Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพถ่ายของอดีตมักถูกนำมาใช้ในเชิงสุนทรียะเพื่อสร้างอารมณ์แห่งการโหยหาอดีตหรือการกลับไปสู่รากเหง้าทางอัตลักษณ์หรือประวัติศาสตร์ รูปบ้านโบราณ วัดโบราณ ทิวทัศน์และวิถีชีวิตในอดีตมักเป็นวัตถุดิบแห่งความงามที่เชื่อมร้อยอดีตกับปัจจุบันอย่างแนบสนิทต่อเนื่องและลงรอยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การมองภาพถ่ายด้วยมิติดังกล่าวดูเหมือนจะครอบครองอาณาบริเวณของการรับรู้ประวัติศาสตร์แบบเส้นตรงมาอย่างน้อยนับแต่หลังอาณานิคมและการก้าวเข้าสู่สังคมทันสมัย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ภาพถ่ายโบราณมักถูกหยิบมารับใช้มุมมองประวัติศาสตร์การสร้างชาติสมัยใหม่ภายใต้บทบรรยายของความงดงามของอดีตที่สืบเนื่อง ไร้รอยตะเข็บของการปริแตก และดังนั้นจึงปลอดพ้นจากความขัดแย้งและการเมือง

การมองภาพถ่ายด้วยมิติที่แตกต่างออกไปจึงเป็นอ่านประวัติศาสตร์ด้วยท่าทีแบบใหม่ ทั้งนี้ การมองภาพถ่ายย้อนรอยประวัติศาสตร์ชาติ ได้ช่วยเปิดเผยให้เห็นอดีตที่ไม่แนบเนียน โรแมนติก หรือสวยงามของสังคม ทั้งยังชวนให้เกิดคำถามใหม่ๆต่อตัวละคร และความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างตัวละครต่างๆที่แวดล้อมภาพถ่ายในยุคเปลี่ยนผ่านของการสร้างชาติ หรือในแง่หนึ่ง ช่วยในการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เป็น “troubled collectivity” ของสิ่งที่เรียกกันว่า “ชาติ”

Refracted Visions: Popular Photography and National Modernity in Java เป็นงานศึกษาด้านมานุษยวิทยาว่าด้วยภาพถ่ายมวลชน โดย Karen Strassler ตีพิมพ์โดย Duke University Press ในปี 2010 หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Strassler ซึ่งศึกษาภาพถ่ายทั้งโบราณและร่วมสมัยนับแต่ยุคอาณานิคมในคริสต์ทศวรรษ 1900 มาจนถึงช่วงต่อระหว่างทศวรรษที่ 1990-2000 โดยพื้นที่ภาคสนามของเธออยู่ในเมืองยอกยาการ์ตา หัวข้อศึกษาของเธอครอบคลุมเรื่องราวต่างๆหกเรื่องด้วยกัน อันได้แก่ ภาพถ่ายสมัครเล่นในยุคหลังอาณานิคมของชาวจีนในอินโดนีเซีย ห้องภาพและภาพถ่ายในสตูดิโอ รูปถ่ายติดบัตรประชาชน ภาพถ่ายในงานพิธีกรรมของครอบครัว ภาพถ่ายของนักศึกษาในการเดินขบวน และภาพถ่ายของบุคคลสำคัญในอินโดนีเซีย

Strassler เชื่อว่า นัยสำคัญทางการเมืองของภาพถ่ายอยู่ที่การตัดผ่านระหว่างความเป็นส่วนตัวและอาณาบริเวณสาธารณะโดยเทคโนโลยีของภาพถ่าย ที่ทำให้ภาพถ่ายที่ถูกผลิตและแพร่กระจายไม่ได้จำกัดอยู่ในขอบเขตของความรัฐชาติเสมอไป ในขณะเดียวกันการไหลเวียนของเทคโนโลยีภาพถ่ายในระดับสากลเอื้ออำนวยต่อการตีความและสะท้อนย้อนคิดต่อภาพลักษณ์ของความเป็นชุมชนชาติ และการสร้างมุมมองใหม่ให้กับภาพถ่ายและความหมายของความเป็นชาติ ในกรณีของอินโดนีเซีย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการแปลงเทคโนโลยีในระดับสากลให้มีความหมายท้องถิ่นคือชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ผู้บุกเบิกวงการภาพถ่ายสมัครเล่นและธุรกิจห้องภาพ และสร้างความหมายใหม่ๆให้กับภูมิทัศน์ของความเป็นอินโดนีเซีย สำหรับ Strassler ภาพถ่ายมิได้มีฐานะเป็นเพียงวัตถุสื่อกลางที่ถ่ายทอดความเป็นจริงด้วยภาพ หากแต่ปฏิบัติการของภาพถ่ายสร้างและหล่อหลอมวัตถุของภาพด้วยความหมายที่มิได้เป็นเอกพจน์ มโนภาพที่มีต่อภาพถ่ายจึงมักหักเหจากวัตถุประสงค์เดิมของภาพที่ถูกถ่าย ก่อให้เกิดความหมายใหม่ๆ ภายใต้ความสัมพันธ์ใหม่ๆระหว่างเจ้าของภาพและตัวภาพถ่าย ในภาวะที่ Strassler เรียกว่า Refracted visions หรือ มโนภาพอันหักเห มโนทัศน์ที่ Strassler พัฒนาขึ้นจากแนวคิด Refraction ของ Mikhail Bakhtin

แม้ว่าการพิจารณากล้องถ่ายภาพในฐานะที่เป็น fetish โดยมีผู้ถ่ายเป็นศูนย์กลางของการสร้างความหมาย ในขณะที่สิ่ง/ผู้ที่ถูกถ่ายถูกห่มคลุมด้วยความหมายซึ่งผลิตสร้างโดยศูนย์กลาง จะไม่ได้เป็นแนวคิดที่ใหม่ในงานด้านมานุษยวิทยาแต่อย่างใด แต่งานของ Strassler พาผู้อ่านไปไกลกว่า the act of seeing โดยผู้ถ่ายและศูนย์กลางในการผลิตภาพถ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าอาณานิคมผู้นำเทคโนโลยีการถ่ายภาพสมัยใหม่มาสู่อินโดนีเซีย ซึ่งถือตนเองเป็นผู้นำแสงสว่าง (light/enlightenment ในอุปมาของแสงแฟลช)มาสู่สังคม”บ้านป่าเมืองเถื่อน” และการใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือในการแยกความแตกต่างระหว่างการถ่ายภาพตนเองผู้ศิวิไลซ์ และการถ่ายภาพผู้อื่นเพื่อสื่อความหมายของความเป็นอื่น มโนภาพอันหักเห เกิดขึ้นเมื่อภาพถ่ายถูกนำมาผลิตซ้ำและใช้ในบริบทและความหมายที่แตกต่างไปจากจุดประสงค์ตั้งต้น ในบทที่สาม ว่าด้วยรูปถ่ายติดบัตร (Identity card photograph) Strassler ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่ารูปติดบัตร (pasfoto)และบัตรประชาชน จะเป็นประดิษฐกรรมที่ถูกใช้ในระบอบซูฮาร์โต้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการแยกแยะและกีดกันชาวจีนฐานะผู้อื่น ออกจากชนดั้งเดิมชาวอินโดนีเซีย แต่ในเวลาต่อมาภาพถ่ายหน้าตรงแบบรูปติดบัตร กลับกลายเป็นภาพถ่ายมวลชนที่ชาวจีนนำมาผลิตซ้ำ และเปลี่ยนแปลงความหมายด้วยการนำภาพถ่ายดังกล่าว มาเป็นส่วนสำคัญของพิธีศพ ดังนั้น จึงเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ของภาพในฐานะเครื่องมือในการควบคุมชนกลุ่มน้อยโดยรัฐ สู่ความเป็นสื่อกลางที่เชื่อมร้อยระหว่างครอบครัว ระหว่างผู้ที่ยังอยู่และผู้ที่ล่วงลับ และในแง่นี้ ได้ยักย้ายภาพจากพื้นที่รัฐภายนอกสู่ปริมณฑลความเป็นส่วนตัวของครอบครัว

ภาพถ่ายยังทำหน้าที่ในฐานะประจักษ์พยานในทางประวัติศาสตร์และมโนภาพแห่งความทรงจำร่วม (ในกรณีของการเคลื่อนไหวของนักศึกษาซึ่งนำไปสู่การสูญเสียชีวิตภายใต้การกระทำของรัฐ ในบทที่ห้า) และการสร้างประวัติศาสตร์คัดง้าง (counter history) ในกรณีของ Noorman ผู้รวบรวมภาพถ่ายและเอกสารต่างๆเพื่อตั้งคำถามต่อประวัติศาสตร์กระแสหลักในยุคซูฮาร์โต้ และการเขียนประวัติศาสตร์ทางเลือกที่โต้แย้งต่อแม่บทของประวัติศาสตร์ชาติอีกด้วย

Refracted visions เป็นงานเขียนที่น่าอ่าน ด้วยภาษาเขียนที่สละสลวยและภาพถ่ายที่หาชมได้ยากนับร้อยภาพ สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยาและนักเรียนประวัติศาสตร์แล้ว หนังสือเล่มนี้บุกเบิกแนวทางใหม่ๆในการทำงานภาคสนามที่น่าสนใจด้วยกรอบคิดที่ชวนให้ติดตาม พร้อมทั้งนำเสนอวิธีการอ่านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุหรือสถานที่ราชการ หากแต่แขวนอยู่ตามฝาบ้าน อัลบั้มของครอบครัว สมุดเฟรนด์ชิป สตูดิโอห้องภาพ ตลอดจนกล่องเก็บภาพอันเป็นสมบัติส่วนตัว ที่ซึ่งบรรจุมุมมองและมโนภาพว่าด้วยความเป็นชาติ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติที่ผลิตสร้างโดยรัฐชาติสมัยใหม่ ดังที่ Stassler ได้สรุปไว้ในตอนต้นของงานของเธอว่า

“Popular photographs yield both a history of vision and a history through vision. They reveal a larger current of Indonesian history as they are refracted through the prism of the intimate and the everyday. At the same time, they show a visual to be the domain crucial to the very making of history itself (p. 28)”

หนังสือเล่มนี้ของ Karen Strassler ได้รับรางวัล Gregory Bateson Prize ในปี 2011

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net