‘ประยุทธ์’ ระบุ 29 พ.ค.นี้ หารือร่วม 17 ประเทศแก้ปัญหาโรฮิงญา

20 พ.ค. 2558 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการจัดการแก้ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ทางการมาเลเซียและอินโดนีเซียลงนามที่จะมีการตั้งศูนย์พักพิง แต่ทางการไทยไม่ได้ลงนาม  ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศทางผ่าน การจะรับภาระชาวโรฮิงญาไว้ดูแลจะต้องมีการหารือในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้  ซึ่งจะเป็นการประชุมใหญ่ 17 ประเทศ พร้อมกับองค์กรระหว่างประเทศ

ขณะที่ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาประวัติศาสตร์และซับซ้อน มีประเทศต้นทาง กลางทาง  และปลายทาง  ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาภูมิภาค ดังนั้นประเทศไทยจะแบกรับภาระประเทศเดียวได้อย่างไร หรือจะไปกดดันประเทศต้นทาง กลางทาง ก็ไม่ได้ ซึ่งในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ต้องมีการหารือร่วมกัน  แก้ปัญหาโดยภาพรวม ซึ่งไทยพร้อมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม แต่ต้องมีขอบเขตในการช่วยเหลือว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน

กสม.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแก้ปัญหาค้ามนุษย์

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองละสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานในการประชุม โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสนอแนะความคิดเห็นและแนวทางการทำงานเกี่ยวกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองและขบวนการค้ามนุษย์ หลังพบหลุมศพชาวโรฮิงญาในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดย นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯ ได้ติดตามปัญหาการอพยพของชาวโรงฮิงญาจนพบบายปลายกลายเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ จึงได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งตำรวจ ภาคประชาชน เครือข่ายมุสลิม และเจ้าหน้าที่ชันสูจน์ศพ  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอแนะความเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาส่งไปยังรัฐบาล

พ.ต.อ.อาคม สายสมัย รองผู้บังคับการสารวัตรสืบสวนสอบสวน ภาค  8 กล่าวว่า สถานการณ์ลักลอบนำแรงงานเข้าเมืองรุนแรงและพัฒนาเป็นการกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจภาค 8และ 9 ได้ร่วมกันติดตามจับกุมอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถจับกุมได้หมด ผู้กระทำผิดนำกลุ่มแรงงานลักลอบหนีขึ้นภูเขา เข้าป่าลึก จึงยากต่อการติดตามจับกุม แต่ก็สามารถขยายผลจับกุมและยึดทรัพย์สินผู้ร่วมขบวนการได้บางส่วน

ขณะที่ พ.ต.ท.คำรณ ยอดรักษ์ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ภาค 9  กล่าวว่า ขบวนการลักลอบเข้าเมืองพัฒนาเป็นการกักขังเรียกค่าไถ่ จากเดิมที่นำเข้าแรงงานผิดกฎหมายโดยใช้ไทยเป็นทางผ่าน ซึ่งจากการทำงานสามารถทำลายจุดที่พักทั้ง 7 พื้นที่แล้ว สามารถจับกุมผู้ร่วมขบวนการได้ 34 คน จากที่ออกหมายจับ 71 คน ดำเนินการคัดแยกเหยื่อและดำเนินคดีตามฐานความผิด

นายอับดุบอซิซ ตาเดอินทร์ เครือข่ายเยาวชนมุสลิมและในฐานะผู้ร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ เข้ามาตรวจสอบ กล่าวว่า เรื่องการค้ามนุษย์เป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ แต่ที่ผ่านมายังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะมีผู้มีอำนาจในพื้นที่คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้กับขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งพวกตนรู้สึกยินดีที่รัฐบาลให้ความสนใจที่จะเข้ามาแก้ไข จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเข้ามาแก้ปัญหาของรัฐครั้งนี้จะช่วยให้การค้ามนุษย์ในพื้นที่ภาคใต้หมดไป

ด้านนางสุวรีย์ ใจหาญ ผู้อำนวยการต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การคัดแยกเหยื่อที่ถูกจับกุมดำเนินตามข้อเท็จจริงและส่งเรื่องฟ้องต่อศาล รวมถึงมีการคุ้มครองดูแลสิทธิเหยื่อที่ถูกนำมาค้ามนุษย์ตามกฎหมาย ขณะที่ผู้อพยพที่เป็นแม่และเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับเข้ามาดูแลอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัว แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการสื่อสาร อีกทั้งการหลบหนีออกจากหน่วยงาน เพราะบ้านพักไม่ได้มีลักษณะในการควบคุมเหมือนด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งขณะนี้พบว่าชาวโรฮิงญาเจ็บป่วย โดยมีอาการไข้สูง ซึ่งแพทย์ต้องเฝ้าระวัง เพราะเกรงว่าอาจเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เนื่องจากอยู่บนเรือเป็นเวลานานอาจเกิดการติดเชื้อ ซึ่งที่ผ่านมาตรวจพบ 1 ราย และขณะนี้มีอีกหลายรายที่มีอาการลักษณะใกล้เคียงกัน

ขณะที่ นายพรชาด บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ปัญหาการหลบหนีเข้าเมืองโดยการนำพาและการค้ามนุษย์ ประเทศไทยได้ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องการหลบหนีเข้าเมืองไม่ได้มีเพียงชาวโรฮิงญา พม่า และบังคลาเทศเท่านั้น แต่พบว่ายังมีหลายสัญชาติที่หลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยปัญหานี้กระทบต่อความมั่นคง ซึ่งไทยได้คำนึงถึงความสมดุลในเรื่องความมั่นคงของประเทศ ประชาชน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นหลัก และตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยการจัดหาที่พักให้และปฎิบัติตามกฎหมายและมาตราฐานความร่วมมือ เชื่อว่าการประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันของประเทศในภูมิภาคอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ ส่วนกลุ่มที่ลอยเรืออยู่ในทะเลนั้น รัฐบาลได้พยายามหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านมนุษยธรรมตามขอบเขตของกฎหมายไทย กฎหมายระหว่างประเทศ และหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะไม่ยุติเพียงแค่วันที่ 29 พฤษภาคม แต่จะมีการร่วมมือกันต่อไปและทุกประเทศต้องตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกัน

นางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ย้ำถึงการจัดประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้  หัวข้อ “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ” จะทำให้ประชาคมทราบว่าไม่ใช่ประเด็นปัญหาของไทย แต่ทุกประเทศในภูมิภาคต้องร่วมกันแก้ไข และทำให้การมองปัญหานี้ครบถ้วนรอบด้านมากขึ้น

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท