Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมคิดว่าเราคงพอนึกภาพได้แจ่มชัดพอสมควรว่า เสื้อแดงเป็นใคร พลังทางเศรษฐกิจ - สังคมที่ทำให้เขาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองคืออะไร ทำไมข้อเรียกร้องทางการเมืองของเขาจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องยึดติดกับบุคคลที่ลอยละล่องอยู่บนกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นแกนนำอย่างคุณณัฐวุฒิ ไปจนถึงนักการเมืองอย่างคุณทักษิณหรือคุณยิ่งลักษณ์ ภาพของเสื้อแดงเช่นนี้ชัดเจนพอสมควร เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยรองรับอยู่ไม่น้อยเลย

ในทางตรงกันข้าม หากเราพยายามจะมองเสื้อเหลือง-สลิ่ม-นกหวีดในลักษณะเดียวกันบ้าง โดยไม่ติดอยู่กับคุณสนธิ, คุณจำลอง, คุณสุเทพ, หรือเสี่ยๆ ที่หนุนหลังทางการเงิน และ "ผู้ดี" ที่ถ่ายโอนความชอบธรรมให้แก่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา เราแทบจะอธิบายคนกลุ่มนี้ไม่ได้ว่าอะไรคือที่มาทางสังคมของเขา มักจะกล่าวกันว่าคนกลุ่มนี้มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับทักษิณและเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, ทางสังคม หรือทางอุดมการณ์ แต่ครั้นซักไซ้ในรายละเอียด ก็มองไม่ค่อยเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันขัดแย้งกันอย่างไร

โดยปราศจากข้อมูลจากงานวิจัยรองรับเช่นเดียวกับที่ผมเคยเสนอเกี่ยวกับคนเสื้อแดงมาแล้ว ผมขอเสนอที่มาทางสังคม (Social origin) ของคนเสื้อเหลือง-สลิ่ม-นกหวีดบ้าง แน่นอนมันจะเป็นเพียงข้อเสนอที่เชิญให้อภิปรายถกเถียงตลอดจนเก็บข้อมูลในการทำวิจัยกับคนกลุ่มนี้อย่างจริงจังประโยชน์ของมันเป็นแค่ "มุมมอง" หนึ่ง ที่นักวิจัยอาจทิ้งไปไม่นานเพราะไม่สามารถใช้อธิบายข้อมูลจริงที่ได้จากการสำรวจ หรืออาจเป็นคำถามการวิจัยที่ช่วยให้เข้าใจข้อมูลได้ดีขึ้นก็ได้

ในทางทฤษฎี (Jack Goldstone, Revolution and Rebellion in the Early Modern World) เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มชนชั้นนำ (elite) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ หรือการเมือง หรือสังคมก็ตาม กลุ่มคนที่ขยายตัวรวดเร็วไปพร้อมกันคือชนชั้นนำชายขอบ (marginal elite) คนเหล่านี้เงยหน้าอ้าปากขึ้นมาไม่นาน เห็นทัศนวิสัยข้างบนที่กว้างไกลซึ่งตัวจะสามารถเบียดแทรกขึ้นไป หากพื้นที่ข้างบนเปิดกว้างให้เบียดแทรกได้ ทุกอย่างก็ไหลลื่นไปตามปกติ

แต่หากทางเข้าพื้นที่ข้างบนค่อนข้างแคบหรือปิด (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจของคนข้างบนก็ตาม) ก็จะเกิดความตึงเครียดขึ้นในกลุ่มชนชั้นนำชายขอบ ที่พยายามจะผลักกัน ยื้อแย่งกัน ศอกเข่ากันอุตลุด เพื่อนำตัวเองแทรกเข้าไปถึงทางเข้าให้ได้

มีอะไรสองอย่างที่ผมอยากพูดไว้ก่อนเพื่อเสริมความเข้าใจตรงนี้ แต่ก็จะนำกลับมาพูดอีกข้างหน้า

1. คงจำกันได้ว่า ชนชั้นนำไทยนับตั้งแต่ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ลงมาถึง 2475 ต่างสามารถอ้างที่มาของตระกูลสืบย้อนหลังไปได้ถึงกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น แสดงว่าชนชั้นนำไทยนั้นค่อนข้างสถิต สืบสายโลหิตกันมาอย่างไม่ขาดตอน ความเป็น "ผู้ดี" ของสังคมไทยนั้นสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากสายสกุล ดังนั้น สายสกุลจึงเป็นทรัพยากรสำคัญในการแข่งขันทางการเมืองที่อาจล้วงมาใช้ได้ตามความจำเป็น (การแข่งขันทางการเมือง หรือ political competition ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการแข่งขันของนักการเมือง, พรรคการเมือง, ข้าราชการ ฯลฯ เท่านั้น แต่รวมการเคลื่อนไหวเพื่อยืนยันหรือเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจของบุคคลและกลุ่มบุคคลก็ได้) ในปัจจุบัน เราได้เห็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลยื่นข้อเรียกร้องทางการเมือง โดยอ้างความเป็น "ราชสกุล" กันอยู่บ่อยๆ (คำนี้ค่อนข้างใหม่ ไม่ใช่ทั้งราชนิกูลและราชินิกูลซึ่งเป็นคำเก่า) ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าทางเข้าของพื้นที่ชั้นบนของชนชั้นนำแคบกว้างอย่างไร

การปฏิวัติ 2475 แม้ว่ามีผู้นำเป็นชนชั้นนำชายขอบ แต่พัฒนาการทางการเมืองในระยะต่อมา (ด้วยเหตุใดก็ตาม) ไม่ได้เปิดทางเข้าสู่พื้นที่ระดับสูงของชนชั้นนำให้กว้างขึ้นกี่มากน้อย ทอดทิ้งชนชั้นนำชายขอบไว้ข้างนอกเป็นอันมาก ระบอบ "ประชาธิปไตย" แบบที่คณะราษฎรนำเข้ามา จึงไม่มีสาวกที่มั่นคงในกลุ่มชนชั้นนำชายขอบนัก หลัง 2490 ก็พร้อมจะหันไปอ่านสยามรัฐกันอย่างเอาเป็นเอาตาย และทำให้ข้อเขียนของนักต้านปฏิวัติยืนยงมาถึงบัดนี้ จนให้กำเนิด "สถาบันพระปกเกล้า" ในฐานะเป็นองค์กรประชาธิปไตย!!!

2. ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับชนชั้นนำชายขอบในอันที่จะเบียดเสียดแย่งชิงกันเข้าสู่พื้นที่ชั้นบน ในบางจังหวะ การเป็นผู้นำประชาธิปไตยหรือแม้แต่การต่อสู้ระหว่างชนชั้นก็อาจเป็นยุทธวิธีการเบียดเสียดได้ดี ในอีกบางจังหวะ การแสดงความภักดีต่ออภิสิทธิ์ทางการเมืองและสังคมของชนชั้นนำที่อยู่ข้างบนกีดกันคนระดับล่างออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง ก็อาจเป็นยุทธวิธีการเบียดเสียดได้ดีกว่า อาการพลิกไปพลิกมาของชนชั้นนำชายขอบ ยิ่งมากและยิ่งกว้างเท่าไร ก็ยิ่งแสดงความเครียดที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของชนชั้นนำชายขอบเท่านั้น

นอกจากนี้ ไม่จำเป็นว่าชนชั้นนำชายขอบจะใช้ยุทธวิธีตรงกันเสมอไป ยิ่งจำนวนของชนชั้นนำชายขอบมีมากเท่าไร ความแตกต่างของยุทธวิธีการเบียดเสียดก็ยิ่งมากเท่านั้น ถ้าเราแบ่งการแข่งขันทางการเมืองระดับชาติในขณะนี้ออกเป็นสองค่าย (ซึ่งลดความซับซ้อนลงไปจนไม่น่าจะเป็นความจริง) ก็อาจกล่าวได้ว่า มีชนชั้นนำชายขอบหนุนหลังอยู่ทั้งสองค่าย ดาราที่เป่านกหวีดก็มี ดาราที่ก่นด่าการเป่านกหวีดก็มีเหมือนกัน เป็นต้น

ผมได้ยินคำอธิบายการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือของบุคคลซึ่งเคยประกอบวีรกรรมประชาธิปไตยในอดีต กลายเป็นหัวหอกขัดขวางประชาธิปไตยหรือเป็นสมุนเผด็จการทหารอยู่บ่อย และมักมีแนวโน้มเดียวกันคือบุคลิกภาพของบุคคลนั้นๆ เป็นเกณฑ์สำคัญ (เช่น โลภเงิน, โลภชื่อเสียง, โลภอำนาจ ฯลฯ หรือสัมพันธ์กับเส้นสายของเขากับกลุ่มใด) ผมไม่ปฏิเสธว่าคำอธิบายเหล่านี้ไม่จริง คงอาจจริงบางราย ไม่จริงบางราย แต่ที่ผมสนใจมากกว่าก็คือ "ที่มาทางสังคม" ของการเปลี่ยนแนวทางการเมือง มีพลังที่ไม่ใช่ตัวบุคคล (impersonal force) อะไรบ้าง ที่ทำให้ชนชั้นนำชายขอบกลุ่มนี้เลือกแนวทางการเมืองอย่างนี้

การขยายตัวของชนชั้นนำชายขอบ

ผมคิดว่ามีปัจจัยอยู่สองอย่างที่ทำให้ชนชั้นนำชายขอบของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว หนึ่ง คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนซึ่งเกิดขึ้นสองช่วงคือในระยะแรกของนโยบายพัฒนาและในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 สองคือการขยายการศึกษาให้กว้างขวางกว่าเดิมอย่างมาก ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาลของคณะราษฎรเป็นต้นมา แต่มาเร่งอัตราการขยายมากขึ้นกว่านั้นอีกในยุคพัฒนาสืบมาถึงปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยเปิดขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งการขยับวิทยาลัยครูและช่างขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมดในระยะหลัง นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงการสื่อสารคมนาคมที่กว้างขึ้นไปพร้อมกัน ทำให้วิชาความรู้ผ่านสื่อชนิดต่างๆ เข้าถึงผู้คนกว้างขวางขึ้นกว่าสถาบันการศึกษาเสียอีก ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงคนอีกจำนวนมากได้ไปศึกษาต่อหรือดูงานในต่างประเทศ

หากเปรียบเทียบคนที่สำเร็จการศึกษาระดับสูงหรือมีความรู้เท่ากับผู้สำเร็จการศึกษาระดับสูงในปัจจุบัน เทียบกับเมื่อเริ่มนโยบายพัฒนาก็มีจำนวนมากกว่ากันหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ในบรรดาคนเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่ด้วยเหตุต่างๆ ได้ผันตัวเองไปเป็นชนชั้นนำชายขอบ อีกจำนวนมากรู้สึกตัวว่ามีศักยภาพจะเป็นเช่นนั้นได้ และอาจหมายตนเองเป็นหนึ่งในนั้นแล้ว

ในระยะเวลาประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยเป็นสังคมที่มีชนชั้นนำชายขอบจำนวนมาก ทั้งที่เป็นจริงและเป็นโดยสำนึก ทั้งค่อนข้างกระจายออกไปในวงการต่างๆ อย่างมากกว่าที่จะกระจุกอยู่ในหน่วยงานของรัฐเพียงไม่กี่หน่วยดังในสมัยนโยบายพัฒนา ผมอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า วงการที่คนเหล่านี้เข้าไปมีบทบาทระดับปลายๆ อยู่นั้น เป็นวงการ "ใหม่" ของสังคม เช่นวงการนักแสดงประเภทต่างๆ ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากครัวเรือนไทยเกือบ 100% ไม่ได้มีทีวีประจำบ้าน ควบคู่กันไปกับนักแสดงคือผู้ประกาศข่าวและนักวิเคราะห์ข่าว และผู้จัดรายการประเภทสนทนาเชิงสังคมและการเมือง "กูรู" จำนวนมากจุติขึ้นมาจากนักคุยในวงเพื่อนเมื่อได้ถือภพในสื่อ ไม่แต่เฉพาะชนชั้นนำชายขอบในสื่อเท่านั้น นักบริหารระดับกลางอีกเป็นหลายหมื่นในธุรกิจเอกชนประเภทต่างๆ ซึ่งขยายตัวขึ้น และต้องการนักบริหารระดับนี้จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน (ผู้จัดการหอพักสตรีกับผู้จัดการคอนโดเทลหรูเป็นคนต่างประเภทกัน) นี่คือตำแหน่ง "ใหม่" ในสังคมไทยเช่นกัน แม้แต่นักวิชาการในมหาวิทยาลัย ผมก็คิดว่าไม่เหมือนกับระยะแรกของนโยบายพัฒนา ในตอนนั้น ใครจบจากเมืองนอกมาก็กลายเป็นชนชั้นนำชายขอบไปโดยอัตโนมัติ ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขวนขวายที่จะเป็นผู้นำความคิดในวงวิชาการ หรือวงการเมืองแต่อย่างไร

ความ "ใหม่" ที่ผมหมายถึงนั้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะตำแหน่งและบทบาทเท่านั้น แต่ทั้งตัวตำแหน่งและบทบาทเองก็เปลี่ยนไปด้วย คุณอาจทำหน้าที่ในตำแหน่งและบทบาทเดิม แต่ก็ทำไม่เหมือนเดิม คือกลายลักษณะเป็นชนชั้นนำมากกว่าเป็นที่รู้จักในสังคมเฉยๆ ขอยกตัวอย่างบุคคลให้เห็นได้ถนัดดังนี้ คุณอาคม มกรานนท์ นั้น (หรือคุณแม่น ชลานุเคราะห์ แห่งกรมโฆษณาการประชาสัมพันธ์) เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้มีทีวีทั่วไป เพราะเป็นผู้ประกาศข่าวติดต่อกันหลายปี จนเมื่อไรที่จะต้องประกาศอะไรที่ให้ดูเป็นจริงเป็นจัง (เช่นยึดอำนาจบ้านเมือง) ก็ต้องไปเรียกตัวคุณอาคมมาเป็นผู้ประกาศ แต่ลองเปรียบเทียบคุณอาคม กับคุณสมเกียรติ อ่อนวิมล สิครับ ทำหน้าที่ในตำแหน่งและบทบาทเดียวกันนั่นแหละ แต่คุณสมเกียรติถูกถือว่าเป็นผู้นำความคิดคนหนึ่งในสังคมไทย ถึงกับถูกเลือกให้ไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2540 และยังออกความเห็นทางการเมืองที่มีคนรับฟังสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่และมีบทบาทเดิมอีกแล้ว

ครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะก็เป็นครูดนตรีที่มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมืองเช่นเดียวกับอาจารย์สุกรี เจริญสุข แต่อาจารย์สุกรีสามารถเอาปี๊บคลุมหัวจนอธิการบดีถูกบังคับให้เลือกตำแหน่งเดียวในที่สุดได้ จะว่าอาจารย์สุกรีเหมือนคุณครูหลวงประดิษฐ์คงไม่ได้ ทำหน้าที่และบทบาทเดียวกันแต่ไม่เหมือนกัน

ลองคิดต่อไปเองเถิดครับว่าจำนวนของชนชั้นนำชายขอบของไทยเวลานี้มีปริมาณมากสักเพียงไหน (ทั้งที่เป็นจริงและเป็นโดยสำนึก) ใช่แต่เท่านั้นยังมีบทบาทที่กระทบต่อสังคมวงกว้างกว่าในสมัยก่อนซึ่งมีชนชั้นนำชายขอบจำนวนน้อยอีกด้วย

แต่ก็แค่นั้นแหละครับก้าวต่อไปไหนไม่ได้ฉะนั้นจึงเกิดความเครียดในกลุ่มคนเหล่านี้เป็นอันมาก

ในตอนต่อไปผมจะพูดถึงเส้นทางที่ค่อนข้างแคบในสังคมไทยที่จะเปิดให้ชนชั้นนำชายขอบได้ก้าวต่อไปให้สูงขึ้นว่ามันมีอุปสรรคขัดขวางอะไรบ้าง


เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2558
ที่มา มติชนออนไลน์
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net