Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่ส่วนกลางในกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในกระแสถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตลอดจนการเคลื่อนไหวในเรื่องการลงประชามติ แต่ชาวนครปฐมกำลังมีประเด็นเคลื่อนไหวรณรงค์ของตนเอง นั่นคือ การคัดค้านการย้ายพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ไปยังอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

กรณีนี้เริ่มต้นจากกระแสการแชร์ในโลกออนไลน์ ถึงหนังสือตามบันทึกข้อความส่วนราชการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ที่อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี ที่ วธ.041605/194 ลงวันที่ 17 เมษายน 2558 เรื่องการเคลื่อนย้ายและจัดแสดงโบราณศิลปวัตถุจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ลงนามโดย นายพนมบุตร จันทรโชติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ส่งถึงผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เพื่อปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติวัดพระปฐมเจดีย์ แล้วเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุมาเก็บรักษาและจัดแสดงยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง โดยตั้งงบประมาณไว้ 5 แสนบาท และมีโบราณวัตถุที่ต้องเคลื่อนย้ายไปจำนวน 1,873 รายการ ซึ่งตามโครงการจะดำเนินการในเดือนสิงหาคมนี้

โดยทางโบราณคดี อธิบายได้ว่า บริเวณที่ตั้งของเมืองนครปฐมเป็นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งในเขตที่ราบภาคกลาง ประเมินจากหลักฐานว่า น่าจะมีความเก่าแก่ถึง พ.ศ.1200 และยังเป็นชุมชนขนาดใหญ่มากถึงขนาดเคยตีความกันว่าน่าจะเป็นราชธานีในยุคแรก ดังนั้น จึงมีการขุดค้นศิลปวัตถุโบราณได้จากบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูป พระพิมพ์ เหรียญโบราณ ศิลาธรรมจักร และอื่นๆ ถือกันว่านครปฐมโบราณเป็นเมืองในยุคสมัยที่เรียกว่า “ทวาราวดี” แม้ว่าต่อมาเมืองจะถูกทิ้งร้างไปเพราะแม่น้ำท่าจีนเปลี่ยนเส้นทาง แต่บริเวณนี้ก็ยังเป็นที่ตั้งของพุทธสถานโบราณ คือพระประธม-พระประโทน ซึ่งยังเป็นแหล่งเดินทางมาแสวงบุญเสมอมา

พ.ศ.2378 พระวชิรญานภิกขุและคณะเดินทางมาแสวงบุญ และพระองค์มีวินิจฉัยว่า เจดีย์พระประธมน่าจะเป็นเจดีย์แรกสถาปนาพระพุทธศาสนาในสยาม ต่อมา เมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 จึงได้มีโปรดให้มีการสร้างพระปฐมเจดีย์ขึ้นใหม่ และให้ขุดคลองเจดีย์บูชาจากแม่น้ำท่าจีน ให้เดินทางมายังพระเจดีย์ได้สะดวก บริเวณรอบพระปฐมเจดีย์จึงได้รับการรื้อฟื้นเป็นชุมชนเมืองสมัยใหม่ ขึ้นกับเมืองนครชัยศรี จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างพระราชวังสนามจันทร์ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯแปรพระราชฐานมาประทับเป็นประจำ จึงได้ย้ายศูนย์กลางของเมืองนครชัยศรีมาตั้งที่นครปฐม ชาวจังหวัดนครปฐมจึงถูกสร้างให้ภูมิใจในความเป็นเมืองเก่าแก่ของท้องถิ่นตนเอง

ดังนั้น เมื่อจดหมายเรื่องการย้ายพิพิธภัณฑ์นี้เผยแพร่ออกไป ก็ได้ไปกระตุ้นความรู้สึกท้องถิ่นนิยมของชาวนครปฐม จึงนำมาซึ่งกระแสการต่อต้านคัดค้านอย่างง่ายดาย ด้วยข้ออ้างถึงความวิตกถึงการสูญเสียมรดกทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด โดยตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน นายไพบูลย์ พวงสำลี ประธานกลุ่มศรีทวารวดี นครปฐม ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน และโบราณวัตถุในจังหวัดนครปฐม ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะ “นครปฐม เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยทวารวดี มีอายุนับพันปี และโบราณวัตถุก็ควรอยู่ในพื้นที่ไม่ควรจะมีการนำออกไปนอกพื้นที่ เพื่อให้ลูกหลานได้มีการศึกษา และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตัวเอง คงเป็นเรื่องตลกหากเด็กนครปฐม จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในจังหวัดตัวเองต้องเดินทางไปดูที่อู่ทอง”

หลังจากนี้ จึงเกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครปฐม ได้เปิดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ และเสนอเป็นแนวทางว่า หากหน่วยงานของพิพิธภัณฑ์จะย้ายโบราณสถานออกไป และจะบอกว่าไม่มีสถานที่ปลอดภัย และเพียงพอ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ก็พร้อมจะหาสถานที่ และก่อสร้างสถานที่ให้ได้เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในจังหวัด ที่ต้องมีการเก็บของมีค่าของจังหวัดนครปฐมไว้ สมาชิกสภาจำนวนหนึ่ง ได้ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวในนามของ “กลุ่มรักปฐมนคร” โดยมีข้าราชการระดับสูงในจังหวัดเข้าร่วม และได้เริ่มการขอล่ารายชื่อประชาชนชาวนครปฐมเพื่อแสดงการคัดค้าน และนำมาสู่การตั้งคัทเอ้าขนาดใหญ่เพื่อคัดค้านทั้งจังหวัด และการเคลื่อนไหวต่อต้านเป็นรูปธรรมมากขึ้น ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบางเลน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นายยงยุทธ เพชรดี ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดนครปฐม ได้นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอบางเลน และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม ร่วมกับประชาชนมากกว่า 600 คนเข้ายื่นหนังสือต่อ นายสมชาติ ธีรสุวรรณจักร นายอำเภอบางเลน เพื่อคัดค้านการย้ายโบราณวัตถุ และยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ โดยร่วมกันวางดอกไม้จันทน์บนโลงศพ และเผาไปพร้อมกับหุ่นฟางที่จำลองแทนอธิบดีกรมศิลปากร

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร จึงต้องแถลงข่าวชี้แจงว่า “กรมศิลปากรยังไม่ได้ดำเนินการเพื่อย้ายหรือยุบพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ แต่กรมศิลปากรได้เสนอแผนปรับปรุงและพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะในขณะนี้ กรมศิลปากรต้องดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 44 แห่ง แต่มีภัณฑารักษ์ทั้งสิ้น 93 คน โดยหลายแห่งมีเพียงคนเดียวเท่านั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหรือยุบรวมพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กหลายแห่ง” และว่า ในกรณีของพิพิธภัณฑ์นครปฐม เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก และมีพื้นที่จำกัดขยายไม่ได้ กรมศิลปากรจึงขอหารือกับทางจังหวัดเพื่อหาพื้นที่ตั้งแห่งใหม่ “ซึ่งเบื้องต้นมองว่า อาจจะขอใช้พื้นที่เรือนจำกลางนครปฐมเดิม และระหว่างดำเนินการจำเป็นต้องนำโบราณวัตถุไปฝากไว้ที่พิพิธภัณฑ์ฯอู่ทองเป็นการชั่วคราว จึงอยากให้ชาวนครปฐมเข้าใจด้วย”

ความจริงแล้ว สิ่งที่อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะเป็นที่ทราบกันว่า พิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์มีปัญหามานานแล้ว จากการที่เป็นอาคารขนาดเล็ก ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ แต่มีโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก จนไม่มีพื้นที่จัดแสดงได้อย่างสมบูรณ์ และยังมีที่ตั้งอยู่ในเขตพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเปิดเกือบตลอดเวลาและมีคนพลุกพล่าน จึงยากที่จะดูแลศิลปวัตถุได้อย่างมีหลักประกัน การขยายและย้ายพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัญหาหลักอย่างหนึ่งคือ โครงสร้างของระบบราชการไทยที่ครอบงำ มีลักษณะรวมศูนย์มากเกินไป ทำให้กรมศิลปากรกลายเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องดูแลพิพิธภัณฑ์ราชการทั่วประเทศ จึงได้นำมาสู่การคิดแก้ไขปัญหาแบบส่วนกลาง เช่นการเสนอย้ายศิลปวัตถุจากนครปฐมไปยังอู่ทอง กรณีเช่นนี้ กรมศิลปากรน่าจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับชาวนครปฐม และไม่มีทางจะดำเนินการได้ นอกจากจะต้องใช้การดำเนินการแบบไม่เปิดเผย หรือใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของส่วนกลางมาบังคับ

แต่การแก้ปัญหาในลักษณะนี้จะง่ายกว่านี้มาก ถ้าหากกรมศิลปากรจะลดความเป็นราชการลงและให้มีการกระจายการดูแลโบราณสถานวัตถุไปสู่ภาคท้องถิ่นให้มากขึ้น ให้ท้องถิ่นเข้ามีมีส่วนร่วมดูแลและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ โดยถือว่าพิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการศึกษาสำคัญสำหรับท้องถิ่น

กรณีการคัดค้านการย้ายพิพิธภัณฑ์พระปฐมเจดีย์ครั้งนี้ จึงควรถือเป็นบทเรียนสำคัญของการบริหารส่วนกลาง ที่จะต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น จึงจะแก้ปัญหาในระยะยาวได้

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 514 วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net