Skip to main content
sharethis

3 มิ.ย.2558 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizen) เผยแพร่คลิปผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ระบุว่าวันนี้(3 มิ.ย.) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติวิธี ได้มาเป็นพยาน ในชั้นพนักงานสอบสวน ให้กับทางกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ในคดี 'เลือกตั้งที่(รัก)ลัก' ที่จัดขึ้นบริเวณหน้าหอศิลป์ฯ กทม. เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดี 4 ราย ประกอบด้วย นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นายวรณเกียรติ ชูสุวรรณ นายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์  และนายอานนท์ นำภา

วิดีโอคลิปดังกล่าวเป็นเผยแพร่เนื้อหาการให้ปากคำของ ชัยวัฒน์ ผ่านคำบอกเล่าของ ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดย ภาวิณี ระบุถึงประเด็นที่ชัยวัฒน์ ให้การโดยอธิบายถึงความขัดแย้งนั้นมีได้ 2 แบบ คือความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงกับความขัดแย้งที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นการแสดงออกแบบสันติวิธี เป็นการทำให้ความขัดแย้เข้มข้นขึ้นโดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่ทำให้ความรุนแรงขยายวงกว้าง

สำหรับความขัดแย้งที่เข้มข้นขึ้นนั้น ภาวิณี ระบุว่า ในความเห็นของ ชัยวัฒน์ มองว่ามันดี เพราะมันทำให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร และจะทำให้เห็นว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เช่น กรณีที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ แล้วใช้สันติวิธีเพื่อให้ประเด็นเข้มข้นขึ้นนั้น ก็จะทำให้คนได้เห็นปัญหา ภาพความขัดแย้งชัดเจนขึ้น ดังนั้นการจัดกิจกรรมก็แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีปัญหาแล้ว ซึ่งเป้าหมายของเขาก็ต้องการให้รัฐมาเห็นว่าประเทศต้องการเสรีภาพ ต้องการการแสดงออก ต้องการการเลือกตั้ง ต้องการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว

หรือเช่น ชุมนุมคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ก็แสดงให้เห็นว่าโครงการนั้นละเมิดสิ่งแวดล้อม ทำลายชุมนุมอย่างไร ภาวิณี ระบุต่อว่า ชัยวัฒน์ มองว่า การแสดงออกอย่างนี้เป็นเรื่องดี เพราะทุกสังคมนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีความขัดแย้ง และการแสดงออกให้เห็นซึ่งความขัดแย้งโดยสันติวิธีนั้นเป็นเรื่องดี เพราะมันจะทำให้ความขัดแย้งมันเข้มข้นและปัญหามันได้รับการแก้ไข

ภาวิณี กล่าวต่อว่า ชัยวัฒน์ มาให้ความเห็นในทางวิชาการ แต่ก็เป็นประเด็นต่อสู้ของจำเลยในคดีนี้ด้วย โดย ชัยวัฒน์เห็นว่าการแสดงออกของจำเลยที่เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความขัดแย้งเข้มข้นขึ้นโดยสันติวิธีนี้ ไม่ใช่การคุกคามรัฐ ไม่ได้นำไปสู่การก่อความไม่สงบหรือวุ่นวาย การแสดงออกแบบนี้ไม่สามารถไปคุกคามรัฐได้ เพราะไม่ใช่การใช้กำลัง อีกทั้งคนที่แสดงออกอย่างสันติวิธีจะไม่คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศตรู ไม่ถึงขั้นห้ำหั่นกัน แต่รัฐจะมองตรงข้าม มองเป็นศตรูมายึดพื้นที่ ซึ่ง ชัยวัฒน์ มองว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นการแสดงออกที่ไม่ใช่การคุกคามรัฐมันจึงไม่ควรถูกดำเนินคดี

สำหรับคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก ทั้ง 4 คนถูกนำตัวจากพื้นที่กิจกรรมไปยัง สน.ปทุมวัน จากนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ฉบับที่ 7/2553 จากนั้นมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มกับอานนท์ ผิดมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวม 5 กรรม จากนั้นพันธ์ศักดิ์ริเริ่ม ‘พลเมืองรุกเดิน’ มาให้ปากคำเพิ่มเติมที่สน.ปทุมวัน และศาลทหารจนถูกเจ้าหน้าที่บุกจับกุมตัวยามวิกาลและถูกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม คือ มาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 กระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net