Skip to main content
sharethis

20 พ.ค.2558 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ข้อเสนอต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยคปก.ยืนยันความเห็นตาม “ข้อเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ที่ทางคปก.ได้เคยเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ในทุกประเด็น

ทางคปก.ระบุว่า มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

-การให้ความคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสนอภาคของบุคคลตามร่างมาตรา ๔ นอกจากจะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องได้รับความคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

-ควรบัญญัติความเป็นพหุเชื้อชาติของสังคมประเทศไทยไว้ในร่างมาตรา 5 ว่า “ปวงชนชาวไทยที่ประกอบด้วยบุคคลที่มีความเป็นพหุเชื้อชาติไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือ ศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน”

-ควรบัญญัติให้ความคุ้มครอง “สิทธิเสรีภาพของบุคคล” อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการแบ่งแยกความคุ้มครองระหว่าง “สิทธิเสรีภาพของบุคคล” ซึ่งเป็นการให้ความคุ้มครองบุคคลทั่วไป กับ “สิทธิพลเมือง” อันเป็นการจำกัดการให้ความคุ้มครองเฉพาะพลเมืองที่เป็นประชาชนชาวไทยเท่านั้น โดยคปก.มีความเห็นว่า หากเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะให้สิทธิเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นก็ควรบัญญัติการให้สิทธิดังกล่าวโดยชัดแจ้งเป็นเรื่องๆ ไป เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เป็นต้น

-สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายตามร่างมาตรา 36 วรรค 2 นอกจากการบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่อการทรมาน การทารุณกรรม หรือ การลงโทษด้วยวิธีโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี แล้ว คปก.มีความเห็นว่า ต้องเพิ่มความคุ้มครองกรณีการทำให้บุคคลสูญหายโดยถูกบังคับด้วย

-การให้ความคุ้มครองสิทธิชุมชนตามร่างมาตรา 63 ควรบัญญัติเช่นเดียวกับที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิชุมชนครอบคลุมไปถึงชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

-คปก.เสนอให้มีการกำหนดหลักการเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่ปรากฏในร่างมาตรา 64 วรรค 3 เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายหรือแผนในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพชีวิตของชุมชน

-คปก.เสนอให้ตัดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัดออก เนื่องจากมีความซ้ำซ้อนกับสมัชชาพลเมืองในเรื่องที่มาและหน้าที่

-คปก.เสนอให้ตัดบทบัญญัติกฎหมายที่จัดให้มีสมัชชาคุณธรรมออก เนื่องจากในปัจจุบันมีองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการตรวจสอบคุณธรรมและจริยธรรมของผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว จึงควรให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เป็นกลไกปกติเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว

-การจัดองค์กรและและการดำเนินกิจกรรมใดๆ ในทางการเมืองต้องคำนึงถึงสัดส่วนหญิงและชายให้เท่าเทียมกัน

-การส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของรัฐ รัฐจะต้องมีมาตรการเกี่ยวกับการลงทุนของต่างประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างการค้าที่เป็นธรรมและป้องกันการทุจริต

-การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ควรให้สิทธิประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกเขตเลือกตั้งของตนเองโดยไม่ยึดตามฐานข้อมูลทางทะเบียนราษฎร์

-องค์กรบริหารท้องถิ่นที่มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนในท้องถิ่นจะต้องมีที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

-การกำหนดที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอื่นนอกจากสาขานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสังคมศาสตร์ เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญมีมุมมองที่หลากหลายในทุกมิติ และจะต้องเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาตุลาการด้วย เพื่อให้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชน

-เสนอยืนยันให้ศาลอุทธรณ์เป็นศาลพิจารณา (Trial Court) โดยให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

-เสนอให้มีการปฏิรูประบบศาลแรงงานโดยแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม

-คปก.ไม่เห็นด้วยกับกรณีการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าเป็นองค์กรเดียวกัน เนื่องจากองค์กรทั้งสองมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน การควบรวมดังกล่าวอาจส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

-ให้มีการปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรมโดยปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

-หลักในการดำเนินคดีอาญาควรให้พนักงานอัยการมีบทบาทและหน้าที่หลักในการดำเนินคดีทั้งในชั้นเจ้าพนักงาน ชั้นพิจารณา รวมทั้งอำนาจในการสั่งคดี โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ช่วยในการดำเนินคดี    

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net