Skip to main content
sharethis

หัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) เบี้ยว ไม่มาตามนัด ส่วน หน.อช.ภูผาม่าน อ้าง เห็นชาวบ้านมาเป็นจำนวนมาก จึงไม่กล้าออกมาพบ ขอผ่อนผันรอนายอำเภอมาถึงช่วงประมาณบ่ายสอง จะออกมาชี้แจงพร้อมกับนายทันที ด้านชาวบ้านยืนยันการพิสูจน์สิทธิฯต้องประกอบไปด้วยคณะกรรมการหมู่บ้านมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2558 ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกิน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และชาวบ้านโคกยาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ กว่า 300 คน เดินทางมาร่วมให้กำลังใจและพูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ และหัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) ตามที่นัดไว้

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหากันระหว่างรอการพบปะดังกล่าว ต่อมาได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่าหัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 ไม่เดินทางมาพบเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจตามที่ได้รับปากกับชาวบ้าน ส่วนหัวหน้าอุทยานภูผาม่านก็ยังไม่ยอมออกมาพบกับชาวบ้านเช่นกัน สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่มารอพบในครั้งนี้ ชาวบ้านจึงหารือกันเพื่อเตรียมบุกเข้าไปพบถึงห้องทำงานของหัวหน้าอุทยานฯ หากไม่พบตัวก็จะปักหลักค้างคืนอยู่ในที่ทำการอุทยานจนกว่าจะยอมออกมาพบ

ต่อมาชาวบ้านส่งตัวแทนไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานจึงได้รับคำตอบว่า เนื่องจากชาวบ้านมากันหลายคน จึงขอรอนายอำเภอซึ่งจะเดินทางมาพบชาวบ้านด้วยในช่วงบ่าย ชาวบ้านจึงร่วมกันประกอบอาหารที่ลานหน้าที่ทำการอุทยานฯ ระหว่างรอ  จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น. นายอำเภอชุมแพ พร้อมปลัดอำเภอและหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ได้ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริง ว่า ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ที่เริ่มเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.58 นั้น ทางอุทยานยึดตามมติครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.41 ซึ่งยอมรับให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานสามารถทำกินได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีการชะลอการอพยพออกไปก่อนระหว่างการจัดสรรที่ทำกินใหม่ สิ่งที่ชาวบ้านกังวลใจว่าจะมีแผนการดำเนินการอพยพ ขับไล่ หรือกระทำการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านนั้น ทางเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า หากไม่มีการกระทำที่ถือว่าเป็นการบุกรุกเพิ่มเติมก็จะไม่ดำเนินการขับไล่ออกจากพื้นที่แน่นอน ส่วนการสำรวจตรวจพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินที่จะมีขึ้นตามที่มีหนังสือแจ้งไปก่อนหน้านี้จนสร้างความกังวลแก่ชาวบ้าน ขอชี้แจงว่า สืบเนื่องจากนโยบายรัฐบาลได้ดำเนินการตามแผน Ao1-Ao4 ในฐานะที่เป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ จำต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แต่พร้อมยอมรับตามเงื่อนไขในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกขั้นตอน

ภายหลังการชี้แจง ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเห็นร่วมกันให้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ปกครอง ประกอบด้วย นายอำเภอชุมแพ ปลัดอำเภอชุมแพ และตัวแทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคอีสาน รวมทั้งตัวแทนชุมชน 5 พื้นที่ในเขตอุทยานฯ 1. ชาวบ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 2.ชุมชนหนองจาน  ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 3.บ้านตาดฟ้า-ดงสะคร่าน  ต.วังสวาบ  อ.ภูผาม่าน  จ.ขอนแก่น 4.ชุมชนวังอีเมียง ต.ศรีฐาน  อ.ภูกระดึง จ.เลย 5.บ้านโคกยาว ต.น้ำหนาว อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ร่วมลงลายชื่อตามบันทึกข้อตกลง

ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่า

1.ในพื้นที่ที่การสำรวจสิทธิ์ตามมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.41 และพื้นที่ผ่อนปรนตามโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อการจัดการอุทยานแห่งชาติอย่างยั่งยืน และโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ให้ทำกินได้ตามเดิมไปก่อน

2.ในพื้นที่ภูฮี บ้านโคกยาว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อสำรวจแนวเขตผ่อนปรน ตามบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 8 ก.ค.57

3 พื้นที่ที่มีการบุกรุกใหม่ นอกพื้นที่ผ่อนปรนให้ประสานผู้นำชุมชนและคณะกรรมการพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เข้าตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้

หนูเกณฑ์ จันทาสี ผู้แทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคอีสาน กล่าวกับชาวบ้านเดินทางมาในครั้งนี้ ว่า สืบเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่จะมีการสำรวจการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินฯ ในพื้นที่อุทยานภูผาม่าน กว่า 10 ชุมชน เช่น วังอีเมียง บ้านซำผักหนาม บ้านหนองจาน และบ้านตาดฟ้าดงสะคร่าน ก่อนหน้านั้นชุมชนเหล่านี้ล้วนเคยได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ภายหลังปี 2533 รัฐบาลออกนโยบายโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม พร้อมรับปากว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าที่ที่จัดสรรให้มีเจ้าของที่ดินเดิมอยู่ก่อนแล้ว ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคัดค้านและร่วมกับชาวบ้านในภาคอีสานลุกขึ้นต่อต้านโครงการ คจก. กระทั่งรัฐบาลต้องยกเลิกโครงการในปี 2535

หนูเกณฑ์ บอกอีกว่า การมาขอเข้าพบเพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จะทำการสำรวจพิสูจน์สิทธินั้นทำไปเพื่ออะไร เพราะภายหลังล้มเลิกโครงการ คจก. ชาวบ้านได้กลับมาทำกินในพื้นที่เดิมอีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า อีสานคืนถิ่น แต่ปรากฏว่าพื้นที่ได้ถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่านไปแล้ว อย่างไรก็ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาได้นำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างอุทยานแห่งชาติภูผาม่านกับชุมชนในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมหรือจอมป่า เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งถือว่าเป็นความร่วมมือที่ดีมาถึงทุกวันนี้ ทำให้ชุมชนมีสิทธิที่จะสามารถจัดการป่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน แม้จะเป็นไปได้เพียงชั่วคราวและมีข้อจำกัดจากฝ่ายอุทยานฯ

“จากเหตุการณ์ที่เราถูกสั่งให้อพยพเรื่อยมา เราคิดว่ามันไม่มีที่สิ้นสุดอีกแน่นอน สะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่มีความมั่นคงในชีวิตของคนในแต่ละชุมชน เราจึงรวมตัวกันมาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่จะทำการพิสูจน์สิทธิฯ ไปเพื่อประโยชน์อะไร หากดึงดันที่จะตรวจสอบก็ควรให้คณะกรรมการหมู่บ้านมีส่วนร่วม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาต่อชุมชนด้วย เพราะชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นนโยบายทวงคืนผืนป่า ความหวาดกลัวการถูกขับไล่เกิดขึ้นอีกหน ทำให้ชุมชนไม่มีความมั่นคง กลัวชาวบ้านไม่มีสิทธิในการครอบครองที่ดินของตนเอง รวมถึงไม่มีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรป่าอีกต่อไป” หนูเกณฑ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net