สิ้นสุด 'กม.ดักฟัง' ยุคบุช สหรัฐฯ เตรียมอภิปรายยกเครื่องการสอดแนมในกม.ใหม่

หลังจากที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ก็มีความพยายามผลักดันร่างกฎหมายเพื่อระงับการดักเก็บข้อมูลโทรศัพท์ของประชาชนและสร้างความโปร่งใสในการสอดแนมมาโดยตลอดจนกระทั่งล่าสุดวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ มีมติยอมให้มีการอภิปรายร่างกฎหมายใหม่นี้

1 มิ.ย. 2558 เนื้อหาบางมาตราของ 'รัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติ' (Patriot Act) ของสหรัฐฯ ถูกทำให้หมดอายุลง โดยที่มีการนำเสนอกฎหมายใหม่ชื่อว่า 'รัฐบัญญัติเสรีภาพของสหรัฐฯ' (USA Freedom Act) ขึ้นมาอภิปราย กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นการสอดแนมประชาชนที่กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวหลังถูกเปิดโปงโดยเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตคนทำงานในหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯ

มีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติซึ่งออกมาหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ว่าเป็นกฎหมายที่ให้ความชอบธรรมกับการสอดแนมประชาชนชาวอเมริกันแบบไม่แยกแยะ อย่างไรก็ตาม รัฐบัญญัติเสรีภาพของสหรัฐฯ มีการระบุให้สั่งห้ามการดักเก็บข้อมูลประชาชนทางโทรศัพท์แบบไม่แยกแยะโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) และเสนอกฎเกณฑ์ใหม่ว่าด้วยความโปร่งใสในเรื่องการสอดแนม ซึ่งรัฐบัญญัติฉบับใหม่นี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมเปิดอภิปรายหลังจากที่ทางวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ โหวตลงความเห็นให้มีการอภิปราย

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนระบุว่าเดิมทีวุฒิสมาชิกจากพรรคริพับริกันชื่อ มิทช์ แมคคอนเนลล์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในวุฒิสภามีความประสงค์ต้องการขยายอายุรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติออกไปอีกถึงแม้ว่าสภาล่างของสหรัฐฯ จะสนับสนุนรัฐบัญญัติเสรีภาพของสหรัฐฯ อย่างท่วมท้น แต่ต่อมาเขาก็ยอมเปลี่ยนท่าทีหลังจากถูกวุฒิสมาชิกจากพรรคเดียวกันอย่างแรนด์ พอล วิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่มีการโหวตในวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 77 ต่อ 17 ให้มีเปิดการอภิปรายแมคคอนเนลล์ก็ยอมรับความพ่ายแพ้และยอมให้มีการปฏิรูประบบการสอดแนม

พอล เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ประกาศลงชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2559 โดยท่าทีเอียงไปในทางสนับสนุนเสรีนิยม (libertarian) เขาบอกว่าแม้แต่รัฐบัญญัติเสรีภาพของสหรัฐฯ ก็ยังไม่ดีพอในการแก้ไขปัญหาการสอดแนมประชาชน ท่าทีเช่นนี้ทำให้เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคริพับริกันเองว่ากำลัง "ทำลายความมั่นคงของชาติ" เพื่อหาเสียงให้ตนเอง

เรื่อง "ความมั่นคง" มักจะเป็นข้ออ้างที่ถูกนำมาใช้ในการถกเถียงโดยฝ่ายที่ต้องการสนับสนุนการสอดแนม อย่างไรก็ตาม เคยมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสอดแนมที่จัดตั้งโดยรัฐบาลโอบาม่าเปิดเผยว่าการสอดแนมข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ของประชาชนในสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดยั้งการก่อการร้ายได้เลยสักครั้ง

เกลน กรีนวัลด์ นักข่าวและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ดิอินเตอร์เซปต์ผู้ติดตามเรื่องการเปิดโปงโครงการสอดแนมของสหรัฐฯ กล่าวให่สัมภาษณ์ต่อรายการของซีเอ็นเอ็นว่า เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ หลายคนมักจะอ้างเรื่องกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์หรือไอซิสเพื่อสนับสนุนการสอดแนมของตน ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลเองกล่าวในทางตรงกันข้าม กรีนวัลด์ยังกล่าวอีกว่าสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการอภิปรายในเรื่องนี้เป็นเพราะการเปิดโปงจากสโนว์เดน

กรีนวัลด์กล่าวให้สัมภาษณ์อีกว่า ในช่วงที่มีการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติหลังเหตุการณ์ 9/11 หนึ่งสัปดาห์เป็นช่วงที่คนในประเทศสหรัฐฯ รู้สึกว่าจะให้รัฐบาลทำอะไรก็ได้ถึงแม้ว่าเนื้อหาในกฎหมายจะมีแนวคิดแบบสุดโต่ง แต่การมอบอำนาจให้รัฐบาลก็ควรเป็นไปในทางชั่วคราวไม่ใช่ในทางถาวร ตลอดช่วง 14 ปีที่ผ่านมามีการถึงกำหนดยกเลิกรัฐบัญญัตินี้มาแล้วหลายครั้งแต่ก็กลับมีการนำกลับมาใช้ต่อโดยไม่มีการอภิปราย

"แต่ในตอนนี้ไม่เพียงแต่แรนด์ พอล เท่านั้น แต่หลายคนทั้งฝ่ายเสรีนิยมและฝ่ายอนุรักษ์นิยม รวมถึงคนอื่นๆ ต่างก็ลุกขึ้นต้านว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้มีการนำรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติกลับมาใช้อีกโดยไม่มีการปฏิรูป" กรีนวัลด์กล่าว

มีการนำเสนอร่างรัฐบัญญัติเสรีภาพของสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2556 ซึ่งในเนื้อหาระบุถึงการหยุดกระบวนการสอดแนมข้อมูลชาวอเมริกัน เสนอให้มีการตั้ง "ผู้แทนพิเศษ" เพื่อเป็นตัวแทนประชาชนในประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว และเสนอให้บรรษัทไอทีอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊กเปิดเผยเรื่องที่พวกเขาถูกรัฐบาลขอข้อมูลเพื่อความโปร่งใส แต่กลุ่มด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนยังมีข้อกังขาและมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อกฎหมายใหม่นี้

มูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Frontier Foundation: EFF) ระบุว่าเป็นเรื่องดีที่มีการยกเลิกมาตราต่างๆ ในรัฐบัญญัติว่าด้วยความรักชาติที่อนุญาตให้มีการสอดแนมอย่างน้อยก็เป็นการชั่วคราว แต่พวกเขาก็ยังคงมีท่าทีกลางๆ กับกฎหมายใหม่และเชื่อว่ารัฐสภาของสหรัฐฯ ควรจะทำได้ดีกว่านี้ในประเด็นเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว EFF ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีเครื่องมือการสอดแนมอื่นๆ อยู่แม้ว่าจะมีการยกเลิกมาตรา 215 ซึ่งว่าด้วยการดักข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของประชาชนไปแล้ว

เรียบเรียงจาก

Greenwald: Obama, Media 'Irresponsible' for Scaring Public Over Patriot Act, Common Dreams, 31-05-2015
http://www.commondreams.org/news/2015/05/31/greenwald-obama-media-irresponsible-scaring-public-over-patriot-act

NSA programme: Bush-era powers expire as US prepares to roll back surveillance, The Guardian, 01-06-2015
http://www.theguardian.com/us-news/2015/may/31/nsa-reform-senate-deal-as-patriot-act

Section 215 Expires—For Now, EFF, 31-05-2015
https://www.eff.org/deeplinks/2015/05/section-215-expires-now

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/USA_Freedom_Act

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท