Skip to main content
sharethis

ประธาน กมธ.ยกร่าง รธน. บรรยายให้ความรู้เรื่องร่าง รธน. กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร ชี้ รธน.ใหม่จะชาติสู่สันติ โชว์มาตราการป้องกันทุจริตด้วยสมัชชาคุณธรรม พร้อมเชื่อ สปช. จะไม่คว่ำร่าง อย่างที่มีข่าวลือ

25 พ.ค. 2558 เมื่อวานนี้ เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายให้ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้กับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ  โดยบวรศักดิ์ อธิบายถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าเป็นฉบับเน้นการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง มุ่งแก้ปัญหาในอดีต นำชาติสู่สันติสุข สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ สร้างการเมืองที่ใสสะอาด ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นไม่ได้ลอกเลียนแบบจากต่างชาติ ซึ่งขณะนี้กระบวนการของการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ระหว่างการรับฟัง ความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และทำการแก้ไข โดยจะต้องทำร่างสุดท้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 ก.ค. นี้ เพื่อจะเสนอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เว้นแต่รัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อขยายเวลาออกไปอีก 1เดือน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า สปช. จะไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่มีกระแสข่าว ซึ่งความเห็นและข้อเสนอของทุกฝ่าย รวมถึง กกร.สามารถเสนอความเห็นมายังกรรมาธิการยกร่างฯได้ เพราะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศ

บวรศักดิ์ ระบุอีกว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ได้กำหนดให้รัฐต้องยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และหลักเศรษฐกิจที่เป็นธรรม อย่างมีธรรมาภิบาล และต้องสนับสนุนองค์กรเอกชน เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้บัญญัติให้มีหน่วยงานในการควบคุมการใช้งบประมาณของรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย โดยให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณมาควบคุมดูแล ขณะที่มาตรการป้องกันการทุจริตได้มีองค์กรที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ อาทิ การตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง เพื่อขับเคลื่อนกับหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะที่กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า 3 สิ่งสำคัญในด้านเศรษฐกิจที่จะต้องมีการปฏิรูปเพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชนและ ประชาชนให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขาดประสิทธิภาพที่ทำให้ไม่สามารถแข่งขัน กับต่างชาติได้และปัญหาช่องโหว่ทางการเงินและการคลัง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำขึ้นได้วางกรอบในการแก้ปัญหาทั้งการปฏิรูปการเงินการคลังที่มีการกำหนดให้เงินแผ่นดินหมายรวมถึงเงินกู้ที่ต้องตราเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การแสดงรายรับรายจ่ายของ พ.ร.บ.งบประมาณ การจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการปฏิรูประบบภาษีให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net