากอีกฝ่ายหนึ่ง) หรือ เมื่อทั้งสองฝ่ายได้เจรจาต่อรองเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่ตกลงกันไม่ได้บางส่วนหรือทั้งหมดและไม่ประสงค์จะเจรจากันต่อไป และฝ่ายที่แจ้งข้อเรียกร้องได้แจ้งให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ย

การนัดหยุดงาน หมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการใดๆ ยกเว้นกิจการตามมาตรา 23 ลูกจ้างใช้สิทธินัดหยุดงานได้เฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โดยแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างและพนักงานประนอมฯ ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมงก่อนนัดหยุดงาน

การปิดงาน หมายความว่า การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการใดๆ ยกเว้นกิจการตามมาตรา 23 นายจ้างใช้สิทธิปิดงานลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องได้ โดยแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้แทนลูกจ้าง  หรือสหภาพแรงงานและพนักงานประนอมฯ ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 24 ชั่งโมงก่อนปิดงาน

[3] ข้อขัดแย้ง  หมายความว่า ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทแรงงาน

การผละงาน  หมายความว่า การที่ลูกจ้างรวมตัวกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อขัดแย้งที่ไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการระงับข้อพิพาทแรงงาน

[4] ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หมายความว่า  ข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  หรือ ระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงาน เกี่ยวกับสภาพการจ้าง

สภาพการจ้าง หมายความว่า  เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้าง อันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท