รายการ Soundtrack of Life : ตอน 'เพลงโรฮิงญา'

รายการ Soundtrack of Life : ตอนที่ 2 'เพลงโรฮิงญา' เป็นตอนที่นำเสนอเพลงที่เกี่ยวกับประเด็นของชาวโรฮิงญา โดย ‘ดีเจเดน’ รัชพงศ์ โอชาพงศ์ และ ‘ปลา’ มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้ดำเนินรายการ นำเสนอ 3 บทเพลงที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เพลงแรก ชื่อเพลง ‘โรฮีนจา’ ของ CobraK ที่มองการที่ไทยช่วยเหลือชาวโรฮิงญาหรือโรฮีนจาตามชื่อเพลงนั้นจะกลายเป็นภาระและเบียดเบียนคนไทย เพลงยังเล่าถึงพฤติกรรมชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นปัญหาปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อด้วย รวมไปถึงความกังวลเรื่องความมั่นคงของประเทศในอนาคต

ขณะทีอีกเพลงคือเพลง ‘โรฮิงญา’ ของ แอ๊ด คาราบาว นำเสนอประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ ผู้ลี้ภัยเพื่อแสดงหาชีวิตที่ดีกว่า พร้อมเปรียบเทียบกับกรณีชาวจีนอพยพมาทางทะเลเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในอดีต

ส่วนเพลงสุดท้ายคือเพลง ‘เท่าเทียม’ ของวง PEACE ซึ่งแต่งเพลงจากการลงพื้นที่ประเด็นคนไร้สัญชาติ สังขละบุรี เป็นเพลงหนึ่ง ในโครงการ 'triple H music' หรือโครงการดนตรีเพื่อการเรียนรู้ เพลงดังกล่าวถ่ายทอดความต้องการที่อยากให้คนทุกคนในโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ว่าจะชนชาติอะไร สามารถอยู่และร่วมแบ่งปันกันได้ในสังคม

ปลา กล่าวถึงโรฮิงญาว่าเป็นประเด็นที่หนักไปกว่าผู้ลี้ภัยปกติ เพราะไม่มีสัญชาติ ไม่มีสิทธิพลเมือง อยู่กลางทะเลประเทศไหนก็ไม่รับ เพราะว่าเหตุผลทางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเรื่องนี้เริ่มมีการพูดถึงกันว่าทำไมโรงฮิงญาถึงไม่เป็นพลเมืองของชนชาติใดเลย เนื่องจากมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อยู่ โดย ปลากล่าวต่อว่า “แต่ว่าประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ถูกไหม เช่นปู่ย่าตายายเราเคยไปฆ่าพม่า เขาจะมาโกรธเราอย่างงี้มันก็แปลกๆนะ”

ดีเจเดน ได้สรุปเหตุผลของคนที่วิจารณ์ประเด็นโรฮิงญาในโซเชียลเนตเวิร์กสามารถแบ่งได้เป็น หนึ่ง ภาระของประเทศไทยทั้งที่ประเทศก็ลำบากอยู่แล้ว ทำไมต้องนำเงินไปเลี้ยงดูคนเหล่านี้อีก สอง เรื่องของการอยู่แบบไม่มีระเบียบวินัย พฤติกรรมไม่ดีเรียกร้องเยอะ เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของภัยความมั่นคง เนื่องจากเก่งเรื่องสืบพันธุ์ทำให้ในอนาคตจำนวนประชากรก็จะมากขึ้นอีก

ปลา กล่าวว่า ประเด็นโรฮิงญานั้นรัฐไทยไม่รู้จะจัดการอย่างไร เพราะอย่างผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นเข้ามาในไทย สามารถมีค่ายผู้ลี้ภัยรองรับได้ ซึ่งทาง UNHCR หรือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติมีเงินสนับสนุนในการดูแล และไม่ใช่เรื่องใหม่ตั้งแต่สงครามอินโดจีนแล้ว รองรับอยู่เป็นแสนคน มีทั้งที่ผลักดันไปประเทศที่ 3 บ้างและอยู่ในไทยบ้าง มีค่ายจำนวน 9 แห่งใน 4 จังหวัดตามตะเข็บชายแดน ปัญหาคือชาวโรฮิงญาไม่ได้อยู่ในกลุ่มพวกนี้และรัฐยังไม่เปิดให้ UNHCR เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทำให้หากรับคนเหล่านี้เข้ามาก็จะต้องดูแลเอง ส่งผลให้คนที่คัดค้านกังวลเรื่องความสิ้นเปลือง

ดีเจเดน กล่าวถึงประเด็นโรฮิงญา ยังเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้วย เนื่องจากรัฐมีการกวาดจับนายหน้าที่ทำการค้ามนุษย์ทำให้มีการปล่อยลอยแพไว้กลางทะเลด้วย  

“โลกนี้เลิกแรงงานทาสไปตั้งนานแล้ว ปรากฏว่าทุกวันนี้มันยังมีอยู่ และที่มันแย่กว่านั้นมันมีอยู่ห่างจากเราแค่ไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น” ดีเจเดน กล่าวถึงเพลง ‘โรฮิงญา’ ของ แอ๊ด คาราบาว ที่เสนอประเด็นลึกลงไปถึงปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย รวมทั้งประเด็นเรื่องสัญชาติของคน ที่ไม่มีใครรับชาวโรฮิงญาเป็นพลเมือง

ดีเจเดน กล่าวถึงประเด็นคนไร้สัญชาติต่อว่า ในไทยเองก็ยังมีประเด็นนี้อยู่ แม้คนเหล่านั้นจะเป็นคนที่เกิดในประเทศไทยเองก็ตาม อย่างกรณีคนไร้สัญชาติที่ สังขละบุรี โดยวง PEACE ในโครงการ 'triple H music' ได้ลงไปศึกษาปัญหานี้ จนแต่งมาเป็นบทเพลงชื่อ ‘เท่าเทียม’

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท