Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ห้วงเวลานี้ข่าวเกี่ยวกับการอพยพหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญากลายเป็นเรื่องที่มวลมนุษยชาติทั่วโลกจับตามองมาเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยกับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงเรื่องการอพยพลี้ภัยเข้ามายังอาณาบริเวณดินแดนของประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อใช้เป็นทางผ่านรอเวลาข้ามไปยังประเทศที่ 3 ต่อไป จนทุกวันนี้ชาวโรฮิงญาเป็นที่จับตามองและกลายเป็นผู้ต้องหาคดีการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายไปเสียแล้ว ซึ่งประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนต่างก็ไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญาเดินทางเข้ามายังอาณาบริเวณประเทศของตน แต่การที่ชาวโรฮิงญาต้องอพยพออกนอกประเทศมันเกิดจากสาเหตุอะไร…..แล้วชีวิตความเป็นอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยผิดกฎหมายของชาวโรฮิงญานั้นสะดวกสบายจริงหรือ…..หรือนั่นเป็นแค่พื้นที่เบลอๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้กีดกันและผลักดันชาวโรฮิงญาให้กลายเป็นคนชายขอบจากวาทกรรมการพัฒนา (Development discourse) ของประเทศที่ไม่ยอมรับชาวโรฮิงญากันแน่….?

ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกหากจะมีใครสักคนเข้ามานอนหลับ ทำธุระส่วนตัว ทำกับข้าวกินหรือแม้แต่จะเดินไปเดินมาในบ้านของเรา เราเองก็คงไม่ชอบเหมือนกัน ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดจากความแปลกแยก (Alienation) จากคนส่วนใหญ่ในสังคม สิ่งเหล่านั้นมักจะถูกมองไปในทางลบทันที ซึ่งในที่นี้หมายถึง ชาวโรฮิงญาที่ใช้เรียกชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในดินแดนรัฐอาระกันหรือรัฐระคายในปัจจุบันเป็นรัฐชายแดนทางตะวันตกของประเทศพม่าติดชายแดนประเทศบังคลาเทศตั้งแต่แรกเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7

ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นดินแดนของนักเดินเรือชาวอาหรับและตั้งถิ่นฐานที่เมืองค๊อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) มีการก่อตั้งอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า มารุค อุ (Mrauk U) ในดินแดนอาระกันหรือรัฐระคายในปัจจุบันอาจบ่งบอกได้ว่าพวกเขาคือ คนพื้นเมืองบนดินแดนอาระกันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์บนดินแดนอาระกันที่นับถืออิสลาม แต่สำหรับพม่า "โรฮิงญา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่จากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกันที่หมายถึงพวกที่อพยพเข้ามาจากประเทศบังคลาเทศอย่างผิดกฎหมายในห้วงช่วงเวลาที่ประเทศพม่าอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศอังกฤษ และไม่ว่าชาวโรฮิงญาจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับหรือผู้อพยพชาวบังคลาเทศที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนดินแดนอาระกัน แต่ชาวโรฮิงญาในปัจจุบันก็เป็นคนรุ่นที่สองหรือสามที่ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาในดินแดนอาระกัน ซึ่งมีพ่อ แม่หรืออาจรวมถึง ปู่ ย่า ตา ยายที่เกิดและตายบนดินแดนอาระกันแห่งนี้ฉะนั้นหากมองย้อนกลับไปตามประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงญาแล้วจะมีความผูกติดกับดินแดนอาระกันที่ซึ่งมีประวัติเป็นของตนเองและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าในช่วงเวลาไม่นาน

ในช่วงเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1784 หรือ ปี พ.ศ.2327 อาณาจักรพม่าขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนอาระกันผู้คนจำนวนมากทั้งพุทธและมุสลิมต่างก็อพยพหนีกองภัยสงครามเข้าสู่ดินแดนจิตตะกอง จนกระทั่งในปี ค.ศ.1823 -1828 หรือ ปี พ.ศ.2366 – 2371 อังกฤษเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในสงครามกับพม่าทำให้ดินแดนชายฝั่งบริเวณอาระกันตกอยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษผู้คนจากอินเดียแลบังคลาเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ดินแดนอาระกัน บางส่วนเป็นชาวอาระกันที่อพยพออกไปหลังกองทัพพม่าเข้ายึดครองอาระกัน บางส่วนก็คือชาวบังคลาเทศจากจิตตะกองหรือคนอินเดียจากพื้นที่ใกล้เคียงต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีค.ศ.1939 ถึง ปีค.ศ.1945 หรือ ปี พ.ศ.2482 – ปี พ.ศ.2488 ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและชาวโรฮิงญามีความแตกแยกกันมากขึ้น เนื่องจากในช่วงต้นของสงครามกองกำลังกู้ชาติของพม่าเลือกที่จะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ขณะที่กองทัพอังกฤษในพม่าก็ได้กองหนุนจากชาวอินเดียและ ชาวโรฮิงญา จึงส่งผลให้ชาวพม่าต้องเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังอังกฤษและพันธมิตร แต่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในช่วงสงคราม การถอยทัพอย่างรวดเร็วของอังกฤษได้ทิ้งให้ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงญาเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่มาพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่นและพันธมิตรที่เป็นกองกำลังกู้ชาติของพม่า

เมื่อสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2  ปี ค.ศ.1939 ถึง ปีค.ศ.1945 หรือ ปี พ.ศ.2482 – ปี พ.ศ.2488 จากความพ่ายแพ้ในสงครามกองกำลังกู้ชาติของพม่าเปลี่ยนการสนับสนุนกองกำลังอังกฤษ ซึ่งแต่ก่อนชาวอินเดีย ชาวโรฮิงญาที่อดีตเป็นพันธมิตรของอังกฤษกลับถูกละเลยและทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมของตนในพม่าเพียงลำพัง จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชบนเงื่อนไขของการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อตกลงปางหลวงโดยให้มีการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามาเป็นพลเมืองของประเทศทั้งหมด แม้ว่าในภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงญาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในสมัยรัฐบาลของนายอูนุ ในการประชุมสภาเมื่อปี ค.ศ.1950 หรือ ปี พ.ศ. 2493 ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เนวิน ในปี ค.ศ. 1978 หรือ ปี พ.ศ. 2521 พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้มีการสร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่าพุทธขึ้นมานำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างไปจากพม่ามากที่สุดคือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาระกันหรือระคายในปัจจุบันที่มีลักษณะภายนอก มีภาษา มีการแต่งกายใกล้เคียงกับผู้คนในบังคลาเทศมากกว่าพม่า มีการนับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดู และพุทธ

ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ดินแดนรัฐอาระกันต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า จึง เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธที่จะได้รับสัญชาติพม่าและถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก มักจะมี  คนเข้าใจผิดว่าชาวอาระกันกับชาวโรฮิงญา คือ คนกลุ่มเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วชาวอาระกันกับชาวโรฮิงญาเป็นคนละกลุ่มกัน ชาวอาระกันมาจากรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ของพม่า ส่วนชาวโรฮิงญานั้นมาจากเมืองจิตตะกองของบังกลาเทศ ทั้งสองกลุ่มเป็นพวกเชื้อสายเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน แยกไม่ออกว่าใครเป็นใครต่างกันที่สัญชาติ เหตุเพราะอยู่คนละประเทศกันความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นประจำต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธรวมกับชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวโรฮิงญาในบางส่วนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลพม่านับชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ว่าเป็นผู้อพยพ จึงทำให้ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นพลเมืองของประเทศโดยสิ้นเชิงยิ่งไปกว่านั้นประชาชนชาวพม่ามองว่าชาวโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดีต่อตน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางคนหรือบางกลุ่มต้องการจะสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอาระกันตอนเหนือให้ผนวกเข้ากับปากีสถาน

แต่จะว่าไปบนโลกนี้จะมีมนุษย์สักกี่คนที่เดินดินกินข้าวแกงอยากเป็นบุคคลที่พ่วงด้วยคำว่า “อพยพ” ตามหลังนามสกุลของตนเองทั้งๆ ที่ขาทั้ง 2 ข้างยืนอยู่บนแผ่นดินบ้านเกิดของตัวเองในเมื่อชีวิตมันเลือกไม่ได้การเดินทางออกสู่อิสรภาพจึงเป็นตัวเลือกสุดท้ายในชีวิตของพวกเขาในเมื่อกลับประเทศไม่ได้หนทางเดียวคืออยู่และดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแต่ใครจะไปรู้ว่าชาวโรฮิงญาแท้ที่จริงเข้ามาอาศัยอยู่ประเทศไทยหลายชั่วอายุคนแล้ว บางทีอาจจะเดินทางเข้ามาก่อนแรงงานข้ามชาติจากชาติอื่นๆ ก็เป็นได้นะ……หากเป็นเช่นนั้นก็แสดงว่าชาวโรฮิงญาต้องต่อสู้ดิ้นรนมานานแล้วซิ..…คุณว่าไหม

จะมีใครรู้ว่าชาวโรฮิงญาต้องอยู่กันอย่างยากลำบากขนาดไหนท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเลื่อนไหลของสังคมและวัฒนธรรมอย่างไม่หยุดนิ่งตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินหรือนอนต้องอยู่อย่างต้องหลบๆ ซ่อนๆ เพราะเข้ามาในฐานะแรงงานข้ามชาติที่ถูกจัดลำดับให้อยู่ในระดับล่างสุดของแรงงานที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งทำบัตรประชาชนจากรัฐบาลประเทศต้นทาง ไม่มีแม้กระทั่งได้สิทธิ์ใช้บัตรแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้นไม่มีสิทธิ์ในความเป็นพลเมืองของประเทศต้นทางด้วยซ้ำ

เห็นได้ชัดเจนว่าหนึ่งชีวิตที่เกิดมาพร้อมกับต้นทุนชีวิตที่ติดลบไม่มีโอกาสให้เลือกเส้นทางชีวิตเหมือนคนอื่น ฉะนั้นการใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนมีความลำบากมาก บุคคลเหล่านี้จึงกลายเป็นเสมือนวัตถุแห่งการถูกจ้องมองทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคงและด้านสาธารณสุข ซึ่งชาวโรฮิงญาไม่เพียงแต่จะต้องหลีกเร้นจากอำนาจรัฐในการทำงานหรือการใช้ชีวิตในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย หากแต่ยังต้องมีการปรับตัวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูแบบใหม่ๆ อาทิ สภาพการทำงานที่ถูกมองไปเป็นอื่น ความเป็นอยู่ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักใคร และเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากรู้จักด้วยซ้ำ มันน่าสงสารนะ!!! อาจจะเรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่ด้อยอำนาจเป็นบุคคลที่คอยเป็นเบี้ยล่างให้กับคนกลุ่มใหญ่ในสังคมเป็นคนยากไร้ และอื่นๆ อีกมากมายที่เสมือนเป็นเงาเฝ้าติดตามตัวพวกเขาไปทุกหนทุกแห่งตลอดเวลา

ลองคิดตามผู้เขียนนะครับ ไม่ใช่พวกเขาเหล่านี้หรอครับ ที่ใช้กำลังแรงกายของตนเองเพื่อแลกกับเงินเพียงไม่กี่บาทและเพื่อแลกกับที่ยืนในสังคมบ้างแม้จะต้องเขย่งพวกเขาเองก็ยอมที่จะทำมันให้ถึงที่สุด เคยสงสัยกันไหมว่า…..?

ใครกันที่คอยเดินเข็นผักตามตลาดยามวิกาลทั้งๆ ที่คนไทยกับนอนหลับสบายอยู่บนที่นอน

ใครกันที่คอยนั่งขอดเกล็ดปลาอย่างเหน็ดเหนื่อยวันละหลายสิบกิโลตลอดทั้งวันทั้งๆ ที่คนไทยกับนอนดมรักแร้อยู่ที่บ้าน

ใครกันที่คอยนั่งขัดหม้อ ไห กระทะ และล้างจานจนมือเปื่อยทั้งๆ ที่คนไทยกับกินกันอย่างอิ่มหนำสำราญใจ

ใครกันนะที่คอยแบกปูน ตักกรวดทรายตอกเสาเข็มกลางวันแสกๆ ทั้งๆ ที่คนไทยกับใช้ชีวิตกันอย่างสบายในห้องแอร์

และที่สำคัญใครกันทำโรตีอร่อยๆ ให้คุณกิน รวมทั้งทำให้โรตีกลายเป็นอาหารอันเลื่องชื่อของไทยในหมู่ฝรั่งต่างชาติไปแล้ว

จะเป็นใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ “โรฮิงญา” แรงงานกลุ่มที่ทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวซึ่งทำงานกันมานานหลายสิบปีแล้ว

ไม่แน่นะ…..คุณๆ ท่านๆ เวลาเดินทางออกไปข้างนอกลองเหลียวซ้ายแลขวากันดีๆ บางทีคนที่มองไปเห็นอาจจะเป็นแรงงานโรฮิงญาก็ได้ เพราะแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาทำหน้าที่รับผิดชอบงานต่างๆ ได้มากกว่าคนไทยเสียอีก

จะว่าไปการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยของชาวโรฮิงญาก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยอย่างที่ตกเป็นประเด็นหรอกนะไม่ดีหรือ….ที่พวกเขาเหล่านี้ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่การทำงานที่คนไทยไม่ทำ เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำก็คงจะไม่มีใครทำมันอยู่ดี แต่พวกเขากับเลือกที่จะทำโดยไม่ต้องคิด เพื่อความอยู่รอด คนไทยเองหรือเปล่า…? ที่เป็นผู้กำหนดเป็นผู้สร้างแบ่งแยกพวกเขาออกจากสังคมของการพัฒนาเองทั้งๆ ที่ความเดือดร้อนก็ไม่ได้รับผลกระทบซักหน่อย น่าแปลกจริงๆ ว่าทำไมจริงคิดกันเช่นนั้นพวกคุณๆ ท่านๆ คิดเหมือนกับผู้เขียนไหมครับ

อาจจะจริงที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นอื่นในสังคม แต่ชาวโรฮิงญาเองก็พยายามที่จะปรับตัวให้เข้ากับบริบททางสังคมที่พวกเขาอยู่เหมือนกัน เพราะกลับประเทศไม่ได้จึงยอมต่อสู้ดิ้นรนในประเทศไทย ซึ่งชาวโรฮิงญาก็พยายามสร้างพื้นที่ในจินตนาการของตัวเองหรือระหว่างกลุ่มขึ้นมา เพื่อไม่ให้ตัวเองนั้นรู้สึกว่าอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางความเป็นอื่นในสังคมของคนอื่น อย่างไรก็ดีชาวโรฮิงญาก็ไม่ได้ไปรุกล้ำอาณาเขตพื้นที่ของประชาชนไทยแม้แต้น้อย ยิ่งไปกว่านั้นกับถูก กลั่นแกล้งจากคนไทยบางกลุ่มที่ไม่ชอบแรงงานเหล่านี้

ลองคิดดูนะครับ……..หากชาวโรฮิงญาเหล่านี้เดินทางกลับประเทศหรือถูกจับกุมต้องส่งกลับประเทศไป แล้วภาระงานที่จะต้องสานต่อจากพวกเขา ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาข้างต้นหละ……..ใครผู้ใดจะเป็นคนกระทำ……ต่อจากพวกเขา    

 

 

หมายเหตุ  ผู้เขียนมีความสนใจความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญาที่ประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทย และได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสต้องการให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวโรฮิงญาที่เป็นแรงงานระดับล่างสุดของแรงงานด้วยกันเอง ไม่ได้มีเจตนาสร้างความขัดแย้งหรือบิดเบือนข้อมูลแต่อย่างใด

 

[1]นิสิตปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

 




[1]นิสิตปริญญาโท สาขาพัฒนาสังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net