ร่างกาย ความรู้สึก และสุขภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การขยายตัวของกิจกรรมการออกกำลังกายทวีขึ้นมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดของเครื่องมือในการออกกำลังกายขยายตัวอย่างกว้างขวาง (รวมจักรยานด้วย)  ประโยคเด็ดของบรรดาคุณหมอทั้งหลายหลังจากตรวจโรคของคนไข้เสร็จแล้ว ก็คือ “ออกกำลังให้มากขึ้นนะ”  นักศึกษาแพทย์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าหลังจากเธอได้ฟังประโยคเด็ดเช่นนี้ของอาจารย์หมอในห้องตรวจแล้ว  เธอเกิดความงงงวย จึงถามอาจารย์หมอว่าโรคที่คนไข้เป็นนั้นมันเกี่ยวอะไรกับการออกกำลังกาย  อาจารย์หมอท่านหัวเราะแล้วก็บอกว่าไม่เกี่ยวหรอก แต่ไม่เป็นไร การออกกำลังกายเป็นเรื่องดีที่ทุกคนควรทำ  (ฮา)

กิจกรรมการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ หากแต่เป็นกระบวนการทางสังคมที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในหลายมิติและหลายด้านด้วยกัน    ที่สำคัญได้แก่ การขยายตัวของความรู้ทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) และผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงความหมายและความสำคัญของ “ร่างกาย” (body)   รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความหมายของความรู้สึกต่อโลกภายนอกร่างกายด้วย

ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันเริ่มต้นในระบบการศึกษาแพทย์ศาสตร์ของสังคมไทยประมาณต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ แต่ในช่วงแรกนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก  สังคมการแพทย์ไทยยังเน้นอยู่ที่การรักษาโรคที่เป็นแล้วให้คนไข้หายจากโรค  จนกระทั่งราวทศวรรษ ๒๕๒๐ จึงได้เริ่มเกิดกระแสการสร้างความรู้ในด้านเวชศาสตร์ป้องกันขึ้นมาใน 2 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่การเพิ่มความหมายหรือความสำคัญให้แก่การเรียนรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันในสถาบันการศึกษาทางการแพทย์   และการส่งเสริมให้เกิดความรู้ทางการแพทย์เชิงป้องกันให้แก่ประชาชนทั่วไป

การให้ความสำคัญมากขึ้นแก่ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันนั้นเห็นได้ชัดจากการขยายตัวของการเรียนการสอนในด้านนี้ของสถาบันการศึกษาทางแพทย์ศาสตร์  ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑  ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  มีแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันเพียงสองท่าน และพยาบาลอีกหนึ่งท่าน  จนปลายทศวรรษ ๒๕๑๐ จึงได้ตึกทำงานใหม่ และจำนวนบุคลากรเพิ่มมากขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนสถานะขององค์กรจาก “หน่วยวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน” มาเป็น “ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม”  จากนั้นการเรียนการสอนด้านเวชศาสตร์ป้องกันก็ได้เริ่มขยายตัวไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัย และถูกจัดให้เป็นยุทธศาสตร์สาธารณสุขสำคัญในปัจจุบัน

ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มแพทย์ที่สนใจในปัญหาของสังคมนำโดยนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว และนายแพทย์ประเวศ วะสี ก็ได้สร้างนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญมาก ได้แก่  การสร้างวารสาร “หมอชาวบ้าน” ขึ้นมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งต่อมาเมื่อได้รับความสำเร็จก็ได้จัดตั้งมูลนิธิ “หมอชาวบ้าน” ซึ่งหลักการสำคัญที่สุดของการทำงานกลุ่มนี้ ได้แก่  การส่งเสริมให้คนทั่วไปมีศักยภาพในการดูแลตนเองและคนใกล้ชิดด้วยการเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขไปสู่สังคม

การแพทย์ในเชิง “ป้องกันไว้ก่อน” ที่ขยายตัวอย่างมากและกว้างขวางในช่วง 30-40 ปีมานี้ (ปีนี้เป็นปีครบรอบ ๓๖ ปี ของวารสารหมอชาวบ้าน)  ในด้านหนึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะสามารถคืนการตัดสินใจในการจัดการดูแลสุขภาพและการรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่ร้ายแรงของตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้แก่คนทั่วไปได้มากกว่าเดิมมาก  รวมทั้งช่วยให้เกิดความตระหนักที่กว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกบริโภคอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เครื่องสำอาง  สารเคมีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ที่ปลอดภัยต่อชีวิตและสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว

ความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันมีพัฒนาการที่สำคัญ จากในช่วงแรกที่เผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ไปสู่ผู้อ่านเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพและการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดการปัญหาโรคภัยไข้เจ็บหรือการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างมีความรู้และความเข้าใจ  เมื่อถึงทศวรรษ ๒๕๓๐ โดยประมาณก็เริ่มเกิดการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจชุดใหม่เกี่ยวกับสมุนไพรไทยและการบริโภคอาหารที่มีค่าในการสร้างสมดุลของร่างกาย

ความรู้ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาและได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องนี้ได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการผลิตหรือการสร้างความคิดว่าการกินผักอะไรหรือผลไม้อะไรจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคนั้นโรคนี้ขึ้น  ดังที่จะเห็นได้ถึงการประกาศสรรพคุณในการป้องกันโรคของพืชผักอาหารสารพัดอย่างในช่วงปัจจุบัน

แม้ว่าความรู้เชิงป้องกันนี้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมไทย  แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดผลกระทบในด้านที่ “หมอชาวบ้าน” หรือผู้ทำงานด้านเวชศาสตร์ป้องกันไม่ได้คาดคิดเอาไว้ตามมา
ผลกระทบที่ไม่คาดคิดหรือคิดไปไม่ถึง ก็คือ การปลดปล่อยคนทั่วไปไม่ให้ต้องติดอยู่กับหมอและโรงพยาบาลด้วยการเพิ่มศักยภาพให้ปัจเจกชนแสวงหาหนทางดูแลตนเองนั้น   กลับทำให้เกิดการดูแลตนเองอย่างไร้ฐานความรู้ การคิดไตร่ตรอง และความเข้าใจที่แท้จริง ในยุคที่คนในวัยหนุ่มสาวให้ความสำคัญแก่ “ร่างกาย” มากขึ้น ในขณะที่คนสูงวัยมีอายุยืนขึ้นและต้องการมีชีวิตในวัยชราที่ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมๆ กับการโฆษณาเพื่อขายบริการทางสุขภาพและอาหารเสริมที่ขยายตัวจนดาษดื่นไปหมดทั้งในสื่อเก่าและสื่อใหม่ที่แบ่งแยกเพศและวัยของกลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียดเพื่อสร้างจุดขายให้แก่สินค้าแต่ละประเภท เช่น  เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงามสำหรับของหญิงวัยรุ่น หญิงวัย 30-40 ปี หญิงวัยเกษียณ ชายวัยรุ่น ชายวัยทำงาน ฯลฯ

การขยายตัวของการดูแลตนเองอย่างไร้ความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเห็นได้ชัดเจนจากการบริโภคอาหารเสริมทางเคมีชีวะที่เพิ่มมากขึ้น เพราะท่ามกลางการทำงานในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เข้มข้นมากขึ้น การใช้ชีวิตกลางคืนมากขึ้น รวมทั้งชีวิตประจำวันที่ต้องบริโภคอาหารสำเร็จรูปนานาชนิดที่ไม่เพียงแต่จะด้อยคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้นแต่ยังอาจเป็นพิษต่อร่างกายในระยะยาวอีกด้วย คนจำนวนมากจึงหันเข้าหาการป้องกันโรคอย่างมักง่ายด้วยการซื้ออาหารเสริมหรือสร้าง “อาหารเสริมวิเศษ” ขึ้นมาใช้ด้วยตนเอง  เช่น ไข่แช่น้ำส้ม เห็ดหูหนูดำต้มกับขิงและพุทราจีน ฯลฯ พร้อมกันนั้นการป้องกันตนเองก็ขยับขยายออกไปสู่การสร้าง “นิยาย”  เกี่ยวกับการบริโภคพืชผักผลไม้นานาชนิด (จนน่าจะครอบคลุมทุกพันธุ์พืชในเมืองไทยแล้ว อาจจะยังเหลือเปลือกไม้ฉำฉากระมัง  (ฮา ) 

ต้องบอกก่อนนะครับว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดนี้ ไม่ใช่ความผิดของกลุ่มแพทย์ที่ทำงานส่งเสริมให้สังคมมีความรู้ด้านเวชศาสตร์ป้องกันแต่อย่างใด  หากแต่เป็นเพราะคนในสังคมไทยเองต่างหากที่ได้เลือกการตัดสินใจเองในลักษณะที่ไม่มีฐานความรู้และความเข้าใจเพียงพอ  คำถามที่ต้องตอบให้ได้ก็คือ  ทำไมคนจำนวนมากในสังคมไทยจึงเชื่อในเรื่องเหล่านี้

ความรู้เรื่องเวชศาสตร์ป้องกันดำรงอยู่ในสังคมที่คนจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองอยู่ในภาวะ “ความเสี่ยงสูง” ต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ สภาวะ “ความเสี่ยงสูง “ เกิดขึ้นในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าจะเป็นความเสี่ยงจริงๆ ในชีวิตคน   เช่น  ผู้ที่เข้าไปตรวจหาโรคมะเร็งที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติร้อยละ 90 ไม่ได้เป็นมะเร็ง หากแต่เข้าไปตรวจเพราะว่ารู้สึกกลัวว่าจะเป็น ซึ่งความกลัวนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกถึงสภาวะ “ความเสี่ยงสูง” นั่นเอง

สภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกถึง “ความเสี่ยง” ที่ตนเองจะมีโอกาสเป็นโน่นเป็นนี่  จึงทำให้แม้ไปปรึกษาแพทย์มาแล้วและพบว่าตนเองไม่ได้ป่วยเป็นโรคอะไรทั้งสิ้น แต่ก็ยังกังวลอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น หากเพื่อนบอกข้อมูลหรือไปอ่านพบในอินเตอร์เน็ตว่ากินพืชผักอะไรแล้วจะป้องกันโรคได้หรือกินอาหารเสริมอะไรแล้วจะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น คนกลุ่มนี้ก็จะเชื่อ (อาจไม่เชื่อทั้งหมดแต่ก็ “อย่าลบหลู่ “) และร่วมสร้างกระแสการบริโภคพืชผักหรืออาหารเสริมชนิดนั้นทันที ซึ่งสื่อใหม่ต่างๆ หรือโลกออนไลน์ก็มักมีส่วนสำคัญในการทำให้ “กระแส” นิยมพืชผักสมุนไพรบางตัวกระจายออกไปรวดเร็วราวกับไฟไหม้ฟาง

ผลต่อเนื่องจากการขยายตัวของการป้องกันตนเองในลักษณะดังกล่าวนี้ เมื่อประกอบกับเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกของผู้คนในสังคม รวมทั้งการให้ความสำคัญแก่ “ร่างกาย” มากขึ้น   ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของเวชศาสตร์ป้องกันอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การออกกำลังกายที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

กระบวนการที่ผู้คนรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่กับ “ความเสี่ยง” ต่างๆ นานา  พร้อมกับการถูกสร้างให้ “เสรี” ในการตัดสินใจเรื่องสุขภาพมากขึ้นจากความรู้ในด้านเวชศาสตร์ป้องกันที่ได้รับรู้มาในอดีต ในด้านหนึ่งทำให้เกิดการขยายตัวของการสรรหาสิ่งต่างๆ มาบริโภคบนความเชื่อว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพดังได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งทำให้ธุรกิจอาหารเสริม พืชผักผลไม้ที่ปิดป้าย “สมุนไพร” เติบโตอย่างรวดเร็ว   แต่ในอีกด้านหนึ่ง กระบวนการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการป้องกัน “ความเสี่ยง”  ก็ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการออกกำลังกาย จนเกิดความนิยมในการออกกำลังกายหลากหลายประเภท ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการออกกำลังกายขยายตัว รวมทั้งธุรกิจประเภท “ฟิตเนส” และธุรกิจโฆษณาสินค้าสำหรับออกกำลังกาย

  การปลดปล่อยการจัดการสุขภาพของตนเองจากกรอบของแพทย์ศาสตร์แบบรักษา (Curative medicine) มาสู่การเพิ่มพูนศักยภาพของปัจเจกชนในการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพของตนเองนี้มีความสำคัญมาก  เพราะเป็นพื้นฐานของการทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถจะป้องกัน “ความเสี่ยง” ได้ด้วยตนเอง  ยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายและความสำคัญของ “ร่างกาย” ก็ยิ่งทำให้เกิดความต้องการที่จะทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงแบบสวยงามด้วยกล้ามเนื้อ โดยปราศจากไขมันพอกพูนในส่วนต่างๆ ของร่างกาย  มิใช่แข็งแรงแบบที่ร่างกายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงความหมายและการให้ความสำคัญแก่ร่างกายมากขึ้น ปรากฏอย่างชัดเจนและเข้มข้นมากขึ้นในสังคมไทยราวต้นทศวรรษ ๒๕๔๐ เพราะการขยายตัวของอุตสาหกรรมภาคบริการต่างๆ ได้ทำให้ผู้คนเล็งเห็นว่าร่างกายเป็น “ทุน” ที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในชั้นต้นความพอดีของสัดส่วนร่างกายทำให้เกิดโอกาสในการทำมาหากินหรือการประกอบธุรกิจต่างๆ มากขึ้น ในชั้นต่อมา ความพอเหมาะหรือความสมส่วนก็กลายเป็นการวัดระดับของ “ชนชั้น” ว่าเป็นผู้มีการลงทุนในร่างกายได้มากหรือไม่ ชั้นที่ลึกที่สุดแล้ว ความสำนึกเชิงปัจเจกชนที่เข้มข้นมากขึ้นทำให้ผู้คนรู้สึกถึงการเป็น “เจ้าของ” ร่างกายของตนเองแต่เพียงผู้เดียว สามารถใช้ร่างกายของตนไปในทางใดๆ ก็ได้ การให้ความสำคัญต่อ “ร่าง-กาย” จึงเชื่อมต่อเข้ากับการดูแลสุขภาพเพื่อให้ “ร่าง-กาย” พ้นจาก “ความเสี่ยง” และอยู่กับเจ้าของให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้  พร้อมๆ กับการทำให้ร่างกายสวยงามเพื่อจะมีเสน่ห์ในสายตาคนอื่น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วก็จะนำเอาความสำเร็จมาสู่เจ้าของเรือนร่าง

การขยายตัวของการออกกำลังจึงเพิ่มมากขึ้น สถาน “ ฟิตเนส” ต่างๆ ในเขตเมืองขยายตัวรองรับชนชั้นกลางที่มีเงินที่พร้อมจะเป็นสมาชิกรายละหลายหมื่นบาทต่อปี  ในเขตชานเมืองหรือชนบทหน่อยก็จะมีการรวมกลุ่มกันเต้นแอโรบิค  พร้อมกันนั้น  ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิด “ชนชั้นกลาง” เพิ่มมากขึ้นและเริ่มกลายเป็นชนชั้นกลางหลายระดับในทุกพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและชนบท ก็ยิ่งทำให้การออกกำลังกายขยายตัวตามไปด้วย

กล่าวได้ว่าการขยายตัวของการออกกำลังกายที่รองรับความเปลี่ยนแปลงของการให้ความหมายและความสำคัญใหม่แก่ร่างกายเช่นนี้ได้ทวีความซับซ้อนมากขึ้น  เพราะลำดับชั้นทางสังคมได้ทำให้เกิดความจำเป็นในการสร้างกิจกรรมการออกกำลังกายที่แตกต่างกันออกไป  เมื่อเครื่องมือการออกกำลังกายแบบเดียวกับที่มีอยู่ในสถานฟิตเนสนั้น ปรากฏอยู่ทั่วไปตามสวนสาธารณะหรือตามพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กลุ่มชนชั้นกลางที่มีเงินในเขตเมืองหรือกลุ่มชนชั้นกลางปัญญาชนก็ต้องแสวงหากิจกรรมการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ และพาหันมาสู่มีการสร้างกิจกรรมที่มี “คลาส” มากกว่า เช่น ลีลาศ โยคะ เป็นต้น (ธุรกิจการออกกำลังกายจึงเป็นธุรกิจที่มีอนาคตแต่ก็ต้องตระหนักว่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับความรู้สึกนึกคิดของผู้คนนะครับ)

การออกกำลังด้วยการขี่จักรยานในช่วงหลังมานี้จึงผสมผสานไปกับการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการครอบครองจักรยานคุณภาพสูง ราคาแพง และชุดแต่งตัวแบรนด์เนมที่ทำให้ร่างกายดูดี  จักรยานแม่บ้านที่ใช้ปั่นไปโน่นมานี่ในชีวิตประจำวันจึงถูกเบียดขับออกไป ไม่สามารถที่จะนำออกมาถีบเพื่อออกกำลังกายได้ ทั้งๆ ที่จะได้ออกกำลังในการถีบมากกว่า  ค่ายมวยไทยก็มองเห็นช่องทางในการทำกำไรจากเรื่องนี้เช่นกัน ค่ายมวยหลายแห่งจึงพยายามขยับตนเองออกมาสู่การเป็นสถานฝึกมวยที่ดูดีเฉกเช่นเดียวกับสถานฝึกเทควันโด เป็นต้น

พร้อมกันไปกับการขยายตัวของกิจกรรมการออกกำลังกายที่มีความหลากหลายมากขึ้น  เวชศาสตร์ป้องกันก็ได้ทำให้ความอ้วนกลายมาเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งยิ่งทำให้ความหมายของ “ร่างกาย” ที่เน้นความพอดี/สมส่วนทวีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

  จากการเผยแพร่ชุดความรู้แพทย์ศาสตร์ด้านการป้องกันโรค เมื่อประกอบเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ปัจเจกชนสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจโดยอาศัยปัจเจกลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างกายที่ดูดีมีส่วนสำคัญในการสร้างความประทับใจและอำนาจต่อรอง ก็ยิ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการให้ความหมายและความสำคัญต่อร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมมาก  และกระบวนการทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความรู้สึกต่อโลกภายนอกร่างกาย
การเกิดความหลากหลายของกิจกรรมการออกกำลังกายบนพื้นฐานของความหมายและความสำคัญของร่างกายกำลังทำให้สภาวะของสังคมแยกย่อย (fragmented society) ปรากฏชัดเจนมากขึ้น โลกภายนอกถูกตีความและมีความหมายแก่คนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน โลกที่หมุนอยู่ในวิถีความรู้สึกของนักปั่นจักรยานย่อมแตกต่างไปจากผู้ที่เล่นโยคะในสถานที่สงบเงียบ ความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดถูกจัดเรียงให้สื่อสารกันได้เฉพาะกลุ่มมากขึ้น

การออกกำลังกายก่อให้เกิดสภาวะ “เสพติด” ลักษณะหนึ่ง  การออกกำลังกายกลุ่มก็ก่อให้เกิดสภาวะ “ติดกลุ่ม” แบบหนึ่ง ความสามารถเอาชนะ “ร่างกาย” ของตนเองได้ในกิจกรรมรวมหมู่ยิ่งทำให้เกิดสภาวะของการบรรลุจุดสูงสุดของสำนึกเชิงปัจเจกชนมากขึ้น  “สุขภาพ” ที่ดีขึ้นย่อมมีความหมายทางสังคมที่แตกต่างไปจากสุขภาพที่ดีอย่างที่เราเข้าใจกัน    ซึ่งน่าสนใจอย่างมากว่ากระบวนการที่เกิดการขยายตัวของกลุ่มในลักษณะนี้จะนำไปสู่อะไรในอนาคต

สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทุกมิติ ไม่ใช่เพียงแค่ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อย่างที่เข้าใจกัน หากแต่เกิดปรากฏการณ์ใหม่ๆ ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่ลึกลงไปในระบบของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่มีผลต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของคนไทยอย่างลึกซึ้ง  เราจึงจำเป็นที่จะต้องเร่งศึกษาหรือสร้างความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กันให้มากขึ้น เพื่อจะรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงที่อย่างไรก็จะมาถึงเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม

การเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรและอย่างไรบนฐานความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและรอบด้าน ย่อมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ทั้งเพื่อลด “ความเสี่ยง” ในชีวิตจริงและลด “ความเสี่ยง” ในจินตนาการของเราให้เหลือน้อยที่สุด มิฉะนั้นเราจะอยู่ในโลกอย่างมีความสุขได้ยาก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท