Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดแถลงข่าว สุดท้ายเหลือเพียงการชี้แจงทูตและตอบข้อซักถามนักข่าว พร้อมแจกรายงานฉบับเต็ม ระบุ 1 ปีประชาชนถูกละเมิดตั้งแต่สิทธิการแสดงออกยันปัญหาปากท้อง เวทีเสวนาถูกปิดอย่างน้อย 71 เวที

4 มิ.ย. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ส่งอีเมลถึงสื่อมวลชน เผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557” ชี้ทหารไม่ใช่คนกลาง 1 ปีที่ผ่านมา ทำประชาชนถูกละเมิดสิทธิตั้งแต่การแสดงออกขั้นพื้นฐาน จนไปถึงห้ามเรียกร้องปัญหาปากท้อง ชาวบ้านถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมในประเด็นที่ตนได้รับผลกระทบ ทั้งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่การควบคุมตัวจนไปถึงการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร เน้นแก้ปัญหาโดยปรับทัศนคติประชาชนให้ตรงกันทหาร สร้างกระบวนการยุติธรรมลายพราง (อ่านรายละเอียดด้านล่าง)

คนทยอยเข้าฟังรายงานสถานการณ์สิทธิ ทนายใช้วิธี 'เดินพูดตามโต๊ะ'

ทั้งนี้ ตามกำหนดการเดิมศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเตรียมจัดแถลงข่าวเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 1 ปีหลังรัฐประหารในเย็นวันนี้ (4 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่ในช่วงเที่ยงมีหนังสือจากพันตำรวจเอก พรชัย ชลอเดช ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ขอความร่วมมือให้พิจารณางดการจัดเวทีสาธารณะ ทำให้ทาง FCCT เจ้าของสถานที่ต้องขอให้ยกเลิกงานดังกล่าว

เวลาประมาณ 17.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้งานแถลงข่าวจะถูกประกาศยกเลิก แต่ยังคงมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตต่างๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศทยอยเดินทางเข้ามารอรับฟังรายงาน 

รายงานจากพื้นที่แจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบราว 10 นายเฝ้าดูสถานการณ์ที่ชั้นล่างของอาคาร ขณะที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 นายอยู่ในห้องแถลงข่าว ส่วนผู้เข้าร่วมงานรวมแล้วกว่า 20 คน เวลา 18.00 น. โจนาธาน เฮด ประธาน FCCT ได้แจ้งว่า การแถลงข่าวและเสวนาถูกยกเลิกแล้ว แต่สามารถใช้วิธีสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ โดยคนจากศูนย์ทนายฯ จะเดินแจกรายงานพร้อมทั้งพูดคุยกับผู้ที่มารับฟังได้ตามโต๊ะต่างๆ (ในห้องแถลงข่าวแบ่งเป็นโต๊ะกลมหลายโต๊ะ) แต่ขอความร่วมมือห้ามถ่ายภาพ หากต้องการถ่ายภาพต้องเดินออกไปถ่ายภาพภายนอกห้องแถลงข่าว

จากนั้นไม่นานตัวแทนทนายความได้ออกมานอกห้องแถลงข่าวเพื่อตอบคำถามผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศที่รอเฝ้าอยู่ด้านหน้า มีการสอบถามทั้งประเด็นเนื้อหารายงานและความรู้สึกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกอย่างไรที่การรายงานสถานการณ์สิทธิจัดไม่ได้หลังรัฐประหารมาแล้ว 1 ปี เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ หัวหน้าศูนย์ทนายความฯ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะ 1 ปีแล้วสถานการณ์ควรจะดีขึ้น แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เหมือนเป็นทางตัน

นักข่าวต่างชาติถามว่า รู้สึกกังวลแค่ไหนกับการมาแถลงวันนี้ เยาวลักษณ์กล่าวว่าที่เราพูดทั้งหมดเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ไทยรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับ สิ่งที่ศูนท์ทนายฯ มาพูดวันนี้เป็นประเด็นหลักการสากล แต่หากจะผิดกฎหมายก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร

ทั้งนี้ ปลายปี 2557 การแถลงข่าวรายงานสถานการณ์สิทธิของศูนย์ทนายฯ ก็ถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามจัดเช่นกัน

นอกจากนี้ศูนย์ทนายยังได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงสถานการณ์ที่ถูกปิดกั้นเวทีแถลงข่าว (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ได้กระทำการในลักษณะนี้มาตลอดระยะเวลา 1 ปี จากการวบรวมข้อมูลพบว่ามีเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือมีการแทรกแซงการจัดการแล้วอย่างน้อย 71 เวที เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและวางรากฐานประชาธิปไตยในระยะยาว

 

 

0000


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557 โดยนำเสนอใน 5 ประเด็น ได้แก่ (รายงานฉบับเต็มอยู่ในไฟล์แนบด้านล่าง)

1.        การแสดงออกภายใต้สถานการณ์ความไม่มั่นคงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ – พบว่าประชาชนอย่างน้อย 751 ถูกเรียกรายงานตัว ซึ่งอย่างน้อย 5 รายถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อ ด้านเสรีภาพการชุมนุมพบว่ากิจกรรมและเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือแทรกแซงอย่างน้อย 71 งาน มีข้อกังวลเรื่องการควบคุมประชาชนโดยปราศจากอำนาจ โดยนำมาลงบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัว ด้านการใช้มาตรา 112 ประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 67 ราย โทษจำคุกมาตรฐานศาลทหารอยู่ที่กรรมละ 10 ปี สูงกว่าศาลพลเรือน โดยส่วนใหญ่แล้วถูกดำเนินคดีจากการโพสเฟซบุ๊ค แชร์คลิป

2.        ยุติธรรมลายพราง กฎอัยการศึกและการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร – พบประชาชน 18 รายร้องเรียนต่อศูนย์ทนายฯ ถึงการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว ด้านการใช้ศาลทหารกับพลเรือน ประชาชน 700 รายถูกพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งศูนย์ทนายฯกังวลถึงความเป็นกลางของตุลาการ การไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ และกระบวนพิจารณาคดีที่ต่างไปจากปกติ แม้จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ยังให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ

3.        การใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 – ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแล้ว 18 ฉบับ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย บริหารบุคคลและรักษาความสงบ โดยให้ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการป้องกัน ปราบปราม จับกุมและสอบสวนในคดีต่างๆ ซึ่งมาตราดังกล่าวให้อำนาจหัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวางโดยปราศจากความรับผิดทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องได้ อันก่อให้เกิดการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิด อีกทั้งยังมีการนิรโทษกรรมตนเอง อันเป็นการธำรงวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิดให้หยั่งลึกลงอีกในสังคมไทย

4.        ทรัพยากรที่ถูก “บุกรุก” – พบว่าคำสั่ง คสช. 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ มุ่งใช้กับการจับกุมประชาชน ไล่รื้อที่ดิน สร้างผลกระทบต่อผู้ยากจนและผู้ไร้ที่ดินทำกิน เอื้อประโยชน์นายทุน มาตรการต่างๆละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เน้นใช้ปราบปรามและใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด โดยในสนใจบริบททางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน โดย สตช. แถลงจับกุมผู้ต้องหา 1,622 คน ซึ่งขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีล่วนสร้างความหวาดกลัวกับชาวบ้าน เช่น การเข้าตัดฟันทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งรื้อถอนบ้านเรือนของประชาชน การรัฐประหารจึงเป็นการฉวยใช้อำนาจและโอกาสในการทำลายอำนาจต่อรองของประชาชนและให้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

5.        ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง: การแทรกแซงกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือนเมษา-พฤษภา 2553 – ภายหลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปี 2553 ว่ามีจดหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งถึงที่บ้านเพื่อเรียกเข้าให้ปากคำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ปี 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีข้อกังวลว่าจะสามารถสอบสวนได้อย่างเป็นธรรม ในฐานะคนกลางหรือไม่

โดยสรุป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แม้ คสช. จะพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาต่างๆ แต่นับแต่ปี 53 เป็นต้นมา กองทัพกลับเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน ทั้งการสลายการชุมนุม การจับกุม ไล่รื้อที่ การปรับทัศนคติ โดยเน้นให้ตรงกับ คสช. และการใช้เครื่องมือคือศาลทหารในการตัดสินประชาชน อันถือเป็นกระบวนการยุติธรรมลายพราง ซึ่งไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

1. ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

2. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสทธิมนุษยชน

 

แถลงการณ์ชี้แจง

การคุกคามการจัดเวทีสาธารณะเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหาร

 

ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้วางแผนจัดเวทีสาธารณะเพื่อเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหนึ่งปีหลังรัฐประหารในวันที่ 4 มิถุนายน 2558 เวลา 18.00 น. ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) แต่วันนี้ (4 มิ.ย.58) เวลาประมาณ 12.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากทาง FCCT ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานขอความร่วมมือไม่ให้ใช้สถานที่จัดกิจกรรมดังกล่าว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งบุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิที่จะแสวงหารับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท

ทั้งนี้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกครองระบอบประชาธิปไตย นอกจากการกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นการตอกย้ำสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐยังคงจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนโดยข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยที่หากมีการละเมิดกฎหมายดังกล่าวพลเรือนจะต้องถูกดำเนินคดียังศาลทหาร อันเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขอยืนยันว่าว่าพฤติการณ์ดังกล่าวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้กระทำมาตลอดระยะเวลาหนึ่งปีมีเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือมีการแทรกแซงการจัดการแล้วอย่างน้อย 71 เวที เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและวางรากฐานประชาธิปไตยในระยะยาว

 

ด้วยความเคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net